ปีเตอร์ นาวาร์โร : Death by China มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

ปีเตอร์ นาวาร์โร : Death by China มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

เรื่องราวของ ‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ (Peter Navarro) ที่ปรึกษาอาวุโสประธานาธิบดีด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิต มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

ถึงพี่น้องชาวอเมริกัน ผมอยากจะบอกทุกคนว่าวันนี้คือวันแห่งเสรีภาพของพวกเราที่เฝ้ารอมานาน วันที่ 2 เมษายน 2025 จะถูกจดจำในฐานะวันที่อุตสาหกรรมของอเมริกันถือกำเนิดขึ้นใหม่อีกครั้ง วันที่โชคชะตาของชาวอเมริกันถูกเรียกคืนกลับมา วันที่จะเป็นปฐมบทของหนทางที่อเมริกันจะกลับมามั่งคั่งอีกครั้ง!

เชื่อว่าสุนทรพจน์ภายหลังจากคำกล่าวนี้โดย ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่รีเทิร์นกลับมาเป็นคนที่ 47 จะสร้างแรงสั่นสะเทือนโลกเกือบทั้งใบ ไม่ใช่เพียงสิ่งนี้ทำหน้าที่สำแดงจุดยืนของสหรัฐอเมริกาที่ทรัมป์กำลังจะชี้ดาบมุ่งหน้าไป แต่ยังเป็นการถลกผ้าคลุมเปิดตัวนโยบายทางเศรษฐกิจอันสุดโต่งในนาม ‘กำแพงภาษีวันแห่งการเป็นเสรี’ (‘Liberation Day’ Tariff) หรือที่เรียกกันในนาม ‘กำแพงภาษีทรัมป์’ (Trump Tariffs) 

 

ปีเตอร์ นาวาร์โร : Death by China มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

 

เหตุที่ทำให้ประเทศแทบทั้งโลกต้องเปิดวอร์รูมระดมสมองเพื่อหาทาง ‘ต่อรอง’ — หรือ ‘ต่อกร’ — กับสหรัฐอเมริกา เป็นเพราะนโยบายกำแพงภาษีดังกล่าวประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากต่างประเทศหรือภาษีศุลกากรพื้นฐานทั่วไป (Universal Tariffs) ในอัตราเริ่มต้น 10% โดยไม่มีข้อยกเว้น และอาจสูงถึง 60% สำหรับประเทศที่ทรัมป์มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญของนโยบายนี้คือแนวคิดภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งหมายถึง หากประเทศใดเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงเท่าไร สหรัฐฯ ก็จะเก็บภาษีสินค้าจากประเทศนั้นในอัตราเดียวกัน 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนเต็มไปหมดจนทำให้หุ้นต่างพาเปลี่ยนเป็นสีแดงกันหมด จนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 9 เมษายน 2568 หนึ่งสัปดาห์หลังจาก ‘Liberation Day’ ว่าสหรัฐฯ จะระงับภาษีตอบโต้ที่ขึ้นกับประเทศต่าง ๆ เอาไว้ก่อน เหลือเพียงภาษีพื้นฐานทั่วไป เว้นแต่กับจีนที่โดนกำแพงภาษีไปรวมถึง 125% ก่อนที่จีนจะสวนหมัดกลับด้วยการขึ้นภาษีไป 84%

กำแพงที่ถูกก่อขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นกำแพงภาษีครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ ‘พระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสมูท-ฮอว์ลีย์’ (Smoot–Hawley Tariff Act) ที่เกิดขึ้นในยุคของประธานาธิบดี ‘เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์’ (Herbert Hoover) ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ภายใต้มรสุมของ ‘ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่’ (The Great Depression) เกือบหนึ่งศตวรรษที่แล้วเลยก็ว่าได้ ที่แม้มีหมุดหมายที่จะปกป้องเกษตรกรและแรงงานภายในประเทศ แต่ก็เป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามการค้าและการถดถอยของการค้าระหว่างประเทศลดลงกว่า 65%

ท่าทีการเดินหมากแบบนี้ ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นศิลปะการต่อรองแบบ ‘ทรัมป์สไตล์’ ที่ตัวเขาเองก็เคยจรดมันลงหนังสือ ‘Trump: The Art of the Deal’ ที่เจ้าตัวเขียนร่วมกับ ‘โทนี ชวาร์ตซ์’ (Tony Schwartz) ในปี 1987 ว่าถ้าอยากจะเจรจาต่อรองอะไรก็ให้ตั้งข้อเสนอไว้สูง ๆ เสียก่อน เพื่อที่จะทั้งเป็นการลองเชิงและกดดันทางจิตวิทยาเพื่อให้ต่อรองจนได้ข้อเสนอที่ต้องการ หรือพูดง่าย ๆ คือตั้งบาร์ไว้ให้สูง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ต้องการ… หรือแม้แต่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการก่อกำแพงภาษีไปแทบจะทั่วทั้งโลก การมุ่งมั่นต่อกรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการดำเนินนโยบายคุ้มครองทางการค้า (Protectionism) หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นมันสมองคนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ และโดยเฉพาะกับนโยบายการตั้งกำแพงภาษีใน โดยที่เขาผู้นั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประธานาธิบดีด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิต ‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ (Peter Navarro)

นาวาร์โรถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาเวิร์ด เป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภัยที่คืบคลานและอาจส่งผลถึงสรภูมิการค้าหรือแม้แต่ระเบียบโลกในภาพรวมจากประเทศจีนในชื่อ ‘Death by China’ และเป็นที่ปรึกษาที่มีจุดยืนที่สุดโต่ง เป็นหัวเชื้อสำคัญของนโยบายคุ้มครองทางการค้าและค้านการค้าเสรีอยู่เรื่อยมา 

ในบทความนี้เราจะแหวกว่ายเข้าไปในคิดของชายผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่สุมไฟให้กับนโยบายที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลก — และอาจจะรวมไปถึงประเทศของพวกเขาเองด้วย — ครั้งใหญ่ในรอบหลายปี และมันอาจเป็นเพียงปฐมบทความสุดโต่งที่อาจคืบคลานมาถึงในอนาคตอีกก็เป็นได้

 

ปีเตอร์ นาวาร์โร : Death by China มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

 

ศิษย์เก่าฮาเวิร์ดผู้เคยอยู่ไทย

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องจุดยืนและแนวคิดของชายผู้นี้ ‘ปีเตอร์ เคนท์ นาวาร์โร’ (Peter Kent Navarro) เกิดในวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 1949 ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ภายหลังจากจบมัธยมก็ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ด้านศิลปศาสตร์ด้วยทุนการศึกษา เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานในหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps) ที่ประเทศไทยเป็นเวลาถึงสามปี หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าไขว่คว้าปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด (Harvard University) ในด้านการบริหารรัฐกิจและเศรษฐศาสตร์ตามลำดับ 

แต่เมื่อจบปริญญาเอกแล้ว นาวาร์โรก็ไม่ได้มองว่าเส้นทางการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคือหนทางของเขา และเลือกที่จะเดินหน้าก้าวสู่สังเวียนการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งในหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเมือง กรรมาธิการเขต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ และสมาชิกสภาเมือง

แม้จะไม่ได้คว้าชัยในการลงสมัครที่ว่ามา แต่ผู้คนต่างก็จดจำเขาในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ ‘เหี้ยมโหด’ และ ‘ปากจัด’ ที่สุดคนหนึ่งในแซนดิเอโก (พื้นที่ที่นาวาร์โรลงสมัครรับเลือกตั้ง) ก่อนที่จะช่วงต้นศตวรรษใหม่ นาวาร์โรจะเบนสายจากการ (พยายาม) เป็นนักการเมืองไปทั้งสอนและเขียนหนังสือแทน จนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะกูรูด้านการลงทุน

ในขณะที่สอนหนังสืออยู่นั้น หนึ่งสิ่งที่นาวาร์โรเริ่มสังเกตได้คือนักศึกษา MBA ภาคค่ำของพวกเขาเริ่มทะยอยตกงานประจำกันไปที่ละคนสองคน ในตอนนั้นต้นตอสาเหตุที่นาวาร์โรนึกออกเป็นอย่างแรกคือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก — หรือพูดอีกอย่างก็คือ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน

จนกลายเป็นความรู้สึกไม่พอใจในวิธีการเดินหมากของ ‘จีน’ ที่ค่อย ๆ สะสมและควบแน่นจนถูกตีพิมพ์เป็นงานเขียน ‘The Coming China Wars’ ในปี 2006 ที่พูดถึงประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ที่กำลังอุบัติขึ้น ไปจนถึงบทบาทของจีนที่มีต่อการค้าโลกที่นำมาซึ่งความขัดแย้งหลายประการ โดยในภาพรวมจะเป็นการวิเคราะห์และข้อระวังถึงความท้าทายที่กำลังจะมาถึง

ก่อนที่ในเล่มถัดมา ปีเตอร์ นาวาร์โร จะจรดคำวิจารณ์และมุ่งโจมตีจีนอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในมิติของคุณภาพของที่ไม่ได้มาตรฐาน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การแทรกแซงเงินตรา การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เพื่อเป็นการฉายภาพให้เห็นว่าจีนเป็นภัยต่อสหรัฐอย่างไร และสมควรมีนโยบายตอบโต้อย่างไรบ้างผ่านหนังสือที่ชื่อว่า ‘Death by China’ ในปี 2011

 

จุดยืนต้านจีนกับ ‘Death by China’

 

และได้โปรดเถอะ มาช่วยกันปกป้องอเมริกาและครอบครัวของคุณ

อย่าซื้ออะไรก็ตามที่ Made in China

 

คือคำกล่าวเปิดใน ‘Death in China’ สารคดีที่ ปีเตอร์ นาวาร์โร ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับที่นำเอาหนังสือของเขามานำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์ ที่ตอนนี้เอง ตัวเขาได้นำเอามาเผยแพร่ให้ทุกคนได้สามารถดูได้แบบฟรี ๆ บนช่องทางยูทูป 

เพื่อที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของนโยบายภาษีแห่งการเป็นเสรีจากรัฐบาลทรัมป์มากขึ้น บางทีเราอาจจะต้องล้วงลึกไปถึงว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียนี้มองโลกอย่างไรและกำลังคิดอะไรอยู่ เรียกได้ว่า Death by China ไม่เพียงเป็นผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของนาวาร์โร แต่ยังเป็นภาพสะท้อนที่สมบูรณ์แบบว่าตัวเขา ‘มองจีนอย่างไร’

โดยในหนังสือเล่มนี้ นาวาร์โรได้ระบุปัญหาของพฤติกรรมทางการค้าของจีนที่เอาเปรียบการค้าโลกและส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาเอาไว้หลายประการนับตั้งแต่จีนเซ็นสัญญาเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ในปี 2001 อาทิเช่น กระบวนการผลิตสินค้าที่ปราศจากการควบคุมคุณภาพ การรีดนาทาเร้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ลงทุนต่างชาติ การกดขี่และเอาเปรียบแรงงานผ่านค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แถมยังเอาทรัพยากรส่วนเกินที่เหลือจากการ “โกง” (Cheat) เหล่านี้ไปพัฒนาและเพิ่มกำลังกองทัพ โดยทั้งหมดทั้งมวล ปีเตอร์ นาวาร์โร ได้บรรยายการค้าขายกับประเทศจีนว่า

 

หนึ่งในความอัปยศครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

 

เรื่องของคุณภาพสินค้าที่ผลิตในจีนก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่นาวาร์โรพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งบทสัมภาษณ์ ในหน้าหนังสือ รวมไปถึงคำกล่าวที่เราได้อ้างอิงไว้ก่อนหน้า นาวาร์โรมองว่าจีนเอารัดเอาเปรียบการค้าระหว่างประเทศด้วยการเพิกเฉยละเลยต่อมาตรการการควบคุมคุณภาพ ที่ไม่เพียงมีความทนทานต่ำ หรือลอกเลียนแบบ แต่อาจมาพร้อมกับสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพ

การที่จีนลดปริมาณต้นทุนในการผลิตโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และขนสินค้าเหล่านั้นเข้ามาแข่งขันในตลาดต่างประเทศ และบดขยี้คู่แข่งอย่างราบคาบจากราคาขายที่ต่ำ และทำให้สินค้าประเทศอื่นหรือแม้แต่ประเทศตนเองเสียความสามารถในการแข่งขันและทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อของ ‘Made in China’ แทน

ตอกย้ำความเลวร้ายมากไปกว่านั้น เมื่อสินค้าอเมริกันสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ก็อาจส่งผลให้ผู้ผลิตทยอยปิดตัวและตามมากับระดับการว่างงานที่สูงขึ้น ประชาชนมีรายได้น้อยลง และท้ายที่สุดก็ต้องหันไปบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งก็หนีไม่พ้นชิ้นที่ถูกแปะป้ายว่า Made in China

ทว่าจีนเองก็ไม่ได้แค่เอาเปรียบประเทศอื่นเพียงเท่านั้น แต่กระบี่ที่พวกเขาใช้ตวัดไปที่ตลาดต่างประเทศก็ชุบไว้ด้วยเลือดของแรงงานประเทศตนเอง ซึ่งก็คือการกดขี่และขูดรีดแรงงานประเทศของตนด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือแม้แต่การใช้แรงงานเด็ก (Forced Child Labor) รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย

ในขณะเดียวกันกับที่ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองในกรอบของเศรษฐศาสตร์ ก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะไปตั้งโรงงานในประเทศจีน ทั้งต้องการต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและการมุ่งหาความเป็นไปได้ในตลาดขนาดใหญ่ของจีน การขยับที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงส่งผลต่อระดับการจ้างงานภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงข้อมูล ทรัพย์สินทางปัญญา หรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ต้องถูกแบ่งปันให้กับประเทศจีน โดยนาวาร์โรมองว่าเป็นการคว้าผลประโยชน์ระยะสั้นแต่สร้างคู่แข่งที่แข็งแกร่งในระยะยาวจากประเทศจีน 

และดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ทรัพยากรส่วนเหลือจากการกดต้นทุนไปจนถึงสัดส่วนของเค้กในการค้าโลกที่ถูกแบ่งไปให้จีนก็ล้วนถูกใช้เป็นการพัฒนากองทัพและเทคโนโลยีทางการทหาร และอาจเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบโลกและความมั่นคงของชาติในอนาคต 

นี่คือการเดินหมากทางการค้าของประเทศจีนที่ ปีเตอร์ นาวาร์โร มองว่าเป็นการเอาเปรียบหลาย ๆ ประเทศทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา ในหนังสือ Death by China

 

มันสมองผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’

ภายหลังจากสาธยายให้ผู้อ่านเห็นภาพแล้วว่าภัยที่กำลังก่อตัวขึ้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรและมีต้นกำเนิดมาจากไหน ภายในหนังสือของนาวาร์โร เจ้าตัวก็ได้บรรยายต่อถึง ‘วิธีรับมือ’ กับการคืบคลานมาของจีนในครั้งนี้ ซึ่งก็คือจัดสมดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเสียใหม่ โดยนาวาร์โรก็ได้เสนอว่าสหรัฐฯ ควรทำให้จีนเล่นในกติกาการค้าในแบบที่ ‘เป็นธรรม’ ให้ได้ หรือไม่ก็ต้องใช้มาตราการเชิงคุ้มครองการค้า (Protectionism) จากสหรัฐฯ เอง 

ส่วนวิธีการในเชิงปฏิบัตินั้น นาวาร์โรก็นำเสนอว่าชาวอเมริกัน เลิกบริโภคสินค้าจากที่ผลิตจากจีนเสีย ในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งกำแพงภาษีของสินค้านำเข้าจากจีน ตราหน้าจีนว่าเป็นผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) โดยตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อหวังจะทวงคืนความสามารถในการแข่งขันและการเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมของชาวอเมริกัน

แม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เอง เมื่อได้ชม Death by China ฉบับภาพยนตร์สารคดีแล้วก็ยังกล่าวว่า “นี่คือสารคดีชิ้นสำคัญที่ฉายภาพปัญหาของเราที่มีต่อจีนผ่านข้อเท็จจริง ตัวเลข และข้อมูลเชิงลึก ผมอยากให้คุณได้ดูนะ

ด้วยความชอบพอทางความคิดในทางเดียวกันเช่นนี้ ไม่น่าแปลกเมื่อถึงคราวที่ทรัมป์คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีมาครอง ในเดือนธันวาคมของปี 2024 ชื่อของปีเตอร์ นาวาร์โร ก็ได้ปรากฎขึ้นในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสประธานาธิบดีด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตในทันที

จากเรื่องราวในหนังสือของเขาที่เราได้กล่าวถึงไป ผสานกับบทสัมภาษณ์ของเขา เราก็สามารถสรุปได้อย่างไม่ยากนักว่านาวาร์โรถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่สนับสนุนอย่างแข็งขันที่สุดในการคงกำแพงภาษีไว้ในระยะยาว โดยแผนด้านการค้าของเขาก็ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของเนื้อหากว่าครึ่งบทของ ‘Project 2025’ คู่มือเชิงนโยบายที่จัดทำโดย Heritage Foundation สถาบันคลังไอเดียสายอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ

โดยนาวาร์โรได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีคนถัดไปมุ่งเป้าเก็บภาษีทั้ง 8 ประเทศที่มีสภาวะขาดดุลการค้าในระดับสูงต่อสหรัฐอเมริกา และให้จัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงตามไป และปรากฎว่าในวันที่ทรัมป์กล่าวถึงเรื่องนโยบายกำแพงภาษีใน Liberation Day ประเทศทั้ง 8 ก็ปรากฎอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกเก็บภาษีระดับสูง จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะบอกว่าเบื้องหลังนโยบายภาษีทรัมป์นี้คือมันสมองของ ปีเตอร์ นาวาร์โร

แน่นอนว่านโยบายนี้ได้สร้างผลกระทบไปทั่วทั้งโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิดรอยร้าวภายในทำเนียบขาวเองด้วย โดยเฉพาะระหว่าง นาวาร์โร กับ อีลอน มัสก์

โลกจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป


ภาพ : Getty Images

อ้างอิง 

https://www.theguardian.com/us-news/2025/apr/09/trump-tariffs-list-pause
https://www.investopedia.com/articles/insights/012717/peter-navarro.asp
https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2018/12/peter-navarro-trump-trade/573913/
https://www.marketwatch.com/story/peter-navarro-is-the-architect-of-trumps-tariff-policy-elon-musk-calls-him-a-moron-e8bd0085
https://www.abc.net.au/news/2025-04-09/who-is-peter-navarro-why-is-he-feuding-with-elon-musk/105155808
https://www.csis.org/analysis/liberation-day-tariffs-explained
https://www.abc.net.au/news/2025-04-03/donald-trump-tariffs-reciprocal-trade-announcement/105125434
https://www.newyorker.com/business/currency/trumps-muse-on-u-s-trade-with-china
https://en.asaninst.org/contents/death-by-china-peter-navarros-zero-sum-game/
https://www.youtube.com/watch?v=sHetw3OSFGk
https://www.youtube.com/watch?v=mMlmjXtnIXI