แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับความเชื่อ ส่งต่อ ‘Ghost-Power’ ผ่านเกม Home Sweet Home

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับความเชื่อ ส่งต่อ ‘Ghost-Power’ ผ่านเกม Home Sweet Home

“การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยมีหลายอย่าง นี่คือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับความเชื่อ” แซค-ศรุต ทับลอย ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) และ Game Creative Director พูดถึงที่มาของการสร้างเกมเรื่องลี้ลับของไทย Home Sweet Home

จากเดิมที่บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ทำคอมพิวเตอร์กราฟิกพวกงาน CG แต่การสร้างเกม Home Sweet Home เป็นการเพิ่มเซกชันใหม่เข้ามา แต่ไอเดียจากเกมนี้เรียกว่าสร้างกระแสจนมีหลายคนติดภาพไปแล้วว่า อิ๊กดราซิล เป็นบริษัททำเกม ซึ่งถ้ามองในแง่ดีมันก็เป็นการสร้างการจดจำ สร้างการรับรู้ให้ดีขึ้น

แต่มีจุดน่าสนใจเกี่ยวกับไอเดียการสร้างเกม แซค - ศรุตบอกว่า “ไอเดียการสร้างเกม Home Sweet Home เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว จากทำ Visual Effect แล้วก็เริ่มมาทำงานด้านแอนิเมชัน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ หรือ Future Film

“เรามองว่าในอนาคตเทคโนโลยีการทำอะไรที่เป็น real time render engine น่าจะมา แล้วก็อาจจะมีเรื่องของ VR กับ AR เข้ามาด้วย คอนเทนต์ในอนาคตมันอาจจะไม่ใช่แค่ผู้ดูดูฝ่ายเดียวแล้ว อาจจะมีเรื่องของการ interactive กลับเข้ามาด้วย ทำให้ผู้เล่นเกมใกล้ชิดกับเกมมากขึ้น รู้สึกอินมากขึ้น” แซค - ศรุตพูดตอนที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

“ก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะศึกษาตรงนี้แล้ว และไหน ๆ ก็เป็นคนชอบเล่นเกมอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ทำมันออกมาในรูปแบบเกมไปพร้อม ๆ กับการศึกษาตรงนี้ไปเลยละกัน”

ซึ่งเหตุผลเพียงไม่กี่อย่างของแซค - ศรุต ที่ตัดสินใจศึกษาและสร้างเกมออกมาเพราะหวังที่จะใช้เทคโนโลยีจากที่ศึกษาเรื่องเกม มาต่อยอดกับการทำงาน Visual Effect และงานแอนิเมชันเพราะเป็น core สำคัญของธุรกิจ

ผีไทยเป็นรากเหง้าของการใช้ชีวิต

เมื่อถามแซค - ศรุตว่า “ทำไมต้องผีไทย?” มุมมองจากคำตอบน่าสนใจเพราะเขามองว่า การพูดถึงความเป็นไทยมันต้องมาจากความเชื่อ ตั้งแต่รากเหง้าของมัน ไม่ใช่แค่ศิลปกรรมที่เราเห็น ไม่ใช่ไทยแค่หน้ากาก

“มวยไทย ลายไทย ลายกระหนก จิตรกรรมฝาผนัง สิ่งเหล่านี้มันไม่พอ ตรงนั้นมันเป็นแค่องค์ประกอบฉาบฉวย มันต้องผ่านการวิเคราะห์ด้วยว่าอะไรคือรากเหง้าของมัน ซึ่งก็คือความเป็นไทยอย่างลึกซึ้ง ก็ไม่พ้นเรื่องความเชื่อทางด้านศาสนา เรื่องภูตผีปีศาจ

“และก็มองว่าในช่วงเวลานั้นอะไรที่เกี่ยวกับไทยและต่างชาติเขานิยม ก็จะมีมวยไทย หนังผีไทยที่มีการซื้อลิขสิทธิ์และเอาไปฉายที่นั่น เช่นเรื่องชัตเตอร์ฯ

“เราอยากทำเกมให้มันดี แต่ว่าเราก็อยากจะขายความเป็นไทยออกไปด้วย ผมอยากให้ต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เป็นคนไทย ที่เป็นจิตวิญญาณของเรา ที่มันทำออกไปแล้วคนสนใจ

สำหรับการสร้างเกมผี มันเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของคนในวงการนี้จะรู้อยู่แล้วว่ามันง่าย และระบบไม่ซับซ้อนมาก ที่สำคัญเข้าถึงนักเล่นเกมได้ง่ายด้วย

ก่อนจะมาเป็น Home Sweet Home เกมในสเกลที่ใหญ่ แซค - ศรุตก็ไต่ตามขั้นตอนที่ต้องฝึกฝนอยู่แล้ว อย่างเริ่มแรกที่มีการเพิ่มเซกชันเกมก็เริ่มจากจุดที่เป็น ‘โมบายเกม’ ก่อนเพื่อเรียนรู้ว่าระบบการทำงานของเกมเป็นอย่างไร การบริหารจัดการเกมเป็นแบบไหน จากนั้นพอเริ่มมั่นใจแล้วก็ขยับการสร้างเกมในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เกมแรกคือ Home Sweet Home

เกมผีไทยแต่หลอนถึงต่างประเทศ

“มันเป็นเรื่องปกติที่การสร้างเกมในแต่ละครั้งกระแสช่วงแรก ๆ จะดังเปรี้ยง พีคมาก และจากนั้นมันจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง ดังนั้นเราต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ

“อย่างตอนนี้เราก็มีการปล่อยตัว Early Access ที่ให้คนเล่นเกมจ่ายเงินและเข้าไปเล่นเกม และเราก็พัฒนาไปด้วย ซึ่งตัวเต็มจะเตรียมปล่อยในช่วงปลายปีนี้ ก็จะมีทั้งตัวละครใหม่ feature ใหม่ เรื่องราวใหม่ที่แทรกเข้าไปด้วย”

กระแสความหลอนของเกม Home Sweet Home เวอร์ชันใหม่ไม่ใช่แค่ในไทยที่ติดตามอยากหลอนด้วย เพราะในต่างประเทศกระแสแรงไม่แพ้กัน อย่าง จีนและสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดผู้เล่นเกมที่ใหญ่มาก (เทียบให้เห็นภาพคือไทยเป็นแค่ 1 ใน 3 ของผู้เล่นเกม Home Sweet Home เท่านั้นเอง) ซึ่งอิ๊กดราซิลเตรียมจะเปิดเซิร์ฟเวอร์ในแถบอเมริกาใต้ และประเทศอื่นด้วยเป็นแพลนในอนาคต

ส่วนตลาดอาเซียนก็ไม่แผ่วเหมือนกัน ซึ่งใครอาจจะเคยเห็น reaction ในแอปพลิเคชัน TikTok เกี่ยวกับเกม Home Sweet Home ทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งแซค - ศรุตบอกว่า ตลาดเพื่อนบ้านรวมทั้งจีน ไต้หวัน เกาหลี ก็เป็นลูกค้าของบริษัทเหมือนกัน และเกม Home Sweet Home ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก

 

ใช้ความเป็นผีไทยส่งต่อ Soft Power

หลายประเทศมีการใช้ Soft Power เพื่อตีตลาดต่างประเทศอย่างที่เราเห็นบ่อย ๆ ก็คือ เกาหลี (K-Pop) และญี่ปุ่น (J-Pop) ซึ่งถ้ามองในภาพรวมสำหรับเกม Home Sweet Home อาจจะส่งต่อความเป็นไทยได้เหมือนกัน เพียงแต่อยู่ในรูปแบบผี ๆ เรื่องของความเชื่อมาเป็นสัญลักษณ์แทน

แซค - ศรุตให้มุมมองว่า การใช้ Soft Power ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องผีเข้ามาอยู่ในเกม แต่เกมในทุกรูปแบบเราสามารถดีไซน์ได้ สอดแทรกวัฒนธรรม ความเชื่อ ตัวตนของคนไทยเข้าไปได้

“ธุรกิจเกมในไทย จริง ๆ เราพยายามทำกันมานาน แต่เหมือนจะเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะไม่มีต้นทุน ไม่กล้าที่จะลงทุนในการทำเกม แต่เดี๋ยวนี้มีคนที่เริ่มสนใจในธุรกิจเกมมากขึ้น เพราะว่ารายได้ในการทำธุรกิจเกม โดยเฉพาะการนำเข้าเกมจากต่างประเทศเข้ามาจัดจำหน่ายในไทย มันมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง

“นักธุรกิจเริ่มรู้สึกว่า เกมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าลงทุน น่าที่จะโยนเม็ดเงินเข้าไปเพื่อให้เขาสร้างขึ้นมา ซึ่งในอนาคตเราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่านั่นคือเกมที่ผลิตจากคนไทย แต่มันไปขายในระดับต่างประเทศแล้ว”

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับแซค - ศรุต คือการสนับสนุนจากภาครัฐ การให้งบประมาณ การให้ความรู้ หรือการที่ภาครัฐช่วยนำนักทำเกมจากต่างประเทศมาแชร์ Know-How หรือว่าหาช่องทางในการขายให้กับคนทำเกมในไทยได้มีโอกาสที่จะแสดงฝีมือ ไม่ใช่โฟกัสแค่การทำ business matching อย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วมันจะสำเร็จได้เขาต้องเห็นผลงานของธุรกิจไทยก่อน อย่างเกมก็ต้องรู้ว่าเรตติ้งมันดีหรือไม่

“เราไม่ได้มีปัญหาในการหาคู่ค้า แต่ธุรกิจไทยมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดการพัฒนาฝึกฝนที่ต่อเนื่อง ขาดการทำมาร์เก็ตติ้งที่ดี

“ส่วนคนเล่นอาจจะต้องเปิดใจนิดหนึ่งว่า โอเคเราอาจจะไม่ใช่ค่ายใหญ่เบอร์ดังที่มีเกมที่ sucess อยู่แล้วมาการันตี แต่ก็ลองเปิดใจดูเพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าเกมเราเป็นยังไง ก็ให้คำชี้แนะติชมมา”

แซค - ศรุตยังพูดถึงโปรเจกต์ลับที่น่าจะเปิดตัวช่วงปลายปีนี้ โดยเป็นคล้าย ๆ social network ที่เป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม ที่น่าสนใจคือโปรแกรมนี้จะช่วยลบ pain point ของนักพัฒนาเกมได้ และคนทั่วไปก็สามารถใช้โปรแกรมนี้ในการสร้างเกมของตัวเองได้ง่ายขึ้น

“โปรเจกต์นี้น่าจะเป็นท่าไม้ตายที่เอาไว้ฆ่าบริษัทต่างชาติได้ ซึ่งธุรกิจไทยเรามีของดีอยู่แล้ว ถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น มันก็เป็นการช่วยโปรโมตประเทศให้เป็นที่รู้จักได้อย่างหนึ่ง”

 

สร้างเกมต้องมี passion ไม่ใช่ทำธุรกิจแค่ฉาบฉวย

“ผมไม่ได้รู้สึกว่าอยากใช้ความเป็นไทยเพื่อให้คนอื่นมาสนับสนุนว่านี่คือเกมของไทย แต่ผมต้องการให้คนที่อยากทำเกมสร้างเกมให้ดีที่สุด แล้วเอาจุดนี้เป็นจุดขาย อย่าบอกแค่ว่าเกมนี้เป็นเกมไทย เพราะสุดท้ายถ้าผู้เล่นไม่ได้รู้สึกว่าเกมนี้มันสนุกมันดี มันก็จะทำให้เกิดผลเสียในวงการเกมไทยได้

“แต่ถ้าเราตั้งใจที่จะทำเกมให้มันสนุกจริง ๆ ไม่ใช่แค่มาทำธุรกิจให้มันฉาบฉวย เราใส่ใจกับมัน ผมเชื่อว่าความใส่ใจ ดีเทลต่าง ๆ จะเข้าไปถึงหัวใจของนักเล่นเกมได้”

แซค - ศรุตยังพูดถึงวิธีคิดในการทำคอนเทนต์หนึ่งขึ้นมาให้มันดี อย่างคอนเทนต์เกม Home Sweet Home ที่สำคัญเลยคือ “เราต้องไม่ยัดเยียดความเป็นไทยจนผู้เล่นเกมรู้สึกอึดอัด ไม่ทำคอนเทนต์ให้โบราณ ต้องดัดแปลงมุมมองวัฒนธรรมไทยด้วยแล้วดีไซน์ขึ้นใหม่ให้มันดีกว่าเดิม อย่าง Home Sweet Home ผมก็ดัดแปลง ไม่ใช่ผีไทย 100% แต่ยังทิ้งรากเหง้าของความเชื่อเดิมอยู่”

สิ่งสำคัญที่แซค - ศรุตฝากถึงคนที่มีฝันอยากเป็นนักสร้างเกม หรืออยากเป็นนักธุรกิจว่า “เมื่อลองทำแล้วถ้ามันเฟลหรือเจ๊ง อย่าเข็ด อย่ายึดติดกับความล้มเหลวตรงนั้น ให้เริ่มใหม่ ถ้าเราเหนื่อยก็แค่หยุดพัก หาเวลาพักผ่อน หรือลองเล่นเกมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลองก็ได้