ภูมิหลังที่แท้จริงของ กิมย้ง สู่นัยเบื้องหลังตัวเอก-เนื้อเรื่องนิยายกำลังภายในอมตะ

ภูมิหลังที่แท้จริงของ กิมย้ง สู่นัยเบื้องหลังตัวเอก-เนื้อเรื่องนิยายกำลังภายในอมตะ

กิมย้ง นักเขียนนิยายกำลังภายในสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องอมตะตลอดกาลมากมาย ตัวละครจำนวนไม่น้อยมักกำพร้า หรือมีประเด็นเรื่อง ‘บิดา’ เป็นภูมิหลังสำคัญ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากปมเรื่องโศกนาฏกรรมที่เกิดกับ ‘พ่อ’ ของท่านกิมย้ง

เตี่ยบ่อกี้ ตัวแทนแห่งกิมย้ง ทิ้งแค้นส่วนตัวเพื่อคุณธรรมที่สำคัญกว่า

ในตัวละครเอกของท่านกิมย้ง ทั้งก๊วยเจ๋ง เอี้ยก้วย เตียบ่อกี้ อ้วงเซ็งจี้ โอ้วฮุย อุ้ยเสี่ยวป้อ เหล่งฮู้ชง ฯลฯ จะเป็นบุตรผู้กำพร้า บ้างกำพร้าทั้งบิดา มารดา แต่ส่วนใหญ่จะกำพร้า ‘บิดา’ เป็นหลัก ส่วนหนึ่งนั้นมาจากปมเรื่องราวของ ‘บิดา’ ของท่านกิมย้งเอง

ในหนังสือ เรื่องสั้น Cloud of The Moon (月雲) อัตชีวประวัติส่วนตัวที่ท่านกิมย้งเขียนเอง ในปี 2000 เล่าถึงเรื่องราวของตัวท่านในวัยเด็ก และการสูญเสียบิดา

หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ มีชัยเหนือก๊กมินตั๋ง เหมาเจ๋อตุง ก็กำหนดให้ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ (文化大革命) และ ‘การปฏิวัติระบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ’ (无产阶级专政下继续革命) เป็นแนวทางในการปฎิรูปประเทศจีน ที่กลายเป็น ‘แนวคิดที่ผิดพลาดในยุคเหมาเจ๋อตุงตอนปลาย’ และความผิดพลาดนั้น หนึ่งในครอบครัวผู้สูญเสีย คือ ตระกูล จา (Cha) ของท่านกิมย้งเอง

ตระกูลจา ได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิชาการแห่งไห่หนิง (海寧查氏) โดยมียอดนักเขียนวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์หมิงตอนปลายและราชวงศ์ชิงตอนต้น เช่น Zha Jizuo (1601–1676)  Zha Shenxing (1650– 1727)และ Zha Siting ปู่ของท่านกิมย้ง จาเหวินชิง (查文清) ได้รับตำแหน่งจินฉีฉู่เฉิน (ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสาม) ในการตรวจสอบเอกสารขององค์จักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ชิง

แต่เมื่อมีการปฎิวัติเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพพ่อของท่านกิมย้ง จาซูฉิน Zha Shuqing (查朔卿) กลับถูกจับและประหารชีวิตโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านในระหว่างการรณรงค์เพื่อปราบปรามการต่อต้านการปฏิวัติ ในปี 1951

จากนโยบายการปฎิวัติเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ทำให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาที่หมู่บ้านตระกูล ‘จา’ เพื่อให้ชาวบ้านฟ้องร้อง กล่าวหาเรื่องการก่ออาชญากรรมว่า จาซูฉิน เจ้าบ้านตระกูลจาในตอนนั้น ได้กระทำการเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน

แต่ในสายตาของชาวบ้าน จาซูฉินทำงานหนักและช่วยเหลือคนยากจนและหญิงม่ายทุกปีดังนั้นจึงไม่มีใครเต็มใจที่จะลุกขึ้นกล่าวหาเขา

ในที่สุด ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อหลายฝ่าย ชายจากหมู่บ้านใกล้เคียงก็ลุกขึ้นยืนและเปิดเผยว่า จาซูฉินมีปืนพกอยู่ในบ้าน

เจ้าหน้าที่จึงตัดสินทันทีว่า จาซูฉิน มีความผิดในหมวด ‘การต่อต้านรัฐบาล กักตุนอาหาร ซ่องสุมกลุ่มโจร และการพยายามฆ่าพวกทหารเกณฑ์’ เพียงแค่ปืนที่ตระกูลจามีไว้เพียงเพื่อป้องกันตัว

ในวันที่ 26 เมษายน 1951 จาซูฉิน ถูกพาไปยังลานประหารที่ตั้งอยู่ในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนประถม Longtouge ที่ตัวจาซูฉินนั้นเป็นผู้ออกเงินสร้างมันขึ้นมาเอง ทรัพย์สินทั้งหมดของตระกูลจาถูกยึด และครอบครัวยังต้องจ่ายค่ากระสุนปืนที่ใช้ปลิดชีพจาซูฉินพ่อของกิมย้งอีกด้วย นับว่าเป็นความอัปยศที่ชอกช้ำที่สุดของตระกูลจา

ในปี 1953 ท่านกิมย้งในตอนนั้นยังเป็นนักข่าวก็ได้ย้ายมาอยู่ฮ่องกงและทำงานใน New Evening Post (ของบริติชฮ่องกง) ในตำแหน่งรองบรรณาธิการ และเขาก็ได้พบกับ ตั้งบุนทง ซึ่งต่อมาเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกา เนี่ยอู้เซ็ง

หลังจาก เนี้ยอู้เซ็ง ได้เขียน ‘มังกรถล่มพยัคฆ์กลางกรุง’ (Long Hu Dou Jing Hua) และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เขาก็ชักชวนท่านกิมย้งมาเขียนนิยายกำลังภายใน 

ท่านกิมย้งได้เขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกเมื่อปี 1955 คือ จอมใจจอมยุทธ์ หรือ ตำนานอักษรกระบี่ แม้ไม่ได้โด่งดังแต่ก็เปล่งประกายความสามารถสะท้านบรรณพิภพ

ในปีถัดมา (1956) ท่านกิมย้งเขียน เพ็กฮวยเกี่ยม (Sword Stained with Royal Blood) เล่าเรื่องราวของ อ้วงเซ็งจี้ หรือ เหยียนเฉินจือ เป็นบุตรชายของ อ้วงจุ้ยหวง แม่ทัพปลายสมัยราชวงศ์หมิง ที่ถูกประหารโดยไม่มีความผิดจากจักรพรรดิจุ๊ยเจ็ง (จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง)

และนวนิยายที่โด่งดังที่สุด ‘มังกรหยก’ (The Legend of the Condor Heroes) เล่าเรื่องราวของก๊วยเจ๋ง ที่เป็นบุตรชายของ ก๊วยเซาเทียน ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นกบฏ พวกเขาต่อต้านการจับกุม เข้าสู้พวกทหารที่กลุ้มรุม กระทั่งก๊วยเซาเทียนเสียชีวิต

ตัวละครทั้ง อ้วงเซ็งจี้ และ ก๊วยเจ๋ง ต่างเป็นตัวละครที่เดินตามเส้นทางหลักคือการล้างแค้นแทนบิดา แต่สุดท้ายพวกเขากลับทำเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการเสียสละความแค้นเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น(ประชาชน)

ภูมิหลังที่แท้จริงของ กิมย้ง สู่นัยเบื้องหลังตัวเอก-เนื้อเรื่องนิยายกำลังภายในอมตะ

ในปี 1959 ท่านกิมย้ง ได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Ming Pao (หมิงเป้า) กับเพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลายของเขา Shen Baoxin (沈寶新) และดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการเป็นเวลาหลายปี โดยเขียนทั้งนวนิยายและบทบรรณาธิการที่ต่อเนื่องกัน

ในตอนแรก บทบรรณาธิการของท่านกิมย้ง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างโจ่งแจ้ง จนกลายเป็นชื่อลำดับต้น ๆ ในการจะถูกลอบสังหารจากทางฝ่ายซ้าย ทั้งท่านกิมย้งและสหายสนิทอย่างเหง่ยคัง ซึ่งเป็นบรรณาธิการหลักของหมิงเป้า สองอัจฉริยะแห่งฮ่องกงต่างต้องระวังตัว โดยเฉพาะในเวลาที่จีนและอังกฤษมีแนวโน้มว่าจะเจรจาคืนเกาะฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ

จนกระทั่งการเจรจาเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ท่านกิมย้งพิจารณาว่า ไม่ช้าก็เร็วฮ่องกงต้องคืนสู่จีนเป็นแน่ สิ่งหนึ่งที่ท่านกิมย้งต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีท่าทีต่อฮ่องกงอย่างไร

ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยังจีนจากคำเชื้อเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์

เป็นการตัดสินใจที่หาญกล้าอย่างยิ่ง เนื่องเพราะทุกคนทราบกันดีว่าหลายปีที่ผ่านมา บทความของหมิงเป้านั้น ชี้ให้ปัญญาชนในฮ่องกงเห็นถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้กิมย้งเป็นเป้าหมายสังหารอันดับต้น ๆ ของฝ่ายซ้าย การตัดสินใจไปจีนของท่านกิมย้งแทบจะไม่ต่างกับการเดินเข้าสู่ถ้ำเสือ

เช้าวันที่ 18 กรกฎาคม 1981 ณ ศาลามหาประชาชน กรุงปักกิ่ง

เติ้ง เสี่ยวผิง (鄧小平)ในฐานะรองประธานคณะกรรมการศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ได้ต้อนรับการมาเยือนของท่านกิมย้ง ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หมิงเป้า (明報)

นับเป็นครั้งแรกที่เติ้งเสี่ยวผิงพบปะกับชาวฮ่องกงเป็นการส่วนตัว สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก และมีผลต่อท่านกิมย้ง ในการเปลี่ยนแปลงความคิดที่เขาเคยมีต่อพรรคคอมมิวนิสต์

เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน เติ้งเสี่ยวผิงรีบทักทายท่านกิมย้งว่า

“มิต้องมากพิธี เราท่านนั้นเป็นสหายเก่า เรารู้จักท่านผ่านนิยายของท่านมานานแล้ว”

เติ้งเสี่ยวผิงต้อนรับกิมย้งและสนทนากันในในห้องโถงใหญ่ของประชาชนในกรุงปักกิ่ง ระหว่างสนทนานั้น ท่านกิมย้งเห็นความหวังระหว่างจีนและฮ่องกง และมีหัวข้อหนึ่งที่จู่ ๆ เติ้งเสี่ยวผิงก็กล่าวขึ้นมา คือการคืนความยุติธรรมให้แก่ จาซูฉิน บิดาของท่านกิมย้งที่ถูกใส่ร้าย นับได้ว่าเติ้งเสี่ยวผิงนั้นได้ศึกษาเรื่องราวของท่านกิมย้งมาเป็นอย่างดี

เนื่องจากช่วงเวลานั้น การลงนามข้อตกลงในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน ระหว่างจีนกับอังกฤษยังมิได้เกิดขึ้น ส่วนหมิงเป้านั้น นับเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ โดยขอให้ท่านกิมย้งทิ้งความขุ่นข้องหมองใจในอดีตและเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

แต่คำตอบของท่านกิมย้งกลับสร้างความแปลกใจให้กับเติ้งเสี่ยวผิงในเวลานั้นนัก เมื่อได้ยินคำว่า

“คนในปรภพมิอาจฟื้นคืน”

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ประโยชน์ของชาติสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว

แต่กระนั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็ดำเนินการให้ ในปีถัดมา 1982 ศาลไห่หนิง ประกาศให้ จาซูฉิน เป็นผู้ไร้มลทิน ซ้ำยังนำนวนิยายฉบับสมบูรณ์ที่เป็นของขวัญจากท่านกิมย้ง ให้ตีพิมพ์จำหน่ายไปทั่วประเทศ พร้อมนำเนื้อหาลงไว้ในแบบเรียนขั้นพื้นฐาน ท่านกิมย้งเมื่อทราบก็ส่งจดหมายมาแสดงความขอบคุณ

เนื่องเพราะส่วนหนึ่งนั้น เติ้งเสี่ยวผิงเองชมชอบลักษณะนิสัย “อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตัวด้วยผลประโยชน์ของชาติ” ของท่านกิมย้ง

ภูมิหลังที่แท้จริงของ กิมย้ง สู่นัยเบื้องหลังตัวเอก-เนื้อเรื่องนิยายกำลังภายในอมตะ

ภายหลังจีนและอังกฤษได้ลงนามข้อตกลงในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนในปี 1985 ท่านกิมย้งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการร่างกฎหมายขั้นพื้นฐาน ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฮ่องกงและเป็นสมาชิกของทีมร่างระบบเศรษฐกิจของทีมร่างกฎหมายพื้นฐานระบบการเมือง โดยมีภารกิจสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของฮ่องกง

ฮ่องกงคืนสู่จีน แนวคิดสองระบบการปกครอง 50 ปีของฮ่องกงจึงเกิดขึ้น เพราะทางจีนและฮ่องกงมองว่า การใช้เวลาเพื่อให้คนฮ่องกงยอมรับในการเปลี่ยนแปลง 50 ปี นั้น คือช่วงอายุของคนหนึ่งรุ่นพอดี

การที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งมอบหมายให้ท่านกิมย้งนั้นเป็นสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เพราะท่านกิมย้งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเหล่าปัญญาชนของฮ่องกง และสามารถถ่วงดุลมุมมองที่ขัดแย้งกันของทุกฝ่ายในฮ่องกงได้  

แต่ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปี 1989 ท่านกิมย้ง ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลปักกิ่งที่ใช้กำลังความรุนแรงต่อเหล่านักศึกษาผู้ประท้วง  

ในปีเดียวกันนั้น ที่งานเลี้ยงน้ำชาฉลองครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งหมิงเป้า ท่านกิมย้งได้ประกาศว่าเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหารของสำนักพิมพ์หมิงเป้า

ก่อนจะกลับเข้าร่วมการคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดตั้ง ดูแลการถ่ายโอนอำนาจปกครองดินแดนฮ่องกงสู่รัฐบาลกลางแห่งปักกิ่ง ในปี 1996 ก่อนฮ่องกงคืนสู่จีนด้วยความเรียบร้อยในปีถัดมา

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2018 ท่านกิมย้ง ถึงแก่กรรมที่สถานพยาบาลและโรงพยาบาลฮ่องกง (Hong Kong Sanatorium & Hospital, Hong Kong) พร้อมหน้าด้วยครอบครัวของเขา เมื่ออายุได้ 94 ปี 7 เดือน 20 วัน

หัวใจสำคัญของนวนิยายของท่านกิมย้งทุกเรื่องคือ ‘คุณธรรม’ สำคัญที่สุด

ในงานเขียนเรื่อง ‘ดาบมังกรหยก’ แม้เตี่ยบ่อกี้ ตัวเอกของเรื่องจะมีโอกาสสังหารผู้นำ 6 สำนักใหญ่ ผู้เป็นต้นเหตุการฆ่าตัวตายของบิดามารดา แต่เตียบ่อกี้ก็ไม่กระทำ เนื่องเพราะสิ่งสำคัญสำหรับเขาคือความสามัคคีปรองดองของคนในยุทธภพ

ท้ายที่สุด เตียบ่อกี้เป็นผู้รวมใจคนในลัทธิเม้งก่า ในการกอบกู้แผ่นดินจีนจากมองโกล ก่อนที่ตนเองจะเร้นกายหายไปจากยุทธภพ