01 มิ.ย. 2566 | 16:09 น.
- บัญชา เป็นอดีตกำนันตำบลหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันอายุ 54 ปี มีธุรกิจโรงสีข้าวและธุรกิจรถขนส่งพืชผลทางการเกษตร
- นโยบายงานศพไม่เศร้า เขย่าได้ กลายเป็นนโยบายเด่นของพรรคท้องที่ไทยเพราะโดนใจชาวบ้านเต็ม ๆ แต่ความจริงแล้วนโยบายหลักของพรรคคือการช่วยเหลือเกษตรกร
หาก ‘กัญชาเสรี’ ของพรรคภูมิใจไทย เป็นนโยบายเรียกเสียงฮือฮาและถูกพูดถึงอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
‘งานศพไม่เศร้า เขย่าได้’ น่าจะทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน ในการเลือกตั้งปี 2566
ต่างกันตรงนโยบายที่กลายเป็นไวรัลทั่วโซเชียลฯ ในปีนี้ เป็นของพรรคน้องใหม่แกะกล่องที่ไม่ได้มีทุนมากมายนัก
และอาจด้วยนโยบายที่แปลกแหวกแนว แต่กระแทกใจชาวบ้านรากหญ้าเข้าเต็ม ๆ จึงทำให้พรรคดังกล่าวสามารถสอยที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อมาได้ 1 ที่ จากผู้ลงคะแนนเลือกเกือบ 2 แสนคะแนน ขณะที่บางพรรคคว้าไปไม่ได้สักที่นั่ง
ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ‘พรรคท้องที่ไทย’
นอกจากนโยบายที่เป็นประโยคคล้องจองจำง่าย เข้าถึงหัวจิตหัวใจของคนต่างจังหวัด พรรคท้องที่ไทยยังมี ‘สารตั้งต้น’ ที่น่าสนใจ จากการรวมกลุ่มของ ‘กำนันและผู้ใหญ่บ้าน’ ผู้คลุกคลีกับปัญหาที่หยั่งรากลึกของชาวบ้าน
ซึ่งคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำพรรคท้องที่ไทยลุยศึกเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ ‘บัญชา เดชเจริญศิริกุล’ อดีตกำนันตำบลหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และประธานสมาพันธ์กำนัน - ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
บัญชาเป็นกำนันที่ท่าตะโกมา 14 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 54 ปีแล้ว นั่นยิ่งทำให้เราสงสัยว่า ทำไมผู้ชายที่ดู ‘ตรงไปตรงมา’ และเหลือเวลาอีกแค่ 6 ปีก็จะเกษียณ ถึงหันมาสนใจการเมือง?
“ไม่ชอบ (การเมือง) เลย เพราะรู้ว่าการเมืองมันคืออะไร… ผมเป็นคนค่อนข้างตรง พูดจริงทำจริง ถ้าทำการเมืองบางทีมันขาวเลยไม่ได้ มันอาจจะต้องเทาตามเขาไปบ้าง…” บัญชาตอบคำถาม
คำตอบนี้ยิ่งปลุกความสงสัยเราเข้าไปอีกว่า แล้วสาเหตุใดกันหนอที่ทำให้อดีตกำนันผู้กว้างขวาง ยอมสละตำแหน่งกำนันเพื่อหันมาเล่นการเมืองเต็มตัว
“มันเกิดกระแสมาสัก 1 - 2 ปีแล้ว ในการที่จะยุบเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค คือเขาไม่ต้องการให้มีผู้ว่าฯ ไม่ต้องการให้มีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องสูญไปด้วยนะครับ
“เลยมีการคุยกันในกลุ่มกำนัน ในชมรมกำนัน - ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ถ้าเป็นอย่างนี้เราต้องออกมาสู้ในเวทีการเมืองแล้วแหละ ซึ่งก็คุยกันหลายรอบ ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าออกไปทำ เพราะว่าหนึ่งเลยต้องใช้ทุนพอสมควร แล้วก็ต้องลาออก…ผมก็เลยอาสาเป็นแม่ทัพ
“แต่ถึงจะยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คุณบัญชาก็ไม่น่าจะเดือดร้อนนะคะ” นี่คือสิ่งที่เราโพล่งออกมา หลังจากที่ฟังเรื่องของเขาคร่าว ๆ
บัญชามีทั้งธุรกิจโรงสีข้าว มีทั้งธุรกิจรถขนส่งพืชผลทางการเกษตร เขาน่าจะสบายขึ้นด้วยซ้ำหากไม่ต้องเป็นกำนันที่ทำงานเหมือนจิตอาสา ได้เงินเดือนหมื่นต้น ๆ แต่ขาดทุนทุกเดือน เพราะเจอภาษีสังคมแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 - 30,000 บาท เฉพาะค่าพวงหรีดก็ปาไป 5,000 - 7,000 บาท (ยังไม่รวมใส่ซองด้วยนะ) ไหนจะค่าน้ำมันรถเวลาขับไปประชุมที่อำเภอ ซึ่งไกลจากบ้านกว่า 10 กิโลเมตร
“เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่าอะไรดีล่ะ? ค่าแรงถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก” บัญชาสรุปให้เห็นภาพ
นั่นสิ แล้วอะไรที่ทำให้เขาเดือดร้อน ต้องออกมาต่อสู้ให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อไป?
“ในบริบทของต่างจังหวัดมันไม่เหมือนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนพัทยา ไม่เหมือนเกาะสมุย… คือมันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ หมู่บ้านมันห่างไกล ถึงจะมี อบต. แต่มันก็คนละหน้าที่กัน เขาเป็นฝ่ายพัฒนา แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน เวลาเดือดร้อนก็เรียกหากำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้
“กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีต่าง ๆ ได้มากมายไม่รู้กี่คดีในประเทศ ประหยัดงบประมาณรัฐไปตั้งเยอะแยะ เพราะคดีที่ถึงศาลต้องใช้เงินงบประมาณเป็นหลักแสนบาทนะ พวกเราช่วยรัฐบาลประหยัดงบ แต่คนมักจะไม่ค่อยรู้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองจะไม่รู้จักกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพิ่งจะรู้จักก็ตรงที่ผมทำการเมืองนี่แหละ
“ถ้า (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ถูกยุบไปเมื่อไหร่ แต่ละหมู่บ้านจะถูกทอดทิ้งทันที ไม่มีหัวหน้าหมู่บ้านคอยดูแล”
บัญชายังแสดงความกังวลด้วยว่า หากไร้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะไม่มีการคานอำนาจกับคนใหญ่คนโตในพื้นที่ ไหนจะการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น โควิด-19 ซึ่งหากขาดกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไป ใครจะทำงานอย่างแข็งขันเพื่อปกป้องชีวิตเหล่าลูกบ้านที่อยู่ตามหมู่บ้านห่างไกล
เมื่อเป้าหมายในการก่อตั้งพรรคชัดเจน บัญชาก็พิจารณาเรื่องความเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อดูจากจำนวนเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ บัญชายิ่งเชื่อว่าพรรคท้องที่ไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปยืนหยัดปกป้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เขายังเล่าอย่างจริงใจด้วยว่า “การเลือกตั้งทุกครั้ง กว่า 90% กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวคะแนนนักการเมืองทั้งนั้นนะครับ”
ประเมินจากความเป็นไปได้ที่ว่ามา เบื้องต้นพรรคท้องที่ไทยหวังจะได้ที่นั่งในสภาสัก 10 ที่นั่ง แต่หากพลาดเป้าไปครึ่งหนึ่ง ได้มาสัก 4 - 5 ที่นั่งก็ยังดี
พอเห็นโอกาสแล้ว บัญชาจึงทุ่มสุดตัว แม้จะไม่มีงบมาก แต่เขาก็ใช้ทุกวิถีทางเพื่อแสดงถึงความตั้งใจ ทั้งในกลุ่ม Line ทั้งใน Facebook หรือเวลาไปประชุมในต่างจังหวัดก็จะอาศัยเครือข่ายช่วยกระจายข่าวไปเรื่อย ๆ
แต่สิ่งที่ทำให้พรรคท้องที่ไทยกลายเป็นที่รู้จักจริง ๆ เห็นจะเป็นนโยบายที่สื่อสารอย่างซื่อตรง โดยใช้คำคล้องจองให้คนจำง่าย โดยเฉพาะ ‘งานศพไม่เศร้า เขย่าได้’ ซึ่งบัญชายอมรับว่า มันกลายเป็นนโยบายเด่นของพรรคแบบไม่ตั้งใจ
“ความจริงเราจะทำเรื่องเกษตรเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักนะ ไม่คิดว่างานศพไม่เศร้า เขย่าได้ จะเป็นกระแสไปขนาดนั้น เหมือนกลายเป็นนโยบายเด่นของพรรคเลย เชื่อไหมผมไปเดินหาเสียงในช่วงเกือบ 2 เดือน มีแต่คนชอบนโยบายนี้ ตั้งแต่เด็กถึงคนแก่เลย เขาก็แซวกันบ้างอะไรบ้าง
“อันที่จริงมันก็มีกันอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ งานศพที่บ้านนอกมันต่างจากกรุงเทพฯ เขาต้องนั่งเฝ้าศพ ถ้าไม่มีกิจกรรมอะไรเลยก็จะเหลือกันแต่ญาติไม่กี่คน พอมีกิจกรรมพวกนี้เจ้าภาพก็จะได้พักผ่อน แถมคนที่ไป (ทำกิจกรรม) ก็ช่วยใส่ซอง ช่วยอะไรต่อมิอะไร แต่ไม่ใช่ถึงขนาดบ่อนการพนัน
“ตรงนี้ (นโยบายงานศพไม่เศร้า เขย่าได้) ก็เสริมได้พอสมควร มันทำให้เราดังโดยไม่ต้องโฆษณา คนไปช่วยตีกระแสให้ ถ้าช่วยตีกระแสตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งนาน ๆ น่าจะได้คะแนนเยอะเหมือนกัน”
แม้นโยบายเรียกแขกอย่างงานศพไม่เศร้า เขย่าได้ จะทำให้พรรคท้องที่ไทยเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง แต่มองอีกมุมหนึ่งก็น่าเสียดายที่นโยบายนี้โดดเด่นจนกลบนโยบายอื่น ๆ ที่พรรคท้องที่ไทยตั้งใจนำเสนอ โดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือ ‘เกษตรกร’
“นโยบายของเราส่วนใหญ่ไม่ได้ขายฝัน เป็นนโยบายที่จับต้องได้ เราอยู่กับท้องที่มานาน เรารู้บริบทท้องที่ ผมก็เป็นคนถนัดเรื่องข้าว เพราะทำเรื่องข้าวมานาน ทำโรงสีและเป็นพ่อค้าข้าวมาก่อน เลยอยากจะทำโครงการชะลอการขายข้าว”
บัญชาเล่าคอนเซ็ปต์ของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการคล้ายจำนำข้าว แต่จะปิดประตูทุกบานที่นำไปสู่การทุจริต
“ผมจะเอา 2 โครงการ (จำนำข้าวกับประกันรายได้ข้าว) มารวมกัน โดยขยับราคาลงมาให้พอดีกับความเป็นจริง สร้างมาตรฐานให้เกษตรกรและไม่บิดเบือนตลาด ทุกคนเดินสายกลางหมด ได้ประโยชน์หมด ผู้ส่งออกก็ยังมีสิทธิ์ซื้อข้าวได้เหมือนเดิม และผู้ประกอบการที่มาร่วมกับโครงการรัฐบาลก็มีสิทธิ์ซื้อข้าวจากตรงนี้ได้ เราเปิดกว้าง เราจะไม่กีดกัน คนที่มีเงินสามารถมาซื้อข้าวกับรัฐบาลได้ทั้งหมดในการระบาย
“โรงสีก็เป็นแค่เครื่องมือของรัฐ ผมให้ลงทุนคนละครึ่งไง ใน 11,000 บาทลงทุนกันคนละครึ่ง คนละ 5,500 ต่อ 1 ตัน แล้วมันจะไม่มีข้าวเสียแม้แต่เม็ดเดียว ถ้ามีข้าวเสียในสัญญาจะระบุเลยว่าโรงสีต้องรับผิดชอบ ผู้ที่ดูแลข้าวตรงนั้นต้องรับผิดชอบ”
นอกจากนั้นเขายังสะท้อนปัญหาเรื่องการขนส่งผลไม้ที่ต้องใช้เส้นทางประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเกิดปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
อีกนโยบายที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘คืนรถครบจบกัน’ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการผ่อนรถไม่ไหวแล้วถูกยึดรถ ตามมาด้วยการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
“ผู้ซื้อกับผู้ขายมันต้องเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ เวลาซื้อรถเราก็ผ่อนไปส่วนหนึ่ง ผ่อน ๆ ไปเนี่ย เหมือนค่ารถได้คืนไปครึ่งหนึ่งแล้ว สุดท้ายผ่อนไม่ไหวก็ยึดรถเขาแล้วเอาไปขาย แล้วรถมือสองสมมติซื้อมา 1 ล้าน เวลาเอากลับไปขายจะขายได้ 2 แสน เสียเมื่อไหร่ มันถูกกว่าเดิมไม่เท่าไรหรอก ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ชาวบ้านเสียหายเยอะมากและเดือดร้อนกันเยอะ เลยคิดทำนโยบายคืนรถครบจบกันขึ้นมา”
หากดูจากนโยบายและหลักการในการก่อตั้งพรรค จะรู้เลยว่าบัญชายังคงต้องวิ่งบนเส้นทางทางการเมืองอีกยาวไกล เราจึงปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า เขาวางแผนถึงการเป็นนักการเมืองไว้อย่างไร?
บัญชาผู้ทิ้งตำแหน่งกำนันตอบอย่างมุ่งมั่นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะเดินหน้าทำงานการเมืองต่อ โดยทำให้พรรคท้องที่ไทยเป็นตัวหลักในการต่อสู้เพื่อให้การปกครองส่วนภูมิภาคยังคงอยู่ต่อไป
“ผมเชื่อว่าสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงต้องอยู่คู่ประเทศไทย…” บัญชายืนยันหนักแน่น