6 ตุลา’ กับความทรงจำในสื่อ-วัฒนธรรมร่วมสมัย จากหนัง ถึงเพลง สะท้อนอะไรบ้าง

6 ตุลา’ กับความทรงจำในสื่อ-วัฒนธรรมร่วมสมัย จากหนัง ถึงเพลง สะท้อนอะไรบ้าง

6 ตุลาคม 2519 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูก ‘ขุด’ ขึ้นมานำเสนอความจริงของอดีตกันอยู่ตลอดเป็นประจำทุกปี แต่ความจริงที่ถูกขุดมานำเสนอนั้นเป็นอย่างไร บทความนี้จะพาท่านสำรวจการนำเสนอ 6 ตุลา’ ผ่านสื่อภาพยนตร์ร่วมสมัย

  • 6 ตุลาคม 2519 ถูกเล่าผ่านสื่อ และผลงานกลุ่มวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมาย
  • บทความนี้จะสำรวจภาพยนตร์ร่วมสมัย รวมไปถึงสื่อร่วมสมัยอย่างเพลงด้วย

ในจำนวนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลัง 2475 เป็นต้นมา ‘6 ตุลาคม 2519’ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูก ‘ขุด’ ขึ้นมานำเสนอความจริงของอดีตกันอยู่ตลอดเป็นประจำทุกปี แต่ความจริงที่ถูกขุดมานำเสนอนั้นเป็นอย่างไร การขุดค้นอดีตในส่วนนี้ตลอดช่วงที่ผ่านมาได้ลงลึกพอจนสามารถนำเอาความจริงอย่างใดขึ้นมาเปิดเผย ยังเหลือความจริงอีกกี่ระดับชั้นที่ยังขุดไปไม่ถึงหรือไม่ บทความนี้จะพาท่านสำรวจการนำเสนอ 6 ตุลา’ ผ่านสื่อภาพยนตร์ร่วมสมัย 

ตามที่เว็บไซต์ ‘คนมองหนัง’ ได้เคยรวบรวมและจัดเรียงลำดับไว้ จะเห็นรายการหนังที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลา’ เรียงตามปีที่ออกฉายดังต่อไปนี้:

- 2529 ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล

- 2534 ‘เวลาในขวดแก้ว’ โดย ประยูร วงษ์ชื่น สร้างจากนิยายของประภัสสร เสวิกุล

- 2544 ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ (คนล่าจันทร์) โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

- 2546 หนังสั้น ‘อย่าลืมฉัน’ โดย มานัสศักดิ์ ดอกไม้

- 2552 ‘เชือดก่อนชิม’ โดย ทิวา เมย์ไธสง

- 2552 ‘ลิฟท์แดง’ (ตอนหนึ่งของหนัง ‘มหาลัยสยองขวัญ’) โดย บรรจง สินธนมงคลกุล และ สุทธิพร ทับทิม

- 2552 ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน’ โดย เกริกชัย ใจมั่น และ นภาพร พูลเจริญ

- 2552 ‘October Sonata รักที่รอคอย’ โดย สมเกียรติ วิทุรานิช

- 2552 ‘เจ้านกกระจอก’ โดย อโนชา สุวิชากรพงศ์

- 2553 ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

- 2556 ‘ยังบาว’ โดย ยุทธกร สุขมุกตาภา

- 2559 ‘ดาวคะนอง’ โดย อโนชา สุวิชากรพงศ์

- 2560 ‘พิราบ’ โดย ภาษิต พร้อมนำพล

- 2557 ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง’ โดย ภัทรภร ภู่ทอง และ เสาวนีย์ สังขาระ

- 2557 ‘River of Exploding Durians’ หนังมาเลเซีย โดย เอ็ดมันด์ โหย่ว

- 2559 ‘ด้วยความนับถือ’ โดย ภัทรภร ภู่ทอง

- 2560 ‘สองพี่น้อง’ โดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม และภัทรภร ภู่ทอง

(มิตรสหายท่านใดที่ยังไม่เคยได้รับชมเรื่องใด ลองค้นหามารับชมกันดูนะครับ)

ดังที่มีการตั้งข้อสังเกตกันมาบ้างแล้วว่า ตลอดเวลากว่า 40 ปีนับแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2519 เป็นต้นมา  6 ตุลา’ มีหนังรวมทั้งสิ้น 17 เรื่อง ปีที่มีหนังออกมามากที่สุดคือปี 2552 มีทั้งสิ้น 5 เรื่องด้วยกันคือ (1) ‘เชือดก่อนชิม’  (2) ‘ลิฟท์แดง’  (3) ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน’  (4) ‘October Sonata  (5) ‘เจ้านกกระจอก’  

รองลงมาคือ ปี 2557 มี 2 เรื่อง คือ (1) ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง’ (2) ‘River of Exploding Durians’ ถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มสร้างโดยเฉลี่ยหนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาสร้างราว 2-3 ปี หนังที่ออกฉายเมื่อปี 2552 ก็ต้องมีระยะเวลาแรกเริ่มคิดและลงมือทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2549-2550 และเรื่องที่ออกฉายเมื่อปี 2553 อย่างเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ก็ต้องนับรวมเข้ากับกระแสนี้ด้วย เพราะเริ่มลงมือสร้างมาก่อนหน้านั้นเช่นกัน      

ช่วง 2549-2557 สังคมประเทศไทยเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้คนรุ่นใหม่หวนกลับไปขุดเอา 6 ตุลา’ กลับขึ้นมามากเช่นนี้ คำตอบอย่างกว้าง ๆ ไม่ใช่อะไรอื่น เพราะจะเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับบรรยากาศสังคมการเมืองหลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ 2549 กับ 2557 อย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น เราจึงสามารถจัดแบ่งยุคของหนัง 6 ตุลา’ ออกได้เป็น 2 ยุคกว้าง ๆ ด้วยกัน คือ ก่อนและหลัง 2552

6 ตุลา’ แง่หนึ่งถูกมองเป็นความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา ถูกปราบด้วยกำลังความรุนแรงจากกองกำลังจัดตั้งของฝ่ายขวา แต่อีกแง่หนึ่งนั่นก็ทำให้ 6 ตุลา’ ยังคงมีพลังในการวิพากษ์รัฐและสังคมไทย แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่การกระทำขององคาพยพของรัฐไทยทั้งหมดก็ตาม แต่กล่าวได้ว่าการยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นโดยผู้กระทำยังคงลอยนวลอยู่ ย่อมเป็นความรับผิดชอบแก่ชนชั้นนำรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้   

Plot เรื่องกับฉากชีวิตตัวละคร

ในหนัง 17 เรื่องข้างต้นนั้น ถ้าแบ่งตามลักษณะโครงเรื่อง (Plot) จะสามารถแบ่งออกเป็น 5 แบบด้วยกันดังนี้:

(1) Plot แบบโศกนาฏกรรม (tragedy) ได้แก่เรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ (2529), ‘14 ตุลา สงครามประชาชน (คนล่าจันทร์)’ (2544), ‘พิราบ’ (2560), ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง’ (2557), ‘River of Exploding Durians’ (2557), ‘ด้วยความนับถือ’ (2559), ‘สองพี่น้อง’ (2560)

(2) Plot แบบคอมเมดี้ (comedy) ได้แก่เรื่อง ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน’ (2552), ‘ยังบาว’ (2556)

(3) Plot แบบโรแมนติกดราม่า (Romantic drama) ได้แก่เรื่อง ‘เวลาในขวดแก้ว’ (2534), ‘October Sonata’ (2552), ‘ดาวคะนอง’ (2559)

(4) Plot แบบโรแมนติกแฟนตาซี (Fantasy romance) ได้แก่เรื่อง ‘เจ้านกกระจอก’ (2552)  

(5) Plot แบบแฟนตาซีสยองขวัญ (Fantasy horror) ได้แก่เรื่อง ‘เชือดก่อนชิม’ (2552), ‘ลิฟท์แดง’ (2552), ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (2553)

Plot ที่เป็นที่นิยมสร้างมากที่สุดคือ แบบ ‘โศกนาฏกรรม’ (tragedy) แน่นอนว่าหากเป็นการนำเสนอโดยไม่มีการปรุงแต่งหรือดัดแปลงให้เป็นสัญลักษณ์แล้ว โดยรูปแบบเหตุการณ์ย่อมไม่เป็นการยากเลยที่จะทำให้ออกมาเป็น plot แบบนั้น แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดูจะกลายเป็นขนบของหนังอิงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยไปแล้ว ก็คือการนำเสนอความจริงของเหตุการณ์ในรูปของ ‘ฉากชีวิต’ ซึ่งก็แน่นอนอีกว่า ชีวิตคนที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์คนในเครื่องแบบร่วมมือกับกลุ่มอันธพาลบุกทำร้ายเอาชีวิตคนมือเปล่า ย่อมไม่ใช่ฉากหลังที่น่าอภิรมย์ เด็กที่เติบโตมาด้วยภาพจำแบบนั้นจะเป็นคนยังไง มีมุมมองต่อสังคมประเทศชาติบ้านเมืองที่ตนเองเกิดและอาศัยอยู่นี้อย่างไร 

ก่อน 2552

‘เวลาในขวดแก้ว’ นวนิยายของ ประภัสสร เสวิกุล ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2528 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา’ ผ่านไปเพียง 9 ปี ก่อนหนังเรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ ซึ่งถือเป็นหนังเรื่องแรกที่มี 6 ตุลา’ เป็นฉากหลังของตัวละครเป็นเวลาเพียง 1 ปี ดูเหมือนจะเป็นเรื่องแรกที่ครุ่นคิดถึงประเด็นข้างต้นนี้ แต่เหมือนว่าเนื้อเรื่องจะดำเนินไปโดยชี้ให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วปัญหาสำคัญในชีวิตของเด็กส่วนใหญ่เป็นปมมาจากเรื่องครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์  เป็นปัญหาใหญ่ที่กำหนดชีวิตตัวละครยิ่งกว่าเรื่องสังคมการเมือง 

ด้วยจิตวิทยาพื้น ๆ นี้ เมื่อครอบครัวกลายเป็นพื้นที่สร้างปมปัญหาให้กับชีวิต มิตรภาพและความรักความผูกพันที่มีในหมู่เพื่อนพ้อง ถูกนำเสนอในฐานะสิ่งที่มาช่วยเยียวยาหรือกอบกู้ชีวิตที่พังทลาย ‘ป้อม’ ผู้มาจากครอบครัวชั้นล่างและเริ่มต้นชีวิตนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเป็นนักศึกษา ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกลุ่มอันธพาลของทางการทำร้าย ก่อนตายได้เขียนโน้ตถึงเพื่อนที่แอบรัก (คือนัต) ว่า “ตะแบกบาน เธอเคยบอก...จะเก็บให้ แต่วันนั้นไม่เคยมาถึง” จาก ‘ดอกไม้จะบาน’ (บริสุทธิ์กล้าหาญ...) กลายเป็น ‘ตะแบกบาน’  ไม่น่าที่ผู้แต่งเรื่องนี้จะไม่รู้นัยของ ‘ดอกไม้จะบาน’ ในหมู่เด็กกิจกรรมนักศึกษา ตรงข้าม นี่เป็นการจงใจเสียดสีอย่างเห็นได้ชัด   

ดังจะเห็นได้ในฉากสุดท้าย ผู้ที่มอบดอกไม้ (ที่กำลังเบ่งบาน) ให้เด็กหนุ่มบ้านนอกจากหนองคายอย่างนัต กลับเป็นจ๋อม ลูกสาวนายทุนที่แม้ชีวิตจะเหลวแหลกและผิดหวังกับความรักมามาก แต่สุดท้ายก็ค้นพบตัวเอง ความรักและความผูกพันเป็นสิ่งที่ผู้แต่งเรื่อง ‘เวลาในขวดแก้ว’ นำเสนอในฐานะสิ่งที่จะสามารถนำพาให้เกิดความสัมพันธ์โรแมนติกแบบ ‘รักข้ามชนชั้น’ และในแง่วรรณกรรมก็ถือเป็นการหวนคืนดีกับชนชั้นนายทุน ภายใต้ร่มธงการสร้างสรรค์ ‘เพื่อ (สะท้อน) ชีวิต’ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตของฝ่ายซ้ายในอดีต   

‘รักข้ามชนชั้น’ ที่มาพร้อมกับการคืนดีกับอุดมการณ์หลัก ยังพบได้ในเรื่องต่อมาอย่าง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ (ฉายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2529 หรือ 10 ปีหลัง 6 ตุลา’ พอดี) เมื่อพิมต้องเลือกระหว่างคมสัน อดีตนักศึกษาหนุ่มที่เคยช่วยชีวิตเธอไว้เมื่อครั้ง 6 ตุลา’ กับสมหวัง เด็กหนุ่มบ้านนอกฐานะยากจนที่มีอาชีพลับ ๆ เป็นผู้ชายขายบริการทางเพศ คมสันตามเนื้อเรื่อง (และในความรู้สึกของพิม) เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนกับเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา คมสันที่เคยเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่กระตือรือร้น แต่เมื่อจบการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาเป็นนายทุนนักธุรกิจ

เขากลายเป็นคนประเภทเดียวกับที่ตัวเองเคยวิพากษ์วิจารณ์เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา  พูดง่าย ๆ คือ ‘ละทิ้งอุดมการณ์’ แตกต่างจากสมหวังที่พิมสัมผัสได้ถึงความใสซื่อบริสุทธิ์เปี่ยมความจริงใจ แน่นอนสุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ต้องเลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ 

แต่ทว่ามันไม่ง่ายเพราะเรื่องจงใจสร้างให้ตัวละครอย่างสมหวังนั้นต่ำเตี้ยเสียจนยากแก่การคู่ควรกับใคร อีกทั้งสมหวังยังมีบุคลิกลักษณะเป็นชาวบ้านที่ตรงกับ stereotype ในอุดมคติของชนชั้นนำเวลานั้น 

ตัวเลือกของพิมจึงเป็นตัวแทนของ 2 ตัวละครสำคัญทางสังคมการเมืองแบบหลัง 6 ตุลา’ คือระหว่างแกนนำนักศึกษากับชาวบ้านจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านแบบสมหวังที่ใส่ซื่อไม่เจือปนกับทุนนิยมนั้นเป็นชาวบ้านที่ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่ชาวบ้านตามที่เป็นจริง ๆ 

การสร้างชาวบ้านแบบนี้ขึ้นมาสำหรับเป็นตัวเลือกที่ตรงกันข้ามกับคนในขบวนการนักศึกษาประชาชน เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่สำคัญของชนชั้นนำหลัง 6 ตุลา’ เพื่อแยกมวลชนออกจากขบวนการฝ่ายซ้าย ยังไม่ต้องนับการที่ ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ เป็นผลงานที่สร้างโดยเจ้านายชั้นพระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ 

‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ จึงเป็นเหมือนภาพฝันของชนชั้นนำที่ต้องการให้ ‘พวกหลงผิด’ ไปจมปลักอยู่กับพวกต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวหรือเป็นพลังให้แก่พวกที่จ้องจะล้มล้างอำนาจของตนเอง และเป็นความร่วมมือกันครั้งแรก ๆ ระหว่าง ซ้ายตุลา’ บางเฉด กับ ชนชั้นนำที่เป็นเจ้าโดยตรง ไม่ต้องแปลกใจหรอกที่ภายหลังคนเหล่านี้จะสังกัดกลุ่มการเมืองเฉดสีใดในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เขาเคยร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว      

‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ ถึงแม้จะเป็นเรื่อง 14 ตุลา แต่เนื้อเรื่องบางช่วงตอนก็พาดพิงถึง 6 ตุลา’ ตัวเอก (‘เสกสรรค์ ประเสริฐ’ ที่ผมกับเพื่อน ๆ สมัยเรียนจะเรียกอาจารย์อย่างล้อขำ ๆ ว่า ‘ป๋าเสก’) ได้รับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลา’ ผ่านทางวิทยุทรานซิสเตอร์ (นับว่าป๋าเสกของเราเป็น ‘ผู้มาก่อนกาล’ โดยแท้ คือก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จะแนะนำให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์รับฟังข่าวสารมานานหลายปีดีดัก) แต่ในขณะที่มีการแพร่เสียงเล่า 6 ตุลา’ ผ่านทางวิทยุแบบสด ๆ ร้อน ๆ กำลังดำเนินอยู่นั้น แกนนำพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กลับกำลังตกตะลึงพรึงเพริดกับการถูกโค่นล้มของเจียงชิงและ ‘แก๊งสี่คน’ ที่เมืองจีน 

นั่นทำให้เรื่องมันเกือบจะเป็น comedy ที่แม้จะไม่ได้ไร้แก่นสารเข้าขั้นเดียวกับเรื่อง ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน’ แต่ด้วยเหตุที่มีความ realistic อยู่ในแง่ที่ผู้นำพคท.เป็นกลุ่มนิยมจีน ไม่ว่าเรื่องนี้จะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เป็นไปได้หรือที่อย่างคนในพคท.จะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยกับการที่แนวร่วมในเมืองของตนต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนั้น แต่เรื่องก็สะท้อนการนำเสนอ 6 ตุลา’ ที่ยังอยู่ภายใต้โครงเรื่องแบบโศกนาฏกรรมนั่นเอง และสำหรับการเสียดสีความนิยมจีนในหมู่กรมการเมืองของพคท. สำหรับในยุคปัจจุบัน อาจเป็นเรื่อง ‘เอ้าท์’ ไปแล้วเช่นกัน เพราะชนชั้นนำไทยได้เปลี่ยนท่าทีต่อจีนคอมมิวนิสต์ หันไปพึ่งพิงเป็นหลังอิงในการเมืองระหว่างประเทศไปแล้วเรียบร้อย... 

ไม่ใช่ว่าความฝันของคนรุ่นโน้นที่อยากจะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นจริงได้ หากแต่เป็นเพราะอีกฝ่ายหนึ่งยอมให้เป็นจริงไม่ได้ต่างหาก แม้จะเป็นเรื่องที่ผ่านการ ‘การันตี’ จากตัวเอกที่ยังมีชีวิตอยู่ตัวเป็น ๆ แต่หนังเรื่องนี้กลับสะท้อนข้อบกพร่องในการมองอดีตที่เกิดขึ้นในหมู่คนเดือนตุลาในระดับปัจเจกไปอย่างน่าเสียดาย 

หลัง 2552

งานในเชิงอัตชีวประวัติที่ ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ ได้ริเริ่มขึ้น ต่อมาถูกผลิตซ้ำโดยเรื่องของอีกบุคคลหรืออีกกลุ่มหนึ่งก่อนอย่างเรื่อง ‘ยังบาว’

แรกเริ่มเดิมทีเมื่อได้ยินชื่อเรื่อง ‘ยังบาว’  ผู้เขียนแอบคิดว่าเป็นเรื่องเด็กหนุ่มภาคใต้ แต่เมื่อทราบว่า ‘ยัง’ ใช้ในความหมาย Young ที่แปลว่า หนุ่ม และ ‘บาว’ ก็ย่อมาจาก ‘คาราบาว’  ‘ยังบาว’ เลยเหมือนจะล้อกับ ‘ยังมาร์กซ์’ (Young Marx) แต่ก็ล้อแต่ชื่อ สาระไม่ได้ วงดนตรีคาราวบาวยังไงซะก็ไม่มีอะไรเทียบได้กับเรื่องของคาร์ล มาร์กซ์ เมื่อวัยหนุ่ม ที่เป็นความหวังแก่คนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าทั่วโลก แนวเรื่องทำนองนี้แลดูจืดไปถนัดเมื่อเทียบกับอีกพัฒนาการที่ริเริ่มโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเหตุการณ์ในอดีตโดยตรง  เหมือนอย่างที่ผ่านมาก่อนหน้า        

ในช่วงระยะหลังมานี้ 6 ตุลา’ ในภาพยนตร์มีลักษณะการดำเนินเรื่องและความเป็นฉากชีวิตที่ค่อนข้างจะซับซ้อนและเป็นสัญลักษณ์ผูกปมปัญหาได้เข้มข้นมากขึ้น แสดงนัยถึงความพยายามที่จะดึงเอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การรำลึกอดีตของผู้สูงวัยบางกลุ่มเท่านั้น        

เรื่องแรกคือ การเปิดปม ‘มนุษย์ 6 ตุลา’ ในรูปของ ‘ผีสิง’ อยู่ในลิฟท์ของมหาวิทยาลัยแบบในเรื่อง ‘ลิฟต์แดง’ เรื่องต่อมาคือ คน 6 ตุลาในฐานะเป็น ‘ลิงป่า’ ที่กลับบ้านมาเยี่ยมพ่อซึ่งกำลังป่วยใกล้ตาย แบบใน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ สองเรื่องนี้ดูจะโดดเด่นและไปไกลในแง่การใช้ 6 ตุลา’เป็นสัญลักษณ์ และก็ทำได้ดีเยี่ยมทำให้ 6 ตุลา’ ดูมีมนต์ขลังและกำลังวังชาขึ้นมาก จนสามารถโลดแล่นได้ในสื่อสังคมร่วมสมัย ตรึงผู้ชมที่อาจไม่เคยสนใจรับรู้เรื่อง 6 ตุลา’ มาก่อนได้ชงักดีนัก ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมเมืองที่ส่วนกลาง หากแต่คือในสังคมชนบทอย่างอีสานอีกด้วย    

อย่างไรก็ตาม ‘ลิงป่า’ ลึกลับที่จากถิ่นฐานบ้านช่องไปนาน ในแง่ที่เป็นคนที่ถูกทำให้กลายเป็นอื่น ได้กลับมาสู่ ‘บ้าน’  มาเยี่ยมดูใจบิดาบังเกิดเกล้า มันมีอะไรคล้ายกับ ‘คนป่าคืนเมือง’ อยู่โดยนัย บิดาผู้เป็นตัวแทนของอำนาจตามระบบชายเป็นใหญ่และครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคมกระแสหลักที่ตัวเอกเคยปฏิเสธ ชวนให้นึกถึงปมที่ ‘เวลาในขวดแก้ว’ ผูกเอาไว้ ในแง่ว่าก็ครอบครัวไม่ใช่หรือที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปด้วย  

เช่นเดียวกับผีนักศึกษาที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ และวิญญาณยังวนเวียนรอคอยคนรักอยู่ในลิฟต์ ก็ได้พบกับคนรัก และสุดท้ายเมื่อนักศึกษาที่เป็นลูกสาวของฆาตรกรในเหตุการณ์ ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ม.ธรรมศาสตร์ ถูกติดตามโดยผีรุ่นพี่ท่านนี้ และเธอก็เป็นคนนำพารุ่นพี่ให้ได้กลับไปเจอคนรักและได้ไปสู่สุขคติ ก็เหมือนกับจะเป็นความพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างลงตัวจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง 

จากรักข้ามชนชั้นที่พบใน ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ หรืออย่างเรื่อง ‘October Sonata’ มาสู่รักข้ามภพข้ามชาติใน ‘ลิฟท์แดง’ มีระยะห่างและความต่างทางบริบทมากพอสมควร   

คำถามก็คือว่า ในชีวิตจริง 6 ตุลา’ มันสามารถจะจบได้แบบนั้นจริงหรือ? ถ้า ‘ความรัก’ คือคำตอบ คนรุ่น 6 ตุลา’ ที่รู้จักสิ่งนี้ดีจนถึงกับเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ ‘ป่าแตก’ เพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 3 ช้าของพคท. (อย่างว่าแหล่ะ คนเราบทมันอยากจะทำ ‘เรื่องนั้น’ กันขึ้นมา จะอุดมการณ์หรือศีลธรรมไหน ๆ ก็เอาไม่อยู่หรอก)

พวกนี้จะไม่พบคำตอบนี้กันไปนานแล้วหรือ หลายคู่ก็เลิกรากันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว การกลับมาจับมือคืนดีกันระหว่างทายาทฆาตรกรกับผู้ถูกกระทำที่กลายเป็นผีเฝ้าลิฟท์ไปนั้น อันที่จริงชวนให้นึกถึง 66/23 (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ว่าด้วยนโยบายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์) อยู่เหมือนกัน

อดีตกับความใฝ่ฝันร่วมสมัย

ในปี 2539 อัลบั้มเส้นทางสายเก่า ของปู - พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ มีเพลงหนึ่งชื่อ ‘6 ตุลาคม 2519’ เนื้อหาผูกปมเล่าเรื่องจากหญิงที่ประสบชะตากรรมต้องเลี้ยงดูลูกหลังจากที่สามีตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา’ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปได้เรื่องมาจากชีวิตจริงของใคร เพราะถ้าจริงก็แสดงว่าอาจเป็นการตั้งครรภ์ในวัยเรียนของรุ่นตุลา แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงก็สะท้อนความรู้สึกผิดหวังต่ออดีต จนอยากจะปฏิเสธตัวตนของตนเองในอีกเวอร์ชั่น ไม่ต่างจากในหนังก่อน 2552  

เช่นเดียวกับพิมใน ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ หรืออย่างป้อมใน ‘เวลาในขวดแก้ว’ เพียงแต่พิมยังโชคดีที่ไม่ได้มีลูกกับคมสัน  และป้อมก็ไม่เคยได้คบหาเป็นแฟนกับนัต  พิมกับป้อมเลยมีทางเลือกที่จะหลุดพ้นจากอดีตได้ดีกว่านางเอกในเพลง ‘6 ตุลาคม 2519’ ของ ปู - พงษ์สิทธิ์ ถึงจะดูผิดฝาผิดตัวไปหน่อย แต่ต้องยอมรับว่านี่ก็สะท้อนแง่มุมที่คนรุ่นก่อน 2552 มีร่วมกันเกี่ยวกับ 6 ตุลา’   

แต่ในอีกหลายปีต่อมา ในอีกมุมหนึ่ง สืบเนื่องจากกระแสวิพากษ์สังคมหลังรัฐประหาร 2557 ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา’ ปรากฏในมิวสิกวีดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ โดยโดยกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ‘Rap Against Dictatorship’ (RAD) ออกเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2561

MV นี้ใช้ฉากหลังเป็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา’ กำกับโดยธีระวัฒน์ รุจินธรรม ซึ่งเคยกำกับหนังสารคดี ‘สองพี่น้อง’ มาก่อน เป็น 6 ตุลา’ ในมุมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงไม่อิงตัวละครใด ๆ และที่สำคัญคือเป็น 6 ตุลา’ ในมุมวิพากษ์สังคม ไม่ใช่การคร่ำครวญถึงความทรงจำอดีตอันเจ็บปวดรวดร้าวระบม เหมือนคนรุ่นก่อนที่ทำกันจนเป็นขนบประเพณีในหมู่ศิลปินฝ่ายซ้ายไทย 

แต่นอกจากวงการเพลง ในวงการภาพยนตร์เองก็มีสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในแนวเดียวกับ RAD แต่ไม่ใช่ในประเทศไทย เป็นที่มาเลเซีย คือเรื่อง ‘River of Exploding Durians’ โดยฝีมือกำกับของเอ็ดมันด์ โหย่ว (Edmund Yeo)

เหมือนเอ็ดมันด์ โหย่ว จะเคยดูหนัง 6 ตุลา’ ในไทยมาบ้าง จนเรื่องมันเหมือนต่อกันกับเรื่องอื่น ๆ พอดี จากที่ ‘รักข้ามชนชั้น’ ที่ถูกทำให้เป็นคำตอบและฉากสุดท้ายของหนังไทย ก็กลายมาเป็นฉากแรกเริ่มที่นำไปสู่ปัญหาชีวิตที่สลับซับซ้อนในอีกแบบหนึ่ง 

‘หมิง’ กับ ‘เหมยอัน’ ที่มักจะโดดเรียนไปพลอดรักกันอยู่บ่อย ๆ ชีวิตแสนหวานจนน้ำตาลเรียกพี่เช่นนั้นจบสิ้นลง เมื่อ ‘หมิง’ เชื่อฟังครอบครัวทิ้งเธอไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย และก็เป็นช่วงเดียวกับที่บ้านของเหมยอันกำลังจะกลายเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมยอันก็เข้าสู่โลกแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง จนมาพบกับลิ้ม อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ที่เห็นต่างจากรัฐในการพัฒนา 

ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ที่ลิ้มถ่ายทอดให้แก่เหมยอันนั้นเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน 6 ตุลา’ ในประเทศไทย และเป็น 6 ตุลาในมุมต่างจากเรื่อง ‘โศกนาฏกรรม’ ที่ผลิตขึ้นในไทย เป็นสายธารเดียวกับการต่อสู้เพื่อโค่นอำนาจเผด็จการที่เกิดขึ้นทั่วอุษาคเนย์ 

ในแง่นี้เป็นอีกครั้งที่ 6 ตุลา’ ได้หวนกลับมารับใช้การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน แม้จะคนละประเทศก็ตาม  แต่เรื่องการต่อสู้ทางสังคมชนชั้นก็เป็นเรื่องสากลมาแต่ไหนแต่ไร ครั้งหนึ่งเมื่อรัฐไทยมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านบ่อนอกก็ลุกขึ้นสู้โดยศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของที่อื่น ๆ เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม 6 ตุลา’ ในแง่นี้ยังต้องได้รับการสานต่ออีกมากทั้งในไทยและอุษาคเนย์ Plot แบบ ‘River of Exploding Durians’ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไรนัก ผู้เขียนเองก็เพิ่งจะได้รับชมเมื่อคุณธนพงศ์ พุทธิวนิช แนะนำให้เมื่อไม่นานมานี้         

6 ตุลา’ ในแบบที่ลิ้มกับเหมยอันได้ศึกษานั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในหนังไม่ได้สื่อไว้ก็จริง แต่กระนั้นก็คาดได้ว่าจะต้องเป็น Plot ที่ต่างจากที่ผลิตซ้ำกันในไทยเป็นแน่ 6 ตุลา’ ไม่ได้มีแค่ด้านที่เป็นโศกนาฏกรรมหรือเรื่องราวชีวิตที่แตกสลายจนวิปริตผิดปกติไปแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อเสนอทางวิชาการมามากแล้วว่า 6 ตุลา’ นั้นดูแต่เฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ไม่ได้ เพราะ 6 ตุลา’ เกี่ยวพันถึงประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายในสังคมไทย เช่นอย่างที่รับรู้กันว่าเบื้องต้นควรต้องมองสัมพันธ์กับ 14 ตุลาคม 2516 แยกขาดจากกันไม่ได้ เป็นกระแสโต้กลับหลังจากที่นักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะเมื่อ 14 ตุลาคม 2516

บางท่านเช่น เบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) เสนอให้มองเหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหารที่เกิดในหัวค่ำของวันเดียวกันนั้น หรืออย่างที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอให้มองย้อนไปถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนับแต่การอภิวัฒน์กลางกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา นักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์เมื่อเช้าวันนั้นถูกกระทำจากขบวนการทางการเมืองที่สืบสายมาจากกลุ่มพวกล้มคณะราษฎรหลังการรัฐประหาร 2490  หรืออย่างที่ธงชัย วินิจจะกูล เสนอให้มองย้อนกลับไปจนถึงการเกิดพรมแดนรัฐชาติที่กลายเป็นพลังความชอบธรรมของลัทธิชาตินิยมของฝ่ายขวาไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา’ เป็นต้น 

สุดท้ายแล้วไม่ว่ายังไงก็ตาม ก็ดังที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กับ ใจ อึ้งภากรณ์ เคยกล่าวสรุปไว้แห่งหนึ่งในเล่ม ‘อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง’ ที่ว่า การใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิดพลาดแต่อย่างใด!!!