07 ส.ค. 2565 | 16:00 น.
เมื่อนึกถึงทหารจีไอ เฮลิคอปเตอร์โบยบิน และสงครามเวียดนาม อินโทรอมตะของเพลงเพลงหนึ่งก็มักจะลอยเข้ามาเสมอ ๆ อย่าง ‘Fortunate Son’ ของวงดนตรีที่เป็นที่นิยมแบบสุด ๆ ในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษ 1960 สู่ 1970 ซึ่งเนื้อเพลงกับการถูกนำไปใช้ก็ถือเป็นเรื่องที่ขัดกันเหลือเกิน เมื่อเพลงดังกล่าวถือเป็นเพลงเสียดสีที่มุ่งต่อต้านสงครามอย่างเต็มตัว แต่กลับถูกจารึกไว้เป็นเพลงที่เป็นภาพจำของสงครามเวียดนามเสียอย่างนั้น…
.
“ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ผมหรอก ก็ผมไม่ใช่ลูกเศรษฐี
ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ผมหรอก ก็ผมไม่ใช่คนโชคดี
ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ผมหรอก ก็ผมไม่ใช่สว.นี่
ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ผมหรอก ก็เพราะผมไม่ใช่คนโชคดี”
.
นอกจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในวง ในปี 1966 ช่วงเวลาเดียวกับที่สงครามเวียดนามกำลังปะทุดุเดือด ทอมและสตู - ผู้ไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีเส้นสายหรือ ‘The Fortunate One’ - ก็ถูกเกณฑ์ไปรบในป่าดงพงไพรห่างบ้านไปไกล แต่ก่อนจะถูกเกณฑ์ เนื่องจากจอห์นรู้อยู่แล้วว่าโดนแน่ ๆ เขาจึงชิงสมัครไปเป็นกองกำลังสำรองก่อนแล้วทำหน้าที่บริหารเสบียงไปเป็นเวลากว่า 6 เดือนในปี 1967
.
เพลงนี้นับว่าเป็นเพลง ‘ประท้วงสงคราม’ อย่างชัดเจนที่สุด เพราะประเด็นที่จอห์นมุ่งหวังจะสื่อหลัก ๆ คือความอภิสิทธิ์ที่ทำให้เขาโชคดีกว่าคนอีกกลุ่ม และความไม่สมเหตุสมผลของสงครามที่ต้องส่งชายหนุ่มมากมายหลายคนไปทิ้งชีวิตไว้ที่ต่างแดน ถึงกระนั้น แม้จะเกิดการประท้วง แต่ความรุนแรงก็ตามมา ในบทความนี้เราจะพาไปดูกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
นิกสันและสงคราม
.“ในตอนนั้น ถ้าคุณถามใครสักคนในกองทัพว่าทำไมเขาถึงต้องไปรบที่เวียดนาม ก็ไม่มีใครตอบได้ คำตอบที่เราจะเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือหยุดคอมมิวนิสต์ที่กำลังลุกลามจากทฤษฎีโดมิโน”
.
จอห์น โฟเกอร์ตี้ (John Fogerty) ผู้แต่งเพลงและนักร้องนำของเพลง Fortunate Son เล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาในสงครามเวียดนาม แถมเขายังอธิบายต่ออีกว่าแท้จริงแล้ว มันก็เกี่ยวโยงกับธุรกิจอยู่ดี ถึงกระนั้นการส่งคนหนุ่มมากมายจากอ้อมอกของครอบครัวไปตาย ณ แดนไกลก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่ดี
.
“ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คุณก็ไม่ได้มีสิทธิ์โหวต คุณไม่มีทางเลือก เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็จะเอาปืนคาดใส่หลังคุณแล้วส่งคุณไปอยู่ดี”
.
ด้วยความไม่สมเหตุสมผลของการทำสงครามในครั้งนี้ วัยรุ่นหนุ่มสาวมากมายหลายคนเริ่มเดินสายออกมาประท้วงนโยบายของรัฐ เพราะเหล่าคนที่ถูกส่งไปนั้นเป็นวัยรุ่นกันทั้งนั้น พวกเขาเหล่านั้นไม่มีอายุมากพอที่จะโหวต แต่กลับต้องถูกส่งไป แถมไม่มีใครเข้าใจอย่างแท้จริงเลยว่าทำไมต้องไป ซึ่งจอห์นก็เป็นหนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก มันจึงกลายเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงความอึดอัดที่ทำให้เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นมา
.
ถึงกระนั้น นิกสันก็ดูจะไม่ได้สนใจไยดีความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเสียงของประชาชนที่ออกมาประท้วงสักเท่าใดนัก ซึ่งความไม่พอใจและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงก็ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ จนความรุนแรงก็ปะทุขึ้นในเวลาต่อมา
ความรุนแรง ณ มหาวิทยาลัยเคนต์สเตต
ในการประท้วงวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 1970 ขณะนั้นมีการประท้วงกันของเหล่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม รวมถึงหนุ่มสาวเหล่านักศึกษาด้วย ณ มหาวิทยาลัยเคนต์สเตต (Kent State University) โดยการประท้วงก็ดำเนินไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธและท่าทีของความรุนแรง เหตุของการประท้วงครั้งนี้คือการต่อต้านกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้าไปขยายสเกลจากเวียดนามไปแทรกแซงประเทศกัมพูชาด้วย รวมถึงเป็นการแสดงความไม่พอใจที่มีกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ (National Guard) มายืนคุมสถานการณ์อยู่ที่มหาวิทยาลัย
.
แม้จะมีคำสั่งจากรัฐบาลให้ยกเลิกการประท้วง ผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะคงอยู่และเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง ความรุนแรงจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เมื่อทางการเริ่มพยายามที่จะยกเลิกการชุมนุม จึงมีการขว้างปาหินและสิ่งของสะท้อนกลับไป ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่จึงเริ่มใช้แก๊สน้ำตา แต่ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นพวกเขาใช้ ‘ปืนและกระสุนจริง’
.
ท้ายที่สุดเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรม โดยมีผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งเป็นนักศึกษาอายุ 19 - 20 ทั้งหมด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงต่อต้านสงคราม นอกจากนั้นก็ยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน บางคนก็ถึงขั้นเป็นอัมพาตไปเลย
.
จอห์นกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำในตอนนั้นคือการป้ายสีผู้ที่ต่อต้านสงครามว่า ‘Unamerican’ (ไม่ใช่อเมริกัน) แถมยังมีสโลแกนที่ทางการใช้กันอย่าง “Love it or leave it” หรือแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “ถ้าไม่รักก็ออกไป” จอห์นยังกล่าวเสริมอีกว่าเขารู้สึกไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องมีความรุนแรงจนถึงชีวิตเกิดขึ้น เพราะที่หลาย ๆ คนประท้วงกันอยู่คือการโจมตีนโยบายที่จะทำให้ทุกคน รวมถึงทหารหลาย ๆ คนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ท้ายที่สุดกระบอกปืนและอาวุธถูกหันมาที่พวกเขา
ลูกคนใหญ่คนโต
.“บางคนเกิดมา คาบช้อนเงินช้อนทองมาด้วย
โถ ทำอะไรเองเป็นบ้างไหมเนี่ย
แต่พอมีคนมาตามเก็บภาษีนะ
แหม ทำบ้านเสียรกรุงรังเชียว”
.
อีกหนึ่งประการที่คาใจจอห์นเสมอมาและถูกระบายผ่านบทเพลงนี้ด้วยก็คือความไม่เข้าใจ ณ ตอนนั้นที่ทำไม เขา ซึ่งเป็นคนธรรมดาจึงถูกเกณฑ์ไปลำบากยากเข็ญ ในขณะที่ลูกคนใหญ่คนโตบางคนถึงไม่โดน จอห์นกล่าวว่าในอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่ต้องโดนเกณฑ์ไปรบ เขารู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่เขาต้องโดน แต่บางคนกลับรอด เพียงเพราะเหตุผลที่ไร้ความสมเหตุสมผลสิ้นดี
.
เขายังได้เล่าต่ออีกว่าในทางการเมือง มันจะมีคำคำหนึ่งที่เขาใช้เรียกกันก็คือ ‘Favorite Son’ หรือ ‘ลูกชายคนโปรด’ เพื่อที่จะให้คนวงในได้คัดเลือกว่าใครจะมีอภิสิทธิ์ในการหนีทหาร
.
ด้วยเหตุนี้ จอห์นกับเพื่อนผู้ช่วยกันเขียนเพลงจึงนำคำนี้ไปพลิกใหม่ให้เป็น ‘Fortunate Son’ หรือ ‘ลูกชายผู้โชคดี’ ซึ่งเป็นการแทนความรู้สึกของพวกเขาที่ต้องประสบ แทนความรู้สึกของคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แทนความรู้สึกของคนหนุ่มสาวที่ไม่เข้าใจว่าจะรบไปทำไม แทนความรู้สึกของคนหลายคนที่ไม่อยากเอาชีวิตไปทิ้งไว้ห่างไกล และแทนความรู้สึกของเขาที่มีต่อสงครามเวียดนามและปัจจัยโดยรอบ และตัดพ้อถึงชะตาชีวิตใครหลายคนที่ต้องเป็น ‘The Fortunate One’
ภาพ:
Chris Walter / Contributor
Jack Rosen / Contributor
อ้างอิง: