13 ม.ค. 2566 | 13:34 น.
- สินค้าท้องถิ่นของไทยมักมีภาพจำว่า ต้องราคาถูก
- แต่ไม่ใช่กับแบรนด์ ‘จักสาน’ (CHAKSARN) ที่นำเสื่อกกมาเพิ่มมูลค่าจนโกอินเตอร์
- ความสำเร็จของแบรนด์นี้ มี ‘จิรวัฒน์ มหาสาร’ ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
สินค้าท้องถิ่นไทยมักมีภาพจำว่า ต้องราคาถูก ผู้คนไม่ยอมจ่าย ถึงจ่ายก็จ่ายในราคาต่ำแสนต่ำ แต่มีอยู่แบรนด์หนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มจนขายในราคา ‘เฉียดหมื่น’ และขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว
ที่สำคัญคนซื้อส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติ แต่เป็นคนไทยด้วยกันเอง โดยแบรนด์ที่ว่านั้นก็คือ จักสาน (CHAKSARN) ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความภูมิใจของสินค้าไทยดั้งเดิมนี้คือ ‘จิรวัฒน์ มหาสาร’ ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร
นั่งบนเสื่อกกมองทุ่งนา
จิรวัฒน์เกิดเมื่อปี 1988 ที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคามในภาคอีสานของไทย ท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาลคือทิวทัศน์ที่เขาคุ้นชินจากการเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรที่มีอาชีพทำนาเฉกเช่นผู้คนส่วนใหญ่ในจังหวัด
และอีกสิ่งที่เขาคุ้นชินคือ ภาพที่แม่ของเขากำลังนั่งทอผ้าไหมและ ‘เสื่อกก’ (อ่านว่า เสื่อ-กก) อยู่ใต้ถุนบ้าน เสื่อกกมักถูกใช้ ‘ปูพื้น’ รองนั่ง เป็นเฟอร์นิเจอร์บ้าน ๆ ทั่วไปที่ใช้ปูนั่งกันในภาคอีสาน แม้จะใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดี แต่ก็มีราคาต่ำ เฉลี่ยมีราคาขายกันราว 200 - 300 บาทเท่านั้น จึงเป็นของบ้าน ๆ ราคาถูกที่ทุกคนมองข้ามมาตลอด…แต่จะมีใครบางคนเริ่มมองเห็นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
จิรวัฒน์เรียนจบด้านเอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชีวิตหลังเรียนจบของเขาเหมือนเด็กส่วนใหญ่ของจังหวัดที่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เขาสวมบทบาทเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานในองค์กรอยู่ราวครึ่งทศวรรษ
เมื่อถึงจุดหนึ่ง พอยิ่งทำไป เขายิ่งค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่ทางนี้ ในใจลึก ๆ รู้ว่าตัวเองชอบ ‘แฟชั่น’ ต่างหาก นี่คือสิ่งที่โหยหาในใจมาตลอด
ศูนย์กลางแฟชั่นโลก
จิรวัฒน์รู้แล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่บทบาทมนุษย์เงินเดือนต้องยุติลง จากนั้นเขามีโอกาสได้ไปเรียนต่อด้านแฟชั่นและการออกแบบที่อิตาลี เมื่อโอกาสมาถึงก็ต้องรีบคว้าไว้ เขาคว้าตั๋วเครื่องบินมุ่งหน้าสู่ ‘มิลาน’ ประเทศอิตาลี สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก
สาธารณชนมักมีภาพจำมิลานในเรื่องแฟชั่นหรูหราสมัยใหม่ แต่ที่นี่ยังคงอนุรักษ์ของเก่า ยังคงมีแฟชั่นดั้งเดิมที่ ‘ถูกปรับ’ ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่ยังคงมีกลิ่นอายเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม (ที่หาได้ยากแล้ว)
จิรวัฒน์เป็นอีกคนที่น่าจะสังเกตถึงมรดกทางวัฒนธรรมนี้ เพราะการตีตั๋วกลับมาบ้านเกิดในภายหลัง เขาไม่ได้มาพร้อมทัศนคติเด็กนอกแบบหัวสมัยใหม่จ๋าที่พร้อมสลัดของเก่าทิ้งทั้งหมด หรือมุ่งหน้าแต่สร้างสรรค์ของใหม่ กลับกันเขาคิดถึงความทรงจำเมื่อวันวานขณะที่แม่กำลังนั่งทอเสื่อกกอยู่ จะว่าไปแล้ว
นี่คืองานหัตถศิลป์ไทยที่มีอายุร่วม 100 ปีเลยทีเดียว เขาตัดสินใจหยิบเสื่อกกออกมาปัดฝุ่นและพร้อมชุบชีวิตให้กับมันใหม่ แต่ก่อนจะเริ่มขาย เขาต้องปูพื้นฐานให้แน่นก่อน
เบสิกต้องแน่น
สิ่งที่จิรวัฒน์ทำคือ ‘วิเคราะห์ตามจริง’ จะแปลงเสื่อกกเป็นเสื้อผ้าก็ไม่ได้ เพราะวัสดุมันแข็งเกินไป จะทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ก็มีการทำมานานแล้ว แต่ตลาดให้มูลค่าต่ำ
จริตของคนสายแฟชั่นคือ มีรสนิยมชอบความ ‘แตกต่าง’ จิรวัฒน์จึงตัดทิ้งสิ่งที่ไม่แตกต่างออกทั้งหมด สุดท้ายเหลือแค่ ‘แฟชั่นไอเทม’ ที่เริ่มจาก ‘กระเป๋าถือผู้หญิง’ ที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่ม การเปิดใจของกลุ่มเป้าหมาย และช่องว่างในตลาดเพราะยังไม่มีใครทำนัก
เมื่อเคาะสินค้าได้แล้ว เขาเริ่มจากการกลับไปหาแม่และออกปากให้ ‘สอน’ การทอเสื่อกก พร้อมกับศึกษาต้นน้ำ - ปลายทางน้ำ ระบบนิเวศในธุรกิจนี้ว่ามีอะไรบ้าง ต้องทำอะไรก่อนหลัง
นี่คือจุดเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการที่ลงไปทำงานเองกับมือ รู้ให้ลึก รู้ให้จริง ก่อนถ่ายทอดไปสอนและสั่งคนอื่นได้
จิรวัฒน์ยังลงคอร์สเรียนสอนทำกระเป๋าหนังทั่วไป เพื่อต้องการรู้ลึกให้จริงและจะได้นำความรู้กลับมาประยุกต์ใช้กับเสื่อกก ระหว่างทางเรียน ยังได้เจอกับผู้คนและคอนเนกชั่นในแวดวงธุรกิจนี้ที่ทำให้เห็นภาพใหญ่มากขึ้นไปอีก
เมื่อพร้อมถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจว่าต้องเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว
กำเนิด CHAKSARN แบรนด์อีสานสไตล์
ปี 2018 จิรวัฒน์ก่อตั้งแบรนด์ นี่คือแบรนด์ที่สื่อถึงการนำของเก่ามาตีความใหม่ นำความเป็นไทยมาปรับให้เป็นสากล นำความบ้าน ๆ มาอัปให้มีระดับขึ้น
‘กระเป๋าเสื่อกก’ คอลเลกชันแรกมีราคาขายตัวแพงสุดถึงใบละ 9,900 บาท เทียบเท่ากระเป๋าแบรนด์เนมในห้างได้เลยทีเดียว แต่ก็มีออร์เดอร์เข้าเพียบจนหมดเกลี้ยง จิรวัฒน์รู้ทันทีว่าที่ทำมาไม่สูญเปล่า แต่มีช่องว่างตลาดไปต่อได้
ในเวลาต่อมาไม่นาน CHAKSARN ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งของพื้นเมืองรอบตัวในชีวิตประจำวัน เช่น กระติบข้าวเหนียว พวงกุญแจ ถุงผ้า กระเป๋าถือใบเล็ก โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีเสื่อกกเป็นวัสดุหลัก
หลังจากนั้น ได้เปิดชอปหน้าร้านสาขาที่ ICONSIAM และ Terminal 21 อโศก และได้ลงโปรโมตในนิตยสาร VOGUE นิตยสารแพรว และออกทีวีหลายรายการ ทั้งหมดนี้สะท้อนความสำเร็จของแบรนด์ได้ดี
โดยทั่วไป ‘อีสาน’ มักถูกพูดถึง เชื่อมโยง และยกย่องชมเชยในเรื่องของอาหารการกินที่จัดจ้านถึงใจ…แต่ไม่ใช่กับโลกแฟชั่น และไม่ใช่เข้าไปใหญ่เมื่อพูดถึงแฟชั่นหรู
แต่จิรวัฒน์เลือกที่จะไม่ทิ้งกลิ่นอาย ‘อีสาน’ เขาหยิบยกมันมาสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ นำองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาและจากประสบการณ์ชีวิตโดยตรงในเมืองศูนย์กลางแฟชั่นโลก มาต่อยอดงานจักสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
จุดยืนแบรนด์ที่แตกต่าง
จิรวัฒน์รู้ดีว่าการจะเปลี่ยนทัศนคติคนให้หันมามองและให้มูลค่ากับเสื่อกกได้นั้น การสร้าง ‘แบรนด์’ ผ่านเรื่องราวและการสื่อสารอันทรงพลังเป็นสิ่งจำเป็น
ปกติแล้ว แบรนด์ที่ทรงพลังมักต้องมีพื้นฐานคุณภาพสินค้าที่ดีเยี่ยมเสียก่อน มาถึงตอนนี้เขามั่นใจแล้วว่าคุณภาพสินค้าสอบผ่าน ด่านต่อไปคือต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์
CHAKSARN ยึดมั่นในการจ้างงานและใช้ ‘วัสดุท้องถิ่น’ เพื่อส่งเสริมธุรกิจรายย่อย เขาคิดว่า เขาจะสำเร็จคนเดียวไม่ได้ แต่ช่างฝีมือและทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องเติบโตสำเร็จไปพร้อมกันด้วย และยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ปัจจุบันมีช่างฝีมือ 3 แห่งที่ส่งเสื่อกกให้แบรนด์ ได้แก่ มาจากจังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานี และอุดรธานี
ขั้นตอนและจุดมุ่งหมายเหล่านี้ จะถูกนำมาถ่ายทอดให้ลูกค้ารับรู้ เป็นการสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ (Brand storytelling) เปลี่ยนทัศนคติ ปรับภาพลักษณ์ให้พรีเมียม จนสอดคล้องกับการตั้งราคาแบบพรีเมียม
กระโดดออกสื่อ
ต้องยอมรับและชื่นชมว่าตัวจิรวัฒน์เองมี ‘เซนส์’ ของการเป็นนายแบบ จริตการแอ็กติ้ง เข้าใจองค์ประกอบของรูปภาพ ทำให้การสื่อสารทรงพลังดูบ้าน ๆ เรียบง่าย เข้าถึงได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ดูดีมีระดับ มีเสน่ห์
ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักจนยอดขายแบรนด์ตกต่ำจนต้องปิดหน้าร้านสาขาทั้งหมดและโฟกัสที่การขายออนไลน์ 100% จิรวัฒน์ตัดสินใจใช้ตัวเองสื่อสารแทนภาพลักษณ์แบรนด์ (CEO Branding)
เราได้เห็นคลิปถือกระเป๋าจักสานกลางทุ่งนา ที่มีคนดูมากกว่า 1 ล้านคนบน TikTok หรือการอัปเดตไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของตัวเจ้าของที่มีเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ยังแบ่งเวลาไปออกงานอีเวนต์และให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ จนทุกวันนี้จิรวัฒน์และ CHAKSARN กลายเป็น ‘ภาพจำคู่’ ที่คนสามารถจำได้
แบรนด์ได้รับการยอมรับ จิรวัฒน์ก็ได้รับการยอมรับ และสุดท้ายผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกของแบรนด์ได้รับการยอมรับในที่สุด ทุกวันนี้ลูกค้ากว่า 70% ไม่ใช่ชาวต่างชาติ…แต่คือคนไทย
การยอมรับนำมาซึ่งรายได้ที่โตต่อเนื่องของ CHAKSARN
ปี 2018 0.57 ล้านบาท
ปี 2019 5.3 ล้านบาท
ปี 2020 5.5 ล้านบาท
ปี 2021 11.1 ล้านบาท
ยอดขายเติบโตกว่า 20 เท่าจากวันที่ก่อตั้งเลยทีเดียว
ที่สำคัญไม่แพ้กัน จิรวัฒน์ได้พิสูจน์ให้พวกเราเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ไทยยังมีของดีซ่อนอยู่อีกมาก ผู้คนอาจมองข้ามมันไป แต่ถ้าเรามองเห็นและนำมันมา ‘ปรับจูน’ ให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมวิเคราะห์การตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง และการสร้างแบรนด์ที่มีเสน่ห์ ความเก่าแก่ดั้งเดิมนั้นก็มีที่ทางไปในยุคสมัยใหม่แน่นอน
.
ภาพ : chaksarn
.
อ้างอิง
.
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า