05 ส.ค. 2565 | 18:06 น.
คำว่า ‘แสงสว่าง’ หลายคนยกให้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลกเคยพูดไว้ว่า “การหยิบยื่นความสว่างให้โลกคือการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์"
ซึ่งเป็นสิ่งที่ตระกูลฟิลิปส์ ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน แต่ในปี 2022 ฟิลิปส์กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่เรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หลังจากที่มีการเรียกคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีปัญหา จนทำให้มูลค่าตลาดของฟิลิปส์ลดลงถึง 70% เทียบกับปี 2564
จนทำให้ 'รอย จาคอบส์' ซีอีโอคนล่าสุดที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนก่อน ประกาศปลดพนักงาน 4,000 ตำแหน่งทั่วโลก เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับองค์กร
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปส์ ยังคงเป็นแบรนด์ที่มีประวัติยาวนานและน่าสนใจ โดยแนวคิดของผู้ก่อตั้งแบรนด์เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก็คือ 'ความหวัง'
อยากให้เนเธอร์แลนด์สว่างไสว
จุดเริ่มต้นของบริษัทฟิลิปส์ (ชื่อเต็มคือ Royal Philips NV) เกิดขึ้นจากตระกูล ‘ฟิลิปส์’ ในปี 1891 ในเมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยชาย 2 คน คือ เฟรเดอริก ฟิลิปส์ (ผู้เป็นพ่อ) และ เจอราร์ด ฟิลิปส์ (บุตรชาย) ซึ่งในขณะนั้นเมืองไอนส์โฮเวน ถือว่าเป็นเมืองในแถบชนบทที่ยังไม่เจริญเหมือนตอนนี้
เฟรเดอริกจึงมีความคิดว่าถ้าสามารถผลิต ‘หลอดไฟราคาประหยัด’ ได้ คงทำธุรกิจที่เมืองนี้รุ่งแน่ ๆ จึงได้คุยกับเจอราร์ด ลูกชายถึงไอเดียนี้ ขณะเดียวกันเจอราร์ดเองก็มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม
เมื่อพ่อลูกมีวิสัยทัศน์ตรงกัน เขาทั้งสองจึงได้พัฒนาและเรียนรู้ให้เกิดเป็นหลอดไฟขึ้นอย่างจริงจัง โดยมีเจอราร์ดเป็นวิศวกรประจำบริษัทในเวลานั้น ซึ่งสิ่งประดิษฐ์แรกที่บริษัทสร้างขึ้นก็คือ ‘หลอดไฟแบบหลอดไส้คาร์บอน’ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่คนต้นคิดเกี่ยวกับหลอดไฟ แต่ถ้าพูดว่าฟิลิปส์เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ทำให้หลอดไฟมีอายุการใช้งานนานขึ้นก็ไม่ผิด
หลังจากนั้นในปี 1900 แอนตัน ฟิลิปส์ (Anton Philips) น้องชายของเจอราร์ด ได้เข้ามาช่วยธุรกิจในมุมของการพาณิชย์ ทำให้ธุรกิจหลอดไฟเป็นที่รู้จัก ขายได้ และสร้างความต้องการในตลาด รวมไปถึงขยายตลาดไปต่างประเทศด้วย
‘รัสเซีย’ เป็นประเทศแรกที่ฟิลิปส์เข้าไปทำการตลาด กระตุ้นดีมานด์และสร้างการรับรู้ว่าหลอดไฟที่ดีต้องมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นด้วย จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลอดไฟรายใหญ่ที่สุดในยุโรป และเข้าตลาดหุ้นยุโรปได้ในปี 1912
ในปี 1914 ฟิลิปส์ได้ก่อตั้ง NatLab ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งไอเดียนี้มาจากแอนตัน เขาต้องการให้หลอดไฟของฟิลิปส์มีคุณภาพที่สูงขึ้น แต่ต้องมีต้นทุนที่ต่ำลง
สงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างตลาดใหม่
ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ตั้งแต่ปี 1914 - 1917) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของฟิลิปส์ ด้วยความที่เนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมีจุดยืนที่เป็นกลาง จึงทำให้ช่วงเวลานั้นฟิลิปส์สามารถเจาะตลาดใหม่ ๆ ได้หลายแห่ง
ขณะเดียวกันในปี 1924 ฟิลิปส์ได้เข้าร่วมกับบริษัท General Electric ผู้ผลิตไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน และบริษัท Osram GmbH (ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ Siemens AG ของเยอรมนี) เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรฟีบัส (Phoebus Cartel) ภายใต้ข้อตกลงที่จะกำหนดอายุการใช้งานหลอดไฟตามมาตรฐานอยู่ที่ 1,000 ชั่วโมง
ในปี 1927 ฟิลิปส์ตัดสินใจเปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่นคือ ‘วิทยุ’ เป็นสินค้าตัวที่ 2 ที่พัฒนามาจาก NatLab โดยมีจุดยืนเรื่องราคาที่ไม่แพง คุณภาพดี จนทำให้ปี 1933 ทำให้ฟิลิปส์กลายเป็นแบรนด์ผู้ผลิตวิทยุรายใหญ่ที่สุดของโลก
เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าจุดเริ่มต้นสินค้าสุขภาพ
ในระหว่างที่ฟิลิปส์ผลิตวิทยุจนกลายเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ‘เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า’ เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับฟิลิปส์ (เปิดตัวในปี 1930) และทำให้คนเริ่มติดภาพจำว่าเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่ผู้ผลิตหลอดไฟนับตั้งแต่นั้น
ฟิลิปส์นับว่าเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่สร้างเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า ซึ่งในปี 1939 ฟิลิปส์สามารถขาย Philishaves ได้มากถึง 700 เครื่องต่อชั่วโมง ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของฟิลิปส์โด่งดังมากกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติดัตช์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่
มีนักวิเคราะห์จากสหรัฐอเมริกายกให้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าของฟิลิปส์เป็นโปรดักต์ที่ดีต่อสุขภาพ (ด้วยนวัตกรรมบางอย่างที่ยังไม่มีในสมัยนั้น หรือมีน้อยมาก ๆ)
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบทำลายฟิลิปส์
หลังจากที่ก่อตั้งบริษัทได้เกือบ 50 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ‘เยอรมนี’ หนึ่งในประเทศที่เคยทำการค้าร่วมกับฟิลิปส์ กลายเป็นเป้าสายตาของชาวโลกทันที เพราะเยอรมนีเข้าไปบุกโปแลนด์ซึ่งเป็นชนวนของสงครามครั้งนี้
อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายชาติพันธมิตรที่สนับสนุนโปแลนด์ได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี ฟิลิปส์ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ส่งออกวิทยุให้กับเยอรมนีจึงถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายโรงงานผลิตวิทยุ เหตุผลเพราะต้องการตัดโอกาสไม่ให้กองทัพเยอรมันนำเทคโนโลยีของเนเธอร์แลนด์ไปพัฒนาต่อได้
สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังทำให้ฟิลิปส์ต้องย้ายสำนักงานและกระจายเงินทุนไปทั้งสหรัฐฯ และเกาะ Dutch Antilles ซึ่งอยู่ในปกครองของเนเธอร์แลนด์ที่ทะเลแคริบเบียน เพื่อไม่ให้ธุรกิจทั้งหมดตกเป็นเครื่องมือของกองทัพนาซี
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปส์ผู้ไม่เคยยอมแพ้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบก็เริ่มเดินหน้าพัฒนาสินค้าอื่น ๆ อีกเพียบ โดย Philips Research ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้าย ๆ กับ R&D ของฟิลิปส์ ตั้งแต่ปี 1940 ฟิลิปส์เริ่มพัฒนาและเปิดตัวโทรทัศน์, เทปบันทึกเสียง, เครื่องเล่นวิดีโอ, เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ
ในปี 1958 ความโด่งดังของฟิลิปส์ยังไปได้อีก เพราะเป็นแบรนด์ข้ามชาติเพียงรายเดียวที่ได้รับรางวัลของงาน Expo ซึ่งเป็นงานแฟร์ระดับโลกเพียงไม่กี่แห่งในสมัยนั้น
จุดยืนแบรนด์ของต้องดีนวัตกรรมต้องเด่น
ประสบการณ์ที่ฟิลิปส์เก็บสั่งสมมาเรื่อย ๆ จนวันนี้เติบโตมาแล้ว 131 ปี แรงผลักดันที่เกิดจากผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้ดีขึ้นยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งฟิลิปส์พยายามโฟกัสมาที่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านสุขภาพตั้งแต่ปี 2010 อย่างชัดเจน
“ผมต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ฟิลิปส์ต้องเป็นเหมือนแสงสว่างให้กับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบด้าน” ประโยคนี้เป็นการเปิดใจจากคนตระกูลฟิลิปส์ที่เคยพูดย้ำในงานแฟร์ในหลายประเทศ
จนทุกวันนี้แม้ว่าการแข่งขันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะดุเดือดแค่ไหน แต่ประสบการณ์ทั้งหมดของฟิลิปส์ตั้งแต่วันที่อยากให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่สว่างไสว มาถึงวันที่บริษัทเกือบจะหายวับเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถผงาดขึ้นเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก ซึ่งยังมีหลายคนที่เรียกคนฟิลิปส์ไว้ว่า ‘ตระกูลที่ไม่เคยหมดแสง’
ภาพ: Philips
อ้างอิง:
https://www.britannica.com/topic/Philips
https://www.philips.com/a-w/about/our-history.html