สี จิ้นผิง ทายาทเลือดคอมมิวนิสต์จากรุ่นพ่อ สหายของเหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนยุคชนกับสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ทายาทเลือดคอมมิวนิสต์จากรุ่นพ่อ สหายของเหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนยุคชนกับสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีน สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 เขาคือชายผู้สืบทอดเลือดคอมมิวนิสต์จากรุ่นพ่อ สหายของเหมาเจ๋อตง และเป็นผู้นำจีนในยุคเปิดศึกชนสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกานับวันยิ่งห่างไกลกับคำว่า ‘มิตรภาพ’ มากขึ้นเรื่อย ๆ วิกฤตดูรุนแรงอีกครั้งตั้งแต่ที่ ‘แนนซี เพโลซี’ (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาประกาศทริปเยือนเอเชีย (ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าเธอรวมไปถึงไต้หวันด้วย)

แผนการหยั่งเชิงรัฐบาลปักกิ่งของสหรัฐฯ เรียกว่าได้ผล เพราะว่าทางการจีนพูดขู่ทันทีว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้รับอนุญาตให้ยิงเครื่องบินของแนนซี เพโลซี ได้หากบินมาเหนือน่านฟ้าไต้หวัน เพราะถือว่าเป็นน่านฟ้าเดียวกับจีน (แผ่นดินใหญ่)” สะท้อนความตึงเครียดเมื่อครั้งที่แนนซี เพโลซี ประกาศทริปเยือนเอเชียช่วงสิงหาคม 2022

คำยืนยันนี้จาก Global Times สื่อที่ถูกคอมมิวนิสต์จีนควบคุมรายงานตอบโต้ทริปเยือนเอเชีย ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งนี้ก็คือ ‘สี จิ้นผิง’ (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนที่นั่งในตำแหน่งนี้กว่า 2 วาระแล้ว

 

สีจิ้นผิงเคยเห็นต่างกับลัทธิคอมมิวนิสต์

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนวัย 69 ปี เกิดที่มณฑลส่านซี (Shaanxi) ประเทศจีน เป็นบุตรชายของ ‘สี จงซุน’ (Xi Zhongxun) ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของจีน และเป็นสหายคนสนิทของเหมาเจ๋อตง นักปฏิวัติลัทธิคอมมิวนิสต์จีน

จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้จุดเริ่มต้นของสี จิ้นผิง เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือเห็นด้วยกับรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งสี จิ้นผิงในวัยที่ยังอายุน้อยเขาสนใจเรื่องทั่วไป เรื่องปากท้องของคนจีน และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ซึ่งสี จิ้นผิงเคยเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เคยวิจารณ์การกระทำของรัฐบาลจีนอย่างเปิดเผยในเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 โดยเหตุประท้วงก็มาจากการเร่งรัดกระบวนการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย

แต่ในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม (ทฤษฎีความคิดของเหมาเจ๋อตง) เพื่อรักษาอุดมการณ์การปฏิวัติและกำจัดศัตรูทางการเมือง ด้วยการทำลาย 4 ด้านคือ ความคิดเก่า, วัฒนธรรมเก่า, นิสัยเก่า, ประเพณีเก่า ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติและความยิ่งใหญ่ของเหมาเจ๋อตง พ่อของสี จิ้นผิง กลับเป็นคนที่ถูกลืมเพราะมีทัศนคติที่ไม่ตรงกับเหมาเจ๋อตงบางเรื่อง จึงทำให้ไม่ใช่คนโปรดอีกต่อไป

จากนั้นสถานการณ์ทางการเมืองในจีนเริ่มเลวร้ายลง ในปี 1969 สี จิ้นผิงจึงถูกส่งตัวไปอยู่ที่แถบชนบท เขาทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรมเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งช่วงเวลาตรงนี้มีส่วนหล่อหลอมทำให้สี จิ้นผิงชื่นชอบที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อปากท้องของคนจีนเป็นหลัก ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 

เริ่มเส้นทางนักการเมือง

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ในปี 1974 หลังจากที่สี จิ้นผิงสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวนาท้องถิ่นได้ โดยเขาเป็นเลขานุการสาขาของ CCP ในตอนนั้น

สี จิ้นผิงเลือกเรียนเพิ่มในระหว่างนั้นที่มหาวิทยาลัย Tsinghua ในกรุงปักกิ่ง โดยศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ซึ่งหลังจากที่สำเร็จการศึกษาในปี 1979 เขาทำงานเป็นเลขานุการของ เก็ง เปียว (Geng Biao) ซึ่งตอนนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลจีนกลางเป็นเวลา 3 ปี

ในปี 1982 สี จิ้นผิงขยับขยายขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในมณฑลเหอเป่ย และทำงานอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1985 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของพรรค CCP และเป็นรองนายกเทศมนตรีของเซียะเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน

เส้นทางทำงานและความรักของสี จิ้นผิง เกิดขึ้นที่ฝูเจี้ยน จนในปี 1995 เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคประจำจังหวัด เส้นทางการเมืองของ สี จิ้นผิง เติบโตมากขึ้นจากตำแหน่งเล็กกลายเป็นตำแหน่งใหญ่ และมีโอกาสได้ทำงานความร่วมมือกับไต้หวันในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตั้งแต่ปี 1999

ในปี 2002 - 2003 สี จิ้นผิงได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรักษาการผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง ขณะที่ตั้งแต่ปี 2008 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดีแห่งชาติจีน ซึ่งตั้งแต่นั้นเขาได้พยายามอนุรักษ์และปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก จนสื่อจีนพูดถึงสี จิ้นผิง ในฐานะคนที่เป็นทูตเชื่อมสัมพันธ์ให้กับจีน

ในปี 2010 สี จิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลาง (CMC) ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีอำนาจสูงในประเทศ จนในปี 2013 ที่สี จิ้นผิงได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งชาติจีน บุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ

 

นโยบายต่างประเทศแบบสี

ด้วยความที่สี จิ้นผิงเป็นคนที่รักในการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นอยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่สำคัญภายใต้การบริหารประเทศของสี จิ้นผิง ก็คือ ความร่วมมือทางการค้า, โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาร่วมกันกับประเทศในเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง และยุโรป

ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐบาลจีนพยายามผลักดันโครงการ One Belt, One Road หรือแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมมาตลอด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ที่ใช้สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รวมไปถึงความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่รัฐบาลจีนมอบให้กับต่างประเทศทั้งในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาการศึกษา, การลงทุน ฯลฯ ล้วนเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของสี จิ้นผิงทั้งสิ้น

 

จุดแตกหักระหว่างจีน-สหรัฐฯ

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ไว้ว่า ความไม่ลงรอยระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หากจะพูดว่าเกิดจากช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีส่วนถูก เพราะตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ก็เริ่มรู้สึกว่ามีความทะนงตัวอยู่เหนือประเทศอื่น คล้าย ๆ กับสหรัฐฯ กลายเป็นพี่ใหญ่ที่อยากจะปกป้องดูแลน้องทั่วโลก สหรัฐฯ มีความคิดว่าโลกควรจะมีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

แต่จีนกับรัสเซีย 2 ประเทศนี้เห็นต่างกับสหรัฐฯ มานานแล้ว เพราะเชื่อในระบบการมี ‘มหาอำนาจมากกว่าหนึ่ง’ เพื่อถ่วงดุลอำนาจได้ ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นผู้กุมชะตากรรมของโลกไว้แต่เพียงผู้เดียว

ถ้าย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1953 (สงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้ว) กองทัพเรือของสหรัฐฯ หลายพันนายได้บุกยิงที่เกาะมัทสึช่องแคบไต้หวันซึ่งห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ไม่กี่ก้าว โดยเป็นการยิงตอบโต้กับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ขณะที่สหรัฐฯ เองเคยข่มขู่จีนว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิงถล่ม หากจีนยังพยายามรวมแผ่นดินกับไต้หวัน

ในปี 1964 เป็นครั้งแรกที่จีนเข้าร่วมชมรมนิวเคลียร์เพื่อทดสอบระเบิดปรมาณู ด้วยเหตุผลเพราะว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงสงครามในเวียดนาม (ความขัดแย้งจีน-เวียดนาม) ซึ่งก็ตามคาด สหรัฐฯ พยายามเข้ามาปกป้องและช่วยเหลือเวียดนาม

การเบ่งอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นมาตลอดจนทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิด ‘สงครามการค้า’ ในปี 2018 โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดขึ้นจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน (สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าที่ส่งออกไป) เลยรู้สึกว่าเสียเปรียบ และนั่นก็ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจตั้งกำแพงภาษีให้สูงขึ้น, กีดกันสินค้าไฮเทคของจีน (เช่น ประเด็น Rare Earth ที่เป็นสินแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทค), เปิดฉากสงครามค่าเงิน ฯลฯ

ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ดูท่าทางจะยังจบยาก เพราะยิ่งมีแพลนการเยือนเอเชียครั้งนี้ยิ่งทำให้ความขุ่นมัวระหว่างกันลึกเข้าไปอีก

โดยสี จิ้นผิงได้พูดเตือนไปถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอาไว้ว่า ‘อย่าเล่นกับไฟ’ “ใครที่เล่นกับไฟ ผู้นั้นจะถูกเผาพินาศ และหวังว่าสหรัฐฯ จะเห็นข้อนี้ชัดเจน” แม้ว่าทางฝั่งของโจ ไบเดน จะย้ำมาตลอดว่า “วอชิงตันไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบาย One China (จีนเดียว) และรัฐบาลภายใต้การบริหารของผมเองก็ไม่ได้สนับสนุนการแยกตัวอย่างอิสระของไต้หวัน”

แม้ว่าต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันไปมาแบบนี้มาตลอด แต่ครั้งนี้อาจจะต่างไปจากทุกครั้ง เพราะทางฝั่งนักวิเคราะห์ของจีน ‘ชี ยินฮง’ (Shi Yinhong) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินพูดไว้ว่า “ตอนนี้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ กำลังแย่ทุกด้าน และมีแนวโน้มสูงที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะใช้มาตรการตอบโต้ที่จำเป็น นั่นหมายความว่าถ้ามีการรุกล้ำน่านฟ้าหรือด้านอื่นจะมีการยิงตอบโต้ทันทีโดยไม่มีการเตือนก่อน”

นอกจากนี้ทางฝั่งรัฐบาลจีนยังตอบโต้ ‘ไต้หวัน’ ด้วยการระงับการนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากไต้หวันด้วยตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

หลายคนคาดหวังเกี่ยวกับท่าทางของโจ ไบเดน ถ้าเทียบกับสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เมื่อครั้งที่เขาชนะการเลือกตั้งเกิดความหวังต่าง ๆ นานาว่าสงครามระหว่างจีนอาจจะสงบลงได้บ้าง แต่ตลอดกว่า 1 ปีที่โจ ไบเดนรับตำแหน่งนี้ และมีการต่อสายตรงคุยกับสี จิ้นผิงถึง 5 ครั้ง เดาว่าน่าจะไม่มีอะไรคืบหน้าเลย และอาจจะแย่มากกว่าเดิมด้วยซ้ำจากทริปเยือนเอเชียที่จะเกิดขึ้นนี้

สำหรับไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต 2 ประเทศทั้งในแง่การเมือง การต่างประเทศ และเศรษฐกิจ ขณะที่สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้โพสต์ผ่าน Facebook เรียกร้องให้ประเทศไทยสนับสนุน One China เช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นความท้าทายที่ขนานไปกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเวลานี้

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://www.britannica.com/biography/Xi-Jinping

https://nypost.com/2022/07/29/china-could-shoot-nancy-pelosi-plane-during-taiwan-trip/

https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2021/11/us-china-war/620571/

https://www.cfr.org/timeline/us-relations-china

https://www.ft.com/content/c8fc6efa-5429-4873-92c0-aae1134c7a14

https://www.cnbc.com/2022/08/02/china-ratchets-up-military-and-economic-pressure-on-taiwan-as-pelosi-begins-her-visit-.html

https://www.beartai.com/feature/55474