27 มี.ค. 2562 | 17:23 น.
ระยะเวลาเกือบ 30 ปีนั้นยาวนาน นานจนโลกผันจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล จากนวัตกรรม 2.0 สู่โลกยุค 5.0 แต่ดูเหมือนว่าการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารในประเทศไทยจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. คุณพ่อของ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เข้าทำการรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เมื่อกุมภาพันธ์ 2534 และวางแผนสืบทอดอำนาจผ่านพรรคนอมินีของทหารอย่าง "พรรคสามัคคีธรรม" ผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อเปิดทางให้นายกฯ เป็นคนนอกได้ สุดท้ายได้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีต ผบ.ทบ. เมื่อครั้งยึดอำนาจมาเป็นนายกฯ และจบลงด้วยการนองเลือด “เหตุการณ์พฤษภา 35” มาถึงยุคนี้ ตัวละครหลายตัวยังเป็นหน้าเดิม ทั้งคนร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดทางนายกฯ คนนอก และ ส.ว. 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ยังคงชื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” พรรคนอมินีทหารที่จะสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว จาก “สามัคคีธรรม” สู่ “พรรคพลังประชารัฐ” ผู้นำทางทหารมาจากตระกูล “คงสมพงษ์” ทั้ง “พ่อจ๊อด และ ลูกแดง” บางพรรคเคยค้านนายกฯ คนนอกอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์”แต่รอบนี้มีท่าทีพร้อมจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป แต่ยังมีอีกหนึ่งคนที่ยังยืนหยัดว่า “ไม่เอาการสืบทอดอำนาจเผด็จการ” มาตลอดเกือบ 30 ปี นั่นคือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ด้วยความที่เกิดและเติบโตในครอบครัวการเมือง เป็นบุตรสาวของ “สมพล เกยุราพันธุ์” ส.ส.หลายสมัย จังหวัดนครราชสีมา เธอมักจะถูกคุณพ่อพาติดสอยห้อยตามเวลาลงพื้นที่ เพื่อพบปะรับฟังปัญหาชาวบ้านตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนจะเข้าศึกษาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่สุดารัตน์เรียนไปด้วย ก็ทำร้านเสื้อผ้า BigJ ที่ห้างอินทราไปด้วย ทำให้เข้าใจหัวอกของคนทำมาค้าขาย การก้าวสู่สนามการเมืองครั้งแรกของผู้หญิงที่ชื่อสุดารัตน์ เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร รสช. ในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 สุดารัตน์ในวัย 31 ปี ใส่เสื้อพรรคพลังธรรม ภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งด้วยกระแสความนิยมในตัว “มหาจำลอง” ทำให้เธอสามารถคว้าชัยชนะเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 12 (มีนบุรี, บางเขน, หนองจอก, ดอนเมือง ยกเว้นแขวงทุ่งสองห้อง) การเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคพลังธรรมยืนยันหลักการว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกเท่านั้น ครั้งนั้นมีการโหวต และมีพรรคที่โหวตสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.แต่อยู่เบื้องหลังพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกฯ ซึ่งฝ่ายที่ยกมือสนับสนุนถูกเรียกว่าเป็น “พรรคมาร” หลังการอดอาหารประท้วงของ เรือตรี ฉลาด วรฉัตร เพื่อต้านนายกฯ คนนอก พรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับไม้ต่อในการเคลื่อนไหวชุมนุมร่วมกับภาคประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ขณะนั้น สุดารัตน์คือหนึ่งในดาวปราศรัยของพรรคพลังธรรมในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ รสช. อีกบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กันในชีวิตของสุดารัตน์ คือความเป็น “แม่” เพราะตอนนั้นเธอเพิ่งเป็นคุณแม่หมาด ๆ ของ บอส-ภูมิภัทร ลีลาปัญญาเลิศ ลูกชายคนแรก สุดารัตน์เล่าว่าในขณะนั้นเวลาไปปราศรัย เธอมักจะเอาบอสไปเลี้ยงด้วยในขณะที่รอปราศรัย เรียกได้ว่าทำหน้าที่ทั้งแม่และคนของประชาชนอย่างเต็มที่ หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง วางมือทางการเมือง สุดารัตน์ร่วมกับนักธุรกิจหน้าใหม่ที่จะลงเล่นการเมืองครั้งแรก “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ในการผลักดันพรรคพลังธรรมต่อ สุดารัตน์มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนจะตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยเป็น 1 ใน 23 คน ที่ร่วมก่อตั้งพรรคที่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยให้เป็น “การเมืองเชิงนโยบาย” อย่าง พรรคไทยรักไทย ที่พรรคไทยรักไทยนี่เอง ผลงานจากฝีมือของสุดารัตน์เป็นที่ประจักษ์ ทั้งการนั่งกระทรวงสาธารณสุขผลักดัน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการที่ครั้งหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เชื่อ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เจ้าของไอเดีย “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” นำเสนอต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ มีแค่พรรคไทยรักไทยที่รับปากว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงการรักษาสุขภาพเชิงรุก อย่างการจัดลานกีฬาและเต้นแอโรบิก ซึ่งปัจจุบันทั้งสองอย่างนี้กลมกลืนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยแล้ว บททดสอบอีกครั้งของเธอก็คือ “สึนามิ 2547” คลื่นยักษ์ซัดทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนมหาศาล ทักษิณได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนช่วยดูแลในแต่ละพื้นที่ สุดารัตน์ที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นจำเป็นต้องลงพื้นที่ทุกวัน เพราะมีทั้งคนเจ็บ คนป่วย และคนเสียชีวิต ซึ่งครั้งนั้นต้องชื่นชมทุกพรรคที่ประกาศหยุดหาเสียงถึงแม้จะใกล้เลือกตั้ง แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” เจ้าของพื้นที่ภาคใต้ ก็มาประสานมือช่วยให้คนไทยผ่านวิกฤตร่วมกันได้ ปี 2548 นับเป็นปีสำคัญของสุดารัตน์ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สุดารัตน์จึงมีคำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” มานับแต่นั้น และยังเป็นปีที่พรรคไทยรักไทยประกาศชัยชนะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้วหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ คุณหญิงสุดารัตน์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคร่วมกับผู้บริหารพรรคคนอื่น ๆ รู้จักกันในชื่อ “บ้านเลขที่ 111” เธอก็ผันตัวไปทำงานด้านศาสนาและสังคม ทั้งโครงการจัดสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” ที่ประเทศเนปาล และก่อตั้งมูลนิธิไทยพึ่งไทย มีผลงานเช่นการระดมทุนช่วยน้ำท่วมในประเทศลาว แขวงอัตตะปือในปี 2561 ที่เกิดเขื่อนโรงไฟฟ้าแตก ก่อนที่ปลายปีเดียวกันนั้น ไฟสปอตไลท์จะจับจ้องเธออีกครั้งในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และ 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์กลับมายืนต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจอีกครั้งในวังวนเดิม ๆ เหมือนที่ได้กล่าวในย่อหน้าแรกและย่อหน้าที่สอง และนำพรรคเพื่อไทยฝ่ากระแสกลไกต่าง ๆ ที่ต้องการจะบั่นทอนคะแนนพรรค แต่ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 และประกาศผนึกกำลังกับพรรคที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นนายกรัฐมนตรี การยืนหยัดในหลักการดังกล่าวตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง และน่าสนใจว่าเธอจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ได้สำเร็จเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของเผด็จการหรือไม่ ต้องติดตามชมต่อไป คุณหญิงสุดารัตน์ปิดท้ายในการแถลงจับมือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอีก 6 พรรค เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ว่า “เราจะยุติการสืบทอดอำนาจ เราจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่สร้างสรรค์ เราจะไม่ทำอะไรนอกกติกา ไม่ทำอะไรไร้มารยาท” เรื่อง: PorryNemo