จับเทเนอร์แซ็ก ในวง เอิร์ล ไฮน์ส
ก่อน ชาร์ลี พาร์คเกอร์ จะตัดสินใจออกจากวงดนตรีของ เจย์ แมคแชนน์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1942 เบิร์ด มีโอกาสโซโล่ อัลโต แซ็กโซโฟน ให้แก่วงดนตรีนี้ที่นิวยอร์ก ในการบันทึกเสียงเพลง The Jumpin’ Blues ซึ่งออกโดยสังกัด “เด็คกา”
การโซโล่อย่างลื่นไหลในเพลง The Jumpin’ Blues มีนัยสำคัญแก่วงการดนตรีแจ๊สสมัยใหม่ไม่น้อย เพราะด้วยวลีเพลง (pharsing) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเพลง Ornithology ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น เมื่อ เจย์ แมคแชนน์ หวนคืนสู่การเดินทางตระเวนแสดงดนตรีอีกครั้ง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ได้ขอลาออกจากวง เพื่อใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับบรรดานักดนตรีหัวก้าวหน้าในเมืองนิวยอร์ก ซิตี้ ต่อไป
ระหว่างที่ยังไม่มีงานทำอย่างเป็นหลักแหล่ง เบิร์ด ซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพนักดนตรี ยังชีพด้วยการเล่นดนตรีที่ คลาร์ก มอนโร’ส อัพทาวน์ เฮาส์ กับวงดนตรีเฮาส์ แบนด์ ของมือกลอง แม็กซ์ โรช โดยผลตอบแทนที่เขาได้รับ มีเพียงอาหาร 1 มื้อเท่านั้น
ช่วงนั้น เพื่อนนักดนตรีเริ่มเป็นห่วงสุขภาพของ เบิร์ด สืบเนื่องจากการที่เขาใช้ชีวิตทุ่มเทให้แก่ดนตรี ดื่มสุรา และเสพยาอย่างหนัก เมื่อทราบว่า เอิร์ล ‘ฟาธา’ ไฮน์ส (Earl ‘Fatha’ Hines) นักเปียโนและนายวงที่มีชื่อเสียง กำลังมองหานักแซ็กโซโฟนคนใหม่ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เหล่านักดนตรีจึงพยายามชักนำให้ เบิร์ด ได้งานในตำแหน่งดังกล่าว โดยพา เอิร์ล ไฮน์ส ไปชมการแสดงของ เบิร์ด ถึงอัพทาวน์ เฮาส์ เลยทีเดียว
ผลปรากฏว่า เอิร์ล ประทับใจการบรรเลงของ เบิร์ด เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากภายในวงไม่มีตำแหน่งว่างสำหรับ อัลโต แซ็กโซโฟน เอิร์ล จึงเสนอตำแหน่ง เทเนอร์ แซ็กโซโฟน ให้แก่ เบิร์ด ผลปรากฏว่า เบิร์ด ตอบรับงาน โดยเข้าแทนที่ บัดด์ จอห์นสัน (Budd Johnson) ดังนั้น เอิร์ล จึงควักกระเป๋าให้เงินส่วนตัวแก่เบิร์ด เพื่อไปซื้อเทเนอร์ แซ็กโซโฟน 1 คัน จากนั้น เบิร์ด ก็เข้าร่วมวงของ เอิร์ล ไฮน์ส ราวต้นปี ค.ศ.1943 (บางข้อมูลระบุว่าเริ่มงานตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1942)
เอิร์ล ไฮน์ส มีฉายาที่เพื่อนฝูงในวงการดนตรีเรียกขานด้วยความรักใคร่ว่า ฟาธา (fatha) เขาเป็นนักเปียโนที่มีผลงานระดับขึ้นหิ้ง "แจ๊ส คลาสสิก" โดยได้ร่วมงานกับ หลุยส์ อาร์มสตรอง จำนวนพอสมควร
ในช่วงทศวรรษ 1940s ที่ไฮน์ส ฟอร์มวงดนตรีของตนเองขึ้นมา ด้วยวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง เขาได้เปิดรับนักดนตรีรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าหลายคน ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างรูปแบบใหม่ของแจ๊ส (Modern Jazz) ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น พาร์คเกอร์, ดิซซี กิลเลสปี, เบนนี กรีน, วอร์เดลล์ เกรย์ รวมไปถึงนักร้องอย่าง บิลลี เอ็คสไตน์ และ ซาราห์ วอห์น
บรรยากาศภายในวงของ เอิร์ล ไฮน์ส ดำเนินไปด้วยการเปิดกว้างต่อโลกทัศน์ทางดนตรี นักดนตรีรุ่นใหม่เหล่านี้มีเสรีภาพในการทดลอง นำเสนอความคิดอ่านที่แปลกใหม่ ซึ่งถือเป็นเชื้อไฟชั้นดีสำหรับพัฒนาการของดนตรีแจ๊ส
"ผมจำไม่ได้แน่ชัดนัก ในตอนที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เข้ามาร่วมวงกับเรา แต่ผมรู้แน่ ๆ ว่าอยู่ในช่วงทศวรรษ 40s เพราะเป็นยุคสงคราม ตอนนั้นเราต้องการมือเทเนอร์สักคน ใครคนหนึ่งในกลุ่มพวกเรา เคยไปที่(คลับ)มินตันบ่อย ๆ และเขาอยากให้ผมไปลองฟังนักแซ็กโซโฟนคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะชวนมาร่วมวงได้ พวกเขาบอกว่าคนนั้นเล่นเครื่องอัลโต ผมเลยบอกว่า งั้นเขาคงช่วยเราไม่ได้มากนักหรอก แต่ก็มีคนตอบกลับว่า แต่เขาเล่นเทเนอร์ด้วยนะ" เอิร์ล รำลึกความทรงจำ
[caption id="attachment_15943" align="aligncenter" width="640"]
ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption]
เอิร์ล รับ พาร์คเกอร์ มาร่วมงานในตำแหน่ง เทเนอร์ แซ็กโซโฟน เป็นระยะเวลาราว 1 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้นายวงคนนี้ ได้ค้นพบลักษณะเฉพาะตัวของ เบิร์ด ที่ ไฮน์สยอมรับว่าเกิดมาเพื่อเป็นนักดนตรีอย่างแท้จริง
เอิร์ล ไฮน์ส ชื่นชม เบิร์ด ที่มีจิตใจในการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าใคร ขยันฝึกซ้อมเมื่อมีเวลาว่าง ด้วยวิธีการแตกต่างจากนักดนตรีทั่วไป เช่น นำแบบฝึกหัดของเครื่องดนตรีชนิดอื่นมาฝึกซ้อม เป็นต้น และยังสร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง จากเทคนิคอันแพรวพราวของเขา ไม่เพียงกลุ่มผู้ชมเท่านั้น หากยังรวมถึงเหล่านักดนตรีที่ร่วมงานกับเขาอีกด้วย
"... เราไม่มีวันรู้หรอกว่าเขากำลังทำอะไร ตราบจนกว่าเขาจะเล่นมันออกมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้"
ในฐานะนายวงที่เคยเป็นหัวหน้าของนักดนตรีหัวก้าวหน้าคนนี้ เอิร์ล สรุปว่า เบิร์ด มีข้อเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือเมื่อดื่ม, เสพ หรือปล่อยชีวิตตามอำเภอใจจนเมามาย บางครั้ง คนใกล้ชิดจะได้เห็นด้านก้าวร้าวของเบิร์ดเช่นกัน
"(แต่) เขาก็เป็นคนที่หนักแน่นมั่นคงมาก เพราะเขารู้ว่าตนเองต้องการอะไร เขาสามารถเล่นเครื่องมือได้โดยอัตโนมัติ (ทั้ง ๆ ที่เมามาย) บางครั้งเมื่อเขาดื่มมากเกินไป คุณอาจจะหยิบฮอร์น (ในความหมายของแซ็กโซโฟน) วางไว้บนมือเขา จนเมื่อเขาเริ่มรู้สึกตัวว่าสิ่งที่อยู่ในมือคือฮอร์น เขาก็จะเล่นมันได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ตราบที่เขาต้องการ"
น่าเสียดายว่า ช่วงเวลาก่อนที่ เบิร์ด จะเป็นสมาชิกในวงของ เอิร์ล ไฮน์ส ได้ไม่นานนัก ได้เกิดการประท้วงของสหภาพนักดนตรี (AFM-American Federation of Musicians) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1942 ซึ่งมีขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองกับสังกัดเพลงถึงค่าตอบแทนที่พึงได้รับ การประท้วงดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และเนิ่นนานจนถึงปี ค.ศ. 1944 โดยอาวุธหลักที่สหภาพนักดนตรีใช้ในการต่อรองก็คือ จะไม่มีนักดนตรีคนใดบันทึกเสียงให้แก่สังกัดเพลงแม้แต่แห่งเดียว
นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงที่ “บีบ็อพ” (Bebop) ดนตรีรูปแบบใหม่กำลังผลิบานและเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงในแวดวงนักดนตรีรุ่นใหม่ยามค่ำคืนนั้น ไม่ได้มีการบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย
โชคดีที่ยังมีงานบันทึกเสียงส่วนตัว (ซึ่งเพิ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1986) นั่นคือการบรรเลงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดิซซี กิลเลสปี ภายในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ซึ่งในคราวนั้น เบิร์ด และ ดิซซี ตั้งใจเล่นดนตรีเพื่อตอบสนองความพึงพอใจให้แก่ตนเองเป็นหลัก ผ่านเพลง Sweet Georgia Brown
ผู้ดูแลการบันทึกเสียงในครั้งนั้น คือผู้หลงใหลดนตรีแจ๊ส นามว่า บ๊อบ เรดครอสส์ (Bob Redcross) ส่วนมือเบสในคราวนั้นคือ ออสการ์ เพททิฟอร์ด (Oscar Pettiford) ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงสำหรับการบรรเลงดับเบิลเบสสมัยใหม่
ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ร่วมงานกับ เอิร์ล ไฮน์ส มาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1944 เขาและเพื่อน ๆ ในวงบางคน รวมถึงนักร้องนำ บิลลี เอ็คสไตน์ (Billy Eckstine) ได้ตัดสินใจร่วมกันทำวงดนตรีวงใหม่ขึ้นมา ในนามของ บิลลี เอ็คสไตน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนเป็นรูปร่างมากขึ้นสำหรับดนตรีแจ๊สแนวบีบ็อพ
ช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่พลพรรคนักดนตรีจะทยอยลาออกจากวงของ เอิร์ล ไฮน์ส เพื่อติดตาม บิลลี เอ็คสไตน์ ไปทำวงดนตรีใหม่นั้น มีเรื่องราวส่วนตัวของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ที่สมควรจะบอกกล่าวสักเล็กน้อย
ประการแรก ระหว่างร่วมบรรเลงอยู่ในวงของ เอิร์ล ที่เมืองวอชิงตัน ดีซี ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1943 เบิร์ด ตัดสินใจแต่งงานเป็นหนสองกับนักเต้นรำสาวนาม เจอรัลดีน สก็อตต์ (Geraldine Scott) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันแสนสั้นของทั้งคู่ฝากรอยจารึกอันเลวร้ายเอาไว้ เมื่อ เจอรัลดีน แม้จะเลิกรากับ เบิร์ด ไปแล้ว แต่เธอก็กลายเป็นผู้เสพติดเฮโรอีนตามไปด้วย
ประการที่สอง คือวินัยในชีวิตของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ก่อนออกจากวงในเดือนสิงหาคม เบิร์ด มาทำงานสาย บางครั้งก็ไม่ปรากฏตัวด้วยซ้ำ
6 เดือนก่อนการกลับไปรวมตัวกับ บิลลี เอ็คสไตน์ ชะตาชีวิตของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอสมควร เขามีงานเล่นในเมืองชิคาโก และ แคนซัส ซิตี้ อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานงานบันทึกเสียงที่ทำกันเองในเมืองแคนซัส ซิตี้ (private recordings) ซึ่งเพิ่งค้นพบในทศวรรษ 1990s บ่งชี้ว่า เบิร์ด เคยกลับไปเล่นดนตรีกับมือกีตาร์ เอฟเฟิร์จ แวร์ ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่า บ่งบอกถึงการค่อย ๆ ปรับแต่งแนวคิดทางดนตรีของเขา ซึ่งปรากฏผ่านเพลง อย่าง Body and Soul และ Cherokee
ช่วงระหว่างที่ เบิร์ด ห่างหายจากแวดวงดนตรีในเมืองนิวยอร์กนั้น ศูนย์กลางของแจ๊สสมัยใหม่ เริ่มย้ายจากย่านฮาร์เล็ม ไปยังถนนสาย 52 (52nd Street) ในย่านคนขาว ระหว่างนี้ ดิซซี กิลเลสปี ซึ่งออกจากวงของ เอิร์ล ไฮน์ส ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ เบิร์ด ได้ตัดสินใจทำวงดนตรีขึ้นเอง ประกอบด้วย ออสการ์ เพททิฟอร์ด มือเบส และ แม็กซ์ โรช มือกลอง
มีรายงานบันทึกไว้ว่า พวกเขาเคยส่งโทรเลขไปหา ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เพื่อชักชวนให้มาทำวงด้วย ปรากฏว่าไม่มีการตอบกลับแต่อย่างใด
จนกระทั่ง นักร้องดาวรุ่งในวงดนตรีของ เอิร์ล ไฮน์ส นาม บิลลี เอ็คสไตน์ ตัดสินใจฟอร์มวงบิ๊กแบนด์ของตัวเองขึ้นมา โดยชักชวน ดิซซี มารับหน้าที่ตำแหน่งมิวสิค ไดเร็คเตอร์ จึงมีความพยายามชักชวน ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ให้กลับมาร่วมวงอีกครั้งในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มแซ็กโซโฟน
[caption id="attachment_15934" align="aligncenter" width="640"]
บิลลี เอ็คสไตน์ (ขวา) กับนักดนตรีแจ๊ซ ซาราห์ วอห์น (นั่ง) และ ดุ๊ก เอลลิงตัน (ซ้าย)[/caption]
พาร์คเกอร์ ในความทรงจำของ บิลลี เอ็คสไตน์
ทั้งนี้ ก่อนที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ บิลลี เอ็คสไตน์ จะโคจรมาพบกันในวงดนตรีของ เอิร์ล ไฮน์ส ที่นครนิวยอร์ก เอ็คสไตน์ ย้อนความทรงจำว่าเขาเคยพบเห็น พาร์คเกอร์ มาครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ที่นครชิคาโก
วันนั้นสภาพของ พาร์คเกอร์ สกปรกมอมแมมมาก ราวกับเกาะตู้รถไฟขนสัมภาระมาจากเมืองแคนซัส ซิตี้ เลยทีเดียว (ซึ่งคาดว่าน่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ) เขาปรากฏตัวขึ้นที่คลับชื่อ “65 คลับ” ในยามเช้าวันหนึ่ง ซึ่งมีการบรรเลงเพลงเต้นรำตอนเช้าในยุคนั้น (เรียกกันว่า morning dance หรือ breakfast dance)
เมื่อมาถึง เบิร์ด ก็เข้าไปขอโอกาสร่วมแจมด้วย โดยบอกกับ กูน การ์ดเนอร์ นักอัลโต แซ็กโซโฟน ที่เล่นอยู่ในวงว่า "นี่เพื่อน ผมขอเล่นด้วย และขอใช้แซ็กของคุณได้ไหม ?"
เอ็คสไตน์เล่าว่า เวลานั้น การ์ดเนอร์ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่เล่นสวิงได้ดุเดือดมากคนหนึ่ง เกิดอาการค่อนข้างเฉื่อยเนือยลงทุกทีแล้ว ดังนั้น ขอให้เป็นใครก็ได้ที่มาทำหน้าที่แทนเขาบนเวที เพื่อจะได้มีโอกาสไปนั่งพัก หรือพูดคุยกับสาว ๆ บ้างก็ยังดี
"ได้เลยเพื่อน เต็มที่เลย" นักอัลโต แซ็กโซโฟน กล่าวแก่ชายแปลกหน้าคนนั้น
จากคำบอกเล่าของ บิลลี เอ็คสไตน์ แก่ โรเบิร์ต ไรส์เนอร์ ในหนังสือ Bird : The Legend of Charlie Parker ระบุว่าเขาจดจำเบิร์ดได้อย่างแม่นยำจากการแสดงที่ชิคาโกในครั้งนั้น โดยเฉพาะแนวทางการเล่นแซ็กโซโฟน พร้อมคาดเดาว่า เวลานั้นเบิร์ดน่าจะมีอายุราว 18 ปี ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาก่อนที่เขาจะร่วมงานกับ เจย์ แมคแชนน์
"เขาเล่นอยู่นานมาก จนใคร ๆ ที่จับกลุ่มดูกันอยู่ เริ่มรำคาญขึ้นมาบ้างแล้ว กูนยังให้ที่พักพิงแก่เขา หาเสื้อผ้าให้ใส่ และยังให้เขาได้เล่นดนตรีในบางงานอีกด้วย เบิร์ดไม่มีฮอร์นเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นกูนเลยให้เขายืมคลาริเน็ทไปเล่น"
"เท่าที่กูนเล่าให้ผมฟัง หลังจากเขาดูแลเบิร์ด และให้คลาริเน็ทไว้ใช้ ปรากฏว่าวันหนึ่งเบิร์ดและคลาริเน็ทคันนั้นก็อันตรธานไปเสียเฉย ๆ หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้เจอเบิร์ดอีกเลย เดาว่าประมาณ 3 ปี จนกระทั่งเขามาถึงนครนิวยอร์กพร้อมกับวงแมคแชนน์ ออร์เคสตรา"
[caption id="attachment_15937" align="aligncenter" width="600"]
ภาพจาก
https://www.dba.dk/bird-the-legend-of-charlie/id-1014154824/[/caption]
แม้จะปรากฏตัวที่ชิคาโกเพียงช่วงเวลาหนึ่ง แต่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ก็ได้สร้างความประทับใจให้แก่การรับรู้ของ บิลลี เอ็คสไตน์ อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนิสัยแปลก ๆ ของเบิร์ด, การทุ่มเทให้แก่ดนตรีอย่างเต็มที่ มีลีลาการเล่นเร้าใจ ถึงลูกถึงคน ทั้งที่ไม่มีเครื่องดนตรีเป็นของตนเองก็ตาม
นักร้องชื่อดังคนนี้ยังได้พบกับ เบิร์ด อีกครั้งในช่วงที่วงดนตรีของ เอิร์ล ไฮน์ส ต้องการนักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน มาประจำวง หลังจากที่นักดนตรีหลายคนถูกหมายเกณฑ์ให้ไปรับราชการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้โดยพื้นฐาน พาร์คเกอร์ จะมีความถนัดในอัลโต แซ็กโซโฟน แต่เขาต้องรับตำแหน่งเทเนอร์ฯ ไว้ด้วยความจำเป็น
"เรามีเวลาเตรียมตัวสำหรับวงใหม่ราว 3 สัปดาห์ ช่วงนั้นเราซ้อมกันทุก ๆ วันที่สตูดิโอของโนลา ในตอนกลางวัน และไปแจมดนตรีที่ มินตัน'ส ในตอนกลางคืน เบิร์ด ยังเล่นเทเนอร์ แซ็ก (ที่ไฮน์สซื้อมาให้เขา) ไม่ได้ เขาเคยพูดว่า ‘นี่นาย ไอ้นี่มันใหญ่เกินไปว่ะ’ เขายังจัดการกับมันไม่ได้นั่นเอง" เอ็คสไตน์ ตั้งข้อสังเกต
จากคำบอกเล่าของ เอ็คสไตน์ ถึงเวลาในช่วงนั้น มีอยู่คืนหนึ่งที่ เบน เว็บสเตอร์ (Ben Webster) นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ชื่อดัง แวะไปยัง มินตัน'ส เขาไม่เคยพบพาร์คเกอร์เล่นมาก่อน และจังหวะนั้น พาร์คเกอร์ อยู่บนเวทีพอดี กำลังคร่ำครวญผ่านเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ตัวใหม่ที่ยังไม่รู้สึกคุ้นเคย แน่นอนทีเดียวว่าลีลาการเล่นของเบิร์ดในครั้งนั้น ไม่แตกต่างจากอาการคนบ้ามากนัก
"เกิดเป็นห่าอะไรขึ้นมาตรงนั้นวะ เฮ้ย! นั่นมันคนบ้าเล่นดนตรีรึเปล่า ?" ว่าแล้ว เว็บสเตอร์ ก็เดินไปบนเวที กระชากเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ออกจากมือของเบิร์ด พร้อมกับพูดว่า "ไอ้ฮอร์นนี่มันไม่ได้ออกแบบมาให้เล่นเร็วขนาดนี้นะโว้ย"
แต่ในคืนนั้นนั่นเอง ที่เว็บสเตอร์ ได้ไปกระจายข่าวบอกแก่ใคร ๆ ในวงว่า
"นี่นาย เราได้ยินมาคนหนึ่ง สาบานได้เลยว่าเขาทำให้ทุก ๆ คนบ้าคลั่งได้จากเสียงเทเนอร์ของเขา"
[caption id="attachment_15940" align="aligncenter" width="640"]
เบน เว็บสเตอร์[/caption]
เอ็คสไตน์ สรุปในตอนท้ายของเรื่องนี้ว่า ข้อเท็จจริงก็คือ เบิร์ด ไม่เคยมีประสาทสัมผัสและไม่มีความผูกพันกับเทเนอร์ แซ็กโซโฟน เขาไม่เคยรู้สึกชอบมันแม้แต่น้อย นั่นจึงไม่น่าแปลกใจหากเขาจะบรรเลงเพลงจากเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ราวกับการระบายโทสะต่อเครื่องดนตรีชิ้นนี้
ยังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ เบิร์ด ที่ เอ็คสไตน์ จดจำไว้จากการร่วมงานในวงดนตรีของ เอิร์ล ไฮน์ส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เบิร์ดมักผิดพลาดจนขาดการแสดงอยู่บ่อยครั้ง และในจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งนั้น ไม่มีใครตามหาเขาพบ เพราะเขามักจะหลบไปนั่งหลับที่ใดที่หนึ่ง และเมื่อใดก็ตามที่เบิร์ดขาดงาน ไฮน์ส ก็จะลงโทษเขาทุกครั้ง
จนวันหนึ่ง เพื่อนนักดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ ที่พอจะเข้าใจธรรมชาติของเบิร์ดดี หาจังหวะบอกแก่เขาว่า "เมื่อตอนนายขาดงาน มันสร้างปัญหารู้มั้ย เพราะสุ้มเสียงของวงจะออกมาไม่ดีพอ นายก็รู้นี่ มีเครื่องรีดส์อยู่แค่ 4 ชิ้น ทั้งที่เขาเขียนไว้สำหรับ 5 ชิ้น"
จนกระทั่งวันหนึ่งที่พวกเขามีการแสดงที่ เดอะ พาราไดส์ เธียเตอร์ ในเมืองดีทรอยต์ เบิร์ดบอกกับทุก ๆ คนในวงว่า "นับจากนี้ไป ผมจะไม่ขาดงานแล้วล่ะ ผมจะอยู่ที่นี่ในโรงหนังแห่งนี้ตลอดทั้งคืน เพื่อความมั่นใจว่าผมอยู่ที่นี่"
ทุกคนตอบว่า "โอเค นั่นมันเป็นเรื่องของนาย จะทำไงก็ได้ ขอให้ได้แสดงก็แล้วกัน"
มาถึงตรงนี้ เอ็คสไตน์ เล่าว่า "ถึงจะให้ความมั่นใจขนาดนั้น เมื่อพวกเรากลับมาทำงานในวันรุ่งขึ้น ทุกคนยืนอยู่บนสแตนด์ ปรากฏว่าไม่มีแม้กระทั่งเงาของเบิร์ด ซึ่งก็เหมือนทุก ๆ ครั้ง เขาบอกว่าเขาจะมาแน่ ๆ แต่แล้วเขาก็ไม่มา
"นี่คือความสัตย์ที่สาบานได้เลย ครั้งนั้นเราเล่นกันไปจนจบโชว์ จนเวทีรูดม่านแล้ว พวกเรากำลังเตรียมตัวจะกลับกัน ทันใดนั้น เราได้ยินเสียงหนึ่ง เรามองลงไปข้างล่างใต้สแตนด์ มีเสียงเบิร์ดดังออกมาจากข้างล่างนั่น เขานอนหลับอยู่ใต้สแตนด์ตลอดทั้งโชว์เลยล่ะ"
ไมล์ส เดวิส เคยเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้ฟังการบรรเลงของวง บิลลี เอ็คสไตน์ ในคราวตระเวนไปแสดงที่เมืองเซนต์หลุยส์ เมื่อปี ค.ศ. 1944 ในหนังสืออัตชีวประวัติ Miles : The Autobiography ของเขาว่า การแสดงครั้งนั้น ได้ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 18 ปีอย่างเขา นั่นคือการได้เห็น ดิซซี และ เบิร์ด บรรเลงอยู่ด้วยกันบนเวที
ไม่เพียงการสำแดงพลังดนตรีที่มีสุ้มเสียงใหม่เท่านั้น หากวีรกรรมของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่คนดำที่เมืองเซนต์หลุยส์ คือเหตุการณ์ครั้งที่วงดนตรีไปบรรเลงที่ร้าน “แพลนเตชั่น” ซึ่งเป็นคลับสำหรับคนขาว ดำเนินกิจการโดยมาเฟียท้องถิ่น ซึ่งตามปกติสถานที่แห่งนี้ กำหนดให้นักดนตรีผิวดำต้องเข้า-ออกจากประตูทางหลังร้านเท่านั้น
สิ่งที่สร้างความตื่นตะลึงให้แก่นักเลงที่คุมไนท์คลับในค่ำวันนั้นก็คือ พลพรรคในวงของ บิลลี เอ็คสไตน์ ปรากฏตัวพรวดพราดเข้าสู่ประตูหน้า โดยไม่มีท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนต่อสถานที่แม้แต่น้อย ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงพักระหว่างการแสดงดนตรี นักดนตรีกลุ่มนี้ยังเดินคลุกคลีปะปนกับนักเที่ยวผิวขาว มิหนำซ้ำ แทดด์ ดาเมรอน เพื่อนสนิทของ เบิร์ด และเป็นมืออะเรนเจอร์ในวง ยังดื่มน้ำจากแก้วที่ใช้เสิร์ฟให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
อาร์ต แบล็กกีย์ (Art Blakey) มือกลองของวงในเวลานั้น บันทึกความทรงจำไว้ในหนังสือ Bird : The Legend of Charlie Parker เขียนโดย โรเบิร์ต ไรส์เนอร์ จัดพิมพ์โดย ดาคาโปเพรส ว่า
“แทดด์ ดื่มน้ำจากแก้วน้ำใบสวยที่เขามีไว้เสิร์ฟลูกค้า เบิร์ด เดินมาหาแล้วพูดว่า คุณดื่มน้ำจากแก้วนี้หรือ แทดด์ ? แทดด์ตอบ ใช่สิ แบม ! เบิร์ด จัดการทุบมันแตก งั้นมันก็สกปรกแล้วสิ ! ”
เมื่อวงของ บิลลี เอ็คสไตน์ ย้ายมาเล่นในคลับ “ริเวอรา” ของคนดำล้วน ในเมืองเดียวกัน ไมล์ส เดวิส เตรียมทรัมเป็ตของเขาไว้พร้อมแล้วสำหรับการแจมดนตรี เมื่อเขาได้ยิน กิลเลสปี ตะโกนว่า “มาเลย คืนนี้เราต้องการมือทรัมเป็ต 1 คน หนึ่งในพวกเราป่วยพอดี” แต่ปรากฏว่าไมล์ส มีปัญหาในการบรรเลงส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบพอสมควร ทั้งที่เขามีความสามารถในการไซท์-รีด (sight-read อ่านจากโน้ตแล้วเล่น) ได้ดีก็ตาม
“เพราะวงดนตรีทั้งวงจะขึ้นถึงจุดสุดยอดทุกครั้งที่ ดิซ หรือ เบิร์ด เล่น โดยเฉพาะ เบิร์ด ผมคิดว่าเขาสุดยอดจริงๆ” ไมล์ส อธิบายถึงเหตุผลดังกล่าว
เมื่อวงของ บิลลี เอ็คสไตน์ กลับมาถึงนิวยอร์ก และเตรียมตัวสำหรับการออกทัวร์ครั้งต่อไป ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ประกาศว่าเขาจะไม่เดินทางอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เขาจึงปักหลักหางานบนถนนสายที่ 52 ซึ่งเป็นถนนที่มีไนท์คลับใหม่ ๆ ได้ผุดขึ้นมามากมาย เพื่อรองรับนักเที่ยวผิวขาวทั้งหลาย และถนนสายนี้ก็มีชื่อเรียกขานว่า “ถนนสายแจ๊ส” ในที่สุด
เบิร์ด ได้งานเล่นในวงของ เบน เว็บสเตอร์ แต่เอาเข้าจริง ๆ เขาก็เที่ยวไปแจมดนตรีกับวงนั้นวงนี้ ตามคลับต่าง ๆ บนถนนสายที่ 52 มิได้ขาด หนึ่งในร้านที่เขาแวะไปก็คือ ทอนเดลาโย (Tondelayo’ s) ซึ่งมีวงทริโอของมือกีตาร์ ไทนี กริมส์ (Tiny Grimes) บรรเลงอยู่ที่นั่น และนับเป็นโชคดีสำหรับคนรุ่นหลัง ที่ กริมส์ ได้ว่าจ้างให้ เบิร์ด เล่นในงานบันทึกเสียงของเขา เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1944
ณ เวลานั้น สังกัดเพลง ซาวอย มีนโยบายสนับสนุนให้ ไทนี กริมส์ เอาดีกับการเป็นนักร้อง ในการบันทึกเสียง 3 ชั่วโมงดังกล่าว มีเพลงร้อง Romance without Finance และ I’ll Always Love You ในหน้า เอ ส่วนหน้า บี เป็นเพลงบรรเลง ประกอบด้วย Tiny’s Tempo ที่มีโครงสร้างบลูส์ 12 ห้อง ซึ่งเบิร์ดโชว์การโซโล่อย่างแพรวพราว และเพลง Red Cross จากบทประพันธ์ของ เบิร์ด
อันที่จริง Red Cross เป็นชื่อเพลงที่เราสามารถอ้างอิงกลับไปถึง บ๊อบ เรดครอสส์ วิศวกรผู้บันทึกเสียงการบรรเลงแจมในเพลง Sweet Georgia Brown ระหว่าง ดิซซี และ เบิร์ด ในโรงแรมที่ชิคาโก โดยเพลง Red Cross นี้ เบิร์ด พัฒนาขึ้นจากริฟฟ์ 2 ห้องเดิมที่โซโล่จากทางเดินคอร์ดของเพลง I Got Rhythm อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า เพลงนี้ ดิซซี กิลเลสปี เคยขายให้แก่นายวง จิมมี ดอร์ซีย์ ในชื่อเพลง Grand Central Getaway
สำหรับการบรรเลง Red Cross บนแผ่นของ ไทนี กริมส์ สะท้อนถึงพัฒนาการอันยืดหยุ่นของ เบิร์ด ในการบรรเลง แม้จะยังไม่เข้ากันดีกับริธึ่มเซคชั่นในวงของ กริมส์ นัก แต่บ่งชี้ว่า ความลงตัวระหว่าง เบิร์ด และภาคริธึ่มเซคชั่นที่สอดประสานต้องกันนั้น กำลังจะใกล้มาบรรจบถึงกันแล้ว
อ่านบทความ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตอนอื่น ๆ ได้ที่
[3] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จุดเริ่มต้นของตำนานบีบ็อพ
[4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก
[5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด