22 พ.ย. 2565 | 19:09 น.
หลังจาก ‘กาตาร์’ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ประกาศห้ามเบียร์ยี่ห้อดังอย่าง ‘บัดไวเซอร์’ (Budweiser) ขายและทำแคมเปญโฆษณา ไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายชารีอะห์ ที่ถูกนำมาบังคับใช้ในหลายลักษณะ
หนึ่งในนั้นคือ การห้ามชาวมุสลิมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ ดังนั้นการกลับลำครั้งนี้ของกาตาร์จึงถือว่าเป็นการ ‘เลือก’ ปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการทำข้อตกลงร่วมกันไว้ตั้งแต่แรกว่าเบียร์สัญชาติอเมริกันยี่ห้อนี้ สามารถนำเข้ามาขายในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ก็ตาม
แน่นอนว่าความเสียหายครั้งนี้เล่นเอาบัดไวเซอร์ถึงกับไปไม่เป็น และได้ออกมาทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่า จะมอบเครื่องดื่มที่เหลือทั้งหมด ให้กับประเทศที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปีนี้ ถึงจะยังไม่ชัวร์ว่าทวีตดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงหรือเพียงแค่ทวีตไปตามอารมณ์ที่ยังคุกรุ่น
แต่ที่น่าสนใจว่านั้นคือ ต้นกำเนิด ‘บัดไวเซอร์’ เบียร์สัญชาติอเมริกันที่ครองใจคนทั่วโลก จริง ๆ แล้วมาจากชาวเยอรมันที่โยกย้ายถิ่นฐานมาเสี่ยงโชคในดินแดนแห่งเสรีภาพ เมื่อปี ค.ศ. 1857 ช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจโลกใหม่ และเริ่มให้ความสำคัญกับ ‘สิทธิมนุษยชน’ จนนำไปสู่สงครามเลิกทาสในยุคของอับราฮัม ลินคอล์น หลังจากโรงงานผลิตเบียร์บัดไวเซอร์ตั้งขึ้นมาได้เพียง 5 ปี
ชาวเยอรมันกับการคว้าโอกาสในดินแดนแห่งเสรีภาพ
อดอลฟัส บุช (Adolphus Busch) เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1839 ในครอบครัวนักธุรกิจที่จัดหาวัตถุดิบสำหรับโรงเบียร์และไวน์ ณ เมืองไมนซ์ (Mainz) เยอรมนี และได้โยกย้ายถิ่นฐานมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา
เขายังคงยึดธุรกิจเดิมที่คุ้นเคย นั่นคือการจัดหาวัตถุดิบให้กับโรงเบียร์ของชุมชนมาใช้ในการสร้างตัว หนึ่งในลูกค้าคนสำคัญคือ Eberhard Anheuser เจ้าของกิจการสบู่รายใหญ่ และจะกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงงานเบียร์ Anheuser-Busch Brewing Company ในปี 1864 ณ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บัดไวเซอร์ที่สามารถ ‘ตก’ คนได้กว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ด้วยรสชาตินุ่มละมุนลิ้น มาพร้อมกับกลิ่นฮอปลอยออกมาเบา ๆ จึงไม่แปลกที่บัดไวเซอร์จะถูกปากใครหลายคน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวอเมริกันชนไปโดยปริยาย
แต่กว่าบัดไวเซอร์จะก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ อดอลฟัสต้องทุ่มทำการตลาดอย่างหนัก ตั้งแต่การพยายามใส่ชื่อแบรนด์แทรกซึมลงไปในข้าวของเครื่องใช้ของชาวอเมริกัน ตั้งแต่เรือสำราญ เสื้อฟุตบอล และอีกสารพัดกีฬาที่บ่งบอกถึงความเป็นอเมริกัน
อีกทั้งยังได้ซื้อทีมเบสบอลเซนต์หลุยส์ คาดินัลส์ (St. Louis Cardinals) และเปิดสวนสนุกในฟลอริดา และเวอร์จิเนีย เป็นการประกาศอำนาจทางการตลาดกลาย ๆ ว่า บัดไวเซอร์ คือราชาแห่งเบียร์ตัวจริง
ส่วนเส้นทางการสร้างอาณาจักรเบียร์ของอดอลฟัสนั้น เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1850 จากเจ้าของโรงเบียร์เล็ก ๆ ในชุมชนเยอรมัน เขาได้ผูกสัมพันกับ Eberhard Anheuser จนแน่นแฟ้น จากนั้นไม่นานอดอลฟัสก็ได้แต่งงานกับ ‘ลิลลี่’ ลูกสาวของ Anheuser ภรรยาในอนาคตที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุข ปลุกปั้นความฝันของคนที่เธอรักให้เป็นจริง
หลังจาก Anheuser เสียชีวิตในปี 1880 อดอลฟัสต้องเข้ามาดูแลกิจการต่อจากพ่อตา การก้าวขึ้นมาดูแลโรงเบียร์ของเขาเรียกได้ว่าเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การทำเบียร์ไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม เริ่มตั้งแต่การใช้วิธีพาสเจอร์ไรส์ที่ช่วยยืดอายุเบียร์ให้เก็บไว้ได้นานขึ้น เปลี่ยนผลิตภัณฑ์บรรจุมาใช้กระป๋องอะลูมิเนียม เพื่อคงคุณภาพของเครื่องดื่มไว้ระหว่างการขนส่งระยะไกล
บัดไวเซอร์ เริ่มกลายเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนว่าฝันของชาวเยอรมันรายนี้ยังไม่ยุติลงง่าย ๆ เขาเริ่มเปิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อให้โรงงานเบียร์ของเขากลายเป็นอาณาจักรสุดแกร่ง เช่น โรงงานผลิตขวด และโรงงานน้ำแข็ง
ผลกระทบจากสงคราม
แต่เส้นทางการทำธุรกิจย่อมมีขึ้นแล้วก็มีลง โรงเบียร์ของเขาได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐฯ ประสบปัญหาภาวะถดถอย ชาวอเมริกันกว่า 3 ล้านรายถูกเกณฑ์ให้ไปสู้รบ นั่นหมายความว่า โรงงานเบียร์และหลาย ๆ กิจการจะขาดแรงงานในช่วงสงคราม
อย่างไรก็ตามสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีที่ทำให้อัตราการว่างงานภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 16.4% เป็น 6.3% ในปี ค.ศ. 1916 ถึงจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น แต่เพราะตกอยู่ในสภาวะสงคราม แรงงานหลายล้านรายจึงไม่อยู่ในสภาวะพร้อมทำงาน เนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ถูกสงครามทำลายจนย่อยยับ
เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เปิดฉากขึ้น ทำเอาอดอลฟัสถึงกับกุมขมับ เพราะยังไม่ทันฟื้นจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (แม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่กำลังการผลิตก็ลดลงไปมาก) โรงงานเบียร์ของเขาตกอยู่ในสภาวัสิ้นหวังอย่างหนัก เพราะนี่คือ ‘ยุคแห่งการปฏิวัติเบียร์’ ที่สหรัฐฯ พยายามปรับเปลี่ยนรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาผลิตเบียร์ลาเกอร์ที่มีรสชาติไม่หนักหรือเบาเกินไป เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น
แต่ก็ไม่วายโดนคนในพื้นที่ลุกฮือขึ้นมาประท้วง เพราะการผลิตเบียร์ประเภทนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทำลายธัญพืช และเมื่อธัญพืชถูกทำลาย คนในชุมชนที่มีรายได้จากการทำไร่เป็นหลักจึงก่อจลาจล เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าโรงกลั่นเบียร์กำลังทำให้สถานะทางการเงินของพวกเขาสั่นคลอน
อีกทั้งการที่เจ้าของโรงงานเป็นคนสัญชาติเยอรมัน ทำให้ชาวบ้านยิ่งไม่ไว้ใจเข้าไปใหญ่ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 คือสงครามที่เยอรมนีคือผู้ทำลายล้าง อดอลฟัสจึงปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ครั้งใหญ่ โละโลโก้แบรนด์ และถ้อยคำที่บรรจุอยู่ในสลากที่เป็นภาษาเยอรมันทิ้งไป และเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นว่า บัดไวเซอร์คือเบียร์ของชาวอเมริกัน ไม่ใช่เบียร์ของทรราชย์
รวมถึงเคยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อเมริกา’ ชั่วคราวในปี ค.ศ. 2016 เพื่อต้อนรับเหตุการณ์สำคัญที่จะจัดขึ้นในสหรัฐฯ ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดี การแข่งขันฟุตบอลโคปา อเมริกา ระหว่างทีมชาติละตินอเมริกา ที่จะจัดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก และการฉลองครบรอบ 100 ปีของกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ
ปัจจุบัน บัดไวเซอร์ครองตลาดเบียร์ทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 25 และมีทวีปอเมริกาเหนือเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าบัดไวเซอร์จะผ่านมากี่สนามรบ ‘ราชาแห่งเบียร์’ ก็ยังคงยืนหยัดอยู่คู่ชาวอเมริกันมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
https://www.encyclopedia.com/media/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/budweiser
https://ecampusontario.pressbooks.pub/gned1478/chapter/budweiser/
https://beerandbrewing.com/dictionary/52scG3pFDL/
https://www.streetdirectory.com/food_editorials/beverages/beer/a_brief_history_about_budweiser.html