กรณ์ จาติกวณิช: ก้าวกับกรณ์
“กรณ์” กล้าลุย ไม่กลัวล้ม
คนในพรรคประชาธิปัตย์รู้กันมานานแล้ว เรื่อง กรณ์ จาติกวณิช และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ไปสุมหัวตั้งกลุ่มขับเคลื่อนไทย (Thai Move Party) ที่ชั้น 22 บนตึกสูงหลังหนึ่ง ใกล้ตึกซันทาวเวอร์ ย่านห้าแยกลาดพร้าว
บังเอิญว่า อรรถวิชช์เป็นอาจารย์ในหลักสูตรอบรมผู้นำของสถาบันทิศทางไทย ของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จึงมีคนโยงเอากลุ่มขับเคลื่อนไทยกับสถาบันทิศทางไทย เป็นแนวร่วมกัน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ เพราะตัวละครหลักของกลุ่มขับเคลื่อนไทยคือ “โจ แอร์เอเชีย” หรือ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อดีตซีอีโอไทยแอร์เอเชีย
เมื่อกรณ์สุกงอม พร้อมแล้วสำหรับการเป็นผู้นำพรรคการเมืองใหม่ กลุ่มขับเคลื่อนไทยก็สลายตัว และรอการยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองในเร็ววันนี้
"ผมไม่เคยคิดว่าใครก็ตาม ในองค์กรไหนก็แล้วแต่ ควรต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดเป็นเวลานานเกิน สำหรับผมรู้สึกว่ามันเกินเวลามามากแล้ว ควรให้คนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนได้แล้ว พอถึงเวลาการตัดสินใจมันก็ง่ายขึ้น” คือบางถ้อยคำของ กรณ์ จาติกวณิช ในวันที่อำลาตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) เพื่อทำงานการเมือง เมื่อปี 2547
สำหรับการตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาเริ่มต้นสร้างพรรคการเมืองใหม่ “กรณ์” อาจมีเหตุและผลต่างจากครั้งที่ทิ้งองค์กรธุรกิจมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
24 ลุยวาณิชธนกิจ
ในวัย 20 ต้น ๆ “ดอน” กรณ์ จาติกวณิช บุตรคนกลางของไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรียนจบปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาร่วมทำงานกับบริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่งของอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี
หลังจากนั้น กรณ์กลับมาประกอบธุรกิจในประเทศไทย เขาได้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด เมื่ออายุได้ 24 ปี กรณ์นำพาบริษัทขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อนจะขายหุ้นบริษัท เจ.เอฟ.ธนาคม ให้กับ บริษัท เจพีมอร์แกนเชส และได้รับการร้องขอให้ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด
ประสบการณ์จากการทำบริษัทของตัวกรณ์เอง แล้วขายให้บริษัทข้ามชาติ เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับกลุ่มสตาร์ทอัพปัจจุบัน เพียงแต่ธุรกิจยุคใหม่ จะอาศัยเทคโนโลยีหรือระบบอินเทอร์เน็ต ก็เลยมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมา ฉะนั้น DNA ของพรรคการเมืองที่กรณ์จะตั้งขึ้นใหม่ จึงประกอบด้วย Startup, ปฏิบัตินิยม และ Global Mindset
39 เล่นการเมือง
เล่ากันว่า สมัยที่กรณ์ยังอยู่ในภาคการเงิน เวลาที่เขาต้องติดต่อกับรัฐมนตรี เขามักอาศัยเส้นทางถนนอู่ทองใน ซึ่งผ่านหน้าอาคารรัฐสภาอยู่เสมอ อดีตคนขับรถของไกรศรี จาติกวณิช ที่กลายเป็นนายสารถีของเขาเคยสัพยอกเขาไว้ว่า “สักวันหนึ่งจะขับรถพานายมาทำงานที่นี่”
ปลายปี 2547 กรณ์ตัดสินใจเล่นการเมือง ตามคำชักชวนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนอังกฤษของเขา เวลานั้น “มาร์ค” เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้งปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของบัญญัติ บรรทัดฐาน ตกเป็นรองพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร กรณ์เป็นคนหน้าใหม่ที่สื่อจับตามองมากที่สุด และพรรคส่งเขาลงสมัคร ส.ส. ที่เขต 7 (ยานนาวาและสาทร เฉพาะแขวงทุ่งวัดดอน) ฐานที่มั่นเก่าของเจริญ คันธวงศ์ ซึ่งกรณ์เอาชนะคู่แข่งสบาย ๆ
เมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค แทนบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่แสดงสปิริตลาออกจากความพ่ายแพ้ยับเยินของ ปชป. กรณ์ก็ได้เป็นรองเลขาธิการพรรค ปชป.
ปลายปี 2551 สถานการณ์การเมืองพลิกผัน พรรค ปชป. ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และกรณ์ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ขุนพลเศรษฐกิจของพรรค ก็ได้เป็นรัฐมนตรีคลัง
หลังเลือกตั้งปี 2554 อภิสิทธิ์ได้ลาออกจาตำแหน่ง ภายหลังจากพ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย แต่เลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ อภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกวาระ
ปลายปี 2561 มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอีกหน กรณ์ก็ยังรั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค กระทั่งอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรค หลังความปราชัยของ ปชป. ในสนามเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2562 ก็พอ ๆ กับระยะเวลาการเป็นสมาชิก ปชป. ของเพื่อนรัก-กรณ์ ตำนานของ “หล่อใหญ่-หล่อโย่ง” เป็นที่โจษขานกันในพรรคเก่าแก่
ดอนกับมาร์ค เติบโตมาในสังคมอังกฤษเหมือนกัน แต่มาร์คเลือกเป็นนักวิชาการและเข้าสู่การเมือง ด้วยวัย 25 ปี ขณะที่ดอนเลือกเดินหนทางวาณิชธนกิจ
ตอนที่มาร์ค เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร สมัยแรก ดอนเพิ่งตั้งบริษัท เจ.เอฟ.ธนาคม มาได้ 1 ปี ครั้งหนึ่งดอนให้สัมภาษณ์สื่อ และพูดถึงเพื่อนมาร์คว่า
"คุณอภิสิทธิ์ เขาคิดทะลุกว่าผม ไกลกว่าผม เขามีจุดเด่นจากที่ผมรู้จัก คือมีความเป็นผู้นำที่ดีในแง่ของการเป็นนักคิด นักตัดสินใจที่เด็ดขาด เป็นนักฟังที่ดี รู้จักเลือกว่าฟังใครแล้วจะนำความคิดนั้นมาใช้หรือไม่ อย่างไร มองการณ์ไกลโดยไม่สนใจกระแสจนเกินไป ผมเองยังเอียงตามกระแสมากกว่าเขา"
กรณ์ จาติกวณิช จึงเลือกที่จะเป็น “นักปฏิบัตินิยม” เพราะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนักคิด นักบริหารการเมือง ลึก ๆ แล้ว สองคนนี้ก็มีความต่างกันในวัฒนธรรมการเมืองแบบ ปชป.
55 หัวหน้าพรรค
หลังอภิสิทธิ์ลาออก กรณ์ จาติกวณิช ไม่รีรอที่จะฟอร์มทีมลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการปฏิรูปพรรค ตอนแรก มีคู่แข่งแค่จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แต่เมื่อพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เสนอตัวเข้าแข่ง พร้อมทีมงาน กปปส. เก่า และ “กองหนุนนอกพรรค” กรณ์จึงพ่ายแพ้ชนิดไม่มีทางสู้
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ มีลักษณะของนักเลือกตั้งอาชีพ คล้ายชวน หลีกภัย จึงถอดแบบการบริหารพรรคสไตล์ชวน นั่นคือ หัวหน้าพรรคต้องมีบุคลิกสุขุม และภาพลักษณ์ขาวสะอาด ส่วนเลขาธิการพรรค ต้องเป็นมือประสานสิบทิศ ครบเครื่องเรื่องบู๊บุ๋น
ชวน หลีกภัย เคยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนหิ้วกระเป๋า จุรินทร์ก็มีเฉลิมชัย ศรีอ่อน มาถือกระเป๋าให้เช่นกัน แม้แต่อภิสิทธิ์ ก็ยังเคยใช้บริการของเฉลิมชัยและสุเทพ เป็นผู้ดูแลกระเป๋า
ธรรมเนียมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคของ ปชป. ที่ผ่านมา มักจะให้คู่แข่งชิงหัวหน้าพรรค มาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคตามขนบเดิม เกมจบทุกคนเป็นหนึ่งเดียว อย่างสมัยบัญญัติ บรรทัดฐาน แข่งกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อบัญญัติชนะ ก็ตั้งอภิสิทธิ์เป็นรองหัวหน้าพรรค
เพียงแต่ระยะหลัง วัฒนธรรมการเมืองใน ปชป. เปลี่ยนไป แบ่งก๊กแบ่งเหล่าชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ นับแต่อภิสิทธิ์แข่งชิงหัวหน้าพรรคกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จนมาถึงศึกสามเส้า “จุรินทร์-พีระพันธุ์-กรณ์” กรณ์จึงไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จุรินทร์เลือกคนที่สนับสนุนตัวเองเป็นหลัก มองข้ามกรณ์ เหมือนกรณ์ไม่มีตัวตนในพรรค
กรณ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการลงมือลุยสตาร์ทอัพ ในหมวดฟินเทคว่า "สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คือเมื่อเจอปัญหาแล้วเขาทำตัวยังไง พร้อมสู้กับปัญหา พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง หรือชุดความคิดที่เคยมี ไม่ยอมแพ้หรือถอดใจ ผมคิดว่านั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด"
อดีตนักบริหารมืออาชีพจากภาคการเงิน ไม่ถอดใจ เดินหน้าสตาร์ทอัพการเมือง เริ่มจากการระดมจอมยุทธ์สตาร์ทอัพทั่วฟ้าเมืองไทยให้มาร่วมกัน สร้างพรรคการเมืองในฝันของกรณ์
เรื่อง: ชน บทจร
ภาพ: Thai News Pix