นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กับความทรงจำเพลง หนักแผ่นดิน เพลงปลุกใจ ยุค 6 ตุลา

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กับความทรงจำเพลง หนักแผ่นดิน เพลงปลุกใจ ยุค 6 ตุลา

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เล่าความทรงจำของเพลง หนักแผ่นดิน เพลงปลุกใจ ยุค 6 ตุลา เมื่อ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ บอกพรรคการเมืองที่เสนอตัดงบกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร “ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน” โดยมีเสียงสนับสนุนดังสนั่นจากบรรดาคนดีตกขอบเจ้าเก่า

หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมเรานี้ บางครั้งก็ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่ากำลังนอนหลับฝันหรือมีอาการสมองเสื่อม หลงลืมวันเวลา เพ้อไปเองว่าอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 และอายุเลยหลัก 6 ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และอายุยังไม่ถึง 20

โลกเปลี่ยนไป ประเทศไทยไม่เปลี่ยนเลย

แปลกใจพร้อมๆ กับไม่แปลกใจเมื่อได้ยินข่าวผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 ของไทย และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ บอกพรรคการเมืองที่เสนอตัดงบกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร “ ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน” โดยมีเสียงสนับสนุนดังสนั่นจากบรรดาคนดีตกขอบเจ้าเก่า

ที่แปลกใจเพราะนึกไม่ถึงว่า “หนักแผ่นดิน” เพลงดังครั้งอดีตในยุครัฐสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยคนสั่งฆ่าและคนฆ่ายังลอยนวล จะกลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 40 ปี

ที่ไม่แปลกใจเพราะเค้าลางใส่ร้ายฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมว่าชั่วร้ายมุ่งทำลายสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนถึงกล่าวหาแบ่งคนไทยเป็นฝ่ายรัก-ปกป้องเจ้ากับฝ่ายท้าทายเจ้า ทยอยออกมาให้เห็นสักพักหนึ่งแล้ว ผ่านบทสนทนา แวดวงโซเชียลมีเดีย ข้อเขียน และกระทั่งบทสัมภาษณ์ของฝ่าย “คนดีตกขอบ”

การกลับมาของเพลง “หนักแผ่นดิน” จึงเป็นเรื่องธรรมดา แม้จะเชยและเสียสติอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้เขียนรู้จักเพลงนี้ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2518 ขณะเป็นนักศึกษาปี 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นสมาชิกวงดนตรีนักศึกษา “ต้นกล้า” ของขบวนการนักศึกษาประชาชนซึ่งใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

เวลานั้น เหตุการณ์ทางการเมืองกำลังเข้มข้น เพราะหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่แม้ผู้นำรัฐบาลเผด็จการได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งและหนีออกนอกประเทศชั่วคราว ขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ของเครือข่ายอำนาจเก่า กลับยิ่งเติบโตเพื่อต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หลังจาก พ.ศ. 2516 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัยในประเทศเพื่อนบ้านคือลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนในประเทศ นักศึกษาประชาชนจำนวนมากกำลังตื่นตัวใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่ดีงามสำหรับทุกคน โดยมีแนวคิดสังคมนิยมเข้ามาเสริมแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งแทนที่ฝ่ายรัฐไทยจะพยายามเข้าใจความต้องการของฝ่ายประชาชนที่ทุกข์ยากและถูกกดขี่เหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่รัฐมายาวนาน แล้วหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ กลับทำงานง่ายๆ ด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม

ในห้วงเวลาดังกล่าว ไม่เพียงมีข่าวฆ่าผู้นำกรรมกรและผู้นำชาวนารายวัน แต่ยังมีการลอบฆ่าอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ลอบฆ่านักศึกษาเช่น นายแสง รุ่งนิรันดรกุล ลอบฆ่านักหนังสือพิมพ์เช่น นายนิสิต จิรโสภณ เป็นต้น

รวมถึงการข่มขู่นักศึกษาที่ทำกิจกรรมเป็นรายบุคคลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น กรณีของผู้เขียน จะมีชายแปลกหน้าเดินตามกลับบ้านให้รู้ตัวเป็นพักๆ ไม่ใช่ตามแบบหนุ่มตามสาว แต่เป็นตามให้รู้ตัวว่า “ระวังตัวไว้นะ”

ยิ่งไปกว่านั้น คือ “สงครามโฆษณาชวนเชื่อ” เพื่อทำลายภาพลักษณ์ขบวนการนักศึกษาประชาชนและปลุกระดมสร้างความเกลียดชังนักศึกษาประชาชน เช่น กล่าวหาผ่านสื่อต่างๆ ว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มีการ “นอนสามัคคี” ของนักศึกษาชายหญิงแบบคอมมิวนิสต์ มีการฝึกอาวุธที่ฮานอย ซึ่งเป็นเรื่องมโนอย่างเหลือเชื่อ บ้างก็ว่า นักศึกษาประชาชนที่เคลื่อนไหวเป็นญวน เป็นแกว รับเงินคอมมิวนิสต์มาทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เวลานั้น นักศึกษาจำนวนมากยังไม่ได้คิดเรื่องหนีภัยรัฐเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เลยด้วยซ้ำ และแม้มีผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ก็มิใช่เหตุที่จะอ้างว่าจึงจำเป็นต้องสังหารผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์อย่างทารุณ

การปลุกระดมนี้ กระทำต่อเนื่องทุกวันผ่านรายการวิทยุยานเกราะและเครือข่าย และวันหนึ่งในพ.ศ. 2518 ผู้เขียนก็ได้ยินเพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งเขียนคำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ผู้ขับร้องคือ ส.อ.อุบล คงสิน, ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ สันติ ลุนเผ่

จำได้ว่า เพลงออกอากาศอยู่ไม่กี่วัน ก็มีทหารมาตั้งเวทีการแสดงที่สนามหลวงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติต่างๆ โดยเฉพาะเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งร้องวนซ้ำซากหลายรอบ พวกเรานักศึกษานั่งฟังเนื้อเพลงแล้วหันมามองหน้ากัน บอกว่า เอ๊ะ เนื้อเพลงนี้มันไม่ได้ด่าเรานี่นา มันด่าเผด็จการทหารชนชั้นปกครองชัดๆ ดังนั้น พวกเราจงซ้อมเพลงนี้ แล้วออกไปตั้งเวทีประจันหน้า ร้องให้เผด็จการฟังดีกว่า

เป็นที่มาของเวทีโต้เพลง “หนักแผ่นดิน” ระหว่างฝ่ายทหารและขบวนการนักศึกษาประชาชนประมาณว่า ฝั่งทหารร้องจบ นักศึกษาก็ขึ้นเพลงต่อ โต้กันไปมาสักสี่ห้ารอบ จึงต่างฝ่ายต่างเก็บเวที และดูเหมือนฝ่ายทหารจะไม่กลับมาตั้งเวทีแบบนั้นอีกเลย อาจ “เจ็บคอ” จึงใช้วิธีเปิดเพลงกรอกหูคนฟังผ่านสถานีวิทยุเครือข่ายยานเกราะจนวันสุดท้ายก่อนการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519

เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า “ตอนผมเป็นเด็กประถมอยู่ต่างจังหวัด ครูสั่งให้พวกเราร้องเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ หน้าเสาธงทุกวัน ผมชอบมากเพราะจังหวะมันเร้าใจ โดยเฉพาะตอนกระแทกเสียงว่า ‘หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน’ ตอนนั้น ผมนึกว่าพวกพี่นะ เลวมาก ต้องกระทืบให้ตายไปเลย แต่เดี๋ยวนี้ ผมพบว่า หนักแผ่นดินไม่ใช่พวกพี่ แต่เป็นพวกที่ใช้เพลงนี้มาใส่ร้ายคนอื่นมากกว่า”

“หนักแผ่นดิน” ควรเป็นอดีตที่ทิ้งเพียงร่องรอยไว้ในความทรงจำ แต่เพราะโลกเปลี่ยนไป ประเทศไทยไม่เปลี่ยนเลย จึงยังมีผู้ต้องการชุบชีวิตปีศาจกระหายเลือดตัวเดิมให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่ฉากสังหารหมู่กลางเมืองอีกครั้ง