สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช

สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช
“ตอนนั้นผมรู้สึกสิ้นหวังและหมดหนทาง ทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง ทำไมองค์กรใหญ่ ๆ ถึงไม่ทำอะไรบ้าง แต่แล้วผมก็คิดขึ้นมาได้ว่าแล้วตัวผมเองล่ะ จะทำอะไรได้บ้าง” เดวิด ยัง (David Yeung) ชายหนุ่มจากฮ่องกงบุคลิกท่าทางกระฉับกระเฉง เล่าย้อนให้ The People ฟังถึงช่วงเวลาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในวันที่เขาเริ่มตระหนักว่า ‘สภาวะโลกร้อน’ ส่งผลอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อมนุษยชาติ เมื่อการร้องขอให้ใครมาช่วยกู้โลกอาจไม่ทันการณ์ จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเริ่มต้นด้วยตัวเองเสียเลย เมื่อคิดได้อย่างนี้ เดวิดที่พกดีกรีวิศวกรรมศาสตร์จาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือโอกาสวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน ปี 2012 ก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคมในชื่อ Green Monday ขึ้นที่ฮ่องกง สร้างความรับรู้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาอย่างเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหาร พร้อมกับมุ่งความสำคัญไปที่การชวนให้ทุกคนหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก (plant-based food) อย่างน้อยสัปดาห์ละมื้อ จากช่วงแรกที่ถูกตั้งคำถามและถูกสบประมาทสารพัดว่าจะไปรอดหรือเปล่า มาถึงวันนี้ Green Monday ที่เดวิดควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง ไม่เพียงสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในบ้านเกิด แต่ยังกระจายตัวไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีพันธมิตรนับพัน ๆ ราย ทั้งสถาบันการศึกษา โรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาว และบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่ง และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทย ที่เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของ Green Monday ด้วย สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช The People: จุดที่ทำให้คุณสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม? เดวิด: ต้องย้อนไปปี 2006 ที่ผมได้เห็นรายงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มันเป็นสิ่งที่ทำเอาผมช็อกไปเลย ผมคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องจบปริญญาเอก ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณก็รู้ได้ว่าสภาพภูมิอากาศของโลกเราเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนะ แต่แย่ลงทุกวัน ๆ มันเหมือนพายุบ้า ๆ ที่กำลังซัดทำลายโลกไปเรื่อย ๆ ความแห้งแล้ง ความอดอยาก เกิดขึ้นไปทั่ว นี่มันหายนะของแท้ ผมไม่อยากเป็นพวกโลกสวย โกหกตัวเองไปวัน ๆ ว่าโลกนี้เจริญขึ้น เพราะความจริงคือโลกใบนี้กำลังจะตาย ผมมีลูกสาว 2 คน อายุ 9 ขวบ และ 6 ขวบ การที่ผมต้องมาดูแลโลกในขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่ มันไม่ใช่เพราะผมทำเพื่อพวกเขาอย่างเดียว แต่ผมทำเพื่อตัวเองด้วยเหมือนกัน   The People: ตอนนั้นคุณมีปฏิกิริยาต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร เดวิด: ตอนนั้นผมรู้สึกสิ้นหวังและหมดหนทาง ทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง ทำไมองค์กรใหญ่ ๆ ถึงไม่ทำอะไรบ้าง แต่แล้วผมก็คิดขึ้นมาได้ว่าแล้วตัวผมเองล่ะ จะทำอะไรได้บ้าง ข้อเท็จจริงอย่างการสูบบุหรี่ นอนน้อย ดื่มหนัก กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ พวกนี้ทำให้เราป่วยได้แน่ ๆ โลกใบนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเจอแต่อะไรแย่ ๆ โลกก็จะป่วยในที่สุด ผมเลยเริ่มต้นที่ตัวผมเลย   The People: นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเริ่มทำ Green Monday? เดวิด: ใช่ครับ ผมก่อตั้ง Green Monday ในปี 2012 เป็นองค์กรเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตอนที่ผมเริ่มทำ ไม่มีใครรอบ ๆ ตัวพูดถึงวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญเลย น่าแปลกใช่ไหมล่ะ เพราะเรารณรงค์เรื่องโลกร้อนกันมาเป็นสิบปีแล้ว สิ่งที่ผมโฟกัสคือเรื่องอาหารกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่เกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำ ทุกคนละเลยเรื่องอาหาร เพราะคิดว่ายังมีกินเหลือเฟือ เราปาร์ตี้ เราแฮงก์เอาท์ เราเอ็นจอยกับอาหารและเครื่องดื่มมากมาย เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตก็เจอของกินเป็นพัน ๆ อย่าง เราเลยไม่คิดว่าเรื่องอาหารจะเป็นวิกฤตอะไร แต่เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องซีเรียสนะครับ จะปลูกพืชอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารเคมี โรคต่าง ๆ ที่จะกระจายไปสู่พืชและสัตว์ ฯลฯ อย่างตอนนี้ในจีนมีหมูตายทุกวันเนื่องจากป่วยเป็นอหิวาต์แอฟริกา และสถานการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นเราไปถึงจุดแตกหักของอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์แล้ว เวลานั้นผมพยายามบอกทุกคนว่า กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงสิ มันดีต่อโลกนะ แต่คนอื่นก็จะแบบ..พูดเรื่องอะไร ไม่เข้าใจ ดังนั้นความรับรู้เรื่องอาหารกับความยั่งยืนจึงยังไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่ในตอนนั้น  สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช The People: อะไรคือจุดเด่นของ Green Monday เดวิด: เราตั้งใจที่จะเปลี่ยนทั้งอุปสงค์และอุปทานของอาหารอย่างจริงจัง เน้นการรับประทานอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก เป็นที่มาของคำว่า ‘Green’ และเราสามารถเริ่มต้นในวันแรกของสัปดาห์อย่างวันจันทร์ ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ‘Monday’ แต่จริง ๆ คุณจะใช้วันไหนก็ได้ทั้งนั้นครับ ก็เหมือนการออกกำลังกาย คุณแค่กำหนดกรอบการออกกำลังกายของคุณว่าจะเป็นอย่างไร อย่างถ้าคุณจะวิ่งก็อาจกำหนดระยะทางว่าว่าจะวิ่งแค่ไหน มากกว่าที่จะออกไปวิ่งเฉย ๆ ดังนั้นสิ่งแรกของเราก็คือการสร้างกรอบการรับประทานอาหารอย่างยั่งยืน และสร้างวิถีชีวิตที่ทุกคนสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ ส่วนอุปทาน เราทำงานร่วมกับบริษัทภายนอก อย่าง Beyond Meat จากสหรัฐอเมริกา ที่ใช้นวัตกรรมในการทดลองและและพัฒนาโปรตีนจากพืช ที่ให้ texture เหมือนรับประทานเนื้อสัตว์ (บิล เกตต์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ และ ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ นักแสดงฮอลลีวูด คือส่วนหนึ่งของผู้ที่ร่วมลงทุนใน Beyond Meat – The People) รวมถึง OmniMeat ที่เราร่วมลงทุน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารในแคนาดาใช้เวลา 2 ปีทำวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารคล้ายเนื้อสัตว์ สิ่งที่ผมคิดว่ามันสวยงามสำหรับ Green Monday คือเราไม่ได้สร้างศัตรู คุณยังคงรับประทานเนื้อสัตว์ได้ รับประทานสเต๊กได้ แต่แค่รับประทานให้น้อยลง แล้วแทนที่เนื้อสัตว์ด้วยอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลักสักมื้อหนึ่งในสัปดาห์ เมื่อชินแล้วอาจเพิ่มเป็นวัน สองวัน ก็ได้ คือลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตนั่นแหละครับ วันแรก ๆ เราอาจไม่ชิน แต่ก็เหมือนการออกกำลังกายที่ช่วงแรกต้องใช้ความพยายามมากหน่อย แต่ต่อไปก็ชินไปเอง และทำมันได้สนุกมากขึ้น   The People: ตอนที่คุณลงทุนใน OmniMeat มองว่าเป็นความเสี่ยงไหม เพราะความรับรู้ของผู้คนที่มีต่อประเด็นอาหารกับความยั่งยืนยังไม่กระจายในวงกว้าง เดวิด: เงินที่ลงทุนใน OmniMeat มีทั้งเงินผม เงินของหุ้นส่วน และเงินของสมาชิกหลักของกลุ่ม ตอนแรกก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่โชคดีที่ทุกคนเชื่อมั่นในสิ่งที่ Green Monday กำลังทำ เราใช้เงินลงทุนไปกับสิ่งที่คิดว่าจะได้ผลจริง ๆ เพราะฉะนั้นเลยต้องระวังเงินทุกดอลลาร์ที่ใช้ ซึ่งเวลาก็พิสูจน์ว่าทิศทางของมันเติบโตด้วยดีครับ [caption id="attachment_12405" align="aligncenter" width="3450"] สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช เดวิด ยัง ขณะเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเปิดตัว Green Monday[/caption] The People: คุณมีวิธีสร้างพันธมิตรอย่างโรงเรียน ร้านอาหาร หรือองค์กรใหญ่ ๆ อย่างไร เพราะตอนนี้คุณมีพันธมิตรนับพัน ๆ รายแล้ว ซึ่งจำนวนนี้ก็รวมถึงในประเทศไทยด้วย เดวิด: ถ้าเป็นโรงเรียน ผมบอกพวกเขาว่าหากจะให้การศึกษากับคนรุ่นต่อไป เราก็ต้องสอนเขาตั้งแต่ยังเล็ก ให้ทางเลือกที่ใช่สำหรับเขา เมื่อแนะนำและให้ความรู้มากขึ้น สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยก็เริ่มให้ความสนใจและเป็นพันธมิตรกับเรา ซึ่งไม่ได้มีแค่ในฮ่องกง แต่ในหลายประเทศ เช่น Columbia University, University of California, Los Angeles (UCLA) ในสหรัฐอเมริกา National University of Singapore ในสิงคโปร์ Tokyo University ในญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนพันธมิตรที่เป็นร้านอาหารและองค์กรใหญ่ ๆ ผมบอกพวกเขาว่าเราทำกลุ่มเดียวไม่ได้ ถ้าเราช่วยกันก็จะยิ่งมีพลังในการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ แล้วก็บอกพวกเขาไปด้วยว่า ยิ่งคุณเข้าร่วมเร็วเท่าไร คุณก็จะเป็นผู้นำในด้านนี้เร็วมากขึ้นเท่านั้น มันไม่ใช่โครงการที่ใช้เวลา 2 เดือนหรือ 2 ปีแล้วจบ แต่เป็นโครงการที่จะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เราพยายามสนับสนุนให้ร้านอาหารมีเมนูที่ทำจากพืชหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาวในหลายประเทศ อย่างในประเทศไทยก็เช่น ร้านซิซซ์เล่อร์, คอฟฟี่บีน บาย ดาว, ร้านอาหาร You & Mee ที่แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ, ร้าน Mei Jiang ที่โรงแรมเพนนินซูล่า เป็นต้น ส่วนโรงแรมก็มีอย่าง เจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพ, แกรนด์ เมอเคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน, โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ฯลฯ เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่คุณสามารถหาซื้อได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต ผมคิดว่าน่าจะทำให้คนไทยสนุกกับการรับประทานอาหารมากขึ้นนะครับ   The People: ดูเหมือนว่า Green Monday สามารถสร้างความรับรู้ได้เร็วมากทีเดียว? เดวิด: กลยุทธ์หนึ่งของเราคือการใช้โซเชียลมีเดีย โลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นเลยช่วยเราได้มาก หากเรารณรงค์เรื่องนี้แค่ในประเทศเดียวก็อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเลยครับ   The People: การดำเนินงานในหลายประเทศ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ด้วย? เดวิด: แน่นอนครับ พอเราทำเรื่องอาหารก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ที่เราเข้าไปดำเนินการมากทีเดียว เพราะอาหารเป็นวัฒนธรรม อาหารเป็นความรู้สึก และอาหารเป็นเรื่องของสังคม ดังนั้นเราต้องนำอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลักใส่เข้าไปในบริบทเหล่านี้ ต้องประยุกต์ให้เข้ากับลิ้นของคนในแต่ละประเทศ อย่างในฮ่องกงเรานำ Beyond Meat ไปทำเบอร์เกอร์ ส่วนในญี่ปุ่นเราก็นำไปทำเป็นข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ส่วนในไทยก็นำ OmniMeat มาทำเมนูลาบทอด ต้มยำ ยำวุ้นเส้น ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน หรือทำเป็นอาหารตะวันตกก็ได้อย่างเบอร์เกอร์หรือพิซซ่า หลัง ๆ มานี้ ผู้คนทั่วโลกใส่ใจเรื่องอาหารออร์แกนิกและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเทรนด์พวกนี้ช่วยเราได้เยอะมากครับ [caption id="attachment_12406" align="aligncenter" width="1600"] สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช ร้าน Green Common ที่ปัจจุบันมีราว 10 แห่งในฮ่องกง (ภาพ: Green Monday)[/caption] The People: ที่ว่ามาคือความสำเร็จ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้คุณและทีมงานต้องผ่านอะไรมาบ้าง เดวิด: เราแทบจะล้มเลิกเป็นล้าน ๆ ครั้งเลย เอาจริงนะครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเรารอดมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร มันเหลือเชื่อมากจริง ๆ แต่เพราะผมมีทีมที่ดี ผมมีทีมที่เชื่อในสิ่งที่ทำ และมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขาเชื่อมั่นใน Green Monday มากเท่ากับที่ผมเชื่อมั่นว่าสักวันสังคมจะตื่นและตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ มีคนหัวเราะใส่พวกเราทุกวันแหละครับ พวกเขาบอกว่านี่พวกคุณกำลังทำอะไร มันจะไปรอดหรือ คือถ้ามองในมุมของพวกเขา บางทีมันก็คงน่าแปลกจริง ๆ นั่นแหละ องค์กรอะไรที่บอกให้คนอื่นเลิกกินเนื้อสัตว์อย่างน้อยหนึ่งมื้อต่อสัปดาห์ และเมื่อเราเปิดร้าน Green Common ในฮ่องกง ป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และเป็นร้านอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก เราออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่าคนไม่ค่อยชอบรับประทานอาหารที่ทำจากพืช เพราะรสชาติไม่ค่อยถูกปากเท่าไรและไม่อร่อยเท่าอาหารปกติ เราเลยพยายามทำให้มันอร่อย และออกแบบบรรยากาศร้านให้ทันสมัย ชิค ๆ เก๋ ๆ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แต่พอเปิดได้สักพักก็มีคนบอกว่าไม่น่าจะอยู่รอดเกิน 1 ปีหรอก เต็มที่ให้ 1 ปีครึ่งเลยด้วยเอ้า! (หัวเราะ) แล้วเดี๋ยวร้านก็เจ๊ง แต่ทุกวันนี้เราเป็นพันธมิตรกับหลาย ๆ แบรนด์ที่รักษ์โลก เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายให้ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ แบรนด์ Green Common เลยไม่ใช่เรื่องที่แปลกแยกจากสังคมอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วเหมือนชื่อ [caption id="attachment_12407" align="aligncenter" width="1600"] สัมภาษณ์ เดวิด ยัง แห่ง Green Monday ที่ชวนทุกคนกู้โลกอย่างง่าย ๆ ด้วยการบริโภคอาหารที่ทำจากพืช ร้าน Green Common ที่มีทั้งส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช และส่วนที่เป็นร้านอาหาร (ภาพ: Green Monday)[/caption] ต้องบอกว่าช่วงแรกเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างความรับรู้เรื่องนี้ในฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Green Monday เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า ผู้คนแยกจากธรรมชาติเพราะฮ่องกงเป็นป่าคอนกรีต แทบไม่มีพื้นที่สีเขียวเลย เมื่อเราบอกปัญหาสิ่งแวดล้อมกับคนฮ่องกง พวกเขาอาจไม่เชื่อในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นพวกเขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ เพราะพื้นฐานอย่างหนึ่งของชาวฮ่องกงคือการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ นอกจากนี้ อุปสรรคอีกอย่างที่เจอก็คือคนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ขนาดประธานาธิบดีของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนเลย (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องแย่จริง ๆ นะครับ เพราะเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้กันหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมาตลอดจึงเป็นการทำงานให้หนักขึ้นและหนักขึ้น ด้านหนึ่งเราต้องการนำเสนอไลฟ์สไตล์เก๋ ๆ เท่ ๆ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็กำลังสร้างให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตสภาวะแวดล้อมที่กำลังทำลายโลกนี้   The People: ก้าวต่อไปของ Green Monday? เดวิด: โตต่อไป ขยายต่อไปแบบไร้พรมแดนครับ คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือสมัครสมาชิกอะไรทั้งสิ้น ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้เลยครับ จะวันจันทร์หรือวันไหน ๆ ขอแค่เริ่มต้นเท่านั้น เพราะเรื่องช่วยโลกเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน