20 ต.ค. 2565 | 11:42 น.
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากประชาคมโลกมีข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นกรอบในการพัฒนาของโลกใน 3 มิติ ได้แก่
มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย เช่น การยุติความยากจน ขจัดความหิวโหย ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งอิมแพ็ค ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงขอเป็นหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างค่านิยมภายในองค์กร ภายใต้ 3 มิติ ผ่านโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.ด้านสังคม การว่าจ้างงานและใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างยุติธรรม เคารพความแตกต่างต่อโอกาสความเท่าเทียม การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เช่น โครงการกล้าไมซ์ สนับสนุนการศึกษาฝึกงานให้แก่นักศึกษา โครงการดูแลสุนัขจรจัดพื้นที่โครงการเมืองทองธานี เป็นต้น
ตามด้วย 2.ด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การจัดซื้อที่โปร่งใสและสมเหตุสมผล การส่งเสริมนวัตกรรม เช่น โครงการอิมแพ็คฟาร์ม ทำหน้าที่ในการรับซื้อผักออร์แกนิกจากเกษตรกร มาจำหน่ายโดยตรงและใช้เป็นวัตถุดิบหลักในร้านอาหารเครืออิมแพ็ค เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ยั่งยืน เป็นต้น และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะของเสีย การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้น้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการติดตั้ง Solar Roof รวม 3 อาคาร คือ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค ฟอรั่ม และอาคารจอดรถ 3 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี2565 โครงการลดการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โครงการเปลี่ยนขยะอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเครื่อง Food Waste Composter ในการรีดของเหลวส่วนเกินออกจากขยะเศษอาหาร แล้วนำเศษอาหารที่รีดน้ำออกไปทำเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี2564 เป็นต้น
ขณะเดียวกันช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหา วิกฤตต่างๆมากมาย ทั้งภัยธรรมชาติ โรคอุบัติใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ทุกส่วน ทั้งเจ้าของสถานที่ ผู้จัดงาน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญในการจัดงานอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก็เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทย ซึ่ง อิมแพ็ค ในฐานะผู้นำธุรกิจไมซ์(MICE) ไม่ได้มุ่งหวังแต่ผลกำไรหรือเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับการรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดขึ้นการจัดงานอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย
ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น ล่าสุดจึงได้เปิดตัวแพ็คเกจ Impact Sustainable Meeting เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้จัดงานประชุม อีเวนต์ คอนเสิร์ต ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานที่สามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมได้ เช่น การลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้น้ำ เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดแพ็คเกจ Impact Sustainable Meeting นั้น หน่วยงาน องค์กร สามารถเลือกรูปแบบการจัดงานอย่างยั่งยืนได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการจัดงานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง อิมแพ็ค จะทำหน้าที่บริหารจัดการงานอย่างยั่งยืน 3 ส่วน ได้แก่ 1. การให้บริการสถานที่ อุปกรณ์สำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืนเบื้องต้น เช่น การเผยแพร่นโยบายความยั่งยืนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ การจัดห้องประชุมอย่างยั่งยืน การงดใช้ผ้าคลุมโต๊ะและเก้าอี้ในการจัดประชุม การตั้งจุดบริการแบบกลุ่มแทนการจัดให้รายบุคคล งดใช้หลอดพลาสติกในทุกกิจกรรม ,ควบคุมเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ,จัดให้มีการแยกขยะรีไซเคิล ขยะเปียก ขยะทั่วไป รวมถึงเลือกใช้ถังขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เลือกใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สบู่ล้างมือ และน้ำยาล้างจานในครัว เป็นต้น
ส่วนที่ 2. ลูกค้าสามารถเลือกรายการอาหารสำหรับจัดการประชุมแบบรักษ์โลก ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ผ่านการเลือกรับประทานเมนูมังสวิรัติหรือโปรตีนจากพืช และ3.กรณีที่จำนวนอาหารเหลือจากการจัดงาน อิมแพ็คฯ มีบริการจัดสรรแบ่งปันอาหารที่เหลือบริจาคให้แก่มูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม