20 ก.ค. 2565 | 14:30 น.
นอกจากดูแลความเรียบร้อยในชีวิตประจำวันแล้ว ยังปกป้องเด็ก ๆ ให้รอดพ้นจากการถูกคุกคามของเหล่าปาปารัสซี การเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยธรรมชาติ ไปจนถึงการถูกลักพาตัว
ความสามารถของพี่เลี้ยงที่จบจากวิทยาลัยนอร์แลนด์เป็นที่เลื่องชื่อ แม้แต่ราชวงศ์อังกฤษยังไว้วางใจ โดยได้ว่าจ้าง ‘มาเรีย โบร์รัลโล’ (Turrion Borrallo) พี่เลี้ยงชาวสเปนจากวิทยาลัยดังกล่าวให้มาดูแลเจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายหลุยส์ ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ‘บอริส จอห์นสัน’ (Boris Johnson) เองก็ใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กจากวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน
แต่กว่าวิทยาลัยนอร์แลนด์จะได้รับความไว้วางใจจากเหล่าชนชั้นสูง คงต้องย้อนกลับไปยังปี 1892 หรือราว 130 ปีก่อน หลังจาก ‘เอมิลี วอร์ด’ (Emily Ward) เล็งเห็นว่า นอกจากการส่งลูกหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนที่ดีแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันของเหล่าผู้ปกครองคือการดูแลเด็ก ๆ นอกห้องเรียนให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย
เมื่อมองไปรอบตัว วอร์ดยังไม่เห็นว่ามีสถาบันไหนที่เปิดสอนศาสตร์การเป็นพี่เลี้ยงเด็กอย่างเป็นทางการ วิทยาลัยนอร์แลนด์จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยความพิเศษของที่นี่จะไม่ได้ดูแลแต่ความเรียบร้อยในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากแต่ยังปกป้องเด็ก ๆ ให้รอดพ้นจากอันตรายทุกรูปแบบ ไม่ว่าการถูกคุกคามจากเหล่าปาปารัสซี การเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยธรรมชาติ ไปจนถึงการถูกลักพาตัว
แต่ใช่ว่า ทุกคนจะสามารถเข้าเรียนที่วิทยาลัยนอร์แลนด์ได้ เพราะค่าเทอมที่นี่ขึ้นชื่อว่า ‘แพงระยับ’ อาจต้องจ่ายเกือบ 7 แสนบาทต่อปี (แพงกว่ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์) เพื่อสมัครเข้ามาเรียนเป็นพี่เลี้ยงเด็ก อาชีพที่บางครอบครัวอาจมองว่า ขอแค่จ้างใครสักคนมาคอยดูแลชีวิตประจำวันของลูก ๆ ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาเลิศเลอ มีแค่มารยาทหรือรักเด็กก็เพียงพอแล้ว
วิทยาลัยนอร์แลนด์ได้ลบภาพจำของพี่เลี้ยงเด็กสุดแสนจะธรรมดาออกไปจนหมด เราจะไม่เห็นพี่เลี้ยงเด็กสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ผมเผ้าอาจจะหลุดรุ่ยออกมาเพราะเล่นกับเด็กในการดูแล หรือท่าทางการเดินที่ไม่สง่างาม
เพราะพี่เลี้ยงจากนอร์แลนด์มีความเนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ใบหน้าที่ถูกแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางเพียงเล็กน้อย ผมที่ถูกมัดรวบตึงม้วนเก็บใต้หมวกสักหลาดสีน้ำตาลเอาไว้อย่างดี ชุดยูนิฟอร์มสีเบจอันเป็นเอกลักษณ์ และถุงมือสีขาวคู่กายอันโดดเด่น ส่วนชุดยูนิฟอร์มชายก็มีลักษณะคล้ายกัน เพียงแค่ไม่มีหมวกสักหลาด
ปัจจุบันวิทยาลัยนอร์แลนด์พยายามผลักดันภาพลักษณ์ของพี่เลี้ยงเด็กว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น เพราะผู้ชายหรือเพศสภาพไหนก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงเด็กจากวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้ได้
“เรากำลังทลายกรอบเรื่องเพศสภาพ เนื่องจากอาชีพพี่เลี้ยงเด็กถูกมองว่าเหมาะกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เราจะทำให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพใด ทุกคนสามารถเป็นพี่เลี้ยงเด็กได้ ขอเพียงแค่มีความกระตือรือร้นและความเพลิดเพลินใจในการใช้เวลาอยู่กับเด็ก
“เราไม่ควรหยิบยกเรื่องเพศมาเป็นประเด็นสำคัญ หากจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ คงไม่ต่างจากอาชีพพยาบาลที่เมื่อก่อนจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่เมื่อทัศนคติของคนในสังคมเปลี่ยนไป บุรุษพยาบาลจึงเกิดขึ้น และผู้ชายก็ให้ความสนใจในอาชีพนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
“ซึ่งเราก็ได้แต่คาดหวังว่าอคติทางเพศจะจางหายไปจากสังคม และเห็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง”
นอกจากเครื่องแบบที่สง่างามแล้ว นักศึกษาผู้ที่สวมใส่ก็สง่าไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาและเธอ จะได้รับการฝึกอบรมมารยาทระดับสูง การทำอาหาร เย็บปักถักร้อย ไปจนถึงทักษะการช่วยชีวิตและป้องกันตัว ศาสตร์เหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กตลอด 4 ปีการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองว่าลูก ๆ ของพวกเขาพร้อมแล้วที่จะออกไปเผชิญโลกกว้าง
“จงเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กในความดูแล สามารถก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย” ข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในไดอารีของเอมิลี วอร์ด ถูกบันทึกไว้ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 1892
ทุกหลักสูตรการเรียนการสอนได้รับการเคี่ยวกรำจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะศาสตร์การป้องกันตัว ที่เหล่านักศึกษาพี่เลี้ยงเด็กจะต้องผ่านการฝึกขับรถหลบหนี (อยากให้ลองนึกภาพ ฉากการขับรถหลบหนีผู้ร้ายในหนังแอคชัน พี่เลี้ยงเด็กจากนอร์แลนด์จะต้องขับรถให้เชี่ยวชาญระดับนั้น) ฝึกยิงธนู ทำอาวุธขึ้นมาใหม่จากอุปกรณ์ที่มีอยู่ ไปจนถึงการเตะ-ต่อยศัตรู เพื่อปกป้องเด็กที่อยู่ในความดูแล ไม่ต่างจากบอดี้การ์ดในคราบพี่เลี้ยงเด็ก
ส่วนคุณสมบัติผู้ที่จะมาเรียนที่วิทยาลัยนอร์แลนด์ นอกจากจะมีเงินทุนประมาณหนึ่งแล้ว ผู้สมัครจะต้องผ่านการสัมภาษณ์วัดทัศนคติแบบตัวต่อตัว และผ่านการสอบปฏิบัติอีกหลายอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่า ‘ว่าที่’ พี่เลี้ยงเด็กในอนาคตจะสามารถทำหน้าที่มอบความรัก ความอบอุ่นใจ และรับผิดชอบชีวิตน้อย ๆ ได้
หลังจากผ่านการคัดเลือก พวกเขาหรือเธอจะต้องทำตามกฎระเบียบสุดเข้มงวด ห้ามทาสีเล็บและจะต้องตัดสั้นอยู่เสมอ ห้ามแต่งหน้าจัด ต้องสวมเครื่องแบบให้ถูกระเบียบเมื่ออยู่ในวิทยาลัย แต่ถ้าหากไม่ได้อยู่ระหว่างการเรียนก็สามารถแต่งกายได้ตามปกติ ที่สำคัญคือต้องรักษามารยาทในที่สาธารณะ ท่าทางการเดินต้องสง่างาม ห้ามกระทำการใดที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และกินอาหารฟาสต์ฟู้ด
นอกจากค่าเทอมที่แพงหูฉี่ ความสามารถระดับมหากาพย์ แต่หลังสำเร็จการศึกษาไปแล้ว พวกเขาและเธอก็ได้รับค่าตอบแทนชนิดที่ว่า ‘คุ้มเหนื่อย’ เมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรงตลอดระยะเวลา 4 ปี เพราะพี่เลี้ยงจากนอร์แลนด์จะได้รับค่าตอบแทนสูงถึงปีละ 1.9 ล้านบาท และอาจสูงถึง 5.6 ล้านบาทต่อปี เรียกได้ว่าลงทุนไปเกือบ 3 ล้าน ทำงานไม่กี่ปีก็คืนทุน
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจะเข้ามาดูแลลูกหลาน หน้าที่หลักของผู้ปกครองที่จะต้องทำไปจนตัวตายคือการมอบความรัก ความอบอุ่นใจให้แก่พวกเขา เพราะ ‘ครอบครัว’ คือสถาบันแรกที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้แนวทางการใช้ชีวิตในโลกกว้าง ครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังทัศนคติ และหล่อหลอมตัวตนของพวกเขาให้เติบโตมาเป็นบุคลากรชั้นดีของประเทศ
ภาพ: Norland College
อ้างอิง:
https://www.norland.ac.uk/heritage-ethos-vision/
https://www.norland.ac.uk/wp-content/uploads/2022/06/NORLAND-TIMELINE-1892-2022.pdf