ก่อนจะชมภาพยนตร์เรื่อง The Current War (2019) ใครหลาย ๆ คนอาจหวนนึกถึงบทเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมฯ เท่าที่ผ่านกันมา เมื่อลองทบทวนแล้วอาจพบกับข้อเท็จจริงว่า สิ่งเดียวที่จดจำได้เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์คิดค้นไฟฟ้า คือโทมัส อัลวา เอดิสัน แต่ความจริงในหน้าหนังสือเรียน กลับไม่ตรงกับความจริงในหน้าประวัติศาสตร์เสียทีเดียว
เมื่อการกำเนิดของนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ อย่าง “ไฟฟ้า” เป็นดั่งชนวนจุดระเบิดสงครามแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งในวงการไฟฟ้า สิ่งที่แฝงตัวอยู่ในกระดานหมากนี้ คือกลอุบายทางการใช้ “สื่อ” เเละ “เล่ห์เหลี่ยมทางการค้า” มาต่อกรจนอีกฝ่ายพลาดพลั้ง เพราะความปราดเปรื่องไม่อาจเป็นปัจจัยเดียวให้คว้าชัย นั่นทำให้ทางเลือกในกฎกติกาถูกจำกัด ทดสอบ “ศีลธรรม” ของผู้เข้าแข่งขัน บีบให้ทั้งเอดิสันและเวสติงเฮาส์จำต้องเล่นนอกกรอบ ชิงไหวชิงพริบทางจิตวิทยา เพื่อเป็นผู้ชนะบนหน้าประวัติศาสตร์
[caption id="attachment_10317" align="alignnone" width="1000"]
โทมัส อัลวา เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์)[/caption]
โทมัส อัลวา เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) กับฉากเปิดตัวของเขาที่ก้าวขึ้นมายืนเฉิดฉายอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางพายุหิมะโหมกระหน่ำ ก่อนภาพจะตัดไปมาระหว่างการเดินทางของเขาจากเมนโลพาร์ค, นิวเจอร์ซี สู่ นิว ยอร์ก ภายใต้คืนแห่งความมืดมิดเหล่านั้น ทันทีที่ปลายนิ้วของ “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” ขยับ หลอดไฟฟ้าได้สุกสกาวทีละดวงไปพร้อมกับความพยายามที่สัมฤทธิ์ผล โลกทั้งใบก็ดูเหมือนว่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ฉากข้างต้นอาจนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นเรื่องราวให้คนดูได้ทำความเข้าใจกับความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของเอดิสัน นับเป็นภาพแห่งการร่ายเวทมนตร์คาถาของเอดิสันก็ยังเป็นภาพที่น่าจดจำ น่าเสียดายที่ฉากน่าตื่นเต้นขนาดนี้ บทหนังกลับค่อย ๆ ดึงคนดูให้คล้อยตามเรื่องราวไปทีละนิด ไม่หวือหวาเท่าการเปิดเรื่องเท่าไหร่นัก
ประเด็นที่น่าสนใจคือการสอดแทรกความจริงที่ว่า การเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์อันชาญฉลาดก็ไม่วายให้ต้องมีเหล่านายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างห้ามไม่ได้ เพราะด้วยเพียงความปราดเปรื่องของอัจฉริยะภาพนั้นไม่อาจสร้างสรรค์ด้วยเงินทุนอันน้อยนิดให้อยู่รอดได้ตลอดรอดฝั่ง ยังคงต้องพึ่งใบบุญของนายทุนหน้าเลือดเพื่อที่จะสร้างอุตสาหกรรมให้ขยายใหญ่ขึ้น
[caption id="attachment_10318" align="alignnone" width="948"]
จอร์จ เวสติงเฮาส์ (ไมเคิล แชนนอน)[/caption]
และด้วยอำนาจแห่งเงินทุนนั้นเอง ทำให้เอดิสันปฏิเสธการเข้าพบกับ จอร์จ เวสติงเฮาส์ (ไมเคิล แชนนอน) อย่างไม่ใยดี เหตุการณ์นี้ทำเอาเวสติงเฮาส์เลือดขึ้นหน้า ตัดสินใจลงทุนลงแรงไปกับเครือข่ายไฟฟ้าสายสลับแทน เพราะเวสติงเฮาส์เชื่อว่ามันมีประสิทธิภาพมากกว่ากระแสตรงซึ่งส่งไฟฟ้าได้ไกลเต็มที่เพียงหนึ่งถึงสองกิโลเมตร แถมยังต้องสร้างโรงไฟฟ้าในทุก ๆ เมือง เทียบกับกระแสสลับที่ส่งไฟฟ้าไปได้ไกลกว่าหลายร้อยกิโลเมตรด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถส่งไฟฟ้าไปยังต่างเมืองได้ ซึ่งนับว่าประหยัดพื้นที่และเงินทุนได้มากกว่าหลายเท่า ถึงอย่างนั้นเอดิสันก็ยังยืนกรานว่าไฟฟ้าระบบใต้ดินของเขาปลอดภัยกว่า ทำให้เวสติงเฮาส์คิดพัฒนาระบบไฟฟ้าสลับจนเป็นคู่แข่งกับเอดิสัน
เอดิสันเคยมีอุดมการณ์ว่าจะไม่มีวันประดิษฐ์สิ่งที่ใช้คร่าชีวิตของมนุษย์เป็นอันขาด แต่เเล้วเขาก็กลืนน้ำลายตัวเองด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ “เก้าอี้ประหารชีวิตด้วยไฟฟ้า” ของรัฐบาลซึ่งใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยแผนการอันชั่วร้ายว่าจะโยนความผิดทั้งหมดให้คู่เเข่งของตัวเอง และทำลายชื่อเสียงของเวสติงเฮาส์
ทว่าสัจจะไม่เพียงไร้ซึ่งในหมู่โจร เเต่กลับไม่มีในหมู่อัจฉริยะอีกด้วย โชคร้ายที่ทุกคำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะเก็บเเผนการของเอดิสันเรื่องเก้าอี้ไฟฟ้าเป็นความลับ จดหมายทั้งหมดมิได้ถูกทำลายทิ้งตามสัญญา หนำซ้ำเวสติงเฮาส์ยังจ้างให้คนไปเปิดโปงเรื่องดังกล่าว และแล้วเอดิสันก็ต้องพ่ายเเพ้ไปเพราะความเชื่อใจลมเเล้ง ๆ ของรัฐบาลนั้น
ไม่เท่านั้นยังมีประเด็นศีลธรรมที่สั่นคลอนความรู้สึก ใครบอกว่าสงครามวิทยาศาสตร์ไม่มีการนองเลือด เพราะหากลองนับสัตว์หลายต่อหลายชีวิตที่ต้องมาเป็นเหยื่อในการทดลองไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว วัว ม้า หรือแม้แต่ช้างที่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมานบนเก้าอี้ประหารที่เอดิสันเองได้เคลมว่ามีศีลธรรม ด้วยตรรกะว่าการฆ่าคนโดยไม่ทรมานนั้นไม่ผิด นับเป็นความคิดที่นักสิทธิมนุษยชนสมัยนี้จะต้องร้องไห้เเละรับไม่ได้กันเลยทีเดียว
แง่หนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า สื่อในสมัยนั้นเป็นทางเลือกไม่กี่ทางของการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ทำให้อิทธิพลของความโหดร้ายของทุนนิยมยิ่งทวีคูณ ด้วยมือของผู้มีอำนาจที่ยึดครองสื่อนั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของธุรกิจ สังคม และชีวิตได้ เพียงแค่คำพูดก็บิดเบือนข่าวลือจนกลายเป็นข้อเท็จจริงอย่างง่ายดาย ทั้งยังชักจูง ล่อลวงความสนใจของผู้คนและเหล่านักลงทุนให้เอนเอียงไปตามกระแสที่เกิดขึ้น มีพลังมากพอให้ล้มคู่แข่งจนแพ้ระเนระนาดเพียงตัวอักษร (บิดเบือน) ไม่กี่ตัวบนหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามเเม้เอดิสันจะมีอิทธิพลในสื่อมากเเค่ไหนก็ไม่อาจต้านทานกับความมีประสิทธิภาพของไฟฟ้ากระเเสสลับที่สามารถทำได้มากกว่าเเนวคิดของตน เเต่ถ้าให้พูดกันตรง ๆ เวสติงเฮาส์เพียงลำพังคนเดียวก็คงไม่อาจจะสามารถเอาชนะไฟฟ้ากระเเสตรงได้ หมากตัวสำคัญของสงครามนี้ทั้งหมดเลยคือ นิโคลา เทสลา (นิโคลัส เฮาลต์) ผู้ที่ทำให้ทำให้ความคิดที่ใครต่างมองว่าลม ๆ เเล้ง ๆ ของเวสติงเฮาส์เป็นจริง
[caption id="attachment_10320" align="alignnone" width="1899"]
นิโคลา เทสลา (นิโคลัส เฮาลต์)[/caption]
ในความจริงเเล้วชัยชนะนั้นสำคัญจริง ๆ หรือไม่ ชื่อเสียงหรือเงินทองก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดกาล เห็นได้จากบั้นปลายชีวิตของนักวิทยาสตร์เหล่านั้นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้ผู้ชมเข้าใจถึงความเป็นมาที่ไม่อาจหาได้ในห้องเรียน
บทสรุปสุดท้ายของเวิล์ดแฟร์คือความพ่ายแพ้ของเอดิสัน ภาพความปิติยินดีที่สะท้อนบนหน้าของชาวเมืองถูกซ้อนทับด้วยการประหารชีวิตฆาตกร วิลเลียม เคลมเมอร์ (คอเนอร์ แมคเนลล์) นักโทษที่เป็นเสมือนเหยื่อทดลองรายสุดท้ายนับจากการใช้ไฟฟ้ากระแสสลับของเวสติงเฮาส์ ซึ่งเป็นความกรุณาอันแสนจะทารุณ
ไม่ต่างจาก จอร์จ เวสติงเฮาส์ ที่ยอมทำทุกอย่างได้เพียงเเค่ต้องการจะชนะ โดยลืมไปว่าสิ่งที่พวกเขาควรให้ความสำคัญคือ “กระแสไฟฟ้า” ไม่ใช่ “กระแสเงินตรา” หรือ “กระแสนิยม”
เรื่อง: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior), อนัญญา นิลสำริด (The People Junior)