21 ม.ค. 2566 | 22:19 น.
- อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน ตั้งคำถามเกี่ยวกับการไหว้เทพเจ้ายุคใหม่ น้ำอัดลม - การรำถวาย ไม่ใช่วิถีของจีนยุคโบราณแต่เราพบเห็นในปัจจุบัน
- อาจารย์ถาวร สิกขโกศล กูรูด้านวัฒนธรรมจีน อธิบายถึงแม้ของที่ใช้ไหว้เทพเจ้าอาจเปลี่ยนไป แต่เจตนาและสิ่งที่มาจากรากเหง้าเดิมต้องเป็นการไหว้หลัก ไม่ใช่องค์ประกอบ
เทศกาลวันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนและเชื้อสายจีนทั่วโลก ถือเป็นเทศกาลเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซาง เกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับการประดิษฐ์ปฏิทินจีนสมัยต้นราชวงศ์ซาง หรือเมื่อประมาณ 980 ปีก่อนพุทธศักราช กาลเวลาเปลี่ยนผ่านทำให้รูปแบบการไหว้เทพเจ้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีหลาย ๆ อย่างที่คนบางกลุ่มสงสัยว่าแบบนี้ก็มีในวันตรุษจีนด้วยหรือ
The People ได้โอกาสพูดคุยกับกูรูด้านประวัติศาสตร์จีนอย่าง ‘อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์’ และ ‘อาจารย์ถาวร สิกขโกศล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนในเมืองไทย ซึ่งอาจารย์ทั้ง 2 มีมุมมองชวนให้คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันตรุษจีนสมัยใหม่ของคนรุ่นใหม่
อั่งเปากับวันตรุษจีน
อาจารย์วิโรจน์ ได้เล่าเกี่ยวกับ ‘อั่งเปา’ ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะเห็นแน่ ๆ ในวันตรุษจีน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเพราะมันก็คือ ‘โบนัส’ ตามความเข้าใจ หรือหากเป็นอั่งเปาที่ให้กันในครอบครัวก็คล้าย ๆ กับการให้เงินขวัญให้โชคแก่คนในบ้าน เป็นการอวยพรอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความโชคดี ความมั่งคั่ง
“ตรุษจีนก็ยังต้องมีคนไหว้เจ้ากันอยู่แม้ว่าจะยุคสมัยแล้วก็ตาม อย่างน้อยก็เป็นกลุ่มที่ทำการค้า ซึ่งประเทศจีนจะมี 3 ศาสนาก็คือ ขงจื้อ เต๋า และพุทธ ส่วนเทวดาของคนจีนมาจากไหนเราก็ต้องแบ่งเป็นประเภทเป็นแผนก ๆ คือ (1) เป็นดาวบนท้องฟ้า อย่าง ฮก ล่ก ซิ่ว ก็คือดาวสามดวง (2) เป็นพลังธรรมชาติ (3) เป็นนักพรตที่บำเพ็ญตบะแรง ๆ (4) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้ที่มีคุณธรรมสูงมาก และ (5) เป็นกลุ่มเทวดาผู้ใหญ่ เทพปกรณัมอย่าง ไซอิ๋ว เป็นต้น”
ความหมายของการไหว้เทพเจ้า
อาจารย์ถาวร ได้เล่ากับเราเกี่ยวกับการไหว้เทพเจ้าในยุคโบราณว่าอาจจะต่างจากยุคสมัยนี้บางอย่าง เช่น ของที่ใช้ไหว้เทพเจ้า แต่ความหมายหลัก ๆ ของสิ่งที่ใช้ไหว้เทพเจ้านั้นเพื่อแสดงถึง ‘ความสมบูรณ์’ จะมีหลักในการไหว้อยู่ 3 อย่างก็คือ “ข้าว – กับข้าว – เนื้อสัตว์ 3 อย่าง” ซึ่งก็คือ สัตว์ 4 เท้า, สัตว์ปีก เช่น ไก่ (เมื่อก่อนยังไม่มีการนำเป็ดมาไหว้) และสัตว์ที่มีเกล็ด เช่น ปลา หรือมีเคล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวันนี้เช่น เราจะไม่ใช้ ‘ข้าวต้ม’ ในการไหว้เพราะมันเป็นสัญลัการณ์ของ ‘ความยากจน’
“นอกจากสิ่งของหลัก ๆ ที่ใช้ไหว้ก็ยังมีของอื่นอีกบางอย่างที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง สมบูรณ์ ก็คือ การถวายของที่แปรรูปมาจากข้าว เพราะนั่นหมายถึงความเหลือ ความล้น มีกินมีใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ดังนั้น เหล้า คือหนึ่งในสิ่งที่คนสมัยก่อนจะนำถวายเมื่อไหว้เทพเจ้า แม้ว่าคนในยุคปัจจุบันจะต่อต้านการนำเหล้ามาถวาย แต่จริง ๆ แล้วเหล้าในความหมายของสมัยโบราณคือ ส่วนหนึ่งของกระษัยปรุงยา”
“ขนมที่แปรรูปมาจากข้าวก็เป็นของที่นำมาถวายเทพเจ้าค่อนข้างเยอะ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ขนมเข่ง และขนมถ้วยฟู (หรือตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นขนมปุยฝ้าย)”
อาจารย์ถาวร ยังพูดถึงผลไม้หรือของไว้เทพเจ้าอื่น ๆ ที่แต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน อย่าง ไต้หวัน จะไม่นิยมเอาแก้วมังกรมาไหว้เพราะว่าชื่อภาษาท้องถิ่นที่เรียกความหมายไม่มงคล แต่ส้มหรือแอปเปิ้ลชื่อในภาษาจีนมีความหมายมงคล เราจึงเห็นผลไม้ 2 อย่างนี้มักจะอยู่ในการไหว้เทพเจ้าในเทศกาลตรุษจีน”
น้ำอัดลมในของไหว้เทพเจ้าผิดหลักหรือไม่
หากฟังในมุมของอาจารย์ทั้ง 2 คน สรุปง่าย ๆ ก็คือ ‘น้ำอัดลม’ ไม่ใช่ของดั้งเดิมที่คนโบราณใช้ไหว้เพราะในสมัยก่อนยังไม่มี แต่ถามว่าผิดมากขนาดนั้นหรือไม่ อาจารย์ถาวรอธิบายว่า หากน้ำอัดลมเป็นเพียงของ ‘บริวาร’ ที่ไม่ใช่ของหลัก เป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นอาจจะไม่ผิดหลักการไหว้เทพเจ้าในความคิดของอาจารย์
ทั้งนี้ ของหลักที่ใช้ไหว้เทพเจ้ายังต้องอยู่ใน 3 สิ่งดังกล่าว ก็คือ อาหาร, ของดี, ความมั่งคั่ง ซึ่งน้ำอัดลมไม่ได้อยู่ในนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นองค์ประกอบเสริมเท่านั้นของคนยุคใหม่ อาจารย์กล่าวว่า “บางทีเราต้องดูเจตนาและการสื่อสาร หากของที่ใช้ไหว้หลัก ๆ ยังถูกต้องตามรากเหง้าเดิมก็ไม่ผิด”
ขณะที่อาจารย์วิโรจน์ ได้พูดถึง สิ่งของที่เปลี่ยนไปอย่างน้ำอัดลมหรือเบียร์ว่า “ปัจจุบันนี้อาจจะมีอะไรเพิ่มขึ้น เช่น อย่างสมัยก่อนเขาไหว้ไม่มีน้ำอัดลม ปัจจุบันนี้มีนะ แล้วเขาก็เอาเบียร์มาไหว้ด้วย ถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิดขึ้นอยู่กับศรัทธา แต่มันไม่ใช่ของดั้งเดิมตามรากเหง้า” พูดง่าย ๆ ก็คือ เน้นสะดวกได้แต่ไม่ได้ชุ่ยเพราะศรัทธาหรือความตั้งใจไม่ควรมาจากความชุ่ยของมนุษย์
รำถวายกับเทศกาลตรุษจีน
สำหรับการ ‘รำถวาย’ ในมุมของวันตรุษจีนในความคิดของอาจารย์ทั้งสองส่วนใหญ่คือ ‘ไม่เห็นด้วย’ และมองว่า ‘ไม่จำเป็น’ เพราะการไหว้เทพเจ้าเป็นเรื่องของศรัทธา เราไม่ควรสิ้นเปลือง และการรำถวายไม่ใช่วิถีของวันตรุษจีนตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว
อาจารย์ถาวร พูดว่า “สิ่งของที่ไหว้ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการรำถวาย ผมจะไม่พูดว่ามันถูกหรือผิดเพราะมันขึ้นอยู่กับเจตนา ขึ้นอยู่กับศรัทธา แต่อย่างน้อยก็ควรต้องมีการอ้างอิงจากรากเหง้าเดิมของสมัยก่อนอยู่บ้าง”
ขณะที่ อาจารย์วิโรจน์ พูดว่า “การรำถวายอาจจะไม่ผิดถ้าศรัทธาและมีเจตนาดี แต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวันตรุษจีน สำหรับคนไทยผมมองว่าอาจจะไม่มีกำลังซื้อกับคนจีน หรือชาติอื่น ดังนั้น การที่เราจะไหว้เทพเจ้าอย่างสมบูรณ์แต่ต้องไปยืมเงินคนอื่นเขา แบบนี้จะได้บาปมากกว่าบุญ”
“จริง ๆ แค่เดินมาเลย 10 นิ้วพนมมือแล้วคุกเข่าลงไปบอกท่านเลยว่า ความดีที่ทำมาตลอดชีวิตขอถวายเป็นเครื่องพลี เอาความดีที่เราทำมาเนี่ยถวายเป็นเครื่องพลีกรรม แล้วสัญญากับท่านว่าต่อไปนี้จะคิดดี พูดดี ทำดี แล้วความดีนี่แหละ ท่านก็จะเอาความดีอันนั้นแหละกลับมาคุ้มครองเรา กลับมาให้พรเรา ทำแบบนี้ดีกว่าไปยืมเงินเพื่อมาซื้อของไหว้เทพเจ้าซะอีก”
ทั้งนี้ อาจารย์วิโรจน์ ได้แนะนำเทพเจ้าในวันตรุษจีนก็คือ “หวงต้าเซียน ท่านเป็นคนกวางตุ้ง แล้วเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งก็คือ กวางเจา ฮ่องกงเมื่อโบราณกาลก็เป็นส่วนหนึ่งของกวางตุ้ง เพราะฉะนั้นท่านค่อนข้างจะเป็นเทวดาท้องถิ่น ในเซียงไฮ้ก็อาจจะไม่รู้จักท่าน ปักกิ่งก็จะไม่รู้จักท่าน แต่ท่านมีชื่ออยู่บนภูมิของเทวตำนาน เทวดาในภูมิของจีนมีกว่า 600 องค์ และหวงจ้าเซียนคือ 1 ใน 600 ท่านถือว่าเป็นคนที่ปฏิบัติขลังมาก เข้มมากในลัทธิเต๋า ซึ่งเทวดาทุกองค์จะฉันเจหมด ไม่ฉันอะไรที่ผ่านมือมนุษย์”
นอกจากนี้ อาจารย์วิโรจน์ได้พูดถึงคนไทยทั่วประเทศด้วยว่า “มนุษยชาติอยู่ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เราอยู่ในภัยอันตรายรอบด้านเลย อย่าไปคิดถึงอะไรมากมาย ไปแบบฟุ้งเฟ้อ จะต้องรวยเป็นอะไรมากมาย หนึ่งขอสุขภาพแข็งแรงก่อนไม่ต้องโดนอีโรคทำอะไรเรา หนึ่งขอสุขภาพเนอะ สองขอความอยู่รอดปลอดภัย สามขอให้พอกินพอใช้ พอมีเหลือให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปแล้วเดี๋ยวอะไรดีๆ ก็จะมา แล้วอย่าลืมนะครับ พระพุทธเจ้าสอนไว้ดีที่สุดเลยและขอให้ทุกๆ ท่านจงทำ ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ประพฤติธรรมเถอะ ธรรมก็จะคุ้มครองท่าน”
บทความนี้เป็นเพียงการไขข้อสงสัยของคนบางกลุ่มเกี่ยวกับน้ำอัดลม การรำถวาย หรือสิ่งของที่ใช้ไหว้เทพเจ้าในยุคใหม่ที่ต่างจากยุคโบราณ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาพูดตรงกันว่า ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก เพราะการนับถือหรือการไหว้เทพเจ้าเป็นเรื่องของความเชื่อ ศรัทธา และเจตนาเหนือสิ่งอื่นใด