10 ม.ค. 2566 | 14:20 น.
เป็นเวลา 127 ปีแล้วที่ ‘Veniero’ ร้านขนมอบจากฝีมือผู้อพยพชาวอิตาลี กลายเป็นสมบัติล้ำค่าคู่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากจุดเริ่มต้นแสนเรียบง่าย ‘อันโตนิโอ เวนิเอโร’ (Antonio Veniero) ผู้อพยพชาวอิตาลีผู้วาดฝันจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ดินแดนที่มอบโอกาสและให้เสรีภาพแก่คนต่างเชื้อชาติทุกคนอย่างเท่าเทียม
ย้อนกลับไปช่วงปลายทศวรรษ 1880 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 ช่วงเวลาแห่งการอพยพครั้งใหญ่ ชาวอิตาลีกว่าสองล้านคนเดินทางมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อหวังจะแสวงหาบ้านหลังใหม่ บ้านที่จะเป็นแหล่งพักพิงและมอบโอกาสให้พวกเขามีชีวิตรอดท่ามกลางความอดอยากหิวโหย
เมื่อมาถึงดินแดนแห่งเสรีภาพ ชาวอิตาลีจำนวนมากเลือกตั้งรกรากในย่านฮาร์เลม (Harlem) เดอะบร็องซ์ (The Bronx) และบรูคลิน (Brooklyn) ขณะที่ผู้อพยพบางส่วนเลือกที่จะใช้ชีวิตแถวแมนฮัตตันตอนล่าง (บริเวณกรีนิชวิลเลจ ถนนซิลลิแวนและบลีคเกอร์) รวมถึงบริเวณถนนมัลเบอร์รี่ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น ‘ลิตเติ้ล อิตาลี’ (Little Italy) สถานที่ที่เหมือนยกเอาประเทศอิตาลีขนาดย่อมมาตั้งไว้ ณ นิวยอร์ก
และ ‘อันโตนิโอ เวนิเอโร’ เองก็เป็นหนึ่งในลูกหลานผู้อพยพชาวอิตาลี เขาติดสอยห้อยตามที่บ้านมาตอนอายุ 15 ปี และได้สมัครเข้าทำงานที่โรงงานลูกกวาดแห่งหนึ่ง หลังจากเก็บหอมรอมริบและใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ จากเด็กชายในวันนั้นเขาตัดสินใจซื้อห้องแห่งหนึ่งบนถนน East 11th เพื่อเปิดร้านขนมอบที่ได้รับสูตรมาจากต้นตระกูลของเขาอีกทอดหนึ่ง
วันที่ 23 กันยายน 1894 คือวันแรกที่เขาตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะประกาศชัยชนะของความบากบั่นและความพยายามของเขา ร้านขนมอบประจำถนน East 11th Street จึงเปิดตัวขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่ไม่วายสร้างกิมมิคเล็ก ๆ ให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาประทับใจ เขาทำให้ร้านแห่งนี้เป็น ‘พื้นที่’ แห่งความสุข โดยการเปิดบทเพลง เคล้ากลิ่นอายความคลาสสิคของร้าน เมื่อผสมผสานเข้ากับกลิ่นขนมปังที่อบสดใหม่ ก็ยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์ให้ร้านแห่งนี้ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปี Veniero ลูกค้ารุ่นแรก ๆ ยังคงพูดว่านี่คือกลิ่นอายที่ไม่เปลี่ยนไป
“เมื่อวันก่อน ฉันซื้อขนมปังอะนิสเซ็ทกลับบ้านมา 3 ชิ้น ที่ซื้อแค่นี้เพราะถ้าฉันเอากลับบ้านมามากกว่านี้แปปเดียวฉันคงกินมันหมด Veniero ยังเหมือนสมัยก่อนไม่มีผิด” โรนา มิดเดิลเบิร์ก (Rona Middleberg) หนึ่งในลูกค้าประจำให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น อันโตนิโอมักเสิร์ฟเอสเฟรสโซคู่กับบิสคอตตี (ขนมปังกรอบ) เมนูง่าย ๆ แต่เล่นเอาเขาหัวหมุนแทบทั้งวัน เพราะอาคารที่เขาเลือกซื้อไม่มีระบบไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงระบบขนส่งที่แทบจะกลายเป็นฝันร้ายของการเปิดร้านก็ว่าได้
แต่หากย้อนไปยังความตั้งใจแรกเริ่มในการเปิดร้าน Veniero ของอันโตนิโอ(แบบจริง ๆ)คือ เขาต้องการเปิดเป็นโต๊ะพูล แต่มีขนมอบเป็นส่วนเสริมเท่านั้น นอกจากจะเป็นร้านของผู้อพยพร้านแรก ๆ ที่สามารถตั้งหลักได้แล้ว เขายังสร้างอาชีพให้เพื่อนร่วมชาติ โดยการว่าจ้างเป็นพนักงานประจำร้าน (ส่วนใหญ่เป็นชาวซิซิลี อันโตนิโอเป็นชาวเมืองเนเปิลส์)
จนกระทั่งร้านขนมอบสูตรต้นตำรับจากอิตาลีของเขาได้รับการยอมรับจากทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าผู้มาทานจะมีเชื้อชาติหรือสัญชาติใด ทุกคนล้วนติดใจ รวมถึง ‘แฟรงก์ ซินาตรา’ (Frank Sinatra) สุภาพบุรุษเจ้าของบทเพลงอมตะอย่าง Fly Me To The Moon ยกให้ Veniero เป็นร้านขนมอบที่มีรสชาติดีที่สุดของย่าน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการที่ธุรกิจของเขาเหลือรอดอยู่เพียงแห่งเดียว ขณะที่ร้านรวงอื่น ๆ เริ่มทยอยปิดตัวลง เนื่องจากทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว
แต่กว่าจะเป็นร้านเบเกอรี่ที่กวาดรางวัลระดับประเทศมานับไม่ถ้วน ตั้งแต่รางวัลที่ได้รับจาก New York World's Fair รวมถึงรางวัล Best Desserts in New York City ซึ่งจัดโดย AOL's City's Best website ร้าน Veniero ยังได้รับการแนะนำจากรายการอาหารชื่อดังอย่าง Good Morning America ของ ABC และด้วยความคลาสสิกของร้าน จึงถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ Law & Order อีกด้วย
หลังจากอันโตนิโอเสียชีวิตลงในปี 1931 กิจการถูกส่งต่อให้อยู่ในความดูแลของครอบครัวเวนิเอโรมาโดยตลอด ปัจจุบัน ‘โรเบิร์ต ซีรีลี’ (Robert Zerilli) หลานชายของอันโตนิโอ ทายาทรุ่น 4 ได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารร้าน เขาเล่าย้อนความทรงจำที่คุณปู่อันโตนิโอเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ ‘แฟรงก์ ซินาสตรา’ มาที่ร้านในปี 1980 เขาเป็นชายที่เจิดจรัส มีรอยยิ้มที่เปล่งประกาย ดวงตาของเขาฉายแววขี้เล่น ทุกอย่างที่เป็นซินาสตรา ทำให้ร้านแห่งนี้มีชีวิตชีวา ส่วนขนมที่ ซินาสตรา ชอบมากที่สุดคือ ‘บิสกิตงา’ (ในภาษาอิตาลีเรียกว่าขนมเรจินา)
ปัจจุบัน Veniero ยังคงเปิดให้บริการอยู่คู่กับย่านนี้ ราวกับ 127 ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงช่วงเวลาที่พัดผ่าน เพราะกลิ่นแห่งความทรงจำยังไม่เคยจางหาย
ภาพ: Veniero
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2022/12/27/t-magazine/venieros-bakery-new-york.html
https://www.villagepreservation.org/2020/09/23/venieros-an-east-village-cornerstone-since-1894/
https://ephemeralnewyork.wordpress.com/tag/antonio-veniero/