ในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก สถานการณ์เข้าขั้นสาหัสเมื่อจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกกลับขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับรับมือโรคร้ายนี้ บางประเทศหมอและพยาบาลต้องทำหน้ากากผ้าใช้แทนหน้ากากอนามัย เอาแผ่นพลาสติกใสมาทำเฟซชีลด์กันสารคัดหลั่ง และเอาเสื้อกันฝนมาทำชุด PPE ขึ้นมาใช้แทนชุดที่ควรมีแต่กลับไม่มี
ความพยายามดัดแปลงอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ ชวนให้นึกถึง Dr.DMAT ซีรีส์แนวการแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่มีหน้าที่รักษาผู้คนยามเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ที่หลายครั้งพบว่าอุปกรณ์บางอย่างอาจใช้ในสถานการณ์นั้น ๆ ไม่ได้ หมอจึงจำเป็นต้องเอาสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์เพื่อรักษาคนไข้ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะหน้าที่ของแพทย์คือการรักษาคนไข้ ต่อให้อุปกรณ์ไม่พร้อม แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างให้หมอปฏิเสธการช่วยเหลือใคร
Dr.DMAT ดัดแปลงจากมังงะ Dr. DMAT-Gareki no Shita no Hippocrates ผลงานการเชียนและวาดของ ฮิโรชิ ทาคาโนะ และ อะกิโอะ คิคุจิ ตีพิมพ์กับ Jump Comics ตอนแรกปลายปี 2010 และสิ้นสุดตอนสุดท้ายเมื่อปี 2016 เวอร์ชันหนังสือการ์ตูนได้รับเสียงชื่นชอบไม่น้อย หลังตีพิมพ์ไม่นานจึงได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์ออกอากาศในปี 2014
ทั้งตัวมังงะและซีรีส์ เล่าเรื่องของ ยาคุโมะ ฮิบิกิ (รับบทโดย ทาดาโยชิ โอคุระ ไอดอลวง Kanjani∞) นายแพทย์ผู้สามารถวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้ได้เพียงแค่เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เขามีหน่วยก้านดีสามารถเติบโตกลายเป็นหมอที่เก่งกาจในอนาคต แต่ตอนที่คนดูพบเขาครั้งแรก เขาอยู่ในสภาวะซังกะตาย เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติหน้าที่ในห้องฉุกเฉิน และต้องเลือกว่าจะช่วยชีวิตใคร ระหว่างผู้ป่วยคนหนึ่งที่อาการวิกฤต กับ ฮารุโกะ น้องสาวของเขาเองที่อาการสาหัสไม่แพ้กัน
ปรากฏว่า ฮิบิกิตัดสินใจรักษาคนไข้อีกคน (ตามคำขอของน้องสาว) แม้จะช่วยให้คนไข้คนนั้นรอด แต่ก็แลกกับการที่ฮารุโกะต้องนอนเป็นผักไม่มีทางตื่นขึ้นมา เขาจึงหลีกเลี่ยงการรักษาคนไข้ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพราะกลัวว่าการตัดสินใจของเขาจะนำมาซึ่งผลร้ายอีกครั้ง
แต่แล้ววันหนึ่ง ฮิบิกิได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน Disaster Medical Assistance Team หรือ DMAT หน่วยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับการรักษาผู้ประสบหายนะภัยจำนวนมาก มีเป้าหมายคือถ้ารักษาผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้เร็วแค่ไหน โอกาสที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลงก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ฮิบิกิเข้าร่วมหน่วยอย่างไม่เต็มใจ แค่วันแรกก็เจองานใหญ่ทันที เมื่อต้องรักษาคนที่ประสบอุบัติเหตุรถชนครั้งใหญ่ในอุโมงค์ เขาหายใจแทบไม่ทัน สั่นสะท้านไปทั้งตัว สถานการณ์บีบคั้นวนกลับมาหาเขาอีกครั้งว่าจะช่วยชีวิตคนไข้ที่อาการหนักพอกันคนไหนกันแน่ และหากเลือกผิด ก็หมายความว่าผู้ป่วยอีกคนอาจไม่รอด
แม้วันแรกจะหนักหนาสาหัส แต่ฮิบิกิข้ามผ่านมันมาได้อย่างหวุดหวิด ถึงกระนั้นเขาก็ยังปรับตัวเข้ากับหน่วยไม่ได้ เขาโดนด่าโดนแซะว่าเป็นแบมบี้ หรือกวางน้อยที่ไม่ประสีประสาจนอยากลาออกทุกวันให้รู้แล้วรู้รอดไปเสีย แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงเพื่อนสนิทจะผลัดกันมาเตือนสติเขาอยู่เสมอให้ตระหนักว่า หน้าที่ของคนเป็นหมอคืออะไรกันแน่
ทีละน้อย ๆ ไฟที่เคยมอดก็ลุกโชนอีกครั้ง เขาเลิกถอยหนีอุปสรรคตรงหน้า เพราะตาสว่างแล้วว่าในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย "คนที่พึ่งพาได้ในที่เกิดเหตุ มีแต่คุณที่เป็นหมอเท่านั้น"
นับแต่นั้น ฮิบิกิจึงมุ่งมั่นช่วยเหลือทุกชีวิตเต็มที่ เขาไม่อยากให้ใครต้องตายอีกแล้วแม้กระทั่งชีวิตเดียว แม้บ่อยครั้งเขาจะไม่สามารถช่วยคนไข้จำนวนมากได้อย่างที่ปฏิญาณไว้ หากเทียบกันแล้ว ความเก่งกาจของเขาดูจะห่างไกลจากหมอ ไดมอน มิจิโกะ แห่งซีรีส์ Doctor-X ผู้ไม่เคยพลาด แต่อย่างน้อยการช่วยใครสักคนไว้ได้ ก็ยังดีกว่าช่วยใครไม่ได้เลย
[caption id="attachment_21915" align="aligncenter" width="640"]
ภาพ:
https://ic.pics.livejournal.com/dmat_drama_mod/68219230/28844/28844_original.jpg[/caption]
ยิ่งใช้เวลาอยู่หน่วย DMAT นานขึ้น เขายิ่งเผยให้เห็นว่าตัวเองมีสิ่งที่หมอจำนวนมากไม่มี นั่นคือความสามารถในการประยุกต์และดัดแปลงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้ในสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างฉับไว
ในเหตุภัยพิบัติ จำนวนผู้ป่วยย่อมมากกว่าแพทย์และพยาบาล บางครั้งภัยร้ายยังเกิดในพื้นที่ซึ่งยากต่อการรักษาคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นใต้ซากปรักหักพัง ในตึกร้างที่อาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ทุกเมื่อ หรือแม้กระทั่งในสวนสนุก เป็นต้น เมื่อหมอไม่พอ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรักษาผู้คนก็ไม่เพียงพอเช่นกัน หรือบางครั้งต่อให้เตรียมพร้อมแค่ไหน ก็อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนทำให้ไม่สามารถใช้งานได้
และนั่นทำให้ฮิบิกิแตกต่างจากหมอคนอื่น เขามักเอาอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือแต่ละอย่างมาดัดแปลงเพื่อต่ออายุคนไข้ ทั้งการเอาเครื่องช่วยหายใจชนิดบีบ มาปรับให้สามารถแทงเข้าไปตรงหลอดลมของคนที่หายใจติดขัด เพื่อช่วยให้คนไข้หายใจได้สะดวกขึ้น หรือเอาเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูงขนาดเล็กมาตรวจม่านตาผู้ป่วย เพื่อเช็คว่ามีน้ำคั่งอันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสมองฟกช้ำหรือไม่ ทดแทนการขาดเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สำหรับตรวจสมองโดยตรง และอื่น ๆ อีกมากมาย ราวกับเป็น แมคไกเวอร์ จาก MacGyver ยอดคนสมองเพชร ที่หยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นอาวุธใช้ต่อสู้กับศัตรู ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
ทักษะดังกล่าวโดดเด่นถึงขั้นที่หมอมากความสามารถกว่าเขายังต้องซูฮก จริงอยู่ว่าหมอย่อมมีฝีมือ แต่ไม่ได้หมายความว่าหมอทุกคนจะสามารถรักษาคนไข้ในพื้นที่ประสบภัยได้ดีเสมอไป เพราะมันมาพร้อมกับความกดดันหลายอย่างที่ต่างจากการผ่าตัดคนไข้ในโรงพยาบาลโดยสิ้นเชิง
หนึ่งในตัวละครที่มีความสำคัญของเรื่อง อย่างนางพยาบาล ฮาเซกาวา คุมิโกะ (รับบทโดย อาโซ ยูมิ) เคยพูดไว้ตั้งแต่ตอนแรก ๆ ว่า หมอที่ต้องรักษาคนไข้ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ต่างอะไรจากเชฟในภัตตาคารระดับโลก คนเหล่านี้อาจคุ้นเคยกับการทำอาหารวัตถุดิบดี ๆ ทำอาหารชั้นสูงรสเลิศ แต่ถ้าเกิดต้องทำอาหารโดยปราศจากวัตถุดิบชั้นยอด ไม่ได้หมายความว่าเชฟชื่อดังทุกคนจะทำอาหารออกมาได้อร่อย และเผลอ ๆ รสชาติที่ออกมา อาจอร่อยสู้อาหารของคนเป็นแม่บ้านไม่ได้ด้วยซ้ำ
ความสนุกของ Dr.DMAT คือการตามดูพัฒนาการของฮิบิกิว่าจะเติบโตกลายมาเป็นหมอที่เก่งกาจได้หรือไม่ เขาจะดัดแปลงอุปกรณ์การแพทย์มาช่วยต่อชีวิตคนไข้ได้อย่างไร แต่อีกด้าน Dr.DMAT ก็มาพร้อมความโหดร้าย ไม่เพียงแค่ฮิบิกิที่โดนขยี้ดราม่าใส่แบบไม่ยั้งมือ ซีรีส์ยังไม่อ่อนโยนกับตัวละครหน้าไหนทั้งนั้น โดยเฉพาะเหยื่อหายนะภัยทั้งหลาย
แต่ละตอนก่อนจะเกิดเหตุสะเทือนขวัญ คนดูจะได้เห็นตัวละครผู้ประสบภัยใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับคนรอบข้าง ก่อนจะมีตัวหนังสือขึ้นบอกว่าเหลือเวลาเท่าไหร่ก่อนภัยจะมาถึงตัว นั่นหมายความว่าคนดูรู้ก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่กลับช่วยเหลืออะไรไม่ได้แม้กระทั่งเตือนภัย สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่หวังว่าบรรดาหมอหน่วย DMAT จะช่วยเหลือพวกเขาให้แคล้วคลาด ซึ่งหลายครั้งไม่ได้ง่ายดายเพียงนั้น
เวลาดู Dr.DMAT เมื่อเห็นฮิบิกิดัดแปลงสิ่งของต่าง ๆ มารักษาคนไข้จนพ้นขีดอันตราย ต่อให้จะรักษายากเพียงใด คนดูจะรู้สึกโล่งอกไม่แพ้ตัวละคร แต่ถ้าครั้งไหนที่มีคนตาย คนดูก็จะรู้สึกจมดิ่งอยู่ในความมืดมิดไม่แพ้ตัวละครเช่นกัน
นอกจากนี้ ใครที่เคยแคล้วคลาดจากภัยร้ายเมื่อครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชได้ทุกครั้ง และถ้าตัวละครตัวนั้นดันเป็นคนที่ฮิบิกิและคนดูผูกพัน แม้เขาจะพยายามแค่ไหน จะพลิกแพลงกลยุทธ์อย่างไรก็ไม่อาจช่วยชีวิตไว้ได้ เมื่อนั้นแผลจากความเจ็บปวดจะยิ่งทวีคูณหลายเท่าตัว
ในชีวิตจริง ทุกวันนี้ไม่มีเรื่องใดจะมาแรงเท่ากับโรคโควิด-19 ทุกคนต่างร้าวรานเวลาเห็นยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ๆ ทุกวัน แถมบ่อยครั้งยังมีข่าวอื่นมาทำให้หน่วงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อหมอผู้ถูกใครต่อใครเรียกว่า “นักรบเสื้อกาวน์” เป็นทัพหน้าของมนุษยชาติในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส กลับขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับต่อกรกับศัตรู แถมยังต้องสร้างอาวุธขึ้นมาเอง โดยที่ของเหล่านั้นไม่สามารถปกป้องพวกเขาจากเชื้อร้ายได้อย่างเต็มที่ จนบุคลากรทางการแพทย์หลายรายต้องติดเชื้อโควิด-19 และหลายรายถึงขั้นเสียชีวิต
ความน่ากลัวของโควิด-19 คือของจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง หากสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์มากเท่าไหร่ หมายความว่าโอกาสที่ผู้คนจะได้รับอันตรายจากเชื้อไวรัสนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่สายเกินไปที่จะลดทอนความเสี่ยง และช่วยเหลือให้ทุก ๆ คนแคล้วคลาดจากโรคภัย ขอแค่เพียงจัดหาอุปกรณ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ ก็ช่วยแนวหน้าของสนามรบครั้งนี้ได้มากแล้ว
ในบางสถานการณ์ ไหวพริบปฏิภาณในการด้นสดของหมอคือความน่าทึ่งน่าชื่นชม แต่ในบางสถานการณ์ ถ้าไม่ปล่อยให้พวกเขาต้องดิ้นรนด้วยวิธีนอกตำรา เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความอันตราย ก็น่าจะถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย