ชัคกี้ ธัญญรัตน์ ฉายา "กีตาร์เทพ" ไม่ได้มาโดยง่าย
1 ทุ่ม 10 นาที บนถนนย่านสยามสแควร์ การจราจร จลาจล รถราขวักไขว่ กลางป่าเปลี่ยวของป่าคอนกรีต ลึกคดเคี้ยวเข้าไปจนสุดซอย บ้านเช่าหลังหนึ่งยืนโดดเดี่ยวท่ามกลางความลำพัง สุรชัย จันธิมาธร หรือ หงา กับสมาชิกคณะคาราวานของเขา ดั้นด้นมาจนถึงซอยนี้ มันลึกจนรู้สึกเหงาอ้างว้าง “เจ้าของบ้านจะอยู่ไหมนะ” เขาพูดเชิงรำพึงกับสหายคาราวาน ลมเย็นพัดไหววูบมาวาบหนึ่ง เขาเคาะประตูเพื่อเรียกเจ้าของห้อง ธุระของพลพรรคคาราวานคืนนี้คือมาตามมือ “กีตาร์เทพ” คนหนึ่ง เพื่อให้ไปช่วยโซโลกีตาร์ในแนวทาง “บลูส์ ร็อค” ในเพลงฮิโรชิม่า อัลบั้มใหม่ของคาราวาน พวกเขาซุ่มดูฝีมือของมือกีตาร์คนนี้มานานแล้ว สำเนียงกีตาร์ของเขาช่างบาดลึก กินใจ แม้ว่าบลูส์ ร็อค จะไม่ใช่แนวทางของเขาโดยตรง แต่เขาก็เชี่ยวชาญพอที่จะไล่นิ้วไปบนสายให้ออกมาในสำเนียงนั้น
ช่วงนั้นชื่อเสียงความเป็น “กีตาร์เทพ” ของเขากำลังกระฉ่อนเมืองไทย ใคร ๆ ต่างปรารถนาจะได้เขาไปร่วมงาน บ้างก็ว่าเขาเป็นคนอีโก้สูง ยากที่จะร่วมงานกับใครง่าย ๆ บ้างก็ว่าเขาชอบที่จะเป็นพระเอกในเชิงกีตาร์ บนเวทีเขาจะต้องโดดเด่นกว่าใคร ๆ ใครจะขโมยความเด่นของเขาไปไม่ได้ เหตุนี้เขาจึงอยู่กับวงไหนไม่ได้นาน ขนาดมือกีตาร์ระดับ The Fox ของ ช.อ้น ณ บางช้าง เขาเคยไปร่วมงานได้พักหนึ่ง ซึ่งอีโก้ของ ช.อ้น ก็ไม่เบาเหมือนกัน เมื่ออีโก้เจออีโก้ก็เลยบรรลัยวายวอดกันไปข้างหนึ่ง ช.อ้น ถึงกับระเบิดออกมาว่า นิสัยอย่างนี้ อยู่กับใครเขาไม่ได้หรอก ขณะที่กีตาร์เทพก็สวนกลับมาว่า เขาก็ไม่ปรารถนาที่จะอยู่กับมือกีตาร์ที่ไม่มีการพัฒนาตัวเอง...
สิ้นเสียงเคาะประตูเรียก เจ้าของบ้านเปิดประตูออกมา สมาชิกคาราวานถึงกับผงะ เพราะมีกลิ่นควันธูปเทียนคละคลุ้งออกมาจากห้องจนต้องอุดรูจมูก กีตาร์เทพอยู่ในเครื่องแบบของชีปะขาว นุ่งขาว ห่มขาวทั้งชุด เกล้าผมมวยตรงกลางหัว ในมือมีธูปเทียนลอยคลุ้ง เบื้องหน้าของเขามีกีตาร์ตัวโปรดวางอยู่ต่อหน้า สมาชิกคาราวานทราบกันต่อมาว่า กีตาร์เทพกำลังทำพิธี “ขายวิญญาณให้ซาตาน” ตามความเชื่อของมือกีตาร์ยุค 70s
มันเริ่มจาก โรเบิร์ต จอห์นสัน มือกีตาร์ผิวสีแนวบลูส์ทำพิธีแบบนี้เป็นคนแรก โดยเชื่อมั่นกันว่า ถ้าทำพิธีขายวิญญาณให้ซาตานแล้ว ฝีมือกีตาร์จะล้ำเลิศแข็งแกร่งในปฐพี และ โรเบิร์ต จอห์นสัน ก็ประสบความสำเร็จบรรลุโสดาบันเป็นเจ้าพ่อเพลงบลูส์คนแรกของอเมริกันชน แต่ร่ำลือกันว่า ท้ายสุด เขาเสียชีวิตอย่างทรมานในห้องอัด เพราะผิดคำสาบานกับซาตาน ก่อนตายเขาร้องโหยหวนเหมือนซาตานมาทวงวิญญาณของเขา
ริทชี่ แบล็คมอร์ มือกีตาร์ชั้นเซียนเหยียบเมฆของคณะ Deep Purple เป็นอีกคนหนึ่งที่เล่ากันมาว่า เขาเคยทำพิธีขายวิญญาณให้ซาตาน โดยไปเช่าตึกร้างทางตอนใต้ของลอนดอนทำพิธีนี้ แต่ก็ไม่มีการยืนยันแต่อย่างใด ความเชื่อนี้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป อเมริกา อังกฤษ มันเป็นความเชื่อที่มีส่วนผสมของเทพต่าง ๆ ทางตะวันออก The Beatles ยังเคยเดินทางไปที่อินเดีย เพื่อคารวะ ศรี ชินมอย เจ้าแห่งลัทธิไม่บูชาวัตถุนิยม พวกเขาหลงใหลในสำเนียงพิณซีตาร์ โดยเฉพาะ จอร์จ แฮริสัน แต่นักวิจารณ์หลายคนก็บอกว่า มันเป็นการหาเรื่องไปสูบยาเสพติด “กำยาน” ที่มีอยู่แต่ในอินเดียของ The Beatles เท่านั้น
ใช่- กีตาร์เทพคนนี้คือ ชัคกี้ ธัญญรัตน์ อย่างมิต้องสงสัยหรือเคลือบแคลงใด ๆ ชื่อจริงของเขา ชูศักดิ์ ธัญญรัตนางกูร เพื่อนฝูงในวงการเรียกชื่อเล่นว่า “บุ๋ม”
แม้หลายคนจะเชื่อว่า การขายวิญญาณให้ซาตานไม่มีอยู่จริง และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเล่นกีตาร์ ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเอาจริงเอาจัง การวางเป้าหมายและศรัทธาในดนตรีร็อคอย่างเข้มข้นเท่านั้น ซึ่งชัคกี้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว เขาเอาจริงเอาจังกับกีตาร์ โดยเฉพาะครอบครัวที่ส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างดี อายุได้ 13 ปี เขาได้กีตาร์ตัวแรก ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ขลุกอยู่กับมันเช้ายันเย็น หรือทันทีที่มีเวลาว่าง เขาโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุน เพราะยุคนั้นคำว่า อาชีพนักดนตรี เต้นกิน รำกิน ไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคมไทย มันไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงเหมือนข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคน
ด้วยความที่ครอบครัวสนับสนุนเป็นอย่างดี หลังจากชัคกี้เรียนจบจากเซนต์คาเบรียล เขาต้องการบรรลุศาสตร์แห่งกีตาร์อย่างแท้จริง และต้องการเปิดโลกกว้างของดนตรี เขาจึงบินไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่สหรัฐอเมริกา และเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ซึ่งขณะที่ศึกษาอยู่ที่นั่น เขาก็เล่นดนตรีหาประสบการณ์ไปด้วย
“ขอบคุณอเมริกาและนักดนตรีต่าง ๆ ที่ผมมีโอกาสได้ร่วมแจมด้วย การแจมคือหัวใจของดนตรีร็อค มันจะบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของคุณว่า มันอยู่ในขั้นใด นักดนตรีระดับโลกที่เขาโคจรมาแจมกัน นั่นหมายความว่า เขาบรรลุแล้วซึ่งฝีมือ มันคือทักษะที่จะต้องเล่นกับคนอื่นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงอะไร ยิ่งคุณเล่นอิมโพรไวเซซั่นได้มากเท่าไหร่ มันหมายถึงคุณเข้าใจดนตรีมากเท่านั้น ผมมีความสุขกับการแจม หลายคนดวลกีตาร์กับผมอย่างสนุกสนาน ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ เพลงบลูส์จะขาดการแจมไม่ได้เลย...” ชัคกี้เคยให้สัมภาษณ์ไว้
หลังกลับจากอเมริกา ชัคกี้ก่อตั้งวงร่วมกับเพื่อน ชื่อวง Point After เล่นเพลงแนวฟังค์กี้เป็นหลัก
“ผมชอบการเล่นกีตาร์ของแอนดี้ ซัมเมอร์ ของวง The Police ผมว่าเขาเล่นกีตาร์ไม่เหมือนใคร เล่นทั้งคอร์ดและโซโลไปพร้อม ๆ กัน มันผสมเร็กเก้และบริทิช บลูส์ ร็อค เข้าด้วยกัน พวกเขาเล่นกันสามคน แต่ดนตรีออกมายิ่งใหญ่เหลือเกิน การก่อตั้งวงในยุคแรกของผม เราเล่นเพลงของพวกเขา เพลงของวง Cream และวง The Yardbirds เป็นการหาประสบการณ์และแนวทางที่ชัดเจน ไม่ต้องแปลกใจที่เราจะแยกทางกันในเวลาไม่นาน เราจากกันด้วยดี...”
วงต่อมาของชัคกี้คือ Long Distance คราวนี้เขาเล่นฟังค์กี้อย่างเต็มตัว
“วงนี้ผมเป็นพระเอก ผมมีโอกาสได้โชว์ทักษะกีตาร์ล้วน ๆ และแน่ใจในแนวทางมากขึ้น แต่ผมก็ไม่ทิ้งแนวอื่น โดยเฉพาะบลูส์ ร็อค ที่จะต้องอาศัยทักษะการแจม การควานหาลูกเล่นแปลก ๆ ผมว่ากีตาร์เป็นเครื่องดนตรีเดียวที่เปิดโอกาสให้เราค้นความลึกลับของมันไม่รู้จบ ผมสนุกกับการค้นคว้าหาฟังผลงานของมือกีตาร์แต่ละคน ซึ่งมีลีลาลูกเล่นเฉพาะตัวที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ที่สูงส่ง คุณคงไม่ปฏิเสธใช่ใหมว่า หัวใจของวงร็อคคือกีตาร์กับนักร้องนำ คุณเห็นความโดดเด่นของ โรเบิร์ต แพลนท์ กับ จิมมี่ เพจ แห่งคณะ Led Zeppelin ใช่ไหม แพลนท์แต่งเพลงเก่งมาก ขณะเดียวกัน เพจก็เข้าใจในแนวทางเพลงของแพลนท์ เขาใส่เสียงกีตาร์อย่างลงตัว แต่ไม่ใช่ว่าคนอื่นไม่เก่งนะ จอห์น บอนแฮม มือกลอง ก็สุดยอด หรือ จอห์น พอลโจนส์ มือเบสก็ร้ายกาจ...”
ด้วยความที่มีแนวคิดว่า ถ้านักร้องนำโดดเด่น มือกีตาร์ก็จะโดดเด่นตามไปด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาตัดสินใจไปร่วมงานกับ ชัชชัย สุขาวดี หรือ หรั่ง ร็อคเคสตร้า ในอัลบั้มชุด “เทคโนโลยี” มันเป็นความลงตัวที่สมบูรณ์แบบอัลบั้มหนึ่งของวงการร็อคเมืองไทยในตอนนั้น
“หรั่งเป็นนักร้องที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นบนเวที เขามีความเป็น ‘นักแสดงดนตรีร็อค’ ได้อย่างยอดเยี่ยม ดนตรีร็อคคือการแสดงออกทางพลังงานบนเวที คุณต้องเคลื่อนไหว คุณต้องมีร่างกายที่แข็งแรง มีประสาทสัมผัสที่รับรู้ปฏิกิริยาของคนฟัง อารมณ์ร่วมของคนฟัง การร่วมงานกับหรั่งจึงเป็นอีกความภาคภูมิใจของผม เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่แสดงความสามารถในการเขียนเพลงของหรั่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลง วิ่งวิ่งวิ่ง โลงศพ เทคโนโลยี ผมได้แสดงออกทางกีตาร์เต็มที่ รวมทั้งบนเวทีคอนเสิร์ตด้วย”
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ชัคกี้เข้าไปร่วมงานกับวงร็อครุ่นเก๋าของเมืองไทย คาไลโดสโคป “ช่วงนั้นผมกำลังอยากศึกษาเพลงแนวอื่นบ้างนอกจากฟังค์กี้ที่ผมเล่นอยู่ ซึ่งก็ได้ประสบการณ์จากคาไลโดสโคปมากมาย พวกเขาเป็นวงที่มีแฟนเพลงเหนียวแน่น กีตาร์จะต้องเป็นพระเอก แนวเพลงส่วนใหญ่ออกไปทางอเมริกันบลูส์ ร็อค เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เปิดโลกการเล่นกีตาร์ให้กว้างขึ้น”
หลังจากนั้น งานในสตูดิโอของเขาก็มากขึ้นตามฝีมือชื่อเสียงที่เลื่องลือขึ้นตามลำดับ แม้แต่วงเพื่อชีวิตชั้นแนวหน้าของเมืองไทยอย่างคาราวาน เขาก็ฝากฝีมือไว้ถึงสองชุดด้วยกันคือ “อานนท์” และ “คาราวาน 1985” นอกจากนั้นก็ได้รับเชิญให้ไปปรากฏเสียงกีตาร์กับงานของศิลปินเช่น นุภาพ สวันตรัจฉ์ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล จนกระทั่งแยกตัวออกมาทำวงใหม่ในชื่อ New Wave โดยมี แป๋ง-นิวัติ กองแก้ว อดีตมือเบสวง V.I.P. (ที่มี แหลม มอร์ริสัน เป็นมือกีตาร์) เป็นหัวขบวนด้วย นักร้องนำคือ จรัล บุญกลิ่น วงนี้เล่นเพลงของ The Police เป็นหลัก
จนกระทั่งได้โอกาสที่จะออกอัลบั้มเป็นของตัวเองชุดแรก เมื่อปี 2528 ในชื่อชุด “ศรัทธา” ซึ่งชัคกี้รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ เขียนเนื้อเพลง
“มันเป็นงานทดลองของผม หลังจากยืนอยู่หลังกีตาร์มานาน ประสบการณ์การไปร่วมงานกับใครต่อใคร ผมพิสูจน์ตัวเองว่าจะเขียนเนื้อร้องได้ไหม เพลงของผมจะออกมาแนวไหน มันจะมีบุคลิกที่บ่งบอกตัวตนผมมากน้อยเพียงใด สำหรับผมยังไม่พอใจในงานชุดนี้เท่าไหร่นัก มันเบาเกินไป นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ผมร้องเพลงเหมือนสวดมนต์บ่นไปเรื่อย ทำนองหลายเพลงยังไม่ลงตัว แต่งานผมก็ขายได้นะ ผมชอบเพลง คน คน และ เพลง มาลี มันเหมือนมีตัวตนของผมอยู่ในนั้นค่อนข้างเยอะ ได้แสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับคน แต่นั่นแหละ มันยังเป็นงานกึ่งทดลอง ซึ่งผมก็มีความสุขที่มันออกมาดีเกินคาด คนฟังให้การต้อนรับพอสมควร...”
แม้ว่าจะโชกโชนบนถนนสายกีตาร์ดนตรี แต่ดูเหมือนมันยังไม่บรรลุถึงความฝันของคนกีตาร์ ยังมีบางอย่างค้างคา เขาอยากเล่นดนตรีแบบไหนกันแน่ เขารู้สึกอิ่มตัวกับฟังค์กี้หรือนิว เวฟ ในที่สุดเขาก่อตั้งบริษัทดนตรีเอนเตอร์เทนเมนท์ขึ้นมา ชื่อบริษัท ACR รับจัดงานคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ รับศิลปินร็อคเข้าสังกัดในค่าย แต่เพื่อพิสูจน์ว่าดนตรีในสังกัดของเขาต้องออกมาเป็นร็อคที่ค่อนไปทางเฮฟวี เมทัล ชัคกี้จึงออกอัลบั้มชื่อชุด “พาฝัน” (2533) พร้อมกับเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นร็อคอย่างเต็มตัว ซาวนด์ดนตรีชุดนี้โดดเด่น เป็นร็อคที่ไม่หนักเกินควร แต่เน้นเมโลดี้ที่สวยงาม กีตาร์ของเขาเป็นพระเอกอยู่แล้ว ทุกเพลงที่บรรจุอยู่ในชุดนี้ มันคือตำนานที่ถูกกล่าวขานของคนในวงการร็อคอย่างอื้ออึง ดูเหมือนชัคกี้ ค้นพบหนทางที่ชัดเจนแล้ว ถูกคัดเลือกจากนิตยสารอันเดอร์กราวน์ด The Quiet Storm ให้เป็น 1 ใน 4 อัลบั้มไทย เมทัล ยอดเยี่ยมประจำปี ร่วมกับ คนพันธุ์ร็อคของ Hi Rock หรั่ง ร็อคเสตร้า และ หูเหล็ก ของ ดิโอฬาร โปรเจ็คต์
“จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ผมได้แสดงฝีมือกีตาร์เต็มที่อย่างที่ไม่เคยได้แสดงมาก่อน มันคล้ายความอัดอั้นตันใจที่อยากระบาย ผมแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า อัลบั้มชุดนี้ต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ซาวนด์ที่กำลังฮิตอยู่ตอนนั้นคือพวกแฮร์ แบนด์ หรือ แอล.เอ. เมทัล กีตาร์อาจจะไม่ซับซ้อนมาก แต่เน้นความลงตัวของเนื้อร้องและท่วงทำนองที่สวยงาม เราจึงตั้งชื่อมันว่า ชุดพาฝัน เพราะทำนองสวยงามทุกเพลง ฟังแล้วชวนฝัน แต่เพลงที่แสดงถึงซาวนด์แบบเฮฟวีก็มีให้ฟังอย่างถึงใจ...ชุดนี้ผมแบ่งหน้าที่การเล่นอย่างลงตัว ผมโซโลเท่าที่จำเป็นตามสูตรของร็อค แต่ก็จับใจหลายเพลง ผมต้องการให้คนจดจำว่า นี่คือผลงานที่โดดเด่นของวงผม กับ บลู แพลเน็ท ชัคกี้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงเสียที แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่ามันต้องวัดกันยาวๆ อัลบั้มชุดถัดไปอาจยิ่งใหญ่กว่านี้ ผมยังมีเวลาพิสูจน์ตัวตนอีกนาน..”
น่าเสียดายที่ชัคกี้ไม่มีโอกาสทำงานชุดที่สอง และงานคอนเสิร์ตที่เขาเตรียมไว้ รวมทั้งศิลปินในสังกัดอีกหลายวงที่อยู่ระหว่างเซ็นสัญญา รวมทั้งคอนเสิร์ตนอกอีกหลายวงที่อยู่ในลิสต์การทำงานของ ACR ที่เขาเป็นโต้โผใหญ่ เพราะเขาล้มป่วยด้วยโรคไต และเสียชีวิตเมื่อปี 2540
“เขาจากเราเร็วเกินไป งานของเขายังมีให้สร้างสรรค์อีกเหลือเฟือในอนาคต เขาเป็นความหวังของวงการเพลงร็อคบ้านเรา การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เขาอยู่ในวัยหนุ่มที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความหวังให้กับวงการเพลง คอนเสิร์ตนอกวงดัง ๆ ที่เขาอยากให้เข้ามาเปิดการแสดงในบ้านเราก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำ รวมทั้งศิลปินหลายวงที่รอเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ของเขา” นก ภรรยาของชัคกี้ที่มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน กล่าวในวันฌาปนกิจ
“แต่ดิฉันก็ภาคภูมิใจในตัวเขา งานคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการจากไปของเขา และการนำผลงานเก่าออกมารีมาสเตอร์ใหม่ก็ประสบความสำเร็จ มีแฟนเพลงทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ มาร่วมงานกันมากมาย ผลงานชุดพาฝัน เป็นงานที่เป็นอมตะที่ชัคกี้บอกว่า ได้ทุ่มเทใจให้กับงานชุดนี้อย่างเต็มที่”
ปู แบล็คเฮด หรือ อานนท์ สายแสงจันทร์ นักร้องนำก่อนจะมาเป็นแบล็คเฮด กล่าวในงานรำลึกว่า
“พี่บุ๋มเป็นตัวอย่างของนักดนตรีที่ดี แกเล่นได้ทุกสไตล์ ฟังเพลงทุกแนว ศึกษาค้นคว้าไม่เคยหยุดหย่อน แกฟังตั้งแต่ Bon Jovi ยันบีโธเฟน เวลาทำงานในสตูดิโอแกจะละเอียดมาก ผิดพลาดนิดเดียวต้องแก้ไขใหม่จนกว่าจะพอใจ เอาจริงเอาจัง ผมชอบสไตล์กีตาร์ของแกนะ ผมดีใจที่แกหันมาเล่นร็อคที่ค่อนไปทางเมทัลอย่างที่พวกเราชอบ ผมคิดว่าอัลบั้มชุดพาฝันคือตำนานที่ขึ้นหิ้ง ใครที่คิดจะเล่นเพลงร็อค ต้องเอาอัลบั้มชุดนี้ไปศึกษา
“ผมดีใจที่ได้เริ่มต้นกับพี่บุ๋ม แกเป็นทั้งพี่ ทั้งเพื่อน ให้ความรู้ โดยเฉพาะงานในสตูดิโอที่ผมไม่เคยคุ้นเคยมาก่อน แกก็เคี่ยวกรำผมจนร้องผ่านไปได้ ผมคิดว่าพี่บุ๋มได้ใส่วิญญาณของแกลงไปเต็มที่แล้วในชุดนี้ ไม่แปลกใจหรอกที่คนรุ่นหลังยังถามหาอัลบั้มชุดนี้” ปู แบล็คเฮด กล่าวในงานรำลึก
หรั่ง ร็อคเคสตร้า เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชมในฝีมือของชัคกี้ การร่วมงานกันในชุดเทคโนโลยี เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และเป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้หรั่งพุ่งสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว
“ตอนผมเขียนเพลงเสร็จทั้งหมด ผมก็หวั่น ๆ ใจอยู่ว่า พอเอาไปให้บุ๋มเล่นกีตาร์แล้วจะออกมายังไงกัน คือผมอยากได้เสียงร็อคที่มันฟังแล้วกระทบความรู้สึก กระแทกอารมณ์ทันทีที่ได้ฟัง ตอนนั้นชัคกี้จะเล่นกีตาร์ออกแนวฟังค์กี้ที่เขาถนัด ผมหวั่น ๆ ว่ามันจะออกมาอย่างที่ผมคิดไหม พอเขาทำเสร็จ เอาเพลงมาคืนผมเพื่อจะตัดสินใจเข้าห้องอัด ผมบอกตัวเองว่า อัลบั้มชุดนี้ต้องดังเปรี้ยงปร้างอย่างแน่นอน และทันทีที่เพลงแรกที่เราตัดออกไปเปิดตามสถานีวิทยุ วิ่งวิ่งวิ่ง ระเบิดกระจุยกระจาย ตามมาด้วย เทคโนโลยี และโลงศพ...ถ้าให้คนอื่นเล่นกีตาร์ไม่รู้จะออกมาแบบไหนเหมือนกัน บุ๋มเป็นคนละเอียดกับเสียงกีตาร์ ทำงานกับเขาแล้วผมสบายใจ เสียดายที่ผมทำงานกับเขาน้อยไปหน่อย แต่ก็ดี มือกีตาร์ย่อมหาทางมีวงเป็นของตัวเอง มันเป็นวิถีของเขา และเขาก็ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ ถ้าเขายังอยู่คงได้สร้างสรรค์อะไรให้กับวงการอีกมากมาย”
เพราะฉะนั้น อย่าได้สงสัยในฉายา “กีตาร์เทพ” ที่เขาได้มา พระเจ้าอนุญาตให้เขามีชีวิตอยู่บนโลกได้เพียงแค่นั้น เหมือนศิลปินร็อคอีกหลายคนในยุค 70s ที่พระเจ้าพรากตัวไปก่อนเวลาอันสมควร จิมมี่ เฮนดริกซ์ เทพเจ้ากีตาร์เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 27 เท่านั้น ทอมมี่ โบลิน แห่ง Deep Purple แกรี่ เธน แห่ง Uriah Heep คีธ มูน แห่ง The Who จอนห์ บอนแฮม แห่ง Led Zeppelin เฟรดดี้ เมอร์คิวรี แห่ง Queen ซิด แบร์เร็ตต์ แห่ง Pink Floyd
รวมทั้ง “ชัคกี้” กีตาร์เทพแห่งไทยแลนด์คนนั้น
เรื่อง: พายุหิน กูรู