แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอ ผู้ร่วมตั้ง Twitter ในวันปั้นธุรกิจใหม่ชื่อ Bluesky

แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอ ผู้ร่วมตั้ง Twitter ในวันปั้นธุรกิจใหม่ชื่อ Bluesky

แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) อดีตซีอีโอ Twitter ผู้หลงใหลการเติบโตของเทคโนโลยี ผลงานชิ้นโบว์แดงต่อมาจากทวิตเตอร์ คือเครือข่ายสังคมใหม่ชื่อ บลูสกาย (Bluesky) ที่ประกาศเปิดตัวเมื่อปี 2019 และเขากำลังทดสอบมันอีกครั้งในปี 2022

เมื่อปี 2019 แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่ชื่อว่า 'บลูสกาย' (Bluesky) เพื่อต้องการทดสอบระบบการทำงานของโซเชียลมีเดียแบบใหม่ ที่ไม่อิงตามระบบดั้งเดิมในปัจจุบัน

โดย แจ็ค ดอร์ซีย์ ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่สำหรับผู้สร้างเนื้อหาและผู้ใช้ให้สามารถกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียมโดยที่จะไม่ถูกควบคุมจากศูนย์กลาง หรือ บลูสกาย จะไม่สามารถดำเนินการต่อในฐานะบริษัทได้ (เพื่อความเป็นกลางมากที่สุด)

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มบลูสกาย มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า 'โปรโตคอล AT' นั่นหมายความว่าผู้ใช้จะสามารถควบคุมอัลกอริธึมของแพลตอฟอร์มนี้ได้อย่างอิสระ

ล่าสุด แจ็ค ดอร์ซีย์ ได้เปิดทดสอบแพลตฟอร์มบลูสกายอีกครั้งหลังจากที่เขาลาออกจากการเป็นซีอีโอแห่ง Twitter ซึ่งเวลาเพียง 2 วันที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ต่อแถวต้องการร่วมทดสอบมากกว่า 30,000 รายแล้ว

และก่อนหน้านี้ ปี 2021 แจ็ค ดอร์ซีย์ ได้เลือกนักพัฒนาคริปโต Jay Graber (อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ของ Zcash) เป็นผู้นำของ บลูสกาย อย่างเป็นทางการ และแยกการทำงานจาก Twitter อย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ดีลการซื้อขายของ อีลอน มัสก์ ที่ผ่านมา จะไม่รวมกับแพลตฟอร์ม บลูสกาย แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แจ็ค ดอร์ซีย์ เมื่อครั้งที่นั่งเป็นซีอีโอแห่ง Twitter เขาถือว่าเป็นบุคคลคุณภาพที่ปั่นกระแส Twitter ได้น่าสนใจคนหนึ่งเลย อย่างเช่นก่อนหน้านี้ เขาเคยสร้างมูลค่ามหาศาลของโพสต์ตัวเองบนทวิตเตอร์ที่โพสต์ตั้งแต่ปี 2006 ด้วยการประมูลขายในรูปแบบเหรียญโทเคน NFT

โพสต์เดียวทำไมราคาแพงเช่นนี้ เพราะนี่คือโพสต์แรกของ แจ็ค ดอร์ซีย์ เขาโพสต์ว่า “just setting up my twttr” (ฉันเพิ่งกำลังติดตั้งทวิตเตอร์ของฉัน) โพสต์นี้ถูกประมูลขายในรูปแบบเหรียญโทเคน NFT หรือ Non-Fungible Token เมื่อเดือนมีนาคม 2021 และจบลงในราคา 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนหนึ่งที่ไปได้ไกลขนาดนี้เพราะเรื่องราวของคนที่อยู่เบื้องหลังของ Twitter ใครจะรู้ว่าในอนาคตรูปแบบทรัพย์สิน NFT ดังกล่าวอาจจะมีคุณค่าพอกันกับโมนาลิซ่าในอนาคตก็เป็นได้ และนี่คือเรื่องราวของกลุ่มผู้ก่อตั้ง Twitter กับที่มาของทวีตแรกในประวัติศาสตร์

ฉากหน้าแห่งความสำเร็จของสื่อโซเชียลมีเดียระดับโลกอย่าง Twitter ที่โตวันโตคืนในหลายประเทศ เมื่อเปิดดูฉากหลัง เราจะเห็นเกมการเมืองในองค์กรที่สุดดรามาของกลุ่มผู้ก่อตั้งสื่อโซเชียลมีเดียนี้อย่าง แจ็ค ดอร์ซีย์, บิซ สโตน, อีแวน วิลเลียมส์ และ โนอาห์ กลาสส์ 

จากที่เริ่มต้นบริษัทมีพนักงานไม่กี่สิบคน และใน 3 ปีแรกของการเปิดตัว รายได้ของบริษัทนี้เท่ากับศูนย์

แต่ในที่สุด Twitter ก็เริ่มโตวันโตคืน Facebook เคยเสนอซื้อ Twitter ด้วยมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (15,000 ล้านบาท) แต่ถูกปฏิเสธเพราะคิดว่าในอนาคตมันน่าจะทำเงินได้มากกว่านี้ (ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง)

แต่เบื้องหลังความสำเร็จตรงนี้ กลับเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ ชิงอำนาจของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดที่ทำให้เราเห็นว่า โลกของการทำธุรกิจนั้น “เขี้ยว” กว่าที่คิด เรื่องของ เอฟ, แจ็ค, โนอาห์ และ บิซ ผู้ก่อตั้ง Twitter

Twitter ก่อราก

หากจะพูดถึง “Twitter” ควรจะเริ่มต้นที่ อีแวน วิลเลียมส์ หรือ เอฟ เขาเติบโตมาจากครอบครัวชาวไร่ที่เนบราสกา แต่นั่นไม่อาจทำให้ความฝันของเขาหยุดลงที่ท้องไร่ท้องนา ตรงกันข้าม ในยุคที่ธุรกิจไอทีหรือธุรกิจดอตคอมกำลังบูม เอฟเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกเดิมพันกับความฝันด้วยการลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วมาตามล่าฝันที่ “ซิลิคอน วัลเลย์” ซานฟรานซิสโก

โดยเริ่มต้นจากการฝึกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจับมือกับเพื่อนของเขาก่อตั้งบริษัท “ไพร่า แล็บ” แล้วสร้าง “บล็อกเกอร์” (Blogger) ขึ้นมาในปี ค.ศ.1999  ช่วงเวลานั้นเอง บล็อก เป็นสื่อโซเชียลมีเดียใหม่ที่ผู้คนเพิ่งเริ่มจะรู้จักกัน “บล็อกเกอร์” จึงกลายเป็นบริษัทที่น่าจับตาว่าจะเติบโตในอนาคต ในปี  2003

Google ขอเข้าซื้อกิจการบล็อกเกอร์ของไพร่า แล็บ มีการประเมินกันว่า น่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่าหลักสิบล้านเหรียญเพื่อซื้อกิจการของอีแวน วิลเลียมส์ (และเพื่อน) ทำให้เขากลายเป็นคนดังในซิลิคอน วัลเลย์ ไปในทันที

ด้วยความที่กิจการของไพร่า แล็บ ถูกซื้อ เอฟจึงกลายเป็นพนักงานของบริษัท Google แต่เขาทำงานที่นั่นเพียงแค่ปีเดียวก็ลาออกในปี 2004

สำหรับ โนอาห์ กลาสส์ แรกเริ่มเดิมทีที่เขารู้จักกับเอฟ นั่นเพราะว่าบ้านของเขากับเอฟอยู่ตรงข้ามกัน ความเป็นคนดังในแวดวงธุรกิจดอตคอมของเอฟ ทำให้โนอาห์ชื่นชมเพื่อนบ้านคนนี้ ในที่สุดทั้งสองคนก็ทำความสนิทสนมและกลายเป็นเพื่อนกัน โนอาห์สนใจทำออดิโอบล็อกเกอร์ ซึ่งสามารถโพสต์เสียงเพลงลงในบล็อกได้

ซึ่งภายหลังถูกพัฒนาเป็นพ็อดแคสต์ (Podcast) เอาไว้ฟังเพลงและฟังข่าว โนอาห์ได้ตั้งชื่อโปรเจกต์ที่เขากำลังพัฒนานี้ว่า “โอดีโอ” (Odeo) เอฟยอมควักเงินให้โนอาห์ได้พัฒนาโปรเจกต์นี้ และเมื่อเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โอดีโอ ต้องการผู้ร่วมงานเพื่อพัฒนาโครงการพ็อดแคสต์ให้สำเร็จ โนอาห์จึงมองหาเพื่อนร่วมงาน

และหนึ่งในนั้นที่เข้าตาเขาก็คือ แจ็ค ดอร์ซีย์ อีกคนหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเขาไม่ได้ เขาเป็นชายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันที่มีชื่อว่า บิซ สโตน ผู้ปฏิเสธอนาคตอันรุ่งโรจน์ในการทำงานที่บริษัท Google ด้วยการลาออกจากบริษัทนี้ในปี 2005

ทั้งที่เขารู้ดีว่าหากอยู่อีก 2 ปี เขามีโอกาสที่จะทำเงินจากที่นี่มากถึง 2 ล้านเหรียญ บิซเลือกที่จะออกมาหาความท้าทายใหม่ ๆ กับเอฟ เขาเริ่มสนิทกับเอฟตอนทำงานด้วยกัน จึงอยากออกมาร่วมบุกเบิกเส้นทางทางธุรกิจใหม่ ๆ พร้อมกับเอฟด้วย

เป็นอันว่าทั้ง เอฟ, แจ็ค, โนอาห์ และ บิซ สี่วัยรุ่นผู้ยิ่งใหญ่ที่จะก่อกำเนิด Twitter ในอนาคตได้มาร่วมงานอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันแล้ว

ฉันเพิ่งกำลังติดตั้งทวิตเตอร์ของฉัน” และ “วัตสัน มานี่ ผมอยากเห็นคุณ”

ด้วยชื่อเสียงที่เอฟทำไว้ในคราวที่ขายบล็อกเกอร์ให้กับ Google ทำให้โปรเจกต์ “โอดีโอ” ที่กำลังพัฒนาในระหว่างปี 2005 ถูกจับตาในฐานะที่พ็อดแคสต์จะกลายเป็นสื่อทางอินเทอร์เน็ตชนิดใหม่ที่จะมาฆ่าการฟังเพลงจากคลื่นวิทยุแบบเดิม ๆ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว โครงการนี้ซึ่งนำทีมโดยโนอาห์ กำลังจะถูกคุกคาม เพราะในปี 2006 สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัวไอพ็อด (iPod) รุ่นใหม่ ไอพ็อดรุ่นนี้จะเพิ่มบริการพ็อดแคสต์ลงในโปรแกรมไอจูนส์ด้วย นั่นหมายความว่า โปรเจกต์หลักของโอดีโอกำลังจะถูกท้าทายจากแอปเปิ้ล

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า ธุรกิจนี้อาจจะไปไม่รอดแน่ พวกเขาทั้งสี่จึงระดมความคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โนอาห์จริงจังกับโปรเจกต์ใหม่นี้มากกับการทำสื่อโซเชียลมีเดียที่ผู้คนตั้ง “สถานะ” สั้น ๆ ไว้สื่อสารกัน เขาคิดชื่อโปรเจกต์นี้ขึ้นมามากมายหลายชื่อ แล้วสุดท้ายก็มาลงตัวที่ชื่อ Twitter ซึ่งมีความหมายว่า เสียงร้องของนกชนิดหนึ่ง

ทุกคนชื่นชอบชื่อนี้เป็นอย่างมาก ในที่สุด โปรเจกต์นี้ได้รับการพัฒนาในบริษัทอย่างรวดเร็ว จนในวันที่ 21 มีนาคม ปี 2006 เกิดการทวีต (Tweet) ขึ้นครั้งแรกในโลก ใจความว่า “ฉันเพิ่งกำลังติดตั้งทวิตเตอร์ของฉัน”

วันเดียวกันนั้นเอง ทุกคนในบริษัทเริ่มส่งข้อความถึงกันอย่างสนุกสนาน แล้ว บิซ สโตน ก็ตั้งสถานะว่า “วัตสัน มานี่ ผมอยากเห็นคุณ” ประโยคนี้เป็นประโยคแรกของโลกที่เกิดขึ้นจากการโทรศัพท์ ในตอนที่อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้ทดลองใช้โทรศัพท์ของเขาที่ประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ.1876 เพื่อเรียกโทมัส วัตสัน ซึ่งรับโทรศัพท์อยู่อีกห้องหนึ่งมาหาเขา

การประดิษฐ์โทรศัพท์ได้สำเร็จในครั้งนั้น ถือเป็นการปฏิวัติการสื่อสารครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งประโยคที่บิซทวีตหาเพื่อนพนักงานในครั้งนั้น ก็เหมือนกับเป็นการสื่อสารกลาย ๆ ว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในโลกของการสื่อสาร กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง รอยร้าวแรกในเพื่อนร่วมงาน ทุกคนในบริษัทกำลังเห่อของเล่นใหม่อย่าง Twitter

ในขณะเดียวกันโปรเจกต์โอดีโอของโนอาห์ก็เริ่มถดถอยลงไปเรื่อย ๆ หนำซ้ำโนอาห์ยังปล่อยให้ความลับของโครงการทวิตเตอร์หลุดออกไปในงานปาร์ตี้หนึ่ง คืนนั้นโนอาห์เมามาก แล้วเขาได้พูดคุยถึงความคิดในการตั้ง Twitter ให้คนในงานปาร์ตี้ได้รับรู้

ยิ่งไปกว่านั้น เขาลงทะเบียนให้กับคนอื่น ๆ ในงาน หนึ่งในนั้นก็คือบล็อกเกอร์ที่เขียนคอลัมน์ทางด้านเทคโนโลยี จนกลายเป็นว่า มีคนภายนอกรับรู้ว่ามีโครงการนี้โดยที่ไม่ทันได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

การกระทำของโนอาห์ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ก่อตั้งคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกับแจ็ค ดอร์ซีย์ ทำให้เขาประกาศตัวอย่างลับ ๆ กับเอฟ ว่า เขาไม่อยากร่วมงานกับโนอาห์ อีกต่อไป เอฟจึงเข้าไปคุยกับโนอาห์แล้วบีบให้เขาลาออกจากโอดีโอ

โดยมีข้อเสนอว่าจะให้เงินชดเชย 6 เดือน บวกกับสิทธิในการดำเนินการซื้อหุ้นโอดีโอ ซึ่งรวม ๆ แล้ว เขาได้เงินจากการเดินหันหลังให้บริษัทนี้เพียงแค่ 2 แสนเหรียญเท่านั้น นี่คือรอยร้าวรอยแรกที่เกิดขึ้นในบริษัททวิต

แต่บริษัทก็ต้องก้าวเดินต่อไป เอฟ-ในฐานะเจ้าของทุนใหญ่ (ในตอนนั้นเขามีหุ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ใน Twitter) และผู้ก่อตั้ง Twitter เห็นด้วยที่จะผลักดันให้แจ็คเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัท แจ็คและบิซ ต่างคร่ำเคร่งกับการพัฒนาโปรแกรม Twitter ให้มีโครงสร้างเว็บไซต์ที่แข็งแรง (ผิดกับเอฟ ที่ดูจะไม่ได้ใส่ใจกับทวิตเตอร์เท่าที่ควร)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2007 เว็บไซต์ชื่อดังอย่างยาฮู (Yahoo) ได้มาทาบทามเพื่อขอซื้อกิจการของ Twitter ซึ่งในตอนนั้นผ่านไปหนึ่งปีกว่ามีผู้ใช้งานเกือบ 250,000 ยูสเซอร์ แต่สุดท้ายข้อตกลงนี้ไม่เป็นผล เพราะยาฮูเสนอเงินให้เพียง 12 ล้านเหรียญ แต่ตอนนั้น พวกเขาคิดว่า Twitter ควรจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ!   

2 ปีแรก “เสียงร้องของนก” ราคาเท่ากับศูนย์ 

สำหรับองค์กรที่เกิดใหม่อย่าง Twitter มีปัญหามากมายให้แก้ในแต่ละวัน ทั้งปัญหาเรื่องระบบบังคับบัญชาที่ซ้ำซ้อน แม้ว่าซีอีโอของบริษัทจะเป็นแจ็คก็จริง

แต่พนักงานมักจะสับสนเสมอว่าอำนาจในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายควรจะเป็นของแจ็ค หรือ เอฟ ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่กันแน่ (ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้แจ็คกับเอฟแตกหักกันในภายหลัง) 

และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ด้วยพื้นฐานของ Twitter ที่มีโครงข่ายที่เติบโตไม่ทันจำนวนผู้ใช้ที่มีจำนวนมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ระบบไม่เสถียรและล่มบ่อยจนเกิดการติเตียนจากผู้ใช้บริการมากมาย

ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทีมงานเร่งแก้ไขกันอยู่ทุกวัน ปัญหาการจัดการเหล่านี้ถูกจี้มายังแจ็คในฐานะซีอีโอ ซึ่งระยะหลัง แม้ว่าเขาจะทำงานอย่างเต็มที่ในเวลางาน แต่หลังเลิกงาน เขาทิ้งงานทุกอย่างแล้วไปเรียนวาดภาพ เรียนโยคะ ฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า (แจ็คฝันอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์) อีกทั้งยังออกงานสังคมและปาร์ตี้เป็นประจำ การกระทำของแจ็ค ถูกเอฟค่อนขอดว่า ควรจะเลือกเอาดีให้ได้สักอย่าง ระหว่างการเป็นซีอีโอของทวิตเตอร์หรือช่างตัดเย็บเสื้อผ้า?

รอยร้าวในระดับผู้บริหารของ Twitter กำลังจะปะทุขึ้นมาอีกรอบ แม้ว่าผ่านไป 2 ปีกว่า ภายใต้องค์กรที่มีพนักงานเพียง 15 คน จะผลักดันให้ Twitter เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 ล้านยูสเซอร์

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรนี้ก็คือ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นทุกวัน แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ยังไม่สามารถทำรายได้แม้แต่เหรียญเดียว ทั้งแจ็คและเอฟ พยายามหาผู้ลงทุนเพื่อมาช่วยระดมทุนให้ เหมือนทั้งสองคนกำลังแข่งขันกัน

แจ็คสามารถตกลงข้อเสนอกับบริษัทลงทุนแห่งหนึ่งซึ่งประเมินว่า Twitter มีมูลค่ามากถึง 100 ล้านเหรียญ แต่เอฟกลับเลือกข้อเสนอของนักลงทุนอีกเจ้าหนึ่งซึ่งเสนอมูลค่าบริษัทเพียง 80 ล้านเหรียญ แล้วเลือกนักลงทุนเจ้านี้ การที่เอฟตัดสินใจข้ามหัวแจ็คไป เพื่อแสดงให้เห็นว่า อำนาจที่แท้จริงของบริษัทนี้อยู่ในมือใคร

จนในที่สุดปี 2008 แจ็คถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งผู้บริหารเหมือนกับที่โนอาห์เคยโดนมาก่อนหน้านี้ แต่เอฟก็ใจกว้างพอที่จะให้ตำแหน่งประธานบริษัทนี้กับแจ็ค ดอร์ซีย์ โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า แจ็คจะไม่มีอำนาจใด ๆ ในการบริหารอีกต่อไป เขาได้รับเพียงกรรมสิทธิ์ในหุ้นบางส่วน และได้รับเงินชดเชยนาน 1 ปีจำนวนสองแสนเหรียญ

เมื่อแจ็คออกจากเส้นทางธุรกิจ Twitter แล้ว เอฟก็ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอแทน โดยเพื่อนที่ร่วมก่อตั้ง Twitter ด้วยกันมาในตอนนี้ที่อยู่เคียงข้างเขาเหลือเพียงแค่บิซ ผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยานน้อยกว่าเพื่อน

เรื่องราวของแจ็ค เหมือนว่าจะจบลงแบบเงียบ ๆ แบบเดียวกันกับโนอาห์ แต่กลับกลายเป็นว่า แจ็คไม่เคยลืมความแค้นที่มีต่อเอฟในครั้งนี้และเขาพยายามหาทางแก้คืนอยู่เสมอ

การเติบโตของ Twitter

กลับมาดูที่การเติบโตของ Twitter แม้ว่าในปี 2009 จะมีการระดมทุนกันอีกรอบ จนเกิดการประเมินว่า Twitter มีมูลค่ามากกว่า 250 ล้านเหรียญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาผ่านไป 3 ปียังมีรายได้เท่ากับศูนย์

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าห่วงอีกต่อไปแล้ว เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ได้ประกาศว่า Twitter มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 900 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นการประกาศช่วงกลางปี พอถึงปลายปี 2009 มีการประเมินว่า มีผู้ใช้ Twitter เพิ่มขึ้นถึง 1,400 เปอร์เซ็นต์

โดยมีการทวีต 35 ล้านครั้งต่อวัน (เทียบกับปี 2008 มีการทวีตเพียง 300,000 ครั้งต่อวัน) ก็คงจะทำให้ตัว Twitter เองกลายเป็นสาวเจ้าเสน่ห์ที่ลูกค้าหลายคนสนใจมาร่วมทำธุรกิจด้วยในเวลาต่อมาอย่างไม่ยากเย็นนัก

ช่วงเวลานั้น เอฟได้เริ่มรู้จักกับ ดิก คอสโตโล อดีตนักพูดชื่อดังซึ่งในเวลานั้นได้เปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ โดยบริษัทของดิกถนัดด้านการจัดการธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์ เอฟประทับใจในตัวของดิก จึงชวนดิกมาร่วมงานในฐานะซีอีโอเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในด้านธุรกิจ ดิกจึงกลายเป็นซีอีโอคนที่สามของบริษัท Twitter

ขณะที่องค์กรเริ่มเข้าที่เข้าทาง เอฟกับบิซก็เริ่มปวดหัวกับความเคลื่อนไหวภายนอกบริษัทของแจ็ค แจ็คพยายามนำเสนอตัวเองออกสื่อต่าง ๆ ราวกับว่ายังมีอำนาจในการบริหารอยู่ในทวิตเตอร์ และพยายามให้เครดิตตนเองว่าเป็นผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์นี้เพียงคนเดียวแต่ถูกเอฟเขี่ยออกจากบริษัท จนอดีตเพื่อนร่วมงานอย่างเอฟและบิซต้องออกมาปรามอยู่บ่อยครั้ง

แต่นั่นก็ไม่ร้ายแรงเท่าความพยายามที่จะเป็นคลื่นใต้น้ำเพื่อล็อบบี้คณะกรรมการในบริษัทให้เห็นว่าเอฟเองไม่เหมาะสมที่จะทำงานบริหารใร Twitter แจ็คมักจะคิดว่า เขามีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกับบุคคลระดับตำนานของสังคมไอทีอย่างสตีฟ จ็อบส์

ทั้งสไตล์การแต่งตัวที่มีลายเซ็นเป็นของตนเอง และยังรวมไปถึงการ “คัมแบ็ค” กลับมาที่บริษัทตนอย่างยิ่งใหญ่เหมือนที่ สตีฟ จ็อบส์ เคยถูกบีบให้ออกจากบริษัท แล้วถูกดึงตัวกลับมาทำงานกับแอปเปิ้ลอีกรอบ

ความพยายามที่จะกลับมามีอำนาจในอาณาจักรธุรกิจของ Twitter ของแจ็คก็สำเร็จ เขาสามารถโน้มน้าวให้บอร์ดบริหารปลดเอฟออกจากตำแหน่ง จนในปี 2010 อีแวน วิลเลียมส์ ต้องลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ และ แจ็ค ดอร์ซีย์ ก็ขึ้นเป็นซีอีโอแทนในตอนนั้น

 

ที่มา: จากหนังสือ Hatching Twitter ของ นิค บิลตัน คอลัมนิสต์และผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์คไทมส์