โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกา ผู้ผันตัวจากนักแสดงฮอลลีวูดมาเป็นนักการเมือง เป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่ขึ้นชื่อว่าโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ผลงานชิ้นโบว์แดงของเรแกนคือการนำอเมริกาชนะสงครามเย็น มีชัยเหนือสหภาพโซเวียตอย่างยิ่งใหญ่ และการทำให้เศรษฐกิจแดนลุงแซมเติบโตแบบพุ่งกระฉูดภายใต้แนวคิด “เรแกนโนมิกส์” (Reaganomics) หรือการลดอัตราการเสียภาษีของประชาชน ส่งผลให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากกว่าเดิม
อเมริกาในยุคสมัยของเรแกนมีความมั่งคั่งกว่ายุคของประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอย่าง จิมมี คาร์เตอร์ หลายเท่าตัว และเมื่อเรแกนลงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีต่อสมัยที่ 2 เขาก็ได้รับเสียงโหวตจากประชาชนอย่างท่วมท้น ได้ความนิยมมากกว่าคู่แข่งถึง 49 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนก็ตาม
แต่บนโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ประธานาธิบดีเรแกนก็เช่นกัน ถึงผลงานเยอะ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยโดนโจมตี หนึ่งในนั้นคือการถูกวิจารณ์เรื่องเชื่อโหราศาสตร์อย่างหนัก ถึงขั้นมี โจน ควิกลีย์ หมอดูประจำครอบครัวเรแกน ที่ว่ากันว่าช่วยจัดตารางเวลาทั้งหมดให้ และถึงผลงานจะเยอะ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยทำอะไรผิดพลาด แถมพอพลาดทีก็เป็นเรื่องใหญ่ นั่นคือ การเพิกเฉยต่อการระบาดของเอดส์ (AIDS) อันเป็นผลให้ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง มีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 500,000 คน และกว่าเขาจะนำทีมต่อสู้กับเอดส์อย่างเป็นทางการก็แทบจะสายเกินไป
ตอนที่เรแกนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นปีแรก (ค.ศ. 1981) สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ยุคเปิดกว้างเรื่องรสนิยมทางเพศ โดยเฉพาะรสนิยมการรักเพศเดียวกันมากขึ้น เป็นที่รู้กันว่าหลายเมืองใหญ่ในอเมริกาเป็นแหล่งรวมตัวของชาวเกย์ ในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังสนุกสุดเหวี่ยงและเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า หารู้ไม่ว่า ช่วงดังกล่าว เชื้อ HIV ไวรัสเพชฌฆาตได้แพร่ระบาดในหมู่คนรักเพศเดียวกันอย่างเงียบเชียบ
วันที่ 5 มิถุนายน ปี 1981 เป็นวันแรกที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) เผยผลการศึกษาถึงโรคประหลาดคร่าชีวิตผู้คนในอเมริกา มีการพบเชื้อไวรัสในกลุ่มผู้ชายที่มีรสนิยมทางเพศชื่นชอบเพศเดียวกัน โดยแต่ละคนมีอาการติดเชื้อในปอด ผิวหนังเป็นแผลง่าย และภูมิคุ้มกันล้มเหลว จนเกิดโรคแทรกซ้อนหลายประการ
ดอน ฟรานซิส นักวิจัยจาก CDC ผู้ศึกษาโรคเอดส์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเรียกว่า โรคระบาดเกย์ (Gay Plague) หรือโรคมะเร็งเกย์ (Gay Cancer) กล่าวว่า แม้ช่วงแรกจะมีผู้ป่วยไม่มาก ประมาณ 5-10 คนเท่านั้น แต่ทันทีที่พวกเขาศึกษาอย่างจริงจัง นักวิจัยทุกคนรู้โดยทันทีว่า โรคนี้หนักหนาสาหัสกว่าที่คิด และจะสร้างปัญหาต่อสังคมในวงกว้างแน่นอน
แล้วก็เป็นดังคาดการณ์ เพราะวันที่ 24 กันยายนปี 1982 หรือราว 1 ปีหลังการระบาด CDC รายงานผลการศึกษาเพิ่มเติม ตั้งชื่อโรคนี้ว่า “เอดส์” อย่างเป็นทางการ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ในอเมริกามากถึง 106,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 64,900 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 900 คน (ผู้ป่วยเอดส์ราว 40 รายแรกในสหรัฐฯ จากทั้งหมดเกือบ 250 ราย เคยมีเพศสัมพันธ์กับ เกทาน ดูกาส์ ผู้ถูกกล่าวหาเป็น “คนไข้เอดส์หมายเลขศูนย์”) ถึงจำนวนจะไม่มากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของผู้ป่วย แต่ปัญหาสำคัญคือแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไม่รู้เลยว่าจะรักษาหรือป้องกันผู้คนจากการติดต่ออย่างไรดี
วันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน เลสเตอร์ คินโซลวิง นักข่าวและนักจัดรายการวิทยุ สถานี WCBM ในรัฐแมรีแลนด์ ถือเป็นสื่อมวลชนคนแรก ๆ ของประเทศ ที่ตั้งคำถามถึงมาตรการในการควบคุมโรคร้ายนี้ต่อ แลร์รี สปีคส์ โฆษกประจำรัฐบาลเรแกน แต่สปีคส์กลับให้คำตอบชวนช็อคว่า ท่านประธานาธิบดียังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ และไม่รู้ถึงการระบาดของโรคนี้ด้วย หนำซ้ำสปีคส์ยังล้อเลียนโรคระบาดเกย์ให้ดูเป็นเรื่องตลก เรียกเสียงหัวเราะจากนักข่าวในทำเนียบขาวอย่างครื้นเครง
สถานการณ์ในปีถัดมาวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยเอดส์เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด 2,308 คน และคราวนี้พบผู้ติดเชื้อเป็นผู้หญิงด้วย ด้านคินโซลวิงยังทำหน้าที่สื่อมวลชนน้ำดี ยิงคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับโฆษกรัฐบาลของเรแกนทุกครั้งที่มีโอกาส คราวนี้สปีคส์ให้คำตอบว่า ประธานาธิบดีรับทราบเรื่องนี้หลายเดือนแล้ว และกำลังหาทางแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม คำตอบของสปีคส์กลับเป็นเพียงลมปาก รัฐบาลไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมใด ๆ เกี่ยวกับปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อ HIV และไม่ได้แสดงให้ใครเห็นเลยว่ากำลังลงมือแก้ปัญหาเรื่องนี้ ถึงกระนั้น คินโซลวิงก็ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม แม้ว่าสถานการณ์จะน่าหวาดวิตกมากขึ้นไปทุกขณะ นับถึงปี 1984 จำนวนผู้ป่วยทะลุไปเกินหลัก 300,000 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตปาเข้าไปถึง 4,251 คน
[caption id="attachment_20801" align="aligncenter" width="640"]
หนึ่งในผลงานคลาสสิกของ ร็อค ฮัดสัน[/caption]
แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อ ร็อค ฮัดสัน พระเอกหนังฮอลลีวูดสุดหล่อขวัญใจสาว ๆ จากหนังคลาสสิกเรื่อง All That Heaven Allows (1955) และ Giant (1956) ถือเป็นนักแสดงพ่อพระคู่ขวัญดารานำหญิงชื่อดัง ดอริส เดย์ และ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ไม่เพียงประกาศต่อสาธารณชนว่าเขาเป็นเกย์ แต่ยังป่วยเป็นเอดส์ด้วย ถือเป็นคนดังคนแรกในวงการบันเทิงคนแรกที่ป่วยเป็นโรคนี้ เขาตรวจพบเชื้อ HIV มาตั้งแต่กลางปี 1984 แล้ว แต่ปิดบังเป็นความลับ และพยายามหาทางรักษาแบบเงียบ ๆ แต่ท้ายสุดเขาก็สู้ไม่ไหว จากโลกนี้ไปในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 1985 ด้วยวัย 59 ปี
ความตายของฮัดสันสั่นสะเทือนอเมริกาอย่างหนัก เขาทำให้ผู้คนจำนวนมากตระหนักว่าโรคระบาดนี้ร้ายแรงไม่ใช่น้อย และถ้าคนเป็นดาราติดได้ พวกเขาก็อาจจะติดได้เช่นกัน นอกจากนั้น ด้วยความที่ฮัดสันเป็นเพื่อนที่สนิทกับประธานาธิบดีเรแกนอยู่พอตัว การสูญเสียมิตรสหายยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรแกนตระหนักว่า เขาควรทำอะไรสักอย่างเสียทีหลังจากเพิกเฉยมาโดยตลอด
(มีรายงานว่า ฮัดสันใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่ประเทศฝรั่งเศส และพยายามยื้อชีวิตตัวเองอย่างเต็มที่ เขาพยายามขอใช้เส้นสายของประธานาธิบดีเรแกน เพื่อเข้าถึงยารักษาที่ไม่ใช่ใครจะเข้าถึงกันได้ทุกคน แต่ปรากฏว่าคำขอของเขาโดนตีตกโดย แนนซี่ เรแกน ภรรยาประธานาธิบดี สิ่งที่เกิดขึ้นมีหลายฝ่ายมองว่า ฝั่งเรแกนไม่ต้องการให้เกิดการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน เพราะถ้าฮัดสันเข้าถึงยาได้ ทำไมผู้ป่วยคนอื่นจะเข้าถึงไม่ได้ แต่บางคนก็มองว่า หากสุภาพสตรีหมายเลข 1 ไม่ปฏิเสธคำขอของฮัดสัน ก็อาจจะพอยื้อชีวิตอดีตพระเอกหนุ่มขวัญใจสาว ๆ นานขึ้นอีกสักนิดก็ยังดี)
ถึงอย่างนั้นก็ต้องใช้เวลาร่วม 2 ปีหลังการจากไปของฮัดสัน ประธานาธิบดีเรแกนถึงปรากฏตัว และกล่าวแถลงการณ์ถึงโรคเอดส์ต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกด้วยตัวเองในปี 1987
เขาประกาศว่า เอดส์คือศัตรูอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะใช้งบประมาณมหาศาลในปีงบประมาณดังกล่าว จำนวน 317 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการศึกษาวิจัยเอดส์ และใช้ 766 ล้านเหรียญในภาพรวม พร้อมกับจะให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนถึงวิธีป้องกันภัย พร้อมกำชับว่าทุกคนตระหนักได้ แต่อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป ที่สำคัญขอให้ประชาชนอย่าทอดทิ้งเหล่าผู้ป่วยให้ต้องต่อสู้เพียงลำพัง
การออกมายืดอกพกคำพูดประกาศสงครามกับเอดส์ของเรแกน แม้จะได้รับคำชื่นชมและสร้างขวัญกำลังใจให้กับอเมริกันชนได้ระดับหนึ่ง แต่การลงมือที่ช้าเกินไป กลายมาเป็นรอยด่างพร้อยรอยใหญ่ในอาชีพการงานของเขาจนลบล้างไม่ออก และเมื่อถึงปี 1989 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเรแกน ยอดผู้ป่วยเอดส์ก็เพิ่มสูงกว่า 683,000 คน และดูท่าจะหยุดไม่อยู่
นับถึงปี 2015 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 658,992 คน ยังไม่รวมจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกซึ่งมีจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า ทุกวันนี้ สื่อมวลชนและคนในสังคมที่นำโดยชาวเกย์ ยังคงตั้งข้อสันนิษฐานว่า หากเรแกนวางนโยบายลงมือจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มหาศาลแค่ไหน และหากไม่เกิดจุดเปลี่ยนที่การตายของ ร็อค ฮัดสัน ความสูญเสียบนโลกนี้อาจทวีคูณเพิ่มขึ้นหลายเท่า
40 ปีผ่านไป หลังการระบาดของเชื้อ HIV และกลุ่มอาการเอดส์ในวงกว้าง โลกเกิดเชื้อไวรัสและโรคร้ายใหม่ ๆ อีกหลายชนิด ล่าสุดคือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) คร่าชีวิตผู้คนและส่งผลกระทบไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว หลายสื่อในสหรัฐอเมริกายกเอาความล่าช้าในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ของเรแกนกลับมานำเสนออีกครั้ง เพื่อสื่อไปถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตอนแรกมองปัญหานี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ว่า การเพิกเฉยและการตัดสินใจที่ผิดพลาด จะส่งผลเสียขนาดไหนต่อประเทศ
ช่วงแรก ทรัมป์เคยเรียกเชื้อโควิด-19 ว่า "เชื้อโรคจีน" (Chinese disease) เมื่อถูกติงว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติและจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก ทรัมป์ก็บอกว่า "ก็เชื้อโรคมาจากจีน ต้องเรียกว่าเชื้อโรคจีน" จนเมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง ทรัมป์จึงยอมถอนคำพูด (อ่าน ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้ ที่นี่)
ณ วันที่ 6 เมษายน ปี 2020 มีการยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ แล้วกว่า 336,300 คน หายแล้วราว 17,500 คน และเสียชีวิตแล้วกว่า 9,600 คน ขณะที่ถ้าย้อนไปเมื่อกลางเดือนมีนาคม ตัวเลขชาวอเมริกันที่ติดเชื้อมีไม่ต่ำกว่า 4,600 คน และเสียชีวิตราว 85 คน ทุกวันนี้ ภาคธุรกิจหลายส่วนประกาศหยุดการทำงานชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนล้มป่วย แม้ต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลก็ตาม
ความล่าช้าของทรัมป์ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ ว่า นัยหนึ่งเขาไม่ได้เรียนรู้บทเรียนความผิดพลาดของเรแกนเลย แม้ว่าเมื่อถึงเวลาที่ศัตรูบุกเข้ามาประชิดเขตแดน เขาจะมีปฏิกิริยาทันที ผลักมาตรการหลายอย่างออกมาควบคุมสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ไม่ได้รอนานหลายปีแบบเรแกน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือสิ่งที่น่าชื่นชม และรัฐบาลอเมริกันชุดนี้ควรภาคภูมิใจ
เป็นไปได้สูงว่า ไวรัสโควิด-19 จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี กรณีร้ายแรงที่สุดมันอาจอยู่คู่มนุษยชาติไปอีกนานแสนนาน แบบเดียวกับเชื้อ HIV และกลุ่มอาการเอดส์ ที่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน
ในโมงยามอันเต็มไปด้วยวิกฤต นี่คือสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะมีความสามารถพอจะนำพาคนในชาติฝ่าฟันภัยร้ายนี้ไปได้อย่างไร ได้แต่หวังว่า ท้ายสุดโลกจะผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง
ที่มา:
https://npin.cdc.gov/pages/hiv-and-aids-timeline#2015
https://lithub.com/ronald-reagan-presided-over-89343-deaths-to-aids-and-did-nothing/
https://www.bostonglobe.com/2020/03/12/opinion/another-president-another-mishandled-pandemic/
https://allthatsinteresting.com/rock-hudson-aids
https://www.pbs.org/wgbh/pages/frontline/aids/docs/amfar.html
https://www.mercurynews.com/2018/12/13/rock-hudsons-final-months-revealed-struggling-to-share-aids-diagnosis-with-lovers-the-world/
https://covid19.workpointnews.com/
https://youtu.be/58H72VgvzrY
https://youtu.be/aAe8K2blcds
เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย