30 พ.ย. 2561 | 16:27 น.
คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นหนึ่งในผู้กำกับแห่งยุคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด หลายคนยกย่องเขาเป็นเสมือน “เทพเจ้า”, “ศาสดา” หรือ “ตัวพ่อ” แห่งวงการภาพยนตร์ ด้วยลีลาการกำกับที่ผิดแปลกไปจากขนบ เล่าเรื่องสลับย้อนหลังอย่างเฉียบคม และบิ้วอารมณ์ดรามาระทึกขวัญได้ยอดเยี่ยม น่าเสียดายที่ปัจจุบันเขายังไม่เคยสัมผัสรางวัลออสการ์เสียที ย้อนกลับไปในปี 2016 ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ Dunkirk (2017) The Hollywood Reporter รายงานว่าโนแลนเป็นผู้กำกับที่มีค่าตัวมากสุดในฮอลลีวูด เขาได้รับค่าตัวมากถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังได้รับโบนัสจากยอดฉายอีก 20% ด้วย แม้ตัวหนังจะไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการภาพยนตร์ คือความกล้าหาญทางจุดยืนในการถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX 65 ม.ม. ผสมกับการถ่ายภาพด้วยกล้อง 65 ม.ม. ในสถานที่จริง เขามุ่งมั่นใช้ศาสตร์ภาพยนตร์แบบดั้งเดิมโดยพึ่งพิงคอมพิวเตอร์กราฟิกน้อยที่สุด เพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ให้สมจริงที่สุด “การได้เห็นหนังฉายบนจอ IMAX เป็นประสบการณ์สุดพิเศษ เพราะมันทำให้เราเห็นภาพที่ดีกว่าปกติ ชัดเจนเป็นพิเศษ และความเต็มอิ่มจะดึงคุณไปอยู่ในโลกของภาพยนตร์ สำหรับผมเป็นความตื่นเต้นที่จะให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษนี้” ความรักในศาสตร์ภาพยนตร์ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบออนไลน์สตรีมมิ่งอย่าง Netflix และยืนยันหนักแน่นว่าจะทำภาพยนตร์ฉายโรงอย่างเดียว โดยเขาให้ความเห็นว่าการรับชมในโรงภาพยนตร์ (โดยเฉพาะ IMAX) เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องนั่งเล่น “Netflix สนับสนุนการทำหนังแบบแปลกๆ เพราะนโยบายของพวกเขาไม่สนใจอะไรนอกจากการสตรีมภาพยนตร์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ในการฉายภาพยนตร์” สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Empire เมื่อปี 2010 ที่เขายอมรับว่า “คำว่าหัวโบราณอาจใช้อธิบายตัวผมได้ ถ้าพูดถึงวิธีการสร้างภาพยนตร์โดยรวมแล้ว ผมใกล้เคียงกับคำว่าอนุรักษ์นิยม แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือคอมพิวเตอร์กราฟิก ผมก็ไม่ปฏิเสธ จริงๆ ผมเคยใช้พวกนั้นมาหมดแล้ว อย่างใน Inception พอเราใส่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไป ภาพรวมหนังก็ลงตัวพอดิบพอดี” จะว่าไปแล้ว โนแลนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากไตรภาค Batman ที่เปลี่ยนโฉมภาพยนตร์ฮีโรไปจากเดิม จากหนังซูเปอร์แอ็คชันกลายเป็นหนังฟิล์มนัวร์ที่ซูเปอร์ฮีโรมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โนแลนต้องการให้แบทแมนดูเป็นคนจริงๆ เป็นเด็กชายที่ทุกข์ทรมานจากการสูญเสียพ่อแม่ ก่อนความเกลียดชังในตัวจะผลักดันให้เขาออกมาชำระแค้น “เราจะใส่ความมนุษย์เข้าไปในตัว Batman เขามีพละกำลังจากการวิดพื้น ส่วนอาวุธทั้งหมดก็มีจากการเป็นเศรษฐีพันล้าน เขาอยู่ในธุรกิจค้าอาวุธก็เลยมีอาวุธลับมาใช้ ส่วนชุดค้างคาวนั่นนะเหรอ? ก็เอาไว้หลอกให้คนอื่นกลัว เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากต่อสู้กับใครเท่าไหร่” ในภาคจบ The Dark Knight Rises (2012) จึงไม่ใช่แค่การสำรวจสภาพจิตใจอันปวดร้าวของแบทแมน แต่ยังมุ่งนำเสนอความไม่สมบูรณ์แบบในเชิงศีลธรรม โนแลนกล่าวถึงตัวละครนี้ว่า แบทแมนให้ความสำคัญกับความดีความชั่วของตัวเองมากเกินไป ทำให้เขาเชื่อมั่นตัวเองแตกต่างจากพวกศาลเตี้ยกลุ่มอื่น ขณะที่โจทย์ตั้งต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจรับงานกำกับ Batman ก็คือการตั้งคำถามว่า โลกนี้มีซูเปอร์ฮีโร่จริงหรือเปล่า “สิ่งที่ผมพยายามทำคือการกลับไปหาแนวคิดดั้งเดิมของตัวละคร มอง Batman มุมใหม่ผ่านแนวคิดว่าซูเปอร์ฮีโรไม่มีอยู่จริง” ก่อนทำไตรภาค Batman โนแลนโด่งดังในหมู่อินดี้จากภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ Memento (2000) ตัวหนังเล่าเรื่องย้อนหลังกลับเกี่ยวกับชายที่ถูกโจรทำร้ายจนเป็นโรคไม่สามารถบันทึกความทรงจำใหม่ ซึ่งเขาต้องสืบสวนหาฆาตกรที่ฆ่าภรรยาตัวเอง โดยใช้เพียงภาพถ่ายและข้อมูลต่างๆ บนร่างกายตัวเอง “หนังเรื่องนั้นมีโครงสร้างที่สุดโต่งมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ Memento ออกมาสมบูรณ์ได้คงเป็นเพราะมันเต็มไปด้วยความรู้สึกจากนักแสดงกาย เพียซ ไม่ใช่เพราะผม เขามอบการแสดงสมจริงจนคนดูสัมผัสได้ หนังเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่มีเขา” โนแลนกล่าว “ผมเคยได้ยินมาว่า ในการฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ถ้าคนดูไม่ชอบจะร้องโฮ่ออกมา พอหนังฉายจบคนดูนั่งเงียบกริบสักพัก ผมคิดว่าพวกเขาคงเกลียดหนังแล้วล่ะ แต่ทันใดนั้นคนดูก็ปรบมือเกรียวกราว” ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นที่รู้กันในหมู่นักแสดงและทีมงานว่า ระบบการทำงานของเขาเต็มไปด้วยความเข้มงวด เพื่อการสร้างฉากที่เนี๊ยบเป๊ะในทุกรายละเอียด ระบบการทำงานของเขาจะพูดคุยกับทีมงานทุกคนตั้งแต่ก่อนถ่ายทำว่าเขาต้องการอะไร เพื่อให้ทีมงานทุกฝ่ายทำงานออกมาในทิศทางเดียวกัน หากทีมงานหรือนายทุนไม่เห็นภาพเดียวกับเขา โนแลนก็จะไม่ทำ “สิ่งที่คนภายนอกเห็นดูง่ายกว่าสิ่งที่เป็นจริงเสมอ ความจริงแล้วการสร้างหนังเป็นอะไรที่ยากมาก” เช่นเดียวกับทีมงานที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงโนแลนว่า “อะไรที่ดีแล้ว มันไม่เคยดีพอสำหรับโนแลน” หากสังเกตภาพยนตร์ของโนแลน ตัวละครหลักของเขามักหมกมุ่นกับอะไรบางอย่าง ก่อนที่ชีวิตจะดำดิ่งในเรื่องนั้นๆ จนกลายเป็นความเลวร้าย การเซ็ทค่าตัวละครแบบนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Following (1998) ว่าด้วยเรื่องนักเขียนอิสระที่สะกดรอยตามผู้คนบนท้องถนนแล้วนำมาใช้เป็นข้อมูลงานเขียน โนแลนได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัว ตอนอาศัยที่ลอนดอนแล้วที่พักถูกโจรย่องเบามาขโมยของ “มีความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างคนแปลกหน้าที่กำลังจะครอบงำคุณ และคอนเซปต์เกี่ยวกับการติดตามผู้คนแบบสุ่มตามท้องถนน – ทั้งสองอย่างนี้ นำคุณไปไกลกว่าขอบเขตความสัมพันธ์แบบธรรมดาทั่วไป” ผลลัพท์ก็คือ Following เป็นจุดเริ่มต้นของโนแลนในวงการภาพยนตร์อินดี้ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีในแง่คำวิจารณ์ และทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่วงการฮอลลีวูดจับตามอง และก็เหมือนทุกคนนั่นแหละ โนแลนเองมีไอดอลจากผู้กำกับชั้นครูทั้ง สแตนลีย์ คูบริก, อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก, ไมเคิล มานน์, ออร์สัน เวลส์ หรือ ฟริตซ์ แลง ฯลฯ แต่คนที่เขายกย่องว่าเป็นไอดอลที่สุดคือ เมาริตส์ กอร์เนลิส แอ็ชเชอร์ ศิลปินชาวดัตช์สาขาเลขนศิลป์ ผู้มีผลงานภาพวาดเรขาคณิตที่เต็มไปด้วยรูปทรงมิติลวงตา “ผมได้แรงบันดาลใจจาก เอ็ม. ซี. แอ็ชเชอร์ และสนใจการเชื่อมโยงขอบเขตระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ และศิลปะกับเรขาคณิต” วัยเด็กของเขาจึงมีการเล่นที่แปลกไปจากคนทั่วไป เช่น วัย 8 ขวบ โนแลนได้นำฟุตเทจเกี่ยวกับการสร้างยานอพอลโล มาตัดต่อเป็นหนังสต็อปโมชัน เขาจึงเริ่มมีความฝันอยากเป็นผู้กำกับบ้าง ที่บ้าน คุณพ่อของโนแลนมีกล้องวิดีโอ Super 8 เขาและพี่ชายแมทธิวจึงนำมันมาถ่ายหุ่นฟิกเกอร์ Star Wars กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่เขากำกับ และเขาก็หลงรักการเล่าเรื่องด้วยภาพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “ตอนอายุ 10 หรือ 11 ปี ผมรู้ตัวแล้วว่า ผมอยากสร้างภาพยนตร์” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการฮอลลีวูดที่ชื่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่มา