18 ก.ค. 2565 | 14:56 น.
ทว่าในอีกทางหนึ่งก็ถูกปรามาสว่าเป็นวงการการพนันที่เต็มไปด้วยเซียนมวย นักเลงมวย จนกระทั่งอาชญากร
ซีรีส์นี้ฉายภาพของทั้งตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวงการมวยไทยที่ตัดสลับกับบทสัมภาษณ์บุคลากรในวงการมวยไทยที่ยิ่งขับเน้นให้เรื่องราวเข้มข้นและบีบคั้นจนบางครั้งผู้ดูเองยังต้องรู้สึก ‘เจ็บเจียนตาย’ ไปด้วยดังคำโปรยที่ว่า
“เปิดแผลวงการมวยไทยที่เต็มไปด้วยเรื่องต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นการล้มมวยหรือการพนัน ดำดิ่งสู่ด้านมืดของกีฬาอันทรงเกียรตินี้ ในซีรีส์ดราม่าที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง”
มวยไทย จากศิลปะการสู้รบสู่อาชีพนักมวยและการพนันอาชีพ
มวยไทยนั้นเดิมจะถูกเรียกว่า ‘ต่อยมวย’ หรือ ‘มวย’ ไม่มีบันทึกชัดเจนว่ามวยไทยนั้นถือกำเนิดมานานเพียงใด แต่ในประวัติศาสตร์บอกเล่ามักกล่าวว่ามวยไทยเป็นศิลปะในการรบของไทยควบคู่กับทักษะการใช้ธนู ดาบ และหอก ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการสำหรับการฝึกทหารของกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ราว พ.ศ. 2100) ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกรวม ๆ ว่าคือ ‘มวยโบราณ’ ในช่วงเว้นจากสงคราม
มวยไทยเป็นทั้งสันทนาการของชาวบ้านและเป็นการแสดงสำหรับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยเรียกว่า ‘รำหมัด รำมวย’ และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราว พ.ศ. 2200) จึงเกิดนักมวยอาชีพขึ้นผ่านการจัดการแข่งขันที่ราชสำนักสนับสนุน สัญลักษณ์หนึ่งของนักมวยคือการใช้เชือกคาดเป็นปมที่กำปั้นและเอาโคลนมาทับให้แข็ง มวยโบราณจึงมักเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘มวยคาดเชือก’
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการคัดนักมวยเพื่อเฟ้นหานักมวยที่เก่งมาเป็นทหารรักษาพระองค์ในสังกัดกรมมวยหลวง ทรงจัด ‘มวยหลวง’ ขึ้นแข่งขัน และทำการแสดงตามหัวเมืองต่าง ๆ ทรงให้กรมศึกษาธิการสร้างหลักสูตรมวยไทยเป็นวิชาในหลักสูตรของโรงเรียนครูฝึกหัดพลศึกษา และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ความนิยมของมวยไทยจึงเติบโตขึ้นมาอย่างมาก และเริ่มมีการจัดการแข่งขันด้วยการสวมนวมเพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบการแข่งขันกีฬามวยสากล จนมีการสร้างสนามมวยแบบมาตรฐานขึ้นในช่วงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จนถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ได้จัดให้มวยอยู่ในบัญชี ข. คือ จะจัดแข่งขันและสามารถพนันกันได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
แต่ใน พ.ศ. 2484 รัฐบาลได้สร้างสนามมวยบนถนนราชดําเนิน และสนามมวยลุมพินี ในปี พ.ศ. 2499 กระทั่ง พ.ศ. 2504 มีการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2504 อนุญาตให้เพียง 2 สนามที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ดังกล่าวเท่านั้นที่สามารถจัดให้มีการเล่นการพนันมวยอย่างถูกกฎหมายได้
และเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 บัญญัติให้กีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และเป็นวัฒนธรรมประจําชาติที่ต้องควบคุมดูแลการแข่งขันมวย และส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยให้มีมาตรฐาน และพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้เองก็ได้สร้างปัญหาในทางปฏิบัติให้แก่คนในวงการมวยไทยมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมกํากับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนที่ไม่เป็นรูปธรรมและไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยเฉพาะปัญหาการจำกัดอายุของบุคคลที่จะขึ้นชกมวยได้ไว้ที่ 15 ปี ซึ่งส่งผลกระทบกับบรรดานักมวยเด็กที่ขึ้นเวทีเพื่อรับค่าตัวหาเลี้ยงครอบครัวที่มีอยู่คู่กับวงการมวยไทยมาอย่างช้านาน
แม้ปัจจุบัน มวยไทยเริ่มมีพัฒนาการจากกีฬาที่แฝงการพนันเข้าสู่รูปแบบของการออกกำลังกายผ่านแนวคิด ‘คีตะมวยไทย’ ‘มวยไทยแอโรบิก’ และ ‘ยิม (ฟิตเนส) มวยไทย’ การเกิดขึ้นของสื่อบันเทิงมวยไทยในฐานะการแข่งขันกีฬาประจำชาติที่จัดเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่จากข้อมูลงานวิจัยในปี 2560 มวยไทยจะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันประมาณ 50 คู่ต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 2,500 คู่ต่อปี แต่ผู้ชมมวยแยกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คือดูมวยเพื่อความบันเทิงผสมผสานกับการสร้างสำนึกความรักชาติ และดูมวยเพื่อเล่นพนันที่มีวงเงินพนันทั้งรูปแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
ผลสรุปจากงานวิจัยเล่มดังกล่าวพบว่า การพนันเป็นตัวหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมมวย เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่จะเข้าไปเล่นการพนันในสัดส่วน 90 : 10 ระบบการพนันสามารถควบคุมผู้เล่นพนันที่เล่นเสียให้จ่ายเงินได้ มีวงเงินการพนันหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อรายการ และการพนันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของทุก ๆ องคาพยพของการแข่งขันในแต่ละรายการ โดยมีเป้าหมายคือการกระตุ้นให้มีปริมาณการเล่นการพนันมาก
สิ่งนี้ทำให้มีวงเงินการพนันมวยหมุนเวียนประมาณปีละ 40,000 - 50,000 ล้านบาท ด้วยเดิมพันและผลประโยชน์ที่สูงลิบนี้เอง สนามมวย โปรโมเตอร์มวย หัวหน้าค่ายมวย และนักมวย เซียนมวย จึงพยายามเข้ามากำหนดผลการแข่งขันด้วยการจ้างล้มมวย วางยานักมวย หรือส่งสัญญาณให้กรรมการ
เจ็บเจียนตาย ความเป็นจริงที่แทรกซึมอยู่กับวงการมวยไทย
การที่นักมวยไทยมักมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและความรู้น้อย อาชีพนักมวยมีต้นทุนคือความอดทนในความ ‘เจ็บเจียนตาย’ จากการฝึกซ้อมและการแข่งขันในสังคมวงการมวย ที่หากพวกเขาไม่อดทน หรือทนไม่ได้ พวกเขาก็ต้องกลับไปสู่สังคมที่พวกเขาพยายามหลีกหนีมา
นักมวยถูกปลูกฝังให้รู้จักกับการพนันนับตั้งแต่ก้าวแรกสู่วงการมวยไทย ในการขึ้นชกแต่ละครั้ง ผู้ปกครองหรือครูมวยต้องมีเงินเดิมพันอย่างน้อย 1,000 บาท แต่กระนั้นนักมวยก็จะถูกปลูกฝังว่าต่อให้อยู่ใกล้กับการพนันมากเพียงใด แต่ต้องไม่ทรยศต่อวิชาชีพมวย นั่นคือ ‘นักมวยต้องไม่ล้มมวย’ แต่เมื่ออายุมากขึ้น การพนันเริ่มมีวงเงินเดิมพันสูงมากขึ้น ยิ่งการพนันออนไลน์ที่ทำให้เดิมพันสูงขึ้นเป็นหลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน หรือมากกว่านั้น
ซึ่งเป็นระดับที่แตกต่างกับค่าตัวของนักมวยหลายเท่า ประกอบกับบรรดาเซียนมวย หรือผู้คลุกคลีในวงการการพนันมวยที่ก็ไม่อยากสูญเสียเงินเดิมพันจน ‘เจ็บเจียนตาย’ เช่นกัน ก็มักจะหยิบยื่นสินบนล่อตาล่อใจมาเสมอ ๆ โอกาสที่นักมวยจะเลือกล้มมวยก็มีสูงขึ้น
และแม้นักมวยไทยจะไม่อยากทรยศวิชาชีพของตน จากการที่ในวงการมวยมีระบบกลไกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง ความสัมพันธ์ระหว่างเซียนมวยกับบุคลากรในค่ายมวยก็อาจส่งผลให้เกิดการจ้างล้มมวย วางยานักมวย โดยให้คนใกล้ชิดนักมวยเอายาที่ส่งผลต่อสติหรือร่างกายของนักมวยให้กิน และกระทั่งการจ้างกรรมการให้ตัดสินไปตามที่เซียนมวยต้องการ
ซึ่งนี่เองทำให้เมื่อเกิด ‘เหตุการณ์ไม่ปกติ’ ขึ้นในการแข่งขัน เช่น ถูกจับได้ว่ามีการล้มมวย หรือเกิด ‘อาชญากรรม’ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย หรือเอาชีวิตกันระหว่างคนในวงการมวยไทย นั่นก็ทำให้วงการมวยไทยเองก็ถูกก่นด่าจน ‘เจ็บเจียนตาย’ เช่นกัน
‘เจ็บเจียนตาย’ จึงอาจเป็นคำจำกัดความที่ตรงประเด็นและสะท้อนภาพความเป็นจริงของวงการมวยไทยในปัจจุบันที่สุด ดังที่ซีรีส์พยายามสะท้อนผ่านเรื่องราวของเซียนมวย เซียนใหญ่ กรรมการ นักมวย ครูมวย และผู้ปกครองของนักมวย ที่ต่างดำรงชีวิตอยู่บนปากเหวแห่งความเสี่ยง
ปากเหวที่ต่างคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดเจียนตายจากความยากจน จากโอกาสทางสังคมที่น้อยนิด การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อจะเป็นที่หนึ่ง การพนันที่กลายเป็นอาชีพที่เดิมพันสูงสุดอาจเป็นความล่มสลายของชีวิตครอบครัวหรือกระทั่งสูญเสียชีวิต
ซีรีส์ Hurts Like Hell (เจ็บเจียนตาย) จึงเป็นภาพสะท้อนที่ฉายภาพให้ผู้ชมเข้าใจ ‘วงการมวย’ ผ่านตัวละคร และบทสัมภาษณ์ของบุคคลในวงการมวยไทย ที่ต่างโยนคำถามต่าง ๆ อาทิ “เซียนมวยและวงการมวยไทยเป็นวงการของสุภาพบุรุษจริงหรือไม่?” “กรรมการและการตัดสินมวยไทยมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือไม่?” “มวยเด็กเป็นสิ่งสมควรหรือไม่?” และที่สำคัญที่สุดและเป็นแก่นเรื่องสำคัญที่สุดคือ “การพนันมวยคือการอนุรักษ์มวยไทยจริงหรือไม่?”
เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม
ภาพ: Netflix/Hurts Like Hell