My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี

My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl (2001) / ช่วงปลายปี 1990 ภาพยนตร์และซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ได้เริ่มจุดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ (Korean Wave) ขึ้นทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงหลายแขนง รวมไปถึงภาพยนตร์และซีรีส์ที่นำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของชาวเกาหลีได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์และรายได้ให้กับประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างมหาศาลตลอดมา ในช่วงปี 2000 มีภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีคุณภาพมากมายหลั่งไหลเข้าฉายบนจอเงินและจอแก้วของไทย ไม่ว่าจะเป็น ‘Autumn in My Heart - รักนี้ชั่วนิรันดร์’ (2000) ‘Il Mare - ลิขิตรัก ข้ามเวลา’ (2000) ‘Winter Sonata - เพลงรักในสายลมหนาว’ (2002) ‘Jewel in the Palace - แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ (2003) ‘Full House - สะดุดรักที่พักใจ’ (2004) หรือ ‘Princess Hours - เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา’ (2006) แต่สำหรับภาพยนตร์โรแมนติก - ดราม่าที่ดังเป็นพลุแตกอีกหนึ่งเรื่อง ชนิดที่ว่าไม่ใส่ชื่อลงไปในลิสต์ข้างต้นไม่ได้ ทั้งยังส่งให้นักแสดงนำหญิงของเรื่องกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘รักแรกแห่งชาติ’ ของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง ‘My Sassy Girl - ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม’ (2001) กำกับโดย ควัก แจ-ยง (Kwak Jae-yong) นำแสดงโดย ‘จอน จี-ฮยอน’ (Jun Ji-hyun) และ ‘ชา แท-ฮยอน’ (Cha Tae-hyun)  My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี My Sassy Girl ถือเป็นภาพยนตร์ที่นำพาชื่อเสียงและความสำเร็จมาให้แก่จอน จี-ฮยอนอย่างล้นหลามหลังจากที่เธอเคยรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Il Mare จอน จี-ฮยอนโด่งดังไปทั่วโลกผ่านบทบาท ‘ยัยตัวร้าย’ ซึ่งหลังจาก My Sassy Girl ออกฉาย ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เธอเล่นก็จะมีคำว่ายัยตัวร้ายตามหลังเสมอ เรียกได้ว่านอกจากคนดูจะรู้สึกแปลกใหม่กับบทบาทของทั้งสอง เคมีที่เข้ากันของจอน จี-ฮยอน และชา แท-ฮยอนยังทำให้คนดูต้องลุ้นตาม และเอาใจช่วยชา แท-ฮยอนตลอดทั้งเรื่อง ผลตอบรับและแรงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากผู้ชม My Sassy Girl ส่งผลให้ตั๋วถูกขายไปถึง 4,852,845 ใบ ทั้งยังได้ฉายในโรงภาพยนตร์ยาวนาน 10 สัปดาห์ ทำรายได้ Box Office ไปกว่า 32 ล้านเหรียญ และติดอันดับ 2 ของภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2001 ของประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ My Sassy Girl ยังถูกส่งต่อไปถึงต่างประเทศทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ตามมาด้วยภาพยนตร์รีเมคอีกหลายเวอร์ชัน ความดีงามของภาพยนตร์รอมคอมเรื่องนี้ไม่ได้อยู่แค่พล็อตเรื่องและตัวบทที่ส่งให้ ‘ยัยตัวร้าย’ และ ‘คยอนอู’ กลายเป็นคู่ที่คนดูอยากจะลุ้นความสัมพันธ์ แต่การสลับบทบาทของผู้หญิงในสังคมเกาหลีที่มักจะต้องอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายยังทำให้ My Sassy Girl กลายเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายที่มีเสน่ห์ และถูกใจคนดูเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ในฐานะภาพยนตร์โรแมนติก คยอนอูคงจะเป็นคนรักในอุดมคติของใครหลายคนที่ทั้งใจดี จริงใจ เอาใจใส่ และอ่อนโยน ส่วนยัยตัวร้าย (เนื่องจากไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการปรากฏในภาพยนตร์ ภายในบทความนี้จึงขอเรียกเธอว่า ยัยตัวร้าย ตามชื่อภาพยนตร์ภาษาไทย) เธอคือหญิงสาวที่หลุดออกจากกรอบและขนบเดิมของเกาหลีอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนอึ้ง ทึ่ง และตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจังไม่ต่างจากคยอนอู My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม My Sassy Girl ดัดแปลงมาจากเรื่องราวความรักที่ถูกบอกเล่าผ่านอินเทอร์เน็ตโดย ‘คิม โฮ-ชิก’ (Kim Ho-sik) ก่อนที่จะถูกนำมาผลิตเป็นนิยาย และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ปลุกกระแสเกาหลีฟีเวอร์ขึ้นทั่วโลก โดยอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตัวละครที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วสามารถมัดใจคนดูได้อยู่หมัด อาจไม่ใช่แค่เคมีที่เข้ากันของทั้งคู่ หรือตอนจบที่อบอุ่นหัวใจ แต่เป็นเพราะทั้งสองตัวละครสามารถสะท้อนความ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ในฐานะคนรักออกมาได้อย่าง ‘สมบูรณ์แบบ’ นั่นจึงกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาพยนตร์และคนดูได้เป็นอย่างดี ถึงแม้การเล่นใหญ่ของยัยตัวร้ายและคยอนอูจะทำให้พวกเขาแตกต่างกันราวกับถูกฉาบด้วยสีขาวและสีดำ แต่แท้จริงแล้วตัวบทของทั้งสองกลับเป็นสีเทาไม่ต่างจากชีวิตคนทั่วไป ทั้งยังมี ‘ปม’ ในอดีตที่ส่งผลถึงการตัดสินใจของตัวละคร เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อคยอนอูได้พบกับหญิงสาวแปลกหน้าบนรถไฟใต้ดิน และต้องเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบเมื่อเธออ้วกใส่ผู้โดยสารคนอื่น แต่กลับหันมาเรียกเขาว่า ‘ที่รัก’ หลังจากที่คยอนอูช่วยเหลือเธอเป็นครั้งแรก เขาก็ได้ค้นพบความ ‘ร้าย’ ของหญิงสาวคนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่นั่นกลับไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เขาออกห่างจากเธอ ในทางตรงกันข้าม เขากลับเรียนรู้ที่จะยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของหญิงสาวคนนี้ My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี “นี่นาย อยากตายหรือ? สั่งกาแฟสิ” หลายคนคงจำได้ว่ายัยตัวร้ายมักจะบอกให้คยอนอูสั่งกาแฟแทนน้ำอัดลมอยู่เสมอ ส่วนคำขู่ฆ่าและขู่ทำร้ายร่างกายก็กลายเป็นประโยคติดปากของเธอไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายฉากที่เธอใช้ความรุนแรง รวมถึงทำตัวเผด็จการ ชี้นิ้วสั่ง และแสดงความเอาแต่ใจออกมา ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่การค่อย ๆ เผยเรื่องราวในอดีตของยัยตัวร้าย โดยไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องแบบแฟลชแบ็ก นั่นก็เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับคยอนอู คือสิ่งเดียวกับที่เธอปฏิบัติกับคนรักที่จากไปในอดีต เมื่อเธอยังลืมไม่ลง และคยอนอูก็เหมือนเขามาก ยัยตัวร้ายจึงปฏิบัติกับชายคนใหม่ราวกับคนรักเก่ายังมีชีวิตอยู่ ส่วนปมของคยอนอูเริ่มต้นตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อแม่ของคยอนอูอยากได้ลูกสาว แต่พวกเขากลับได้ลูกชายมาแทน นั่นทำให้คยอนอูถูกเลี้ยงดูแบบเด็กผู้หญิงมาตลอด จนกระทั่งอายุได้ 7 ปี เขาจึงรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และเริ่มเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตนับจากนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่าสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูของครอบครัวมีผลต่อการเติบโตของเด็กเป็นอย่างมาก การที่คยอนอูถูกเลี้ยงแบบลูกสาว และถูกบังคับให้ใช้ห้องน้ำหญิงส่งผลถึงบุคลิกที่เจี๋ยมเจี้ยม เหนียมอาย ขี้เกรงใจ และอ่อนโยนของเขา ส่วนเรื่องความรัก หลายคนคงเคยได้ยินว่า คนส่วนมากมีแนวโน้มจะชอบคนที่คล้ายพ่อหรือแม่ของตน โดยผู้ชายมักจะชอบคนที่เหมือนแม่ ส่วนผู้หญิงมักจะชอบคนที่เหมือนพ่อ ในกรณีของคยอนอู แม่ของเขามักจะใช้ความรุนแรงในการสอนสั่งเขาเสมอ แม้กระทั่งตอนโต แม่ของเขาก็ยังยกไม้ ยกเครื่องดูดฝุ่นฟาดเขาไม่ขาด จึงอาจเป็นได้ว่าเพราะคยอนอูเคยชินกับการใช้ความรุนแรงของแม่ เขาจึงรู้สึกคุ้นชินเมื่อถูกยัยตัวร้ายกระทำรุนแรงใส่ ด้วยปมปัญหาและนิสัยส่วนตัวของทั้งสองส่งผลให้การใช้ชีวิตของทั้งคู่เป็นการสลับบทบาทที่สังคมกำหนดมาอย่างยาวนาน จากตำแหน่งช้างเท้าหน้าที่เป็นของผู้ชาย ยัยตัวร้ายได้พลิกบทบาทของเธอเสียใหม่กลายเป็นผู้นำที่ทำให้คยอนอูศิโรราบอยู่เสมอ เธอทั้งห้าวหาญ เล่นเคนโด้ได้ เล่นสควอชเก่ง เรียกได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงที่ไม่คุ้นตาในยุคนั้น แต่นั่นกลับกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ My Sassy Girl โดนใจผู้ชมมากมาย My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี บทบาทชายหญิงกับการสลับขั้วอำนาจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายสังคมยังคงให้ความสำคัญกับเพศสภาพ โดยมอบบทบาทและอำนาจให้กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เช่นเดียวกับสิ่งที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้  ความแนบเนียนของการแสดงถึงความไม่เท่าเทียมถูกส่งผ่านตัวบทในหลายฉาก ยกตัวอย่างฉากที่ยัยตัวร้ายและคยอนอูเข้าไปนั่งกินอาหารกันในร้าน ซึ่งโต๊ะใกล้เคียงมีชายวัยทำงาน 2 คน และหญิงสาวที่คาดว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะอีก 2 คนนั่งอยู่ ยัยตัวร้ายเลือกเดินเข้าไปหาพวกเขาด้วยท่าทีหาเรื่อง ทำให้หญิงสาว 2 คนตัดสินใจเดินออกจากร้าน ส่วนชายคนหนึ่งก็วางท่าข่มขู่เธอ ก่อนที่เพื่อนอีกคนจะดึงตัวเขาออกจากร้านไปก่อน ในจุดนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้ชายทั้งสองเลือกจะไม่เอาเรื่องต่อ หนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาจะไปตามสาว สองคือเพื่อนคนหนึ่งไม่อยากมีเรื่อง หรือสามคือผู้ชายรู้สึกอับอายที่ต้องทะเลาะกับผู้หญิงในที่สาธารณะท่ามกลางเสียงซุบซิบนินทาของคนในร้าน ซึ่งรวมถึงตัวคยอนอูเองด้วยที่รู้สึกอับอายกับกิริยาของหญิงสาวที่ห้าวหาญไม่เข้ายุคสมัย นอกเหนือจากบทบาทและอำนาจทางสังคม ในฉากเดียวกันยังมีเรื่องของความอาวุโสปรากฏผ่านมารยาทในการ ‘รินเหล้า’ ซึ่งปกติฝ่ายที่มีอาวุโสน้อยกว่าจะเป็นคนรินเหล้าให้ผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า เช่นเดียวกับที่คยอนอูรินเหล้าให้พ่อของยัยตัวร้าย โดยมารยาทในการดื่มเช่นนี้เป็นการแสดงความเคารพและความนอบน้อมที่มีต่อผู้ใหญ่ แต่ในฉากร้านอาหาร เราจะเห็นว่าคยอนอูเป็นฝ่ายรินเหล้าให้กับยัยตัวร้าย ซึ่งถือเป็นการสลับบทบาทและคัดง้างกับความคิดชายเป็นใหญ่ได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งภายในครอบครัวของคยอนอู เนื่องจากเขาเป็นเด็กที่ไม่มีหัวทางการเรียน พ่อและแม่ของคยอนอูจึงมักจะถกเถียงกันว่า ‘ความโง่’ ของเขามาจากใคร ซึ่งผลลัพธ์ก็ตกเป็นของ ‘แม่’ อย่างช่วยไม่ได้ “แกได้สมองเอ๋อมาจากแม่ เรื่องแย่ ๆ มาจากแม่แกหมด” พ่อของคยอนอูพูด และแม่ของคยอนอูก็เป็นฝ่ายรับไป ถึงแม้เธอจะเถียงออกมาบ้างก็ตาม เรียกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้แรงกดทับที่มีต่อผู้หญิงถูกระบายออกในรูปแบบตลกร้ายที่สะใจคนดูอยู่ไม่น้อย ทั้งยังสร้างแรงกระเพื่อมอันยิ่งใหญ่และแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงได้เป็นอย่างดี นอกจากยัยตัวร้ายจะมีความฝันเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ เธอยังมีจินตนาการและความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น สังเกตจากบทที่เธอตั้งใจเขียนให้คยอนอูอ่าน ซึ่งสำหรับคยอนอูแล้ว เนื้อหาช่างแปลกเสียเหลือเกิน แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียด บทของแต่ละเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ยุคนั้น สำหรับเรื่องแรก ปกติตัวเอกฝ่ายชายมักจะต้องไปช่วยเหลือฝ่ายหญิง แต่ยัยตัวร้ายกลับเปลี่ยนบทให้หญิงสาวแข็งแกร่งเหมือนเทอร์มิเนเตอร์ และต้องเดินทางไปช่วยชายคนรักที่ถูกคนร้ายจับตัวไป ส่วนในเรื่องที่สอง เธอเขียนให้ฝ่ายหญิงเสียชีวิต และให้ฝ่ายชายตายตาม ซึ่งแตกต่างจากภาพอันคุ้นตาที่ฝ่ายหญิงมักจะถูกบังคับให้ตายตามสามีมากกว่า ส่วนในบทเรื่องที่สาม เธอเขียนให้ตัวเองเป็นฝ่ายดีที่ต้องปราบผู้ร้ายอย่างคยอนอู เขาถูกเธอฆ่า และตัวเธอก็ได้ขึ้นมาเป็นพระราชาปกครองแผ่นดิน ยัยตัวร้ายกลายเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่ไม่ถูกอำนาจของผู้ชายกดขี่อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ใครหลายคนในช่วงเวลานั้นโหยหา เนื่องจากพวกเธอในโลกแห่งความจริงไม่สามารถหลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมได้ แต่ในทางกลับกัน ไม่ว่ายัยตัวร้ายจะแสดงออกว่าตนเองเข้มแข็งเพียงใด ภายในของเธอก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่รักได้และเจ็บเป็น แต่ความโชคดีของเธอคือการค้นพบคยอนอู ชายผู้ยอมรับความร้ายในฐานะตัวตนของคนที่เขารัก My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี สะพานเชื่อมความสัมพันธ์สู่รักแท้ ในฐานะหนังรักเรื่องหนึ่ง บทบาทของคยอนอูและยัยตัวร้ายแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้คนโหยหาอาจไม่ใช่คนรักที่หน้าตาดี หรือมีชีวิตที่เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง เพราะแท้จริงแล้วในชีวิตของเราอาจต้องการเพียงใครสักคนที่ยอมรับในตัวตนของเรา และพร้อมยืนเคียงข้าง สนับสนุนความฝันของกันและกันต่อไป เช่นเดียวกับทุกอย่างที่คยอนอูทำให้กับยัยตัวร้ายของเขา ซึ่งถูกสรุปเอาไว้ในกฎเหล็ก 10 ข้อ
  1. อย่าให้เธอทำหน่อมแน้มเป็นสาวหวาน
  2. อย่าให้เธอดื่มเหล้าเกินแก้วที่ 3 เพราะเธอคงจะอัดใครเข้าสักคน
  3. ถ้าไปนั่งร้านอาหาร ต้องสั่งแต่กาแฟเท่านั้น ห้ามสั่งโค้กหรือน้ำผลไม้
  4. ถ้าโดนอัดให้ทำเหมือนเจ็บจัง แต่ถ้าคุณเจ็บจริงก็ต้องทำเหมือนไม่เจ็บ
  5. ถ้าคบกันครบ 100 วัน ต้องเอาดอกกุหลาบไปให้เธอตอนเธอกำลังเรียนอยู่ เธอจะเป็นปลื้มมาก
  6. ต้องรู้จักศิลปะป้องกันตัว และตีสควอชให้เป็น
  7. เตรียมตัวไปนอนในคุกบ้างเป็นบางเวลา
  8. ถ้าเธอขู่ว่าเธอจะฆ่าคุณ ให้คิดเสียว่ามันไม่จริง มันจะทำให้รู้สึกดีขึ้น
  9. ถ้ารองเท้าเธอกัด ต้องเปลี่ยนรองเท้ากับเธอ
  10. เธอชอบขีด ๆ เขียน ๆ อย่าลืมให้กำลังใจเธอด้วย
ในข้อสุดท้าย แม้บทภาพยนตร์ที่ยัยตัวร้ายเขียนจะไม่ได้สนุกสมใจคยอนอู แต่ในเมื่อนั่นคือสิ่งที่คนรักของเขาอยากทำ เขาก็พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เธอขอและบังคับให้เขาทำ ซึ่งเขาก็ยอมทำให้อย่างว่านอนสอนง่าย ในจุดนี้ใครหลายคนอาจจะหงุดหงิดกับทั้งยัยตัวร้ายที่ทำอะไรไม่เข้าท่า และชอบใช้ความรุนแรง รวมไปถึงหงุดหงิดคยอนอูที่เป็นฝ่ายยอมตลอดเวลา แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เราได้เห็น คือการยอมรับในตัวกันและกันถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่สมบูรณ์แบบแค่ไหนก็ตาม ซึ่งการที่เราจะรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างไรและต้องทำอย่างไรย่อมเกิดขึ้นจากความใส่ใจสังเกต “ฉันขอโทษ ฉันพยายามทำทุกอย่างให้มันดีขึ้น แต่ฉันก็แค่ผู้หญิงบ้าบอคนหนึ่ง” หากเธอไม่ได้เก็บเรื่องราวของคยอนอูมาใส่ใจ จนเกิดคิดได้ว่าเขาไม่ใช่คนรักเก่า ความในใจที่ถูกตะโกนข้ามเขาคงไม่ใช่คำขอโทษเป็นแน่ “ฉันพยายามมองหาเขาคนนั้นในตัวเธอ ฉันรู้ว่าฉันผิด ฉันเสียใจ” เพราะปมของเธอฝังลึกจนไม่อาจฝืน เธอลืมคนรักเก่าที่จากไปอย่างกะทันหันไม่ได้ ยิ่งเธอชอบคยอนอูมากขึ้นเท่าใด ความรู้สึกผิดกับคนรักเก่าจึงยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ตลอดเวลาที่เธออยู่กับคยอนอู เราจะเห็นเธอมา ๆ ไป ๆ นึกจะหายก็หายไม่ติดต่อกลับ แต่เมื่อคิดจะกลับมา เธอก็มักโทรฯ สั่งให้คยอนอูไปหาทันที จนในที่สุดเส้นทางรักของทั้งคู่ก็ดำเนินไปแบบคู่ขนาน ไม่บรรจบกันเสียที My Sassy Girl: หนังรักในความทรงจำ กับการสลับขั้วอำนาจของหญิงชายในสังคมเกาหลี ในช่วงสุดท้ายของภาพยนตร์ ทั้งสองได้ฝังจดหมายแทนใจไว้ใต้ต้นไม้ เพื่ออีก 2 ปีให้หลัง พวกเขาจะพร้อมกลับมาหากันและกันเพื่ออ่านจดหมาย ยัยตัวร้ายได้ขอให้คยอนอูขึ้นรถไฟกลับบ้านไปก่อน แล้วเธอจะขึ้นรถไฟขบวนถัดไป เป็นการบอกว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรออีก 2 ปีถึงจะได้ตัดสินใจเรื่องของเรา ในฉากนี้ใครหลายคนคงจะลุ้นให้สะพานแห่งรักของทั้งคู่เชื่อมต่อกัน แต่อะไรที่ยังไม่ถึงเวลา ฟ้าก็มักจะไม่เป็นใจเสมอ ยัยตัวร้ายตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันเพื่อไปหาคนที่เธอรัก แต่ขณะเดียวกันคยอนอูก็ตัดสินใจกระโดดลงจากรถไฟเพื่อกลับมาหาเธอ กลับกลายเป็นว่าโชคชะตาได้พรากพวกเขาจากกันเสียแล้ว กระทั่งในตอนจบ ถึงแม้ฝ่ายหญิงจะมาช้ากว่าเวลาที่นัดไว้ 1 ปี เพราะเธอไม่อาจลืมรักเก่าลง แต่สุดท้ายเธอและคยอนอูก็ได้พบกันอีกครั้ง โดยแม่ของคนรักเก่า ซึ่งก็คือป้าของคยอนอูได้แนะนำทั้งคู่ให้เจอกัน ตรงจุดนี้แท้จริงแล้วป้าของคยอนอูตั้งใจแนะนำให้ทั้งคู่พบกันตั้งแต่แรก แต่คยอนอูบ่ายเบี่ยงการพบเจอกับป้ามาตลอด ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะได้รักกันสมใจ “โชคชะตาคือการสร้างสะพานแห่งความสัมพันธ์ไปหารักแท้” คยอนอูเอ่ยในตอนจบ ท้ายที่สุดสะพานแห่งความสัมพันธ์สู่รักแท้ของพวกเขาก็เชื่อมหากันได้สำเร็จ และคนที่ปลายทางก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นคนที่หลงรักและรอคอยกันและกันเสมอมา สำหรับภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl ออกฉายในปี 2001 ถือว่าเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายที่สลับบทบาทชายหญิงได้อย่างแปลกใหม่ในยุคนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่ความเท่าเทียมเบ่งบานกว่าเก่าและความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้าน ความสัมพันธ์ที่ไร้ซึ่งความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้ความรักยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักที่เกิดขึ้นจากการยอมรับในตัวตนของคนที่โชคชะตาได้พัดพาให้มาพบกันในเวลาที่เหมาะสม เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: https://www.imdb.com/title/tt0293715/  อ้างอิง: ภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl (2001) https://thepeople.co/jeon-ji-hyeon-south-korea/