01 ก.ค. 2565 | 18:00 น.
ในโลกที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญและพลิกโฉมวงการต่าง ๆ วงการศิลปะเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้เหล่าศิลปินมากมายต้องปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะศิลปะในรูปแบบออนไลน์อย่าง NFT Art (Non-Fungible Token) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของเหรียญ (Token) ที่ใช้แทนความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะดิจิทัล ดนตรี หรือแม้แต่โพสต์บนโลกออนไลน์
พื้นที่ลงงานศิลปะดังกล่าวเป็นเวทีรูปแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงได้ขึ้นมาฉายแสง แต่ทั้งนี้ก็รวมไปถึงศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพคนเหมือนที่ผลงานเปี่ยมไปเอกลักษณ์ ก็ได้เปลี่ยนจากการสะบัดแปรงบนผืนผ้า สู่การลองจับปากกาวาดบน IPad เพื่อเผยแพร่ภาพวาดของเขาในเวทีของคนรุ่นใหม่อย่าง NFT
ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี เคยนำผลงานของเขาเข้าร่วมงานประมูลงานศิลปะ TO THE MOON ที่นำผลงานของศิลปินทั้งรุ่นใหญ่และศิลปินหน้าใหม่มาประมูลทั้งในรูปแบบงานที่จับต้องได้และ NFT ซึ่งผลงาน NFT ครั้งแรกของศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ได้สร้างปรากฏการณ์เป็นผลงานที่ถูกประมูลสูงสุดด้วยมูลค่า 2,200,000 จากราคาประมูลเริ่มต้น 50,000 ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหญ่ได้ทดลองก้าวเข้ามาสร้างผลงานในโลกศิลปะยุคดิจิทัล
The People ชวน อาจารย์ศักดิ์วุฒิ ย้อนคุยถึงเรื่องราวในอดีต จากเด็กสามัญสายวิทย์ที่หลงรักในการวาดภาพ เบนเข็มก้าวเข้าสู่รั้วศิลปากร ที่ล้อมรอบไปด้วยคนเก่งมากประสบการณ์ แต่เพราะความไม่ย่อท้อและยืดหยัดในความเป็นตัวเอง แม้จะถูกวิจารณ์ว่างานของตนไม่ใช่ศิลปะบริสุทธิ์ โดนตั้งคำถามว่างานของเขาให้ประโยชน์อะไรแก่สังคม จากที่เคยนอนคิดหนักและจมปลักกับคำวิจารณ์ด้านลบ แต่ในที่สุดอาจารย์ศักดิ์วุฒิก็ค้นพบคำตอบได้จากการกลับไปเป็นตัวเอง สะท้อนตัวตนของตัวเองผ่านภาพวาดและสร้างแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยให้กับใครสักคน เพียงเท่านี้ก็พูดได้เต็มปากแล้วว่าสิ่งนี้คืองานแบบศักดิ์วุฒิ และนี่คือเรื่องราวของเขา
The People: จากเด็กสายสามัญมาเรียนที่ศิลปากรได้อย่างไร
ศักดิ์วุฒิ: เรามองย้อนกลับตอนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นผมเชื่อว่าเป็นเรื่องดวง เพราะโอกาสที่จะเกิดมันน้อยมาก สมัยนั้นผมเรียน มศ. 5 ที่บดินทรเดชา แทบไม่มีโอกาสที่มายืนจุดนี้เลย เราเกเรและก็เรียนทางวิทย์มา คิดแค่ว่าเราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ๆ ถ้าเราไปเรียนคณะจิตรกรรม ที่ใช้การวาดรูปเข้าไปเรียนก็น่าสนใจ ก็เลยลองไปสอบแล้วมันก็ได้ ในยุคเกือบ 40 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่เด็กสามัญจะได้เข้าไปเรียนที่ศิลปากร
พอเข้าไปเรียนแล้วเจอปัญหามาก เพราะเราสู้เพื่อนไม่ไหว รู้สึกเหนื่อย คะแนนก็ไม่ดี มีดีอย่างเดียวคือการวาดเส้นซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชอบ แต่อย่างอื่นพอเราไม่เคยเรียนมา แล้วคาดหวังว่าจะได้เข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษา ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่ศิลปากรเขาต้องเรียนมาก่อนแล้ว ซึ่งเราหวังว่าเข้าไปอาจารย์จะมาสอนว่าการลงสีแบบนี้ ๆ ไม่มี เจอแต่หุ่นนิ่ง อาจารย์ปล่อยให้วาดกันเอง ตอนแรกเราก็ เฮ้ย มันไม่มีการสอน เราต้องเรียนรู้จากเพื่อน
พอกลับมามองย้อนในเวลานั้น มันก็ดีในแง่ของการเอาตัวรอด คือถ้าไม่ไหวก็ต้องตายไป คือผมชอบแบบนั้นนะ เพราะสมัยก่อนที่เราเกเร ไม่มีคะแนนสะสมเลยในการสอบสมัยก่อน ไม่มี O-NET A-NET ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ถึงเวลาสอบเอนทรานซ์ ทุกคนเท่ากันหมด เข้าไปสู้กันแบบแพ้คัดออก ผมว่าแบบนี้มันทำให้แข็งแกร่งดีนะ คือยุคสมัยมันเปลี่ยน ตอนนี้การสอบต้องมีการสะสมคะแนน ถ้าสมัยนั้นเด็กอย่างผมไม่มีสิทธิสอบเข้าศิลปากรเลย เพราะไม่มีคะแนนอะไรเลย ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเด็กเกเรยุคนี้คือตาย ถ้าเกิดคุณไม่เรียน คุณก็ไม่มีคะแนนสะสม คุณก็จบเลย แต่ในยุคผมยังมีโอกาสแก้ตัวในการสอบ ผมชอบแบบนั้น และในชีวิตจริงก็เป็นแบบนั้น ถ้าคุณท้อคุณก็ต้องออกไป ในรุ่นหนึ่งเข้ามา 50 คน จบแค่ครึ่งหนึ่ง คนที่มีปัญหาหมดก็ต้องออกไป คนที่แข็งแรงอยู่ได้ก็อยู่
The People: จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไม่ท้อและลาออก
ศักดิ์วุฒิ: จริง ๆ การเรียนคณะจิตรกรรมมันไม่ง่ายนะ เมื่อก่อนเขาเรียนรวมคุณต้องปั้นเป็น สีน้ำ ภาพพิมพ์ ทุกอย่างมันต้องจบภายในเทอม เราก็ไม่ไหว ยิ่งจบออกมาแล้วเพื่อจะเป็นศิลปินในยุคนั้นมันแทบไม่มีทางเลย ศิลปินที่ผมรู้จักก็มีอยู่ไม่ถึงสิบคน และสิบคนที่ว่าก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ดีกินดีนะ ถึงจะมีชื่อเสียง มีงานที่ดี แต่ชีวิตก็ลำบาก เราได้ลองสอบย้ายคณะแต่ก็สอบไม่ได้ ถ้ามองย้อนกลับไปแล้ววันนั้นผมสอบย้ายคณะได้ คือจบเลย ไม่มีศักดิ์วุฒิ เพราะผมอาจจะไปเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นมันเลยไม่มีเหตุผลอื่น ผมต้องเกิดมาเป็นศิลปิน คือต้องมาเป็นจิตรกรล่ะ
ตอนที่เรียนเนี่ยคะแนนผมก็ไม่ดีนะ จนตอนที่เรียนสีน้ำมันเทอมสุดท้าย ผมได้เขียนรูปตัวเองจากกระจก แล้วได้ A ในช่วงที่ผมกำลังท้อแต่ได้ A ทำให้เราตื่นเต้น เพราะเราไม่ได้เรียนมาก่อนเลย เลยคิดว่าหรือเราเหมาะที่จะเขียนรูปคน ผมชอบเขียนรูปคนอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะไปได้แหละ และมีเพื่อนร่วมรุ่นเขาก็มาดูและเขาก็บอกว่าเขียนรูปได้ดีนะ ทำให้เราเกิดกำลังใจขึ้นมาว่าเรามีโอกาสที่จะเรียนต่อได้
The People: จากวันนั้นจบมาเป็นศิลปินเลยไหม
ศักดิ์วุฒิ: ยัง ก็พอขึ้นชั้นปีสูง ๆ ที่ต้องเลือก เราก็เลือกที่จะเขียนรูปคน บางครั้งเราก็ไปปรึกษากับอาจารย์ว่า ผมอยากเขียนรูปคน อาจารย์ก็บอกมันยาก เพราะการดำรงชีพในการเป็นศิลปินเขียนรูปคนนี่มันยาก รุ่นพี่เก่า ๆ เขาก็ทำมาเยอะ แต่มันก็ไม่ได้ไปไหน อาจารย์บางคนก็บอก คุณเขียนก็สู้อาจารย์จักรพันธุ์ (จักรพันธุ์ โปษยกฤต) ไม่ได้ หรือสู้ฝรั่งไม่ได้ เราก็คิดว่าถ้าคิดแบบนี้มันก็เจ๊งนะ เพราะว่าไม่มีใครที่เขียนสู้ศิลปินระดับโลกได้ ผมก็เลยแอนตี้นิดหน่อย แล้วตัดสินใจว่าจะเขียนแบบเราล่ะกัน แบบที่เราชอบ แบบที่เราเป็น เรียนเพื่อให้จบ เพราะยังไงอย่างเราก็คงไม่ได้เป็นศิลปิน
ตอนนั้นในยุคที่ผมเรียนงานโฆษณาดังมาก ใครที่เรียนจบต้องไปทำงานโฆษณาและเท่ด้วย คือผมกะจะไปทำสายโฆษณา ไม่คิดจะเป็นศิลปินล่ะ ขอให้เรียนจบ ใครจะวิจารณ์ยังไงผมไม่ฟังล่ะ ผมขอเขียนอย่างที่เราอยากทำ ในยุคนั้นงานผมเขาบอกว่าเป็นมันไม่ใช่ศิลปะที่บริสุทธิ์ มันเป็นงานดีไซน์ เป็นงานแฟชั่น เป็น dramatic painting คือมันไม่จริง เพราะในยุคนั้นถ้าจะเขียนคน ก็ต้องเป็นคนจริง ๆ ที่กำลังนั่งมองเหม่ออยู่ริมหน้าต่าง ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่ตัวเรา คือผมเป็นคนชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น ผมก็เอาผู้หญิงมาแต่งตัวแล้วจัดให้นั่งในท่าที่มันไม่มีจริง แต่เขาบอกอันนี้ไม่ใช่ อันนี้มันไม่จริง เป็นการจัด เป็นการแสร้ง ไม่ใช่ศิลปะบริสุทธิ์
เราก็บอกไม่เป็นไร ผมจะขอทำแบบนี้ และงานนั้นก็โดนคัดออกจากธีสิส แต่ที่ตลกคือเราก็เอาไปส่งประกวดแล้วได้รางวัล ผมก็ถามอาจารย์ว่า ทำไมงานที่โดนคัดออกจากธีสิสถึงไปได้รางวัล อาจารย์ก็บอกว่าผมไม่ได้เลือก เป็นคนอื่นที่เลือก ผมก็ถามต่อแล้วทำไมเป็นแบบนั้น เขาก็บอกว่าบางทีการเรียนกับชีวิตจริงมันไม่เหมือนกัน เพราะคนที่ตัดสินเขาไม่ได้รู้ว่าคุณเรียนมายังไง คุณเป็นยังไง แต่เขาตัดสินจากงานที่เห็นและเขาชอบ เรารู้สึกว่าแปลกดี ทำให้เรารู้แล้วว่าการเรียนกับชีวิตจริงเป็นคนละอย่างกัน เหมือนกับการที่คุณได้คะแนนดี ๆ ในสมัยเรียน ก็อาจจะไม่ได้เป็นศิลปิน แล้วก็เป็นแบบนั้น คนที่ควรจะได้เป็นศิลปินก็ไม่ได้เป็น อย่างผมไม่ได้อยากเป็นศิลปิน อยากจบมาทำงานโฆษณา อยากอยู่ในวงการแฟชั่น อยากอยู่ในสังคมหนังสือ แบบรุ่นพี่เก่า ๆ ก็ไม่ได้ทำ
The People: ทำไมถึงไม่ได้ทำ อะไรที่ดึงให้เข้ามาในวงการศิลปะ
ศักดิ์วุฒิ: จริง ๆ มันก็ได้ทำนิด ๆ หน่อย ๆ คือเราจบในยุคนั้นมีหนังสือลลนา ดังมาก ผมก็เข้าไปช่วยทำภาพประกอบ ตอนเขียนภาพประกอบก็โดนคนทำคอลัมส์ด่า คืองานมันไม่ดี งานมันหยาบมาก คืองานในลลนาเขาเขียนเนี๊ยบมาก งานแบบผมไม่ควรไปอยู่ในหนังสือเขา แต่ผมโชคดีตอนแสดงธีสิสมีคนอังกฤษได้มาดูงาน เขาบอกเขาชอบมากเลยเพราะมันแปลกมาก เขาก็ชวนไปทำงานโฆษณา เขาก็ให้เงินเยอะนะ เราทำไปก็เริ่มสนุก แต่อยู่ ๆ เขาโดนย้ายกลับ ผมฝันสลายเลย ตายแล้วกู ชีวิตจบแล้ว ชีวิตที่เคยสนุก เขียนรูปไป ดีไซน์ไป เขียนภาพประกอบในงานโฆษณา แล้วได้เงินด้วย ได้ดีไซน์ด้วย ทุกอย่างกำลังสนุกมาก พอเขากลับก็ต้องออกล่ะ คือถ้าไม่ออกก็ต้องทำงานประจำและต้องไปเริ่มเงินเดือนใหม่ที่แท้จริง ตอนนั้นผมเริ่มเงินเดือนเกินจริง เพราะในยุคนั้นฝรั่งเขาชื่นชมเป็นศิลปิน เขาไม่ได้จ้างในราคาเด็กที่พึ่งจบ แต่จ้างในฐานะศิลปิน
หลังจากเขากลับผมก็หยุดอยู่บ้าน จะกลับไปสมัครงานใหม่ก็ช้าไปสองปีก็เริ่มไม่สนุกแล้ว เพราะต้องไปแข่งกับเด็กรุ่นใหม่ แล้วจะต้องไปรับเงินเดือนที่น้อยลง คือจังหวะมันผิดล่ะ เราก็เลยเขียนรูปแล้วกัน พอดีมีงานคนมาจ้างเขียนรูป ปีหนึ่งจะมีสักรูปสองรูปเองมั้ง และก็มีทำภาพประกอบหนังสือบ้าง ยุคนั้นมันก็อยู่ยากนะ เหมือนพอเขียน ๆ ไป เผลอหน่อยเดียวก็ผ่านไป 4 - 5 ปีแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปจนถึงจุดที่เราประสบความสำเร็จหรือเปล่า จะถอยหลังกลับก็ไม่ได้ จุดหนึ่งในยุคนั้นก็รู้สึกเครียดเหมือนกัน เพราะเราจะอยู่ได้ยังไง ถ้าเกิดเราไม่ดังแล้วชีวิตจะเป็นยังไง และคำว่าดังเนี่ยจะใช้ชีวิตอยู่ยังไง ชีวิตของศิลปินยุคนั้นเลยอยู่ในวงจรเป็นหนี้ เขียนรูป ขายงานได้ ก็ไปถมหนี้ แล้วก็กลับไปเป็นหนี้ และเขียนรูป พอขายได้ ก็จ่ายหนี้ คือมันเป็นแบบนี้ตลอด
The People: อะไรทำให้ออกจากวงจรนี้มาได้
ศักดิ์วุฒิ: เรายืนยันตัวตนว่าสุดท้ายเราเป็นแบบนี้ ศักดิ์วุฒิก็จะเขียนรูปแบบนี้ แต่เขียนภาพคนเหมือนแบบนี้มันไม่ได้เนี๊ยบมาก ในยุคนั้นมันเป็นเรื่องยากที่คนในยุคนั้นจะมาจ้าง เพราะสไตล์ผมมันไม่ได้เนี๊ยบ ในยุคปี 80 งานเขียนภาพคนค่อนข้างจะเนี๊ยบนะ โดยมีอาจารย์จักรพันธุ์เป็นต้นแบบเลยว่าการวาดคนต้องเป็นแบบนี้ ยุคนั้นก็จะมีพี่วราวุธ (วราวุธ ชูแสงทอง) ตามมา เป็นสไตล์ที่ realistic คนก็จะชอบแบบนั้น แต่ของเรามันเป็นดีไซน์ ยุคนั้นคนที่ชอบทำงานแฟชั่น เป็นดีไซเนอร์ จะเป็นคนอีกประเภท ซึ่งคนแบบเรามีน้อย แต่เราก็อยู่มาได้เรื่อย ๆ ไม่ถึงกับลำบากแต่ก็ไม่ได้สบาย
The People: วันไหนที่คิดว่ากำลังเดินไปเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว
ศักดิ์วุฒิ: คือเราเครียด มันจะมีการวิจารณ์ในหมู่ศิลปินด้วยกัน เขาก็บอกงานคุณมันไม่มีอะไรเลย มีแต่ฝีมือ แล้วจะสะท้อนอะไรสังคม จะให้อะไรกับสังคม เราก็รู้สึกว่าบางทีศิลปินเป็นก็ยากจะตายห่าล่ะ กูยังต้องมาทนฟังคำวิจารณ์ของหมู่ศิลปินด้วยกันอีก บางทีงานเราไม่ได้คิดถึงเรื่องที่แวดล้อม เราคิดถึงตัวเราเอง ว่ากูอยู่กับความรัก ความลุ่มหลง เขียนรูปด้วยความรัก เขียนรูปด้วยความจมปลักกับความทุกข์ ความสุข พอเขามาถามว่าแล้วมึงให้อะไรกับสังคมหรือช่วยอะไรสังคม มันก็ยากล่ะ เพราะเราไม่เคยคิด แล้วมันทำให้เราเครียดว่างานกูไม่ได้ให้อะไรกับสังคมเลย งานกูจะอยู่ยังไงวะ คำถามเหล่านี้ทำให้เราคิดว่า งานเราไม่มีอะไรเลย งานมึงแค่งานฝีมือ แล้วมันคืออะไร งานแบบนี้เขาเขียนมาร้อยปีพันปีล่ะ เลยเครียดมาก เพราะทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเชื่อมามันผิด แล้วเราควรจะเขียนรูปอย่างที่ตัวเราต้องการ หรือเขียนรูปเพื่อคำวิจารณ์ หรือเขียนรูปเพื่อให้คนอื่นเขามาตัดสิน มันก็เลยขัดแย้งกัน แล้วเราจะไปต่อยังไง
ตอนนั้นผมก็เลยนอนนิ่ง แล้วไม่ได้เขียนเลยนะ ไม่ได้วาดเลย จนมาเจอเพื่อนเก่า ว่ามึงจะคิดอะไรมาก เขียนอย่างที่ตัวเองเป็นนี่แหละ เออเว้ย ก็ตัดคำวิจารณ์ออกและทำอย่างที่เราเป็น เราก็ยืนยันว่ากูเป็นแบบนี้ ใครจะได้ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ผมจะตามใจตัวเอง เขียนแบบที่ตัวเองเป็น ก็เลยเริ่มเขียนมา และงานชุดหลัง ๆ เนี่ยผมจะเขียนเป็น drawing เป็นลายเส้น เคยโดนวิจารณ์ว่าทำไมมันไม่มีอะไรเลย เราก็เลยกวนเขาว่า งานกูมันไม่มีอะไรใช่ไหม งั้นกูจะกลับไปเขียนบนกระดาษเลย ไปเริ่มต้นเดินนับหนึ่งใหม่เลย คือการ drawing เป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นบันไดขั้นที่หนึ่งในการทำงานศิลปะเลย คือการวาดภาพบนกระดาษ เหมือนกับการเดิน ถ้าคุณเดินไม่เป็น คุณวิ่งไม่ได้ คุณกระโดดไม่ได้ แล้วผมก็กลับไปเขียนแบบนั้นเลย เขียนแบบเดิม ๆ แต่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เขียนด้วยความมุมานะ มึงด่ากู กูกลับมาเขียนขั้นแรกเลย แต่มันดี คนก็ชอบกันเยอะ อาจเพราะคนจะมองข้ามสิ่งที่มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด เราก็เอาจุดที่มันธรรมดาที่สุด ที่คนลืมไปแล้วว่าการวาดเส้นเป็นพื้นฐานของศิลปะมาทำ เหตุผลที่คนลืมไปแล้วเพราะทุกคนใฝ่ที่จะทำงานสมัยใหม่ ใฝ่ที่จะทำงานที่แสดงเรื่องความคิด การจัดวาง ทุกคนต้องทำเรื่องงานสมัยใหม่ ทุกคนตัดสินกันที่ว่าอันนี้มีความคิดนะ ผมก็ว่ามันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเป็น เราก็กลับไปเป็นตัวเราดีกว่า ก็เขียนเลย และก็ทำ ๆ คนก็ชอบ เลยรู้สึกว่าเรามาถูกทางล่ะ
การกลับไปเป็นตัวเองที่เราเคยมองข้าม กลับมานั่งดูงานตัวเอง บางทีงานที่เขียนไม่เสร็จมันสวย สวยกว่างานที่เขียนเสร็จ การที่เราไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้ตั้งใจ เราทำด้วยความสนุกมันกลับออกมาดี พอเอางานมาเรียงก็รู้สึกว่า ทำไมเราเขียนไม่เสร็จแต่อันนี้ผ่านมา 10 ปี ยังสวยอยู่เลย มันรู้สึกสดมาก หลังจากนั้นเราก็ทิ้งทุกอย่าง อยากจะเขียนตรงไหนก็เขียน หยุดตรงไหนก็หยุดเมื่อไรก็ได้ มันกลับดี มันไม่เกร็ง มันไม่คาดหวัง มันเป็นความเป็นเรา ทำด้วยความสุข มันเป็นวิถีที่ผ่านมา มันบอกตัวตน บอกชีวิตที่ผ่านมา บอกว่ากูเป็นแบบนี้และก็ไม่ต้องฟังใคร ไม่ต้องเก็บเอามาคิด เพราะแบบนี้มันทำให้เรามาถึงจุดนี้ หลัง ๆ มานี้ผมแทบจะไม่ฟังคำวิจารณ์เลย ถ้าได้ฟังก็แค่ฟังแล้วผ่านไป เพราะว่าตอนที่เรากลับมาคิด กลับมาเจ็บปวด เราอยู่กับตัวเองคนเดียว แต่คนวิจารณ์ พอวิจารณ์เสร็จเขาก็นั่งหัวเราะ ไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานซึ่งมันไม่แฟร์ สุดท้ายเราก็กลับมาเป็นตัวเรา เลิกฟังคำวิจารณ์
The People: หลังจากค้นพบแนวทางของตัวเอง ผลงานไหนที่ทำให้เป็นที่รู้จัก
ศักดิ์วุฒิ: จริง ๆ งานเขียนผมที่คนพูดถึงก็คือการเขียนรูปตัวเอง ผมเขียนรูปตัวเองสมัยเรียนเป็นแบบนี้ ปีนี้เป็นแบบนี้ ก็เขียนมาเรื่อย ๆ ครับ ซึ่งศิลปินทั่วโลกเขาก็ทำกัน การเขียนรูปตัวเองเป็นการบันทึก ว่าวันหนึ่งเราอยู่กับความทุกข์ทรมาน เรื่องความรัก อกหัก เราเขียนขึ้นมารูปหนึ่ง โดยใช้ตัวเองเป็นสื่อ รูปที่คนจะพูดกันเยอะคือรูปตอนที่อกหักถือดอกไม้ ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง ตอนนั้นตั้งใจเขียนให้สุดเลย คือปิดห้องอยู่ในห้องและก็เขียนไป ก็เริ่มมีคนพูดถึงกันว่าเป็นรูปที่ดี และก็เขียนรูปผู้หญิง เขียนคนรัก เขียนคนรอบข้างมาเรื่อย ๆ เป็นการยืนยันว่าศักดิ์วุฒิเป็นแบบนี้ งานเป็นแบบนี้
เราสะท้อนตัวเอง เราเขียนแบบที่เราเป็น ยากที่จะมีใครมาเหมือน เพราะมันเป็นพื้นฐานชีวิตเรามาตั้งแต่เกิด ชีวิตในวัยเด็ก รสนิยมที่ปลูกฝังเป็นเรายังไงไม่มีใครเหมือนเราหรอก แม้แต่รูปที่เราวาดเอง บางคนบอกอยากได้รูปตอนยุคนั้น เราก็บอกว่าผมทำไม่ได้หรอกมันผ่านไปแล้ว ทำได้ถ้าเรากลับไป copy ตัวเอง ซึ่งการ copy ตัวเองมันไม่ใช่เรื่องดี เพราะทุกอย่างเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน ความเป็นอยู่เปลี่ยน งานก็จะเปลี่ยน
The People: เคยพูดว่าศิลปินที่ copy งานเดิมตัวเองเหมือนศิลปินที่ตายแล้ว
ศักดิ์วุฒิ: ใช่ มันเป็นแบบนั้น ผมเคยโดนวิจารณ์ในห้ององค์ประกอบศิลป์ว่า มึง copy งานตัวเอง ผมก็ไม่รู้ว่าแปลว่าไรวะ ตอนหลังค่อยเข้าใจว่า เป็นการที่เราไม่ไปไหนเลย ห้าปีสิบปีเหมือนเดิม เรายังย้ำอยู่กับความสำเร็จในเวลาหนึ่งและเราก็ยึดติดกับมัน ซึ่งผมว่าอย่างนั้นมันผิด คือมันอาจจะได้ มันเป็นการจัดการกับตัวเองให้พออยู่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนแล้วก้าวออกมา ยังไงมันก็ไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง แต่การทำอะไรใหม่ผมว่ามันสนุกด้วย มันเป็นเรื่องท้าท้าย
The People: การไม่เคยอยู่นิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาท้าทายยังไง
ศักดิ์วุฒิ: พูดไปก็อาจจะเป็นการสะเทือนหน่อย สมัยเราเรียนพอเราเห็นศิลปินรุ่นเก่า ครูบาอาจารย์บางคนที่เหมือนเดิมหยุดอยู่กับที่ เปรียบเทียบกับการที่เขาค้นพบสีแดง เขาก็อยู่กับสีแดงจนตาย เขาไม่เคยเปลี่ยนสีเลย เราก็คิดว่าเราจะไม่เป็นอย่างนั้น เราจะไม่หยุดแบบนั้น เราควรจะเปลี่ยน แต่พอถึงชีวิตจริงเราจะเปลี่ยนยังไง
เหมือนกันการปั้นเนี่ย ผมชอบสะสมรูปปั้น เขาก็บอกพี่มีฝีมือก็ปั้นเองดิ แต่เราปั้นไม่เป็น เพราะสมัยเรียนงานปั้นมันเลอะเทอะ ผมก็เลยเริ่มต้นมาหัดปั้น แต่การปั้นกับการเขียนรูปมันต่างกัน ช่างปั้นก็บอก ผมปั้นเหมือนวาดรูป เพราะเรารูปปั้นเรามันแบน จะไม่ถูกแบบช่างปั้น คือเราไม่ได้เรียนจริงจังนะ รูปปั้นแรก ๆ ผมจะแบนมาก มันจะดูเป็นระนาบข้างหน้า พอดีตอนนั้นมีเพื่อนแนะนำว่ามีช่างปั้นจากสเปนที่เก่งมากถูกเชิญมาสอน เราก็เลยไปเรียน พอคนรู้ก็บอกว่าระดับคุณมีชื่อเสียงยังต้องไปเรียนอีกเหรอ เรารู้สึกว่าการเรียนมันดีนะ ถ้าเรียนแล้วสามารถทำให้งานเราดีขึ้น ทำไมเราจะไม่เรียนมันไม่ใช่เรื่องเสียฟอร์ม มันทำให้เราเห็นมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่างานเรามันเป็นยังไง งานที่เราปั้นแรก ๆ มันไม่ดี แต่ก็ได้เรื่องความซื่อของเราในยุคนั้น พอเราเข้าใจการปั้นขึ้น เรามองรูปเขียนแล้วมันกลมขึ้น มันก็กลับมาช่วยงานวาดอีก เป็นการช่วยซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้ในเรื่องศิลปะ ผมว่ามันไม่จบ เรียนยังไงก็ไม่จบ มันไม่มีอะไรที่จะหยุดศิลปินได้เลย ผมชอบดูประวัติศิลปินอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล(Andy Warhol) หรืออย่างไมลส์ เดวิส (Miles Davis) เขาก็ไม่หยุด เขาก็คิดถึงแต่เรื่องใหม่ ๆ ซึ่งผมชอบมาก มันอาจจะดูแล้วเหมือนเดิมนะ แต่ในความเป็นคนทำเขารู้ว่ามันเปลี่ยนไปแล้วเขาพยายามค้นหาตัวเองแบบใหม่ ค้นหาตัวเองในงานของคนอื่น ผมว่าเรื่องนี้มันน่าสนใจ
The People: ความสนุกของศิลปะแต่ละแบบแตกต่างกันยังไง
ศักดิ์วุฒิ: อย่างที่บอกเรื่องการเชื่อดวงเนี่ย ตอนทำงานผมจะเปิดยูทูปเกี่ยวกับไพ่ทาโรทำนายนี่แหละ คนราศีเมษ เขาก็บอกว่าถึงเวลานี้จะมีโชคจะเข้ามาและมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เรื่องพวกนี้มันแปลกนะ มันจะมีจังหวะของมัน เดือนนี้คุณจะมีเงิน เดือนนี้จะมีค่าใช้จ่าย เดือนนี้โดนหนักเลยราหูล้วงทรัพย์ และมันก็เป็นอย่างที่เขาบอก เขาบอกเดือนนี้ดวงคุณเสียเงินเยอะมาก ซึ่งเราก็เสียเงินทำบ้าน มันตรงกับที่เราเป็นอยู่ คืออย่าไปดูถูกว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ มันมีเรื่องพวกนี้
แล้วดวงก็บอกว่าคุณต้องเปลี่ยนรูปแบบงานล่ะ คุณต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำ คุณต้องทำออนไลน์ ผมไม่รู้ว่าจะไปทำออนไลน์ยังไง จะไปทำสิ่งที่เกี่ยวกับดิจิทัลยังไง เพราะเราไม่ได้ถนัด วันหนึ่งก็มีคำว่า NFT ขึ้นมา เราก็รู้สึกแปลกดีที่มีคนมาชวนว่าสนใจไหม ผมก็ชอบดวง ก็ทำตามดวงเลย คุณเสนอมา เดี๋ยวผมทำให้ซึ่งมันตรงกับที่เขาทำนายไว้เลย
แต่ผมก็สงสัยนะ ใครจะมาซื้อแต่ไฟล์รูป ผมไม่เข้าใจ เขาบอกอาจารย์ไม่ต้องสนใจ โลกมันเปลี่ยน มันมีโลกเสมือนจริง เราก็เริ่มงงว่า ตัวนั้นในโลกอันนั้นแต่ตัวจริงเขาเป็นอีกคน เราก็ดูและงงว่ามันคืออะไร โลกเสมือนจริง โลกคู่ขนานกับความจริงและบางคนเขาชอบที่จะอยู่ในโลกแบบนั้น ยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน เราก็ไม่ต้องมาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ ที่เราจะไปขวางมันจะไปหยุดอยู่กับโลกของเรา ก็เลยสนุก ก็เลยลองโดดลงมาเล่นบ้าง ลองเล่นแบบคนรุ่นใหม่ว่ามันจะเป็นยังไง
The People: ภาพวาดที่จับต้องได้กับภาพในโลกดิจิทัลแตกต่างไหม
ศักดิ์วุฒิ: มันแตกต่างเพราะว่าการเขียนบน iPad มันควบคุมไม่ได้ คือเทคนิคที่ผมเคยใช้ ต่างกับคนที่ใช้อุปกรณ์แบบนี้มาอย่างจริงจัง เราเรียนมาแบบอันนี้เป็นทีแปรง อันนี้เป็นเส้นเล็ก เส้นใหญ่ และเราก็ทำเลย ลุยไปเลย ซึ่งผมว่ามันก็ดิบดี พอมาลองอะไรที่เป็นข้อจำกัดมันกลับสนุกในการทำงาน เพราะเราไม่สามารถทำแบบที่เราต้องการได้จริง ๆ มันเป็นการแก้ปัญหาใน iPad ผมว่ามันก็สนุกดี เป็นงานที่แปลกออกไป
The People: จิตวิญาณการทำงานศิลปะยังอยู่ไหมในการทำงานดิจิทัล
ศักดิ์วุฒิ: ในการที่เราเปลี่ยนเทคนิคมาทำในโลกของดิจิทัล เชื่อไหมว่าคนดูเขาดูออกแล้วบอกเลยว่า นี่งานศักดิ์วุฒิ เราก็เฮ้ย ถ้าจิตวิญญาณเรายังคงอยู่ มันมีแค่เทคนิคที่เปลี่ยนไป แต่ความเป็นศักดิ์วุฒิยังคงอยู่ ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีงานจริง เป็นไฟล์รูปที่อยู่ในอีกโลกหนึ่ง แต่มันเป็นโลกของผม ที่ยังเป็นตัวตนเราอยู่
เวลาเราเปลี่ยนเทคนิคมาทำงานปั้น ทุกคนก็บอกอันนี้รูปปั้นพี่ แม้แต่ NFT อันนี้ศักดิ์วุฒิเลย เพราะไม่มีใครเป็นแบบนี้ มีคนเขาบอกว่างานพี่ copy ไม่ได้ เพราะมีลักษณะที่พิเศษมาก ผมก็บอกงานผมเป็นแบบนั้นเลยเหรอ เขาก็บอกเป็นแบบนั้น มัน copy ไม่ได้ แต่จริง ๆ มันน่าจะ copy ได้ในโลกอนาคตถ้าเขาตั้งใจ (หัวเราะ) แต่ว่าตัวศิลปินเอง วาดรูป 3 - 4 รูปมันไม่เหมือนกันเลย เพราะว่าช่วงเวลาเปลี่ยน วันหนึ่งผมตื่นมาอารมณ์ดี ผมเขียนรูปสวย อีกวันหงุดหงิด ผมก็เขียนอีกแบบ ทุกอย่างมันมีความแตกต่างแต่ทั้งหงุดหงิดและอารมณ์ดีมันก็ยังคงเป็นศักดิ์วุฒิคนเดียวกัน
The People: นิยามว่าตัวเองเป็นคนสมัยไหน
ศักดิ์วุฒิ: ผมเป็นคนโบราณ ผมชอบฟังเพลงเก่า ผมชอบอะไรที่เป็นของเก่า ความสมัยใหม่ในแบบผมอาจจะหมายถึงความร่วมสมัย เราจะอยู่อย่างไรในโลกที่มันเปลี่ยนไป อยู่แบบเราที่เป็นศักดิ์วุฒินี่แหละ แต่เป็นศักดิ์วุฒิในปี 2022 เป็นยุคเดียวกับที่ศิลปินบางคนเขาหายไปแล้ว ไม่มีใครรู้จัก แต่ผมยังต้องอยู่ในยุคนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกลัวมากกว่า ถ้าวันหนึ่งศิลปินที่เคยมีชื่อเสียงหายไป เราเหมือนนักร้องที่ต้องออกอัลบั้มใหม่และควรมีเพลงฮิตอีก ผมคิดแบบนั้นนะ เราจะอยู่อย่างไรในโลกยุคใหม่ ออกเพลงใหม่ที่เด็กรุ่นใหม่เขาฟังกัน ผมอยากเป็นแบบนั้น และเราก็พยายามทำอยู่ทุกวันนี้ในโลกของ NFT
The People: ผลงานคอลเลคชั่น NFT
ศักดิ์วุฒิ: ในโลกของ NFT คราวนี้ ผมจะเขียนรูปของคนที่เจ้าของเหรียญ สิ่งเหล่านี้คือการทำงานร่วมกัน ผมไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่าผมจะเขียนหน้าคนนี้เป็นแบบไหน ผมจะตัดสินจากรูปคุณเลยว่า ผมรู้สึกยังไงกับรูปคุณและผมก็จะเขียนออกมาแบบนั้น ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกรูปที่ผมเขียนผมเขียนด้วยความตั้งใจ เขียนด้วยความรักในงานของตัวเองเต็มที่ทุกชิ้น ก็อยากให้ติดตามงานผมในรูปแบบ NFT ในโลกใหม่ ในสิ่งที่ผมทำใหม่ขึ้นมา ลุ้นไปด้วยกันว่ามันจะเป็นยังไง จะเกิดอะไรขึ้น วันที่ 1 สิงหาคมนี่แหละ
The People : คิดว่าภาพตัวเองในอนาคตอีกสิบปีจะเป็นแบบไหน
ศักดิ์วุฒิ: อันนี้ต้องให้คนอื่นเป็นคนตอบ คือเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมก็พยายามเป็นอยู่อย่างนี้ ผมพยายามคงอยู่ ผมมีการออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง ทำทุกอย่าง เพื่อให้คนในอายุเกือบหกสิบ อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ผมจะไม่ปล่อยให้ตัวเองแก่หรือโทรมลงไป เราไม่อยากเห็นภาพเหล่านั้น และเราต้องลงมือทำ เพราะไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ ทุกอย่างต้องลงทุน ต้องเหนื่อยก่อน ภาพลักษณ์ของศิลปินกับงานควรจะไปด้วยกัน คือเราก็ดูดีในแบบของเราในคนอายุประมาณนี้กับงานเรา ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกัน
แต่ว่าเราไม่รู้จริง ๆ ว่ามันจะประสบความสำเร็จไหมในโลกของคนสมัยใหม่ พูดตรง ๆ ในโลกสมัยนี้ที่คนสนใจงานศิลปะที่เป็นดีไซน์ความสวยงาม มันเหมือนเป็นเรื่องตลกว่า ยุคนี้คนที่จะเป็นศิลปินได้ต้องเป็นคนจบทางด้านดีไซน์ ไม่ใช่คนที่เรียนศิลปะแล้ว โลกมันเปลี่ยน คนที่เรียนดีไซน์ได้เป็นศิลปิน แล้วคนที่เรียนมาเป็นศิลปินคุณจะไปอยู่ตรงไหน คุณจะไปเป็นช่าง หรือคุณจะทนไปกับโลกที่มันเปลี่ยนไป ถ้าคุณยอมแพ้คุณก็ต้องตายไป มันเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างผมจะอยู่ตรงไหนของโลกสมัยใหม่ เพราะงานผมเป็นงานโบราณ งานเขียนรูปคนจะอยู่ยังไง จะอยู่แล้วคิดแบบเด็ก หรือเป็นคนแก่ที่ทำงานในโลกเอาใจคนรุ่นใหม่ หรือว่าเป็นตัวเราเองให้มากที่สุดและให้อยู่ได้ในโลกทุกวันนี้ ผมขอเลือกข้อหลังที่เป็นตัวเรา แต่เป็นตัวเราที่จะขายอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นนี้ตัดสินว่าของเก่านี้มันยังดีอยู่ มันยังอยู่ได้ เหมือนเรากำลังฟังแผ่นเสียง ที่คนเคยดูถูก เคยลืมไปแล้ว แต่วันนี้เขาบอกว่าไม่มีแหล่งเพลงจากไหนที่เพราะสู้แผ่นเสียง มันก็กลับไป เราก็หวังแบบนั้นนะ แฟชั่นมันวน มันก็กลับไปสู่ปีก่อน เดี๋ยวก็กลับมาใหม่ เราคาดว่าจะเป็นอย่างนั้น เราก็อยู่ในจุดที่อยู่อย่างนี้ เราก็อยู่แบบนี้ อยู่ไปเรื่อย ๆ อยู่ไปตลอดไป
The People: ถ้าการเดิมพันเป็นศิลปินไม่ประสบความสำเร็จ คิดว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่
ศักดิ์วุฒิ: คุณเชื่อไหมทุกวันนี้ผมยังฝันถึงการสอบเอนทรานซ์อยู่เลย ผมฝันบ่อยมากว่าไปสอบเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ในยุคนั้นมันเป็นสูตรเลยว่า อยากเรียนวาดรูปก็ต้องเข้าสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ผมยังฝันอยู่เลยว่าผมสอบเข้าสถาปัตย์ฯ คือแบบมันน่ากลัวนะ ในความฝันเราทำไม่ได้เพราะเวลาหมด มันยังจำอยู่ในชีวิตผมอยู่ ที่ถามผมนอนไม่หลับเลยนะ ในการที่ถ้าวันหนึ่งเราไม่เป็นศักดิ์วุฒิแบบทุกวันนี้ เราจะเป็นอะไรวะ ผมจะเป็นช่าง รับจ้างเขียนภาพเหมือน แล้วก็นั่งด่าสังคม โทษสังคมอยู่หรือเปล่า คนก็บอกมึงพูดได้ เพราะมึงประสบความสำเร็จแล้ว คือมันก็คงเป็นแบบนั้นนะ บางทีเราเถียงกับศิลปินด้วยกัน เขาก็บอกคุณพูดได้ เพราะทุกวันนี้คุณประสบความสำเร็จ คุณสบาย เราอยากบอกว่าสิ่งที่เราได้มา เพราะเราอดทนมากต่อความตั้งใจในการใช้ชีวิต ตอนนั้นผมก็ไม่มีเงินเหมือนคุณนั้นแหละ แต่ผมไม่เคยออกมาร้องว่าผมไม่มีเงินนะ ผมก็ไม่มีเงินเหมือนกัน แต่ผมแต่งตัว ผมฟอร์มดีแต่ในกระเป๋าตังค์กูก็ไม่มีเงิน (หัวเราะ) มันคือชีวิตที่เราต้องรักษาภาพลักษณ์เรา ผมไม่ร้อง ก็กลืนเลือดเอา บางปีไม่มีเงินเลยนะ ก็แบบหนังสือออกล่ะมีภาพของศักดิ์วุฒิอยู่ภาพนึง เดือนนึงได้พันห้า เราก็ไปกด ATM ดูเรื่อย ๆ แต่เงินก็ยังไม่เข้าเลย มันเป็นเรื่องจริงที่เราผ่านมา
ผมพูดตอนนี้เพื่อให้คนฟังว่า มันไม่มีอะไรง่าย การผ่านชีวิตมา ผมเรียนเร็วจบมา 25-26 เนี่ย ผ่านมาแป๊บเดียว ผมก็อายุ 60 ปีแล้ว เวลา 35 ปีมันเร็วมากกับวันที่เราเรียนจบ มันน่าใจหายนะ บางคนเขาบอกทำไมคุณตั้งราคางานแพง ผมก็บอกว่าเป็นผลงานที่ผมเดิมพันมาทั้งชีวิตเลย ถ้าตอนนั้นผมไม่ประสบความสำเร็จ ผมจะอยู่จุดไหนวะ ผมจะอยู่ยังไง จะมีครอบครัวยังไง ทุกวันนี้คิดแล้วก็ขนลุกว่าเรารอดมาได้ เราผ่านมาได้ เราเอาสิ่งที่เราผ่านมานั่งคุยให้พวกคุณฟังว่าความตั้งใจจริง ความเชื่อมั่นในตัวเอง
The People: ตอนนี้อาจารย์ตอบได้หรือยังครับ งานแบบศักดิ์วุฒิให้อะไรกับสังคม ศักดิ์วุฒิ: บางคนมาบอกผมว่า ชื่นชมอาจารย์มากเลย ชอบงานอาจารย์มาก งานโดนใจมาก ถ้าเขาดูงานผม เขามีความสุข เขามีพลัง เด็กบางคนเขาบอก งานอาจารย์ทำให้ผมกล้าที่จะสู้ต่อไป ผมว่านี่แหละคือสิ่งที่ผมให้กับสังคม การทำงานดี ๆ ให้เป็นกำลังใจกับคนที่ดู ให้เขาได้กลับไปคิดต่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ผมว่าอันนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วในการเกิดมาเป็นผม การให้สำหรับคนรุ่นหลังดูว่างานแบบนี้มันเคยเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของบ้านเมืองนี้มันเป็นแบบนี้ ผมว่านี่ก็คือที่สุดแล้ว
สัมภาษณ์: กิตยางกูร ผดุงกาญจน์
เรียบเรียง: อารดา แทนศิริ
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม