10 พ.ค. 2566 | 14:24 น.
ในตำนานจีนนั้น กล่าวถึง 4 สาวงามในตำนานด้วยกลอนชมความงามว่า
“มัจฉาจมวารี
ปักษีตกนภา
จันทร์หลบโฉมสุดา
มวลผกาละอายนาง”
อันเป็นตัวแทนของสาวงามคือ ไซซี หวังเจาจวิน เตียวเสี้ยน และหยางกุ้ยเฟย ซึ่งหากเราพูดถึงศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ พื้นที่ที่เรียกว่าเกิด ‘สงครามสี่บุปผา’ เพราะผู้สมัครตัวตึงจากแต่ละค่ายเป็นผู้หญิงที่มีความแกร่งในแต่ละด้าน คงไม่มีเขตไหนดุเดือดเท่ากับเขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพฯ ที่ประกอบด้วย เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, เขตบางรัก และ เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) ที่ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจไข่แดงของเมืองหลวง
แต่ละคนล้วนโปรไฟล์ไม่ธรรมดา มีจุดเด่น - จุดด้อยที่ต่างกันไป เรามาลองไล่เรียงความโดดเด่นของผู้สมัครทั้ง 4 คน โดยเรียงจากเบอร์ที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
เริ่มต้นด้วย ‘สิริอร ม้ามณี’ จากค่ายภูมิใจไทยที่หลายคนอาจจะคุ้นชื่อเพราะเคยเป็นแฟนกับ ‘โดม - ปกรณ์ ลัม’ และเป็นนางเอก MV ‘เจ็บหู’ ของ Mission 4 Project โดยเคยผ่านงานด้านบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่ สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง เอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่ งานพิธีกรทางทรูวิชั่นส์ และยังปรากฏตัวในฐานะเซเล็บในแวดวงสังคมอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเรื่องการหาแสงในพื้นที่สื่อเธอไม่เป็นรองใคร
แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการสวมเสื้อภูมิใจไทย ที่ไม่เคยปักธงในกรุงเทพฯ ได้มาก่อน อีกทั้งยังมีปัญหาความล้มเหลวจากการบริหารจัดการประเทศในช่วงโควิด-19 ระบาดจนคนล้มตายไปหลักหมื่น และล่าสุดทางพรรคก็โดน ‘จอมแฉ - ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ อีกหนึ่งมังกรเยาวราชเจ้าถิ่นขย่มอย่างหนักในเรื่อง ‘กัญชาเสรี’ ซึ่งเป็นจุดขายของพรรคที่ ‘พูดแล้วทำ’ ที่ยิ่งทำยิ่งดูเหมือนจะเป็นแต้มลบมากกว่าแต้มบวกให้สิริอร แต่เธอก็อาสาลงพื้นที่อย่างแข็งขันหวังจะเป็น ส.ส. คนแรกของภูมิใจไทยในกรุงเทพฯ ที่ครั้งนี้พรรคหมายมั่นมากโดยการดูด ส.ส. จากพรรคอื่น ๆ ที่มีพื้นที่แข็ง ๆ มาร่วมทีม
มาต่อที่คนใหม่กระแสแรง ‘ดร.นิค - สุวดี พันธุ์พานิช’ จากพรรคไทยสร้างไทย ของ หญิงหน่อย - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ แด๊ดดี้ปุ่น - ศิธา ทิวารี ถึงแม้จะหน้าใหม่แต่มีประสบการณ์การเมืองจากการเป็นทีมงาน ดร.โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เขต 1 มา 2 ปีกว่าตั้งแต่ช่วงโควิด และประสบการณ์ในด้านสาธารณสุขแน่น ๆ จากการเป็นผู้บริหาร เครือโรงพยาบาลธนบุรี ที่มีมูลค่าการตลาดถึง 5 หมื่นล้าน เป็นที่รู้จักไปทั่วในช่วงโควิด-19 ทั้งเป็นตัวแม่สับเละผลงานรัฐมนตรีสาธารณสุข และเป็นผู้ผลักดันโครงการ #ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง ที่อาสาหาเตียงช่วยผู้ป่วย ทวงค่าเสี่ยงภัย ทวงวัคซีน และลงพื้นที่ด้วยตัวเองในการดูแลชุมชนต่าง ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่เขต 1 ที่เธอลงสมัครในครั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของเธอ น่าจะเป็นเรื่องมือประสานสิบทิศที่มีคอนเนคชันทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชนขนาดใหญ่
จุดยืนของไทยสร้างไทยนั้นเน้นผลักดันแนวทางประชาธิปไตยมาโดยตลอด แม่หน่อยเคยกล่าวกับสื่อว่า ดร.นิค คือร่างโคลนนิ่งของตน แต่ก็ยังต้องเจอบททดสอบ เพราะแม้จะเชื่อมือได้ทั้งในด้านการทำงานด้านสาธารณสุข และการบริหารธุรกิจ แต่ในสนามการเมืองยังถือว่าเป็นน้องใหม่ในพื้นที่ที่มีเจ้าถิ่นแข็งแรง และยังขาดประสบการณ์การเมืองรูปแบบเก่าบ้านใหญ่ที่เน้นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ ต้องลองดูว่าการประกาศจุดยืนของพรรคที่จะทำการเมืองสร้างสรรค์นั้นจะออกมารูปแบบไหน เพราะเริ่มมีการผลักดันร่างกฎหมายต่าง ๆ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลือกตั้ง เช่น บำนาญ 3,000 บาท การพักใช้ใบอนุญาต 1,400 ฉบับ เป็นต้น
มาที่อดีตแชมป์เก่า ‘กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ’ ที่รอบนี้เปลี่ยนสีเสื้อจากพลังประชารัฐ ข้ามห้วยมาใส่เสื้อแดงแลนด์สไลด์กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ เขตไข่แดงเมืองนั้นถือว่าเป็นของแสลงของพรรคทักษิณที่เจาะอย่างไรก็ไม่ค่อยเข้า เพราะถือว่าเป็นฐานที่มั่นของพรรคอนุรักษนิยม ตั้งแต่ยุคพลังธรรม - ประชาธิปัตย์ จนมาถึงพลังประชารัฐในรอบล่าสุด
จุดเด่นของกานต์กนิษฐ์ นอกจากเป็นแชมป์เก่าแล้วก็คือเคยผ่านการเป็น ส.ก.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขตพระนครมาก่อน โดยเป็นการรับช่วงต่อจากคุณพ่อ ‘แก้ว แห้วสันตติ’ อีกทั้งการเลือกตั้ง กทม. ปีก่อน เพื่อไทยเจาะไข่แดง ส.ก. ได้ในเขตบางรักโดย ‘วิพุธ ศรีวะอุไร’ สอบได้ น่าจะมีแรงส่งในการช่วยลงพื้นที่บางรัก แต่จุดอ่อนของกานต์กนิษฐ์ที่สำคัญก็คือ ‘สรุปจุดยืนของเธอคืออะไรกันแน่?’ เรียกได้ว่า เธอย้ายพรรคบ่อยมากตามกระแสการเมือง ครั้งก่อนเคยยกมือสนับสนุนเชียร์ลุง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ต่อจนถึงวันนี้ แต่ครั้งนี้กลับเปลี่ยนอุดมการณ์ย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคนละขั้ว ทำให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งเสื้อแดง และ กปปส. เก่าต่างอดที่จะตั้งคำถามว่า จะไว้ใจกานต์กนิษฐ์ได้มากน้อยแค่ไหน? รวมถึงผลงาน 4 ปีที่เป็น ส.ส. พรรครัฐบาล แต่ยังไม่ผลงานที่เป็นภาพจำ
อีกจุดที่เป็นแผลใหญ่ คือผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องครอบครัว และการเมือง เมื่อครั้งเธอกดโหวตไว้วางใจอดีตสามีอย่าง ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ทั้งที่การอภิปรายนั้นเป็นเรื่องที่ชัยวุฒิใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อให้แก่คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก และยังโพสต์ชี้แจงว่า ‘เป็นเรื่องภายในครอบครัว’ ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในการให้คุณให้โทษอย่างชัดเจน
อีกคนที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากเขต 1 เป็นพื้นที่อนุรักษ์นิยม ผู้สูงอายุเยอะ อดีต ส.ก. และ ส.ส. 3 สมัย อย่าง ‘เจิมมาศ จึงเลิศศิริ’ จากค่ายประชาธิปัตย์ ก่อนที่รอบล่าสุดจะพ่ายอย่างหมดรูปให้กับกานต์กนิษฐ์ ที่ใช้สโลแกน รักความสงบจบที่ลุงตู่ แต่ครั้งนี้ได้แบ็กอัปชั้นดีอย่าง ‘นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ’ ลูกสาว ที่เป็น ส.ก. เขตป้อมปราบฯ จากประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเป็นเขตที่คนในครอบครัว ‘จึงเลิศศิริ’ สืบทอดทางการเมืองมายาวนาน ตั้งแต่ เอก - เจิมมาศ - นิภาพรรณ คำถามที่สำคัญก็คือ สิ้นคุณเอกสามีเจิมมาศแล้วบ้านใหญ่ตระกูล ‘จึงเลิศศิริ’ ยังมีอิทธิพลในพื้นที่หรือไม่
ปฏิเสธยากว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในช่วงขาลงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพรรคจากการนำทัพของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ภาพลักษณ์จุดยืนไม่โดนใจคนกรุงเทพฯ ต่างจากอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ที่เป็นขวัญใจแม่ยก ครั้งเลือกตั้งปี 2562 อภิสิทธิ์ประกาศจุดยืน ‘ไม่ร่วมสืบทอดรัฐประหาร’ จนแพ้กระแสลุงตู่ สูญเสีย ส.ส. กรุงเทพฯ ทั้งหมด ท้ายที่สุดต้องโบกมือลา และเป็นจุรินทร์ที่พาลูกพรรคไปยกมือสนับสนุนการสืบทอดอำนาจที่หลายคนมองว่าเป็นการตระบัดสัตย์ ครั้งนี้ไม่มีอภิสิทธิ์เป็นแกนนำ และภาพลักษณ์ของจุรินทร์เป็นขาลง บอกตรง ๆ ว่าลุ้นเหนื่อย
บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร 14 พฤษภาคม เข้าคูหาเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ ท้ายที่สุดดอกไม้ดอกไหนจะได้เบ่งบาน ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ด้วยข้อมูลที่รอบด้าน นโยบายที่สอดคล้องกับชีวิต และที่สำคัญเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่โปร่งใส