17 เม.ย. 2568 | 18:00 น.
ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการแถลงจากหน้าจอโทรทัศน์ ไม่มีแม้แต่คำเตือนอย่างเป็นทางการ — เมียนมารู้ตัวอีกที กองทัพก็ยึดอำนาจคืนไปแล้ว
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ประเทศเมียนมาหยุดนิ่งไปชั่วขณะ เมื่อข่าวรัฐประหารโดยกองทัพกระจายตัวไปทั่วโลก พร้อมกับภาพไวรัลของหญิงสาวที่กำลังเต้นแอโรบิกอยู่หน้าอาคารรัฐสภา โดยมีขบวนรถหุ้มเกราะของกองทัพวิ่งผ่านอยู่ด้านหลัง เหตุการณ์นั้นไม่ใช่เพียงภาพเปรียบเปรยของ ‘ชีวิตท่ามกลางอำนาจเผด็จการ’ หากแต่คือวินาทีที่ชายผู้ชื่อว่า ‘มิน อ่อง ลาย’ ปิดฉากประชาธิปไตยเมียนมาอีกครั้งหนึ่งด้วยกำปั้นของตนเอง
สำหรับชาวโลก เขาคือเผด็จการทหารผู้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุม ใช้ศาลเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพ และถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด ชื่อของมิน อ่อง ลาย ไม่ใช่เพียงผู้วางแผนยึดอำนาจ หากคือบุคคลที่ฝังรากอำนาจและความแข็งแกร่งของ ‘ตะมะดอว์’ ไว้อย่างลึกและยาวนานกว่านั้น
เบื้องหลังรอยยิ้มอันเรียบเฉย บุคลิกที่ไม่โดดเด่น และเสียงที่แทบไม่มีวันปรากฏต่อหน้าสาธารณะ คือเส้นทางของชายผู้ไต่เต้าจากนักศึกษานิติศาสตร์ในยุคแห่งเคลื่อนไหวประท้วง สู่การเป็นแม่ทัพภาคสนามในแนวรบชายแดน ก่อนจะกลายเป็นผู้ควบคุมอนาคตทั้งทางการเมืองและการทหารของประเทศกว่า 55 ล้านคน
บทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชายคนนี้ ผ่านเหตุการณ์ ความทะเยอทะยาน และการตัดสินใจซ้อนทับซึ่งกลายเป็น ‘รอยเลือด’ ที่ยังไม่ล้างออกจากหน้าประวัติศาสตร์ของเมียนมาจวบจนทุกวันนี้
ท่ามการบรรยากาศการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารของ ‘นายพล เน วิน’ (Ne Win) ราวช่วงทศวรรษที่ 1970s ประชาชน คนหนุ่มสาวมากมาย ไปจนถึงพระ ต่างก็พากันออกมาเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนต่อต้านการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรมนับตั้งแต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นราวทศวรรษก่อนหน้า แต่สำหรับนักศึกษานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งนามว่า ‘มิน อ่อง ลาย’ (Min Aung Hlaing) เพราะเป้าหมายเดียวของเขาในตอนนั้นคือการยื่นสอบเข้า ‘สถาบันป้องกันประเทศกลาโหม’ (Defense Services Academy) หรือโรงเรียนนายร้อยของกองทัพพม่า (หรือ เมียนมา ในปัจจุบัน)
บ้านเกิดอยู่ ณ เมืองทวาย (Tavoy) ทางตอนใต้ของประเทศพม่า มิน อ่อง ลาย เติบโตมาในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังร้อนระอุด้วยความหวาดกลัวและความหวังที่ดับวูบลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่ฝันของประชาชนรุ่นราวคราวเดียวกันส่วนใหญ่คืออิสรภาพของพม่า ฝันของ มิน อ่อง ลาย คือการมุ่งหน้าเข้าสู่ระบบทหาร และแม้จะต้องพยายามถึง 3 ครั้ง ท้ายที่สุด เขาก็สามารถบรรลุฝันของเขาให้เป็นจริงในปี 1974
สามปีต่อมา มิน อ่อง ลาย ก็สำเร็จการศึกษาในรั้วโรงเรียนนายร้อย และก้าวเข้าสู่ชายคาของกองทัพพม่าอย่างเต็มตัว ในช่วงเวลานั้น ตัวของเขาก็ค่อย ๆ ไต่เต้ายศและตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งในปี 2009 ที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ สำนักปฏิบัติการพิเศษหมายเลข 2 (Bureau of Special Operations-2)
ตำแหน่งนี้ได้ทำให้เขาได้ดูแลปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และในขณะเดียวกันก็เป็นปฐมบทของกำปั้นเหล็กโชกเลือดในการกดขี่และปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าของ มิน อ่อง ลาย ด้วย
ในช่วงแรกบนเส้นทางสายอาชีพของกองทัพ เพื่อนร่วมกองทัพต่างก็ให้ฉายากับ มิน อ่อง ลาย ว่า ‘ขี้แมว’ (Cat Feces) — อาจไม่ใช่เพราะเขาเป็นของเสียที่ไร้ค่า แต่หมายถึง สิ่งดูภายนอกอาจจะเรียบเฉย ไร้คุณค่า แต่ส่งกลิ่นแรงจนไม่อาจมองข้ามได้ — แม้จะดูเหมือนเป็นฉายาที่เป็นพลังบวกเชิงลบ แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงแววตัวตน
ชื่อเสียงของ มิน อ่อง ลาย ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในระดับสากลฐานะผู้นำเผด็จการทหารผู้เหี้ยมโหดที่คว้าตำแหน่งผู้นำเมียนมาด้วยการรัฐประหาร แต่ยังมีประวัติการกดขี่ ปราบปราม และกวาดล้าง กลุ่มกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar Nationalities Democratic Alliance Army) หรือ ‘MNDAA’ ที่กองทัพนิยามว่าเป็น ‘กลุ่มกบฏติดอาวุธ’ (Armed Rebels) ในพื้นที่โกก้าง (Kokang) ในเขตรัฐฉาน (Shan State) ติดกับพรมแดนประเทศจีน
เป็นผลให้ประชาชนต้องหนีข้ามพรมแดนไปกว่า 37,000 คน แถมยังมาพร้อมกับการรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การสังหารพลเรือน การปล้นสะดม และการกวาดล้างหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการปราบปรามชาติพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งแรก ที่มิน อ่อง ลาย รับผิดชอบในระดับยุทธศาสตร์
แม้ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างชื่อเสียของเขากระฉ่อนไปทั่ว แต่ไม่กี่ปีถัดมา เขาก็ได้ก้าวขึ้นเป็นเสนาธิการร่วมของกองทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ (Joint Chief of Staff of the Army, Navy, and Air Force) ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ ‘นายพลตาน ฉ่วย’ (Than Shwe) กำลังจะเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander-in-Chief) และผู้ที่ถูกเลือกมารับช่วงต่อก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ไม่ใช่นายพลอาวุโสที่ต่อคิวมาก่อนเขา แต่เป็น มิน อ่อง ลาย
แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมียนมากำลังขยับเข้าสู่การปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือน แต่ ‘ตะมะดอว์’ (Tatmadaw) ก็ยังมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ ซึ่งก็มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ให้อำนาจและสัดส่วนกับกองทัพในการมีส่วนควบคุมการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ และด้วยสไตล์การเป็นผู้นำแบบ ‘กำปั้นเหล็ก’ (Iron Fist) ผสานเข้ากับกลไกการปกครองของประเทศที่เอื้อต่อกองทัพ ก็ยิ่งทำให้ มิน อ่อง ลาย กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดของการเมืองเมียนม่าไปโดยปริยาย
แต่กำปั้นเหล็กของเขาก็โชกด้วยเลือดอย่างชัดแจ้งจากเหตุการณ์ที่ทำให้โลกตั้งหันมาจับตามอง เมื่อกองทัพเมียนมาได้เปิดปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มโรฮิงญา กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งการปราบปรามในครั้งนี้ก็มาพร้อมกับการทารุณกรรม การข่มขืน การเผาบ้านเรือนหลายร้อยแห่ง ไปจนถึงการสังหารหมู่
เป็นผลให้มีชาวโรฮิงยาต้องอพยพไปบังกลาเทศกว่า 730,000 ราย ส่งให้ชื่อของ ‘มิน อ่อง ลาย’ โจษจันต่อประชาคมโลก อีกทั้งยังได้ข้อสรุปว่าปฏิบัติการนี้มีลักษณะเข้าข่าย ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (Genocide) แม้ทางกองทัพจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ตาม แต่ชื่อของมิน อ่อง ลาย ก็ถูกระบุในรายงานว่าเป็นหนึ่งใน ‘ผู้บัญชาการระดับสูงที่ต้องรับผิด’
แม้ในสายตาของประชาคมโลก เมียนมาในช่วงหลังปี 2011 จะดูเหมือนกำลังเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อพรรค NLD ของ ‘อองซานซูจี’ (Aung San Suu Kyi) ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์และขึ้นเป็นรัฐบาลในปี 2015 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตะมะดอว์ ก็ยังมีสถานะเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ที่ควบคุมโครงสร้างอำนาจสำคัญอย่างแน่นหนา
โดยที่หัวใจของอำนาจนั้นก็หนีไม่พ้น มิน อ่อง ลาย
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารก่อนหน้าจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย กองทัพยังคงได้รับการจัดสรรที่นั่ง 25% ในรัฐสภาโดยอัตโนมัติ และยังมีสิทธิ์แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลักจำนวนสามกระทรวง ได้แก่ กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน แถมรองประธานาธิบดีหนึ่งคนก็ต้องมาจากการเสนอของกองทัพ ซึ่งหมายความว่า กองทัพยังคงมีสิทธิ์ใช้อำนาจด้านความมั่นคง สายข่าว และการควบคุมภายในประเทศแทบทั้งหมด
ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าอองซานซูจีจะคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งมาได้อย่างท่วมท้น แต่เธอก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (President) ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุว่า ผู้ใดมีคู่สมรสหรือบุตรถือสัญชาติต่างชาติจะไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดูเหมือนจะเขียนไว้เพื่อกันเธอโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาจึงลงมติตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นคือ ‘ที่ปรึกษาแห่งรัฐ’ (State Counsellor) ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลแทน
ทว่าตำแหน่งนี้ แม้จะให้อำนาจในการบริหารประเทศ แต่ก็ยังต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่รัฐธรรมนูญฉบับทหารร่างไว้ กองทัพยังคงเป็นอำนาจที่ไม่อาจแตะต้อง ซึ่งมีที่นั่งในรัฐสภาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง มีสิทธิ์ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคุมกระทรวงด้านความมั่นคงทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะ มิน อ่อง ลาย ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ยังคงมีอำนาจและบทบาทอย่างล้นเหลือ แม้ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลพลเรือน
กล่าวได้ว่า แม้จะมีฉากหน้าของประชาธิปไตย แต่เบื้องหลังยังเป็นระบบที่กองทัพสามารถ ‘เหนี่ยวรั้ง’ หรือแม้แต่ ‘ล้มโต๊ะ’ เมื่อใดก็ได้ที่อำนาจของตนถูกสั่นคลอน
และเมื่อวันเวลาเคลื่อนไปถึงปี 2021 ‘เมื่อนั้น’ ก็มาถึง
แม้รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซานซูจีจะมีอำนาจบริหารประเทศในเชิงรูปธรรม และได้รับการยอมรับจากนานาชาติในฐานะผู้นำประชาธิปไตย แต่ในทางโครงสร้าง กลไกของรัฐเมียนมากลับยังคงถูกควบคุมไว้โดยตะมะดอว์ ที่มีทั้งกองกำลังติดอาวุธ ทุนเศรษฐกิจ และอำนาจทางกฎหมายอยู่ในมือ
เมื่อพรรค NLD คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน 2020 ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าเดิม ท่ามกลางการคาดการณ์ว่ารัฐบาลพลเรือนอาจเดินหน้าผลักดันให้เกิดการ แก้รัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งเป็นเสาหลักแห่งอำนาจของกองทัพ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกตีความว่าเป็น ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของกองทัพเอง
ในขณะเดียวกัน มิน อ่อง ลาย เมื่อได้ก้าวถึงจุดสูงสุดของเส้นทางบนกองทัพแล้ว ในห้วงเวลานั้น ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า มิน อ่อง ลาย มีความทะเยอทะยานทางการเมือง โดยเฉพาะความต้องการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี หลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่ออำนาจทางการเมืองเท่านั้น หากยังเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลของตนด้วย
จึงเป็นเหตุให้เขาส่งตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีผ่าน พรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกองทัพ ทว่าความหวังของเขาก็พังทลายลงเมื่อพรรค USDP พ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับ NLD นำโดยอองซานซูจี ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020
การเลือกตั้งครั้งนั้นได้รับการยืนยันจากทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาและผู้สังเกตการณ์อิสระนานาชาติว่า โปร่งใส และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง แม้กองทัพและพรรค USDP จะยื่นคำร้องกล่าวหาเรื่องทุจริตเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เคยสามารถนำเสนอหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือ เมื่อคำร้องถูกปฏิเสธโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเขาก็เรียกร้องให้เลื่อนการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปเพื่อสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาล NLD ก็ปฏิเสธอีกครั้ง
คำปฏิเสธจึงกลายเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มิน อ่อง ลาย ตัดสินใจหยิบ ‘ทางเลือกสุดท้าย’ ขึ้นมาใช้
“หากใครไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายฉบับนั้นก็สมควรถูกเพิกถอน ถ้ามันคือรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องเพิกถอนรัฐธรรมนูญ”
คือสิ่งที่ มิน อ่อง ลาย ออกมากล่าวต่อสาธารณชนถึงกรณีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ตัวเขาเองมองว่า ‘ไม่โปร่งใส’ อาจเป็นเพราะความเชื่ออย่างหนักแน่นในข้อสรุปนั้นหรือ ‘ข้ออ้าง’ ที่ตัวเขาพยายามจะใช้เป็นเหตุผลในการเริ่มปฏิบัติการ
เป็นเหตุให้ในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ในขณะครูสอนแอโรบิคนามว่า ‘ขิ่น หนิ่น ไว่’ (Khing Hnin Wai) กำลังถ่ายวิดีโอตนเองกำลังเคลื่อนย้ายส่ายสะโพกออกกำลังกายยามเช้า ฉากหลังของวิดีโอออกกำลังกายดังกล่าวก็ได้ปรากฎขบวนรถหุ้มเกราะสีดำแล่นผ่านเป็นแถว มุ่งหน้าสู่อาคารรัฐสภาในกรุงเนปีดอว์ เป็นการจับภาพวินาทีที่เมียนมากำลังถูกรัฐประหารครั้งสำคัญโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ‘มิน อ่อง ลาย’
หลังจากยึดอำนาจไว้ในมือ มิน อ่อง ลาย แต่งตั้งตนเองเป็นประธาน ‘สภาบริหารแห่งรัฐ’ (State Administration Council) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยให้คำมั่นว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างเป็นธรรมในภายหลัง
ภายใต้การนำของเขา เมียนมาถูกปิดกั้นการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตถูกควบคุมอย่างเข้มงวด สื่ออิสระถูกสั่งปิด บุคคลสำคัญในรัฐบาลพลเรือนถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ในสถานที่ลับ รวมถึง อองซานซูจี ที่ถูกตั้งข้อหาซ้อนทับกันหลายคดี ตั้งแต่ข้อหาครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ไปจนถึงการทุจริตและยุยงปลุกปั่น
แต่แทนที่ประชาชนจะหวาดกลัวและยอมจำนน ความโกรธเกรี้ยวกลับปะทุขึ้นเป็นเปลวไฟที่ลุกลามไปทั่วประเทศ ชาวเมียนมาหลายล้านคนหลั่งไหลสู่ท้องถนนเพื่อแสดงจุดยืนผ่านขบวนการ อารยะขัดขืน ข้าราชการ แพทย์ พยาบาล ครู นักเรียน นักศึกษา และแรงงานจำนวนมาก หยุดงานประท้วง พร้อมเรียกร้องให้คืนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากประชาชน
เมื่อการประท้วงสันติถูกรัฐทหารตอบโต้ด้วยกระสุนจริง การจับกุมกลางดึก และการทรมานในค่ายกักกัน การต่อต้านจึงเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ จากเมือง ขยับสู่ป่า ผู้ประท้วงบางส่วนรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่รู้จักกันในชื่อ PDF (People’s Defense Force) จับมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีประสบการณ์ในสนามรบ เช่น KIA, KNLA, และ AA เกิดเป็นแนวรบใหม่ที่ทำให้เมียนมากลายสภาพจากรัฐทหารไปสู่สงครามกลางเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
และแม้ว่าในปัจจุบันเมียนมากำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติครั้งใหญ่อย่างแผ่นดินไหวที่สะเทือนไปถึงพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และแม้ว่าในวันที่ 2 เมษายน รัฐบาลก็ได้ตอบโต้การพักรบ แต่ก็มีรายงานว่าในวันที่ 1 เมษายน 3 วันหลังเกิดแผ่นดินไหว กองทัพของรัฐบาลเผด็จการได้โจมตีใส่ขบวนรถของสภากาชาดจีนซึ่งกำลังลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ โดยเส้นทางที่ขบวนรถแล่นผ่านนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัฐบาล บ้างจึงมองว่านี่อาจเป็นเหตุผลให้รัฐเมียนมาเลือกที่จะพักรบ
นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เงินสนับสนุนจากต่างชาติอาจถูกดึงไปยังเนปิดอว์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากเท่าพื้นที่อื่น ๆ
และในขณะที่มิน อ่อง ลาย ยังคงปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กบนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลานี้ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า ระบบและกลไกบางอย่างจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง หากเมียนมาต้องการหลุดพ้นจากวังวนปัญหาเดิมที่สังคมเคยผ่านและเจ็บปวดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ในช่วงเวลาที่เมียนมาเผชิญทั้งวิกฤตการเมือง วิกฤตมนุษยธรรม และภัยพิบัติทางธรรมชาติซ้อนทับกัน เส้นทางของประเทศกลับยังถูกควบคุมด้วยกำปั้นที่ไม่ยอมคลายของชายเพียงคนเดียว — มิน อ่อง ลาย
จากวันแรกที่ก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนนายร้อย สู่วันแห่งการยึดอำนาจด้วยข้ออ้างเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ เส้นทางของเขาคือเส้นทางของผู้ที่เลือกจะยืนอยู่เหนือลมหายใจของประชาชน ไม่ใช่เคียงข้าง
เขาอาจกุมอำนาจทางการทหาร กุมสภา กุมศาล และกุมรัฐไว้ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เขาไม่อาจควบคุมได้เลย คือ แรงต้านจากหัวใจคน ที่ยังคงเชื่อในเสรีภาพ ความยุติธรรม และสิทธิในการกำหนดอนาคตของตัวเอง
และแม้เขาจะพยายามปิดเสียงเหล่านั้นด้วยคุก ปืน หรือกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพ
แต่เสียงของการต่อต้านก็ยังดังก้องอยู่
บางครั้งในท้องถนน บางครั้งในป่าเขา บางครั้งผ่านภาพวิดีโอแอโรบิกที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ถูกยึด แต่หัวใจยังไม่ยอมแพ้
ประวัติศาสตร์ของเมียนมายังไม่สิ้นสุด เฉกเช่นเดียวกับบทต่อไปของ มิน อ่อง ลาย
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง
Who is Min Aung Hlaing, Myanmar's junta chief facing ICC arrest warrant? | Reuters
Myanmar Military Chief Warns Constitution Should Be Revoked If Laws Not Followed | The Irrawaddy
Myanmar coup: Min Aung Hlaing, the general who seized power | BBC
Myanmar’s Army Is Back in Charge. It Never Truly Left. | The New York Times
Who Is Senior Gen. Min Aung Hlaing of Myanmar? | The New York Times
Myanmar’s junta takes advantage of a devastating earthquake | The Economist
Myanmar coup: Fitness instructor unwittingly films video as takeover unfolds | BBC