26 มิ.ย. 2567 | 17:43 น.
KEY
POINTS
การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2024 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจับตา เมื่อพื้นที่ทางการเมืองขยับขยายไปสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น YouTube, TikTok และ Facebook
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสาธารณรัฐไซปรัส เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอายุ 24 ปี อย่าง ‘ฟิดิอัส ปานายิโอตู’ (Fidias Panayiotou) ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหกตัวแทนของชาวไซปรัส ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภายุโรป
ถ้าเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายวิชาการ เรื่องนี้อาจไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่สำหรับปานายิโตอูแล้ว เขาจัดได้ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายพิเรนทร์ที่มักทำอะไรแผลง ๆ เพื่อเรียกยอดวิว
เชื่อไม่เชื่อก็ดูจากการที่เขาเคยให้นิยามตัวเองไว้ว่าเป็น ‘ผู้กระทำผิดพลาดอย่างมืออาชีพ’ (a professional mistake maker)
โดยวีรกรรมที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ของเขา ที่เด็ด ๆ ก็มีทั้งการพยายามกอดคนดังให้ครบ 100 คน และหนึ่งในนั้นคือ ‘อีลอน มัสก์’ รวมถึงการใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในโลงศพ
ชายหนุ่มอายุ 24 ปี ซึ่งมีผู้ติดตามทางยูทูบมากกว่า 2.6 ล้านบัญชี และอีกมากบน TikTok แม้จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ชาวไซปรัส โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก็พร้อมใจกันเทคะแนนให้จนได้รับคะแนนมากเป็นอันดับสามด้วยคะแนนเสียง 19.4% เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567
ถึงกระนั้น ฝั่งอนุรักษ์นิยมกลับมองว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่สั่นคลอนชนชั้นการเมืองของประเทศ ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นระบบพรรคการเมืองที่ฝั่งรากลึกยาวนาน เนื่องจากยูทูบเบอร์หนุ่มผู้นี้เป็นผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด
แต่ตัวเขาเองกลับมองเรื่องนี้ในแง่ดี หลังทราบผลคะแนน เขากล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นช่างน่าตกใจ นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ๆ” ทั้งยังให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ทางการไซปรัสว่า “ทุกฝ่ายควรมองว่าเรื่องนี้เป็นสัญญาณเตือนเพื่อการปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย และต้องรับฟังเสียงประชาชน”
นอกจากนี้ ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อบัลแกเรียอย่างหล่อ ๆ ว่า การที่เขาได้เป็นตัวแทนของชาวไซปรัสไปนั่งในสภายุโรป สะท้อนถึงอนาคตของประชาธิปไตยที่อาจมีบางอย่างแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“เพราะเราใช้แค่โซเชียลมีเดีย ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย การสตรีมสดผ่าน TikTok ใช้พอดแคสต์เพื่อหาเสียง ผมคิดว่ามันเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ทางการเมือง และเราจะได้เห็นความเป็นอิสระมากขึ้น เพราะผมเองก็เป็นอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ผมเริ่มเห็นความหวังถึงประชาธิปไตยที่งดงาม ตรงไปตรงมา ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้จริง ๆ พวกเขาสามารถทำคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่เหมือนกับในทีวี เป็นการแสดงความเห็นจากประชาชนสู่ประชาชน ผมตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้ และรู้สึกยินดีมากที่ได้รับเลือก”
เมื่อถูกพิธีกรยิงคำถามยาก ๆ เช่น วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป แนวทางการยุติสงครามในยูเครน และแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป หรือ Green Deal เขาเริ่มต้นตอบคำถามอย่างจริงใจว่า “ผู้คนอาจคิดว่าผมกำลังหลีกเลี่ยงคำถามเหล่านี้นะครับ…
“แต่คำถามสำคัญทั้งสามข้อล้วนต้องได้รับการตรวจสอบก่อน ผมไม่สามารถตอบได้ภายในเวลา 5 นาที แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์ที่มีเวลา 2 – 3 ชั่วโมง ผมสามารถอธิบายจุดยืนของตัวเองให้คุณฟังได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีการทางการเมือง ผมคิดว่าเราควรให้ข้อมูลและอธิบายบางอย่าง และตัวเองยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก อย่างที่คุณรู้ ผมเป็นหนึ่งในคนที่อายุน้อยที่สุดในสภา ดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องศึกษาให้มาก และเมื่อผมเข้าสู่สภายุโรป ผมจะรายล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความสามารถ หลังจากนั้นความคิดเห็นของผมก็จะค่อย ๆ พัฒนาไปในแต่ละประเด็น”
ต่อคำถามที่ว่าเมื่อได้เป็นสมาชิกสภายุโรปแล้ว เขาจะยุติบทบาทในฐานะอินฟลูหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมคิดว่าผมอาจจะเป็นสมาชิกสภายุโรปแบบเต็มเวลา และเป็นยูทูบเบอร์แบบนอกเวลา แต่ผมไม่อยากหยุดมัน เพราะมันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำสิ่งต่าง ๆ ในยุโรป”
เมื่อได้เห็นเขาในบทบาทใหม่นี้ หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า ชายหนุ่มคนนี้คือคนเดียวกับที่เคยไปก่อเรื่องไว้ที่ญี่ปุ่น
ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ปานายิโอตูถูกบีบให้ออกมาขอโทษ หลังจากที่เขาสร้างความไม่พอใจในญี่ปุ่น ด้วยการทำคลิปยูทูบแสดงวิธีเลี่ยงค่าโดยสารรถไฟด้วยการซ่อนตัวในห้องน้ำและแสร้งทำเป็นป่วย นอกจากนี้ เขายังเลี่ยงจ่ายค่าอาหารเช้าในโรงแรมระดับ 5 ดาว ด้วย ปรากฏว่าคลิปพิเรนทร์ ๆ นี้มียอดวิวนับล้าน
เมื่อได้ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกอิสระของสภายุโรป ชายหนุ่มผู้มีพฤติกรรมแผลง ๆ ในโลกออนไลน์ ได้ออกมาเฉลิมฉลองชัยชนะในโลกแห่งความจริง ณ จตุรัสเอเลฟเธเรีย พร้อมประกาศกร้าวว่า “เรากำลังเขียนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ในไซปรัสเท่านั้น แต่รวมถึงระดับสากลด้วย”
ข้อมูลจาก Politico ระบุว่า ปานายิโอตูประกาศตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วว่า เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกอิสระของสภายุโรป ขณะนั้นเขาไปออกรายการทีวีโดยสวมเสื้อสูทกับกางเกงขาสั้น ยอมรับในรายการอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่เคยออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงมาก่อน แถมยังมีความรู้ทางการเมืองและสหภาพยุโรปเท่าหางอึ่ง แต่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้เพราะเขาไม่สามารถอดทนต่อกฎเกณฑ์ของ ‘พวกเนิร์ด’ ในบรัสเซลส์ ได้อีกต่อไป
ช่วงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนเมษายน เขายอมรับว่าเป้าหมายของเขาไม่ใช่การได้รับเลือกตั้ง แต่อยากจะช่วยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น
ไซปรัส ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรประมาณ 9 แสนคน ปรากฏว่าในการเลือกตั้งดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนนเสียงมากกว่า 6.83 แสนคน ทั้งนี้ แม้ตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิจะอยู่ที่ต่ำกว่า 59% แต่ก็นับว่าเพิ่มขึ้นจาก 45% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากนายฟิดิอัส (Fidias factor) นั่นเอง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเอ็กซิทโพลพบว่า ปานายิโอตูได้รับคะแนนเสียง 40% จากกลุ่มอายุ 18 – 24 ปี และ 28% จากกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี
เราหวังจริง ๆ ว่า ‘ฟิดิอัส ปานายิโอตู’ จะไม่ทำให้ชาวไซปรัสที่ลงคะแนนให้ ต้องผิดหวัง และสามารถล้างภาพจำที่ไม่น่าจดจำในอดีตได้สำเร็จ
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: อินสตาแกรม Fidias Panayiotou
อ้างอิง:
YouTube prankster voted in as Cyprus MEP
Who is Fidias Panayiotou, the YouTube prankster voted in as Member of European Parliament?
The New Wave: The Influencer Fidias Panayiotou on the path from social media to the European Parliament