From up on Poppy Hill: ความหวังและพลังหนุ่มสาวยุค “โตเกียว โอลิมปิก 1964”
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนแรกจะจัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2020 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการจัดออกไปเป็นฤดูร้อนของญี่ปุ่นในปี 2021
ยังไม่แน่ชัดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายในช่วงเวลาไหน แต่การประกาศเลื่อนเวลาการจัดโอลิมปิกที่แน่นอน ในมุมหนึ่งมันมีนัยยะของ “ความหวัง” ในฐานะภาพตัวแทนของการนำเสนอความเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ เป็นการสร้างความหวังที่ว่าช่วงเวลานั้นโลกจะดีขึ้น
ญี่ปุ่นลงทุนกับ โตเกียว โอลิมปิก 2020 ไปค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฝั่งการท่องเที่ยวของประเทศ แต่พอเจอสถานการณ์แบบนี้ การอดทนรอคอย คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของโตเกียวที่อ้าแขนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เพราะในปี 1964 โตเกียวเคยจัดกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว และนั่นคือการรีแบรนด์ให้คนรู้จักญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่ทันสมัย ล้ำวิทยาการ (ปีแรกที่หัวรถไฟด่วนอย่างชิงคันเซ็นออกวิ่ง) ช่วยลบภาพประเทศ “ตัวร้าย” ผู้แพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 2
โตเกียว โอลิมปิก 1964 จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความหวัง” ของผู้คนในดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้เช่นกัน
From up on Poppy Hill (2011) ของ สตูดิโอ จิบลิ (Studio Ghibli) คือแอนิเมชันที่ถ่ายทอดความรู้สึกของ “ความหวัง” ในพลังของคนรุ่นใหม่ (ในยุคสมัยนั้น) กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาก่อนโตเกียว โอลิมปิก 1 ปี ได้อย่างน่าสนใจ
สตูดิโอ จิบลิ เคยวิพากษ์ความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สมควรฝังลงในดินอย่าให้เกิดขึ้นอีกเลย ใน Grave of the Fireflies (1988) ที่ทำให้หลายคนน้ำตาตก แต่พอผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งนั้น (1939-1945) ไปเกือบ 20 ปี ดูเหมือนว่าเรื่องราวใน From up on Poppy Hill จะเป็นการคลี่คลายความโศกเศร้าจากสงคราม มาเป็นความหวังที่ต้องเดินหน้าต่อไป
งานนี้เป็นผลงานกำกับของ โกโร่ มิยาซากิ (ลูกชายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ตำนานนักทำแอนิเมชันที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ จิบลิ) ที่เคยกำกับเรื่องก่อนหน้านี้อย่าง Tales From Earthsea (2006) ที่กระแสตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
แต่พอมาถึง From up on Poppy Hill ดูเหมือนว่าโกโร่จะพบกับแนวทางการทำหนังที่ “ใช่” กับเรื่องราว ณ เมืองชายฝั่งทะเลอย่างโยโกฮามา ใน ค.ศ. 1963 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 ปี ก่อนที่จะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียว
***จากนี้จะเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
ตัวหนังเปิดเรื่องด้วยภาพแลนด์สเคปสวย ๆ ยามเช้าของบ้านบนเนินเขาที่มองออกไปเป็นท้องทะเล ภาพที่แสนละเมียดถูกเน้นย้ำความกลมกล่อมด้วยเพลงประกอบที่แสนไพเราะ แล้ว From up on Poppy Hill ก็ค่อย ๆ พาเข้าไปสอดส่องความเป็นไปของคนในบ้านที่กำลังช่วยกันเตรียมอาหารเช้า ภาพทั้งหมดที่ผ่านออกมาให้สายตามองเห็น ล้วนเป็นภาพที่ดูเรียบง่ายสบายตาตามสไตล์ของสตูดิโอ จิบลิ ที่ใส่ใจกับความละเอียดอ่อนในการเคลื่อนไหวของต้นไม้ใบหญ้าหรือแม้แต่คลื่นทะเลที่ดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย
ยูมิ สาวนักเรียนวัย 16 น้องนางเอกของเรื่อง คือแม่ครัวประจำบ้าน ทุกเช้าหลังจากที่เธอทำอาหารให้พี่ ๆ น้อง ๆ รับประทานแล้ว เธอจะออกมาชักธงที่อยู่หลังบ้านฝั่งที่ติดทะเล ซึ่งมีรหัสที่แปลความหมายได้ว่า “ขอให้เดินทางปลอดภัย” แล้วจึงเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมศึกษาในท้องถิ่น
ที่โรงเรียน เธอได้พบกับ ชุน หนุ่มนักกิจกรรมผู้มองเห็นธงของยูมิทุกวัน (แถมเข้าใจความหมายเสียด้วย) ชุน ชักชวนให้ยูมิมาทำหนังสือพิมพ์โรงเรียนร่วมกับตน
ในโรงเรียนแห่งนี้ เราจะได้เห็นพลังของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝันมากมาย ไม่แน่ว่าคนหลายคนในโรงเรียนนี้ซึ่งหากอยู่ในยุคนี้ก็เป็นคนในวัยบูมเมอร์ อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันก็เป็นได้
ความน่าสนใจหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ ขณะที่บรรยากาศของญี่ปุ่นกำลังทะยานไปข้างหน้า ด้วยความคึกคักของการเตรียมงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อันเป็นสัญลักษณ์ว่านานาประเทศยอมรับญี่ปุ่นแล้ว แต่พลังของคนรุ่นใหม่ในเรื่อง นอกจากจะพุ่งทะยานไปข้างหน้าแล้ว ยังเป็นพลังในการปกป้องความทรงจำเก่าก่อนที่สมควรเก็บไว้อีกด้วย
การต่อสู้ระหว่างความคิดของการทำลายของเก่า เพื่อก้าวสู้โลกสมัยใหม่แบบทิ้งอดีตไปเลย กับการรักษาไว้ซึ่งอดีตแล้วพามันไปสู่อนาคตพร้อม ๆ กัน ถูกเล่าผ่านเหตุการณ์การอภิปรายครั้งใหญ่ที่โรงเรียนโคแนน ว่าด้วยการทุบตึกเก่าแก่ที่มีชื่อว่า “Quartier Latin” ซึ่งเป็นตึกกิจกรรมของชมรมต่าง ๆ
ฝั่งเสนอให้ทุบตึก มีความเห็นว่า “พวกเราอยู่อย่างสงบมาเกือบสิบปี โอลิมปิกกำลังใกล้เข้ามา มันคือศักราชใหม่ ตอนนี้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องสร้างสังคมใหม่บนเศษซากของยุคเก่า ประชาธิปไตยแบบใหม่ ทำลาย Quartier Latin ซะ การสร้างตึกใหม่คือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ และนักเรียนต้องการมัน เราสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับอาคารใหม่ นักเรียน 80% อยากให้สร้างใหม่ ฉันว่าเราต้องยอมรับแผนของกรรมการ”
ส่วนฝั่งที่อยากให้รักษาตึกดังกล่าว ซึ่งชุนเป็นหนึ่งในแกนนำ อธิบายว่า “นายก็เหมือนคนแก่ที่บริหารประเทศนี้ ปิดหูปิดตาประชาชน ถ้าอยากทำลายอะไรก็ทำลายหัวตัวเองสิ ทำลายของเก่าเท่ากับทำลายความทรงจำในอดีต ไม่สนใจผู้คนที่อยู่และตายมาก่อนเราเหรอ ไม่มีอนาคตสำหรับคนที่บูชาแต่อนาคตแล้วลืมอดีตหรอก ประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าจะละเลยคนส่วนน้อยได้นะ”
From up on Poppy Hill ชวนให้คิดว่า ความสมดุลในการทะยานไปสู่ภาวะสมัยใหม่กับการรักษาของเก่า ดูจะเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนญี่ปุ่นที่น่าสนใจ ที่แม้ว่านี้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราก็ยังเห็นสาวญี่ปุ่นสวมกิโมโนเดินในย่านท่องเที่ยวในโตเกียวอยู่
ใช่ว่าเรื่องราวในอดีตจะมีแต่บาดแผลสงครามที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมา แต่ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศแล้วมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับตะวันตก ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จำเลยทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
แม้ว่าเนื้อเรื่องทั้งเรื่อง เราจะเห็นบรรยากาศการเตรียมการสำหรับโตเกียว โอลิมปิก 1964 น้อยมาก จะเห็นเพียงในฉากตอนที่ตัวละครหลักเดินทางมาที่โตเกียวระยะสั้น ๆ แล้วเห็นใบปิดโฆษณาประปราย แต่ From up on Poppy Hill ได้ฉายภาพคนหนุ่มสาวช่วงเวลานั้น (ที่เป็นบูมเมอร์) ในช่วงเวลานี้ ได้อย่างทรงพลัง ได้เห็นความหวัง เห็นพลังของคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พร้อมจะนำพาประเทศไปข้างหน้า ที่ความทันสมัยสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งที่มีมาก่อนได้อย่างงดงาม
คงจะต้องรอคอยกันต่อไปว่า โตเกียว โอลิมปิก 2021 ในฐานะกีฬาของมวลมนุษยชาติ ญี่ปุ่นจะนำเสนอเรื่อง “ความหวัง” ต่อชาวโลกในรูปแบบไหน
นอกจากประเด็นหลักข้างต้นแล้ว ยังมีคุณค่าหลายอย่างที่ From up on Poppy Hill ชวนให้ติดตาม อย่างเช่น มิตรภาพของพระเอกนางเอก ที่กลายเป็นปมหลักที่น่าสนใจของเรื่องที่ไม่ควรจะเปิดเผยตรงนี้ อยากให้เปิด Netflix ลองชมกันดู
ถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแสนอบอุ่น เรียบง่าย ชวนให้คิด ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง...