09 มี.ค. 2564 | 11:29 น.
ภาพจาก ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment (2015)
สู่กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ทันทีที่เริ่มการทดลอง ทั้งนักโทษและผู้คุมต่างสวมบทที่ตัวเองได้รับอย่างรวดเร็วและง่ายดาย... 02.30 น. มีเสียงนกหวีดดังขึ้น ผู้คุมปลุกนักโทษขึ้นมาโดยไม่มีเหตุจำเป็น ก่อนจะเริ่มคุกคามด้วยคำพูดเชิงดูถูก ล้อเลียน และออกคำสั่งที่ดูไม่สมเหตุสมผล อย่างการวิดพื้น แล้วให้ผู้คุมคนหนึ่งเหยียบลงบนหลังของนักโทษ หรือให้นักโทษคนอื่นนั่งบนหลังของเพื่อนขณะที่พวกเขากำลังวิดพื้น 36 ชั่วโมงต่อมา ความตึงเครียดและความกดดันทางอารมณ์ค่อย ๆ ปะทุขึ้นจนเกิดการจลาจลในห้องขัง เหล่านักโทษเริ่มถอดถุงน่องคลุมหัว ฉีกหมายเลขบนเสื้อ และขังตัวเองไว้ในห้องโดยนำเตียงมาขวางประตูไว้ ฝ่ายผู้คุมตอบโต้กลับไปพร้อมบังคับให้นักโทษออกมาจากประตู ทันทีที่ก้าวเข้าไปในห้องขัง พวกเขาเปลื้องผ้านักโทษอีกครั้ง พร้อมกับเอาเตียงออกไปจากห้อง ชายคนหนึ่งที่รับบทเป็นผู้คุมให้สัมภาษณ์หลังการทดลองว่า “... ระหว่างการตรวจสอบผมไปที่ห้องขัง เพื่อจัดการเตียงที่นักโทษทำพัง เขากรีดร้องโวยวายและจับคอผม แม้เขาจะหัวเราะ แต่ผมก็ค่อนข้างกลัว เลยใช้ไม้ฟาดเข้าที่คางของเขา” เมื่อการจลาจลในคุกเริ่มอยู่ในการควบคุมของเหล่าผู้คุมในเรือนจำ พวกเขานำหัวโจกของนักโทษไปขังเดี่ยว ส่วนนักโทษสามคนที่ข้องเกี่ยวกับการจลาจลครั้งนี้น้อยที่สุดได้รับเครื่องแบบและเตียงนอนคืน อนุญาตให้สระผม แปรงฟัน และรับประทานอาหารมื้อพิเศษต่อหน้านักโทษอีกกลุ่มหนึ่งที่สูญเสียสิทธิในเรื่องนี้ไป ซึ่งผลพวงจากเหตุการณ์นี้ คือการทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่านักโทษภาพจาก ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment (2015)
ไม่กี่วันผ่านไป ผู้คุมทุกคนต่างก็เริ่มคุกคามและข่มขู่นักโทษมากขึ้น พวกเขารู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่นักโทษกลับยอมจำนน ทั้งยังพยายามหาวิธีทำให้ผู้คุมพอใจ ยิ่งกระตุ้นให้ความก้าวร้าวและความกล้าแสดงอำนาจของผู้คุมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเพิ่มระดับการคุกคามขึ้นไปอีกขั้น อย่างการบังคับให้นักโทษเปลืองผ้า ทำความสะอาดชักโครกด้วยมือเปล่า และการคุกคามทางเพศ ทำให้มีนักโทษบางคนเริ่มทนไม่ไหว นักโทษหมายเลข #8612 เริ่มทุกข์ทรมานจากความแปรปรวนทางอารมณ์อย่างเฉียบพลัน ความโกรธของเขาท่วมท้นจนเต็มอก เขาร้องไห้ชนิดที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนนักจิตวิทยาต้องปล่อยเขาออกไปจากคุกจำลองนี้ก่อนกำหนด ส่วนนักโทษหมายเลข #819 เขาร้องไห้อย่างบ้าคลั่งแต่ไม่กล้าออกไปจากคุกนี้ เพราะกลัวนักโทษคนอื่น ๆ จะตราหน้าเขาว่าเป็นนักโทษที่ไม่ดี ทำให้สถานการณ์ในห้องขังวุ่นวายและทำให้เพื่อนนักโทษเดือดร้อน จนซิมบาร์โดต้องประกาศว่า “ฟังนะคุณไม่ใช่ #819 คุณคือ (ชื่อแท้จริงของเขา) และผมคือดอกเตอร์ซิมบาร์โด เป็นนักจิตวิทยา ไม่ใช่ผู้คุม และที่นี่ไม่ใช่เรือนจำจริง เป็นเพียงการทดลอง และพวกเขาคือนักศึกษา ไม่ใช่นักโทษเหมือนกันกับคุณ ออกมาข้างนอกเถอะครับ” โชคดีที่ประโยคนี้ช่วยปลอบโยนให้ชายหนุ่มสงบลง แล้วยอมคืนสู่โลกความเป็นจริงได้ในที่สุด สิ้นสุดการทดลอง หากฮีโรในชีวิตจริง ไม่ใช่คนที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แต่เป็นคนที่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ฮีโรในการทดลองนี้คงเป็นหญิงสาวที่ชื่อว่า ‘คริสตินา มาสแลช’ (Christina Maslach) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในช่วงเวลาที่ซิมบาร์โดไม่รู้ตัวและไม่แยแสว่าสถานการณ์เหล่านี้เริ่มอยู่เหนือการควบคุม แม้แต่ตัวเขาเองยังรู้สึกร่วมไปด้วยว่าเขาเป็นผู้คุมเรือนจำมากกว่านักจิตวิทยาที่กำลังทำการวิจัย ส่วนคนนอกมากกว่า 50 คนที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้กลับนิ่งเฉย ยกเว้น คริสตินา มาสแลช เธอเป็นคนเดียวที่ตั้งคำถามถึงศีลธรรมของการทดลอง และคัดค้านอย่างหนักเมื่อเห็นนักโทษถูกเหล่าผู้คุมทารุณกรรม “คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่คุณทำกับเด็กพวกนั้นมันแย่มาก พวกเขาไม่ใช่นักโทษหรือผู้คุม พวกเขาเป็นแค่เด็กผู้ชายธรรมดาและคุณต้องรับผิดชอบ” คำพูดนี้คล้ายจะดึงสติของซิมบาร์โดกลับมา เขาจึงยุติการทดลองในวันรุ่งขึ้น ก่อนเหตุการณ์จะถลำลึกมากไปกว่าเดิม ซึ่งการทดลองนี้สิ้นสุดลงเพียง 6 วัน จากกำหนดการเดิมคือ 14 วัน (และหนึ่งปีถัดมา ซิมบาร์โดก็แต่งงานกับฮีโรสาวคนนี้) เมื่อการทดลองสิ้นสุดและเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ เด็กหนุ่มที่รับบทเป็นผู้คุมหลายคนบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองมีด้านนี้อยู่ในตัว ส่วนผู้รับบทเป็นนักโทษก็ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองจะยอมจำนนและควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทั้งยังบอกว่าการทดลองครั้งนี้เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างน่าตกใจ หนึ่งในหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ราวกับเป็นเรื่องจริง คือการสนทนาส่วนตัวของเหล่านักโทษ พวกเขาใช้เวลากว่า 90% พูดถึงสถานการณ์ในห้องขัง และใช้เวลาเพียง 10% เท่านั้น เพื่อสนทนาเกี่ยวกับชีวิตนอกเรือนจำ เพราะสถานการณ์ส่งผลต่อพฤติกรรม ซิมบาร์โดกล่าวว่า ‘สภาพแวดล้อมของเรือนจำ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมอันโหดร้ายของผู้คุม เพราะการทดสอบอย่างเข้มงวดก่อนการทดลอง ไม่มีผู้คุมคนใดที่แสดงอาการซาดิสม์หรือรุนแรงก่อนหน้านี้ ส่วน ดร.ซาอูล แมคลีออด (Dr.Saul McLeod) ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ในเว็บไซต์ Simply Psychology ว่าพฤติกรรมของ ‘นักโทษ’ และ ‘ผู้คุม’ เกิดจาก 2 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ ‘การลดทอนตัวตน’ (Deindividuation) ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกถึงตัวตนแท้จริงของตัวเองน้อยลง ทั้งจากการเรียกชื่อนักโทษด้วยหมายเลขแทนชื่อจริง การสวมเครื่องแบบเดียวกัน แม้แต่แว่นตากันแดดของผู้คุมก็ช่วยปกปิดตัวตนของพวกเขาได้ ซึ่งการลดทอนตัวตนแท้จริงนี้ทำให้ความรู้สึก ‘รับผิดชอบส่วนบุคคล’ ลดน้อยลงไปด้วย เหล่าผู้คุมอาจจะไม่ได้เป็นคนชอบความรุนแรงมาตั้งแต่ต้น แต่พวกเขากำลังรู้สึกว่า ความรุนแรงเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม (ผู้คุม) เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของเขาและไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเป็นฝีมือใคร พวกเขาจึงกล้าทำเรื่องเลวร้าย เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะไม่ถูกจับผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งซิมบาร์โดเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า พลังของการไม่เปิดเผยตัวตน (power of anonymity) สาเหตุต่อมา คือ ‘ภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้’ (learned helplessness) ลองนึกภาพช้างน้อยที่โดนเชือกผูกขาไว้ไม่ให้ขยับไปไหนได้ ช่วงแรก ๆ เจ้าช้างจะพยายามดิ้นให้หลุดจากเชือก แต่เมื่อความพยายามไม่เป็นผล ช้างตัวน้อยจะรู้สึกสิ้นหวัง แม้วันที่ตัวโตพอจะทำให้เชือกขาดได้ มันก็จะยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน เพราะเคยเรียนรู้ว่าการดิ้นรนก่อนหน้านั้นไม่ได้ช่วยอะไร เช่นเดียวกับเหล่าผู้คุมที่เผชิญกับภาวะเดียวกัน เมื่อการจลาจลในคุกไม่เป็นผล และต้องเผชิญกับการตัดสินใจอันไม่อาจคาดเดาได้ของผู้คุมว่าจะลงโทษรุนแรงแค่ไหน นั่นทำให้นักโทษเริ่มยอมจำนนต่อสถานการณ์นั่นเอง คำวิจารณ์จริยธรรมการทดลอง การทดลองของซิมบาร์โดเป็นที่เลื่องลือกันทั้งในวงการจิตวิทยาและกลุ่มคนทั่วไปจนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ส่วนเจมส์ สเลซิงเจอร์ (James Schlesinger) ยังกล่าวถึงการทดลองนี้ว่าเป็นการศึกษาที่สำคัญของสแตนฟอร์ด และเป็นเรื่องเตือนใจสำหรับปฏิบัติการทางทหารทั้งหมด ขณะเดียวกัน การทดลองของซิมบาร์โดก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นจริยธรรมอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การบุกไปจับกุมชายที่รับบทเป็นนักโทษ โดยไม่ได้แจ้งและขอความยินยอมล่วงหน้า รวมทั้งความรุนแรงเกินคาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้และสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมการทดลองที่อาจเกิดบาดแผลฝังใจ ความอับอาย และความทุกข์ใจในระยะยาว นอกจากนี้ การทดลองดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางอย่างเพราะเป็นเพียง ‘การจำลองสถานการณ์’ อีกทั้งยังเป็นการทดลองกับผู้เข้าร่วมที่เป็นชายหนุ่มชาวอเมริกันทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถนำไปปรับใช้กับเรือนจำหญิงหรือเรือนจำในประเทศอื่น ๆ ได้ แต่ก็พอจะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพ ‘แนวโน้ม’ ของพฤติกรรมมนุษย์เมื่อถูกหยิบยื่นอำนาจมาให้ แม้เรื่องราวทั้งหมดจะฟังดูโหดร้าย แต่อีกมุมหนึ่งก็ได้จุดประกายความหวังเล็ก ๆ ว่าหากมนุษย์สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความชั่วร้ายได้ นั่นหมายความว่ามนุษย์ก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความดีงามได้เช่นเดียวกัน ที่มา https://www.prisonexp.org/the-story https://www.ted.com/talks/philip_zimbardo_the_psychology_of_evil/transcript#t-108929 https://www.simplypsychology.org/zimbardo.html https://www.verywellmind.com/philip-zimbardo-biography-2795529