จอร์จ วานเดอร์ นักเคมีผู้ให้กำเนิด ‘โอวัลติน’ เพื่อแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

จอร์จ วานเดอร์ นักเคมีผู้ให้กำเนิด ‘โอวัลติน’ เพื่อแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

ใครจะเชื่อว่า ‘โอวัลติน’ (Ovaltine) เครื่องดื่มโปรดที่คนทั่วโลกคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้ จะมีจุดเริ่มต้นมาจากนักเคมีชื่อ จอร์จ วานเดอร์ (Georg Wander) ที่ต้องการแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

ถ้าถามว่า มีเครื่องดื่มกลิ่นโกโก้ยี่ห้อหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ถึง 157 ปี! เครื่องดื่มนั้นคือยี่ห้อใด? หลายคนคงจะตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่หลายคนน่าจะเคยผ่านปากลิ้มรสมาบ้างแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในวัยเด็ก เครื่องดื่มนั้นคือยี่ห้อ ‘โอวัลติน’ 

และผู้วางรากฐานสู่โอวัลติน ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ‘ดร.จอร์จ วานเดอร์’ (Georg Wander)

เด็กน้อยผู้หมกมุ่นกับส่วนผสม

ปี 1841 ณ เมืองออสโธเฟน (Osthofen) ประเทศเยอรมนี โลกได้ให้กำเนิดเด็กน้อยคนหนึ่งที่ในอนาคตเขาจะสร้างสรรค์เครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่จะย้อนกลับมาทำให้เด็กน้อยทั่วโลกได้ดื่มด่ำกันจนถึงทุกวันนี้ เด็กคนนั้นชื่อว่า จอร์จ วานเดอร์

จอร์จ วานเดอร์ มีความสนใจและพิศวงต่อส่วนผสมของสารต่าง ๆ (ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ในเครื่องดื่มและอาหารที่ผู้คนกินกันมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำไมเครื่องดื่มบางประเภทดื่มแล้วมีเรี่ยวแรงมีพลัง ทำไมอาหารนี้กินแล้วจะรู้สึกย่อยง่าย ทำไมอาหารบางประเภทเหมาะกับผู้ใช้แรงงาน ทำไมเครื่องดื่มบางอย่างเหมาะกับงานสังสรรค์ เส้นทางการศึกษาของเขาจึงร่ำเรียนมาทางด้าน ‘เคมีศาสตร์’ โดยเฉพาะ

งานแรกปูทางสู่นวัตกรรมเครื่องดื่ม

หลังจบการศึกษาปริญญาเอก บัดนี้ จอร์จกลายเป็นดอกเตอร์เต็มตัว ในปี 1863 เขาเริ่มงานแรกด้วยการเป็นผู้ช่วยด้านเคมีภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ก่อนที่ในปี 1985 เขามีโอกาสได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนโรงงานผลิตน้ำแร่ในกรุงเบิร์น เขาไต่ระดับจนสามารถมีอำนาจตัดสินใจและผลักดันให้โรงงานเปลี่ยนไปเป็นห้องแล็บวิจัยด้านเคมีภัณฑ์

อยู่มาช่วงหนึ่งในปี 1865 ดร.จอร์จกำลังวุ่นอยู่กับโจทย์หาวิธีช่วยเหลือคนไข้ที่กินอาหารปกติไม่ค่อยได้ ไม่อยากอาหาร และอิริยาบถลำบากในการกินอาหารจากบนเตียงคนไข้ รวมไปถึงเด็กที่ขาดโภชนาการที่ดี (จนไปถึงขาดสารอาหาร) ได้รับโภชนาการครบถ้วนมากขึ้น 

เขาได้ทดลองนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์มาแช่น้ำจนรากอ่อนงอกออกมา ก่อนนำมากลั่นด้วยความร้อนต่ำจนกลายเป็น มอลต์สกัด (Malt extract) และนำไปผสมกับไข่ไก่เพื่อเสริมโปรตีนต่อ โดยกรรมวิธีการผสมจะชงแบบ ‘ร้อน’ เท่านั้นในตอนแรก เพื่อให้ส่วนผสมคลุกเคล้ากันได้ละเอียด และเวลาดื่มอะไรร้อน ๆ ย่อมรู้สึกมีแรงมีพลังมากกว่า (แถมเหมาะกับภูมิอากาศหนาว ๆ ของประเทศด้วย)

ปรากฏว่าผลลัพธ์เครื่องดื่มเป็นที่น่าพอใจ คนไข้ชอบ เด็กชอบ รสชาติผ่าน ดื่มง่าย ดื่มแล้วมีแรง แถมขั้นตอนการทำก็ไม่มีอะไรซับซ้อน 

หลังจากนั้น ดร.จอร์จจึงตัดสินใจวางขายในเชิงพาณิชย์ทำเป็นธุรกิจเลี้ยงชีพซะเลย

นวัตกรรมเครื่องดื่มใหม่

การคิดค้นครั้งนี้ของ ดร.จอร์จอาจจัดได้ว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ ทางเครื่องดื่ม เพราะไม่เคยมีใครคิดค้นมาก่อน มันปฏิวัติและช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้นได้จริง ๆ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตอนนั้น

ตอนแรกเครื่องดื่มยี่ห้อนี้ถูกตั้งชื่อเรียกว่า‘โอโว-มอลติน’(Ovo-Maltine) เกิดจากการฟิวชันคำระหว่างไข่ (Ovum) และ มอลต์ (Malt) 

เราจะเห็นว่ามันยังไม่ใช่ ‘โอวัลติน’ ซะทีเดียว ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะโอโว-มอลตินดำเนินการขายมาต่อเนื่องเกือบ 40 ปี จนเมื่อถึงปี 1904 ลูกชายแท้ ๆ ของเขาชื่อว่า ‘อัลเบิร์ต วานเดอร์’ (Albert Wander) ได้สานต่อธุรกิจ พร้อมกับต่อยอดพัฒนาสูตรโอโว-มอลติน โดยเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ เช่น โกโก้ นมผง และวิตามินอื่น ๆ จนหน้าตาเป็นแบบโอวัลตินที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

จอร์จ วานเดอร์ นักเคมีผู้ให้กำเนิด ‘โอวัลติน’ เพื่อแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

อัลเบิร์ต วานเดอร์นำธุรกิจโกอินเตอร์ไปยังประเทศอังกฤษ แต่ด้วยข้อถกเถียงด้านกฎหมายการค้าต่าง ๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อจากโอโว-มอลติน มาเป็น ‘โอวัลติน’ (Ovaltine) ในที่สุด! และนี่เองคือต้นกำเนิดอย่างเป็นทางการของแบรนด์โอวัลตินแบบที่โลกรู้จักกันในปัจจุบัน

อย่างที่เราพอจะเดาได้ โอวัลตินประสบความสำเร็จล้นหลาม ถูกปากเด็กเล็ก - เด็กโตทั่วโลก กลายเป็นวัฒนธรรมเครื่องดื่มของใครหลายคนไปแล้ว

อัตลักษณ์แบรนด์โดดเด่น

การเลือกใช้ ‘สีแดง’ แทรกไปอยู่ในทุกอณูของการสื่อสาร ทั้งแพ็กเกจจิ้ง ป้าย โลโก้ ภาพนิ่ง ยานพาหนะ เสื้อ ถ้วย 

ในเชิงจิตวิทยา การใช้สีแดงสื่อถึงสีที่ให้พลังงาน ความตื่นเต้น ความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง หรือความทรงพลัง ซึ่งล้วนสอดคล้องกับสิ่งที่โอวัลตินต้องการนำเสนอทั้งสิ้น

ในมิติการตั้งชื่อแบรนด์ เป็นการตัดสินใจที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ‘โอวัลติน’ เป็นชื่อเฉพาะที่ไม่มีความหมายในตัวเอง (แต่มีสตอรี่เรื่องเล่า) ซึ่งเหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างหรือยังไม่มีใครทำ และที่สำคัญ อ่านง่ายขึ้น มีส่วนผสมของเสียงที่ต่างระดับกัน และเขียนออกมาดูสวยลงตัว

ในมุมการสร้างแบรนด์ โอวัลตินคืออีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่ ‘ชื่อแบรนด์’ ถูกเรียกแทนที่ ‘ชื่อผลิตภัณฑ์’ ไปแล้ว (เฉกเช่น ‘มาม่า’ และ ‘ซีร็อกซ์’) เพราะพวกเราไม่ได้พูดว่าดื่ม ‘มอลต์สกัดร้อน ๆ’ หรือดื่ม ‘โกโก้ร้อน’ แต่พวกเราพูดว่าดื่ม ‘โอวัลติน’

จอร์จ วานเดอร์ นักเคมีผู้ให้กำเนิด ‘โอวัลติน’ เพื่อแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร เวลาล่วงเลยมากว่าศตวรรษแล้ว โอวัลตินได้ถูกขายกิจการหลายต่อหลายครั้ง โดยปี 2002 ได้ถูกขายกิจการให้กับบริษัท Associated British Foods จากประเทศอังกฤษ

และได้มีการพัฒนาต่อยอดเครื่องดื่มใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น โอวัลติน UHT โอวัลตินแบบเย็น หรือโอวัลตินไวท์มอลต์ไขมันต่ำ

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างไรในเชิงธุรกิจ แต่โอวัลตินยังคงส่งมอบความสุขและโภชนาการที่ดี เพื่อให้ผู้ดื่มได้รับโภชนาการที่ดี ร่างกายแข็งแรง และมีรสชาติอร่อยที่ดื่มได้ในชีวิตประจำวัน…เป็นไปตามความใฝ่ฝันที่เรียบง่ายของ ดร.จอร์จ วานเดอร์ 

 

ภาพ: wander.ch

อ้างอิง:

https://www.wander.ch/en/company/history

https://twinings.co.uk/blogs/news/ovaltine

https://www.snackhistory.com/ovomaltine/