24 ส.ค. 2565 | 10:01 น.
เราต่างก็รู้จักมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนไม่ว่าจะเป็น อีลอน มัสก์ (Elon Musk), เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos), บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) แต่เพื่อนบ้านใกล้ ๆ ประเทศไทยอย่าง ‘เวียดนาม’ อาจมีคนยังไม่รู้จัก ‘ฝ่าม เญิ้ต เวือง’ (Pham Nhat Vuong) นอกจากจะเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของประเทศ เขายังเป็นคนที่รวยที่สุดติดต่อกันมา 9 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2013)
แม้ว่าการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในเวียดนามปี 2022 มูลค่าทรัพย์สินของฝ่าม เญิ้ต เวือง จะลดลงน้อยกว่าปีก่อนอยู่ที่ 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จาก 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่เขาก็ยังเป็นอันดับ 1 ไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังทำให้ Vingroup บริษัทเครือที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
Vingroup ประกาศแผนจัดตั้ง ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ (Silicon Valley) แห่งเวียดนามในจังหวัดคั้ญฮหว่า (Khanh Hoa) โดยเชื่อมั่นว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์รวมตัวกัน และทำการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยี ณ ที่แห่งนี้
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พูดถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้ก่อตั้ง ‘ฝ่าม เญิ้ต เวือง’ โดยมองว่าเขาเป็นคนที่คิดเรื่องธุรกิจตลอดเวลาอีกคนหนึ่ง ทั้งยังมีความมานะยกฐานะให้กับครอบครัวจากที่ยากจนแทบไม่มีอะไรกินในแต่ละมื้อ ให้กลายเป็นอาณาจักรที่เติบโตเร็วมากในเวียดนาม
วัยเด็กในยุคสงครามต้องประทังชีวิตด้วยการขายน้ำชากับแม่
ฝ่าม เญิ้ต เวือง เกิดและเติบโตในกรุงฮานอยของเวียดนามในปี 1968 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามเวียดนามขึ้น โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยฝั่งเวียดนามเหนือ มีสหภาพโซเวียตและจีนให้การสนับสนุนทางการทหาร ส่วนเวียดนามใต้ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก็มีสหรัฐอเมริกาคอยสนับสนุนเป็นแบ็กอัพใหญ่
เหตุการณ์สู้รบครั้งนี้ทำให้พ่อของฝ่าม เญิ้ต เวือง ต้องร่วมขบวนการทหารไปสู้รบด้วย จึงทำให้เขาและแม่ของเขาต้องประทังชีวิตด้วยการขายน้ำชาเพื่อหาเงินมาซื้อข้าวและเพื่อติดตัวไปโรงเรียน
หลายปัจจัยรุมเร้าชีวิตทั้งความยากจน สภาพบ้านเมืองในยุคนั้น จึงทำให้เขาขยันเรียนมากกว่าเดิม โดยตั้งเป้าให้กับชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น มีประโยคที่เขาพูดกับแม่ในวันนั้นถูกเปิดเผยในสื่อหนึ่งของเวียดนาม เขาพูดว่า “เราต้องหนีจากความจนที่นี่และสร้างชีวิตใหม่ที่มันดีกว่าเดิมให้ได้ ต้องมีชีวิตที่สบาย พ่อแม่ต้องสบาย”
ฝ่าม เญิ้ต เวือง เป็นเด็กที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก โดยช่วงมหาวิทยาลัยเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Hanoi University of Mining and Geology จากนั้นก็เข้าสอบชิงทุนเพื่อไปศึกษาต่อที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียได้สำเร็จในด้านเศรษฐศาสตร์
จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจที่มุ่งมั่นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น
เขาเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ตอนอยู่ปี 3 แต่ไม่มีการพูดถึงว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน เพียงแต่บอกว่าเขาทำธุรกิจจากห้องพักเล็ก ๆ ของเขาหลังเลิกเรียนทุกวัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งความล้มเหลวนี้ไม่ได้ทำให้เขายอมแพ้แต่อย่างใด
เพราะหลังจากที่เขาจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยในรัสเซีย เขาเริ่มต้นทำธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการเปิด ‘ร้านอาหารเวียดนาม’ ในกรุงมอสโก ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ร้านอาหารของเขาอยู่ได้ไม่นาน และสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง แต่ความล้มเหลวครั้งที่ 2 ได้สอนเขาว่า “ธุรกิจที่ดีต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้เร็ว"
และนั่นก็เป็นการจุดไฟในตัวเขาอีกครั้ง หลังจากที่ ฝ่าม เญิ้ต เวือง ย้ายไปที่ยูเครนเพราะสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งต้องพูดว่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จและทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นคือที่นี่ เขาตัดสินใจเปิดร้านอาหารเวียดนามอีกครั้ง และจากนั้นไม่นานก็ลองผลิต ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ชื่อยี่ห้อว่า Mivina (บริษัท Technocom) เพื่อขายให้กับกลุ่มคนยูเครนที่ฐานะไม่ค่อยดี (เพราะในยุคนั้นยูเครนได้รับผลกระทบจากการที่สหภาพโซเวียตล่มสลายด้วย)
แต่กระแสตอบรับกลับดีมากจากการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะในตอนนั้นในยูเครนยังไม่มีสินค้าประเภทนี้มากนัก เมื่อฝ่าม เญิ้ต เวือง เห็นผลลัพธ์ในตลาดจึงตัดสินใจขยายสินค้าเพิ่ม เน้นไปที่การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและส่วนผสมที่เป็นเครื่องเทศของเวียดนามมากขึ้น จนกลายเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ครองตลาดยูเครนอันดับต้น ๆ ในยุคนั้น
ต่อมาเขาตัดสินใจขายกิจการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Mivina ให้กับ Nestlé ในปี 2003 เหตุผลเพราะว่าเขาและภรรยาต้องการกลับไปที่บ้านเกิด และเริ่มต้นธุรกิจอีกครั้งในเวียดนาม
ฝ่าม เญิ้ต เวือง ใช้เงินก้อนมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขายธุรกิจให้กับ Nestlé เพื่อมาพัฒนาเกาะนอกชายฝั่งเวียดนามและสร้างเป็นโรงแรม รีสอร์ต โฟกัสไปที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อบริษัท Vinpearl, Vinhomes และขยับขยายมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็น Vincom (ห้างสรรพสินค้า), Vinmec (โรงพยาบาล), Vinschool (สร้างโรงเรียน), VinMart (ค้าปลีก), VinFast (ยานยนต์), VinTech (ผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์ IT), Vinsmart (สมาร์ตโฟนน้องใหม่)
ซึ่งบริษัทลูกที่ยกตัวอย่างมานี้อยู่ภายใต้บริษัทแม่ก็คือ Vingroup อาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ขณะเดียวกัน ฝ่าม เญิ้ต เวือง มักพูดเสมอว่า “ผมส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย แม้ว่าในสังคมเอเชียยังให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่า”
นอกจากนี้ เขาเคยให้สัมภาณ์กับสื่อของเวียดนาม Tuoi Tre ว่า “ครอบครัวช่วยให้ผมมีชีวิตที่สมดุล และผมเชื่อในการอุทิศเวลาว่างให้กับครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ผมประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้”
ฝ่าม เญิ้ต เวือง มักจะพาลูกชายไปร่วมประชุมสำคัญของบริษัทเสมอ ซึ่งเขาเองต้องการให้ลูกชายได้เรียนรู้การบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ เขายังเป็นนักธุรกิจใจบุญที่สื่อเวียดนามพูดถึงอยู่บ่อย ๆ อย่างในปี 2016 เขาได้บริจาคเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างระบบการดูแลสุขภาพ Vinmec Healthcare System หนึ่งในกลุ่มแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
สิ่งที่ ฝ่าม เญิ้ต เวือง พยายามพัฒนาและสร้างในเวียดนามมีโมเดลมาจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ โดยเขาพูดว่า “ผมจะทำในสิ่งที่ญี่ปุ่นทำกับ TOYOTA เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ทำกับ Apple ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าเวียดนามสามารถทำอะไรได้บ้าง และผมแน่ใจว่า 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำของโลกจะต้องมีรายชื่อบริษัทของเวียดนาม”
ภาพ: danhkhoireal
อ้างอิง:
https://www.asiamarkets.com/pham-nhat-vuong/
https://danhkhoireal.vn/pham-nhat-vuong/
https://www.forbes.com/profile/pham-nhat-vuong/?sh=6dd1a334382e