‘จอร์จ ฮอตซ์’ แฮกเกอร์ที่ อีลอน มัสก์ จ้างให้จัดการระบบ Twitter หลังเคยขัดแย้งกันเมื่อ 7 ปีก่อน

‘จอร์จ ฮอตซ์’ แฮกเกอร์ที่ อีลอน มัสก์ จ้างให้จัดการระบบ Twitter หลังเคยขัดแย้งกันเมื่อ 7 ปีก่อน

'จอร์จ ฮอตช์' แฮกเกอร์ชื่อดังที่คนในวงการเรียกว่า 'geohot' ยังเคยมีปัญหากับ 'อีลอน มัสก์' (Elon Musk) เมื่อ 7 ปีก่อน แต่ล่าสุดเขาตอบรับเป็นพนักงานสัญญาจ้างของ Twitter ระยะ 3 เดือนเพื่อจัดการระบบหลังบ้านใหม่

  • จอร์จ ฮอตซ์ หรือ geohot เป็นหนึ่งในแฮกเกอร์หัวดีที่เคยแฮกระบบการปลดล็อกของ Apple และระบบของ PlayStation 3 มาก่อน
  • เขาเคยเป็นคนที่ไม่เชื่อในระบบอัตโนมัติ จนเคยมีปัญหาขัดแย้งกับ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อนักประดิษฐ์ชื่อดัง เมื่อปี 2015
  • การร่วมงานกับ Twitter ของ จอร์จ ฮอตช์ ทำให้ถูกคาดการณ์ว่า เขาจะนำประสบการณ์มาพัฒนาโปรเจกต์สมาร์ทแมชชีนเลิร์นนิงในอนาคต

 

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายภายใต้การบริหารของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX หลังจากที่เขาเข้าซื้อกิจการ Twitter เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเขาเริ่มปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการปลดพนักงานกว่า 25% หรือประมาณ 2,300 คน ในช่วง 2 - 3 วันแรกที่เข้ามาบริหารทันที

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการตัดสินใจปลดพนักงานนับพัน อีลอน มัสก์ กลับยอมจ้างผู้ชายคนหนึ่งเป็นพนักงานของ Twitter โดยมีสัญญาทำงานระยะ 3 เดือน นั่นก็คือ ‘จอร์จ ฮอตซ์’ (George Hotz) แฮกเกอร์ชื่อดังที่หลายคนรู้จักอย่างดี โดยเขาเรียกตัวเองว่า ‘geohot’ ซึ่งในวงการแฮกเกอร์จะรู้จักกันในชื่อนี้มากกว่าชื่อจริง

ทั้งนี้ หน้าที่หลัก ๆ ของฮอตซ์ก็คือ ภายในเวลา 3 เดือนเขาต้องช่วยจัดการด้านเทคนิคหลังบ้านของ Twitter ทั้งต้องช่วยซ่อมระบบการค้นหาในแพลตฟอร์มให้สะดวกต่อผู้ใช้มากขึ้น พูดง่าย ๆ คือมาช่วยดีไซน์ระบบและสร้างความง่ายต่อผู้ใช้ Twitter โดยในเงื่อนไขการว่าจ้างจะไม่ใช่เงินเดือน แต่ฮอตซ์ขอค่าตอบแทนเพียง ‘ค่าบ้านของเขาในซานฟรานซิสโก’ เท่านั้น

จอร์จ ฮอตซ์เคยมีปัญหากับ อีลอน มัสก์

ในปี 2015 ฮอตซ์เคยขัดแย้งกับผู้ก่อตั้ง Tesla หลังจากที่ อีลอน มัสก์ ติดต่อไปหาและต้องการจ้างเขาให้มาช่วยปรับปรุงซอฟต์แวร์ autopilot ของ Tesla แต่ตอนนั้นฮอตซ์ได้ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับ อีลอน มัสก์ ซึ่งไม่ได้มีเหตุผลระบุแน่ชัดว่าเพราะอะไร แต่มีกระแสข่าวรายงานบ่อยครั้งว่า ฮอตซ์ไม่ชอบวิธีการทำงานของ อีลอน มัสก์ และตอนนั้นเขาไม่ได้เชื่อในระบบ autopilot ด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน ฮอตซ์ได้เปิดบริษัทเป็นของตัวเองที่ชื่อว่า Comma AI โดยจุดประสงค์ก็คือ ต้องการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือผู้ขับขี่ บริการที่จะทำให้การขับขี่มันง่ายขึ้น (ที่จริงก็คล้ายกับแนวคิดของ อีลอน มัสก์) โดยฮอตซ์ใช้ชื่อบริการของบริษัทเขาว่า ‘openpilot’ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ให้ดาวน์โหลดทางออนไลน์แบบฟรี ๆ

 

แฮกเกอร์มือดีที่ Apple และ Sony ต้องระวัง

ถึงแม้ว่าตอนวัยรุ่น ฮอตซ์จะเคยมีความรู้สึกว่า ‘เขาไม่เก่งและไม่มีความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำ’ ในช่วงที่เขามีบริษัทเป็นของตัวเอง โดยเขาตัดสินใจลาออกจากการเป็น CEO ตั้งแต่ปี 2019 เพียงเพราะมองว่ายังไม่พร้อมและไม่เก่งพอ (ซึ่งปัจจุบัน Comma AI ก็ยังไม่มี CEO)

แต่สำหรับคนทั่วไปที่รู้จักฮอตซ์ เขาถือว่าเป็นคนมีความสามารถคนหนึ่งในวงการเทคโนโลยี แม้จะเป็นเรื่องฉาว ๆ ก็ตาม ซึ่งเมื่อฮอตซ์อายุได้เพียง 17 ปี เขาหันเหไปเป็นแฮกเกอร์เต็มตัว

โดยค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจการแฮกระบบต่าง ๆ ที่ยุ่งยากและทำให้ง่ายขึ้น จึงเป็นที่มาว่า ทำไมในวงการแฮกเกอร์จึงรู้จักเขาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ผลงาน(เชิงลบ) ที่ผ่านมาของฮอตซ์อย่างเช่น ความสำเร็จในการแฮกระบบปลดล็อกหน้าจอของ iPhone และแฮกระบบการทำงานบางอย่างของ PlayStation 3 เครื่องคอนโซลของ Sony

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ที่มองว่า เหตุผลครั้งนี้ที่ฮอตซ์ยอมร่วมงานกับ อีลอน มัสก์ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการเรียนรู้ระบบงานจากอีลอน มัสก์ รวมทั้ง Twitter

เพราะตอนนี้ ฮอตซ์มีโปรเจกต์ที่ 2 ที่เขาพยายามจะทำชื่อว่า ‘Tiny Corporation’ ซึ่งก็คือเฟรมเวิร์กใหม่สำหรับแมชชีนเลิร์นนิงที่เร็วกว่าและซับซ้อนน้อยกว่าที่มีในปัจจุบัน เชื่อว่าหากเขาผ่านประสบการณ์ทำงานกับอีลอน มัสก์ อย่างสมบูรณ์ โปรเจกต์ใหม่ของฮอตซ์ก็น่าจะสร้างมูลค่าธุรกิจได้อย่างมหาศาลทีเดียว

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Techcrunch

Teslarati

Kotaku

Techcrunch (2)