28 ม.ค. 2566 | 14:19 น.
- ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินหญิงเจ้าของผลงานลายจุดที่ทุกคนจดจำได้ เธอสมัครใจอาศัยในโรงพยาบาลทางจิตเวชตั้งแต่ยุค 70s
- ในวัย 93 ปี เธอเผยว่า ยังคงทำงานศิลปะอยู่ทุกวัน ขณะที่ปี 2022-23 เธอมีนิทรรศการแสดงผลงานในฮ่องกง
เด็กสาวจากครอบครัวที่บูดเบี้ยวต้องแบกรับความรุนแรงจากแม่ผู้ให้กำเนิด กับความสุขที่ได้จินตนาการว่าตัวเองย้ายจากโลกกลวงเปล่าใบนี้ไปยังโลกอีกใบที่เธอสร้าง ถูกใส่ลงไปในผลงานศิลปะ
เธอมุ่งหน้าที่จะทำให้ผลงานของเธอให้เป็นที่ยอมรับ แต่น่าเสียดายที่ในยุคนั้นการทำงานศิลปะไม่เป็นที่ยอมรับ และถูกเหยียดหยามหลายต่อหลายครั้ง เธอก็ยังคงมุ่งหน้าสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
จากคำบอกเล่าของ ‘โยชิทาเกะ มิกะ’ (Yoshitake Mika) ผู้มีโอกาสได้ร่วมงานกับคุซามะในหลาย ๆ ครั้ง ดูเหมือนว่าการมาถึงของโควิด-19 ส่งผลต่อความคิดของของคุซามะ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่เธอเคยได้รับ นั่นไม่ใช่เรื่องสมมติหรือเป็นเรื่องนามธรรม แต่มันคือสิ่งที่เธอรู้สึกในแต่ละวัน และวิธีการรับมือกับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เธอมีชีวิตรอดต่อไปในแต่ละวันเสียมากกว่า ผลงานของเธอเลยเต็มไปด้วยนัยเกี่ยวกับการฟื้นฟู (regeneration) ในฐานะการเยียวยาที่ทรงพลัง
ปัจจุบัน คุซามะ อยู่ในวัย 93 ปีแล้ว เธอใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันทางจิตเวชในโตเกียวด้วยความสมัครใจของเธอเองตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 แต่ไม่ว่าที่ที่เธออยู่จะเป็นที่ไหน เธอยังคงไปทำงานในสตูดิโอของตัวเองทุกวัน
ยาโยอิ คุซามะ ในวัยชรากลายเป็นคุณป้าที่แสนอบอุ่น ถึงแม้ครั้งหนึ่ง เธอจะนำเอาความโกรธเกรี้ยว ความขบถ มาสร้างผลงานศิลปะและใช้ร่างกายเปลือยเปล่าในการต่อต้านสังคม ทว่าท้ายที่สุดแล้วอาการป่วยทางจิตก็ปกคลุมจิตใจของเธออยู่ดี
“ฉันเขียนภาพทุก ๆ วัน ฉันจะยังคงสร้างสรรค์โลกที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความชื่นชมต่อชีวิต โอบรับทุกสารเกี่ยวกับความรัก สันติภาพ และจักรวาลต่อไป” ข้อความส่วนหนึ่งจากอีเมลที่คุซามะ พูดถึงการผลงานของเธอกับสำนักข่าว CNN
เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อมากที่เธอไม่เคยหมดไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานเลย ตั้งแต่เริ่มสร้างงานศิลปะจนถึงตอนนี้
“ฉันไม่เคยรู้สึกถึงความต่างระหว่างความคิดสร้างสรรค์ในช่วงแรก ๆ กับปัจุบันเลย ฉันไม่เคยหมดไอเดีย เลยจะโชว์สิ่งใหม่ ๆ ต่อไป”
ยาโยอิ เชื่อว่าเธอเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินอย่างแท้จริง เธอไม่เคยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินคนใด และใช้เวลาเป็นอย่างมากเพื่อสร้างตัวตนขึ้นมา
“ฉันพร้อมจะเดิมพันทุกอย่างกับ Polka Dots (ลายจุด)”
อย่างที่รู้กันว่ายาโยอิ ผูกโยงเรื่องราวความเจ็บปวด และการต่อสู้กับสุขภาพจิตของตัวเองเข้ามาเป็นวัตถุดิบในผลงานชั้นเลิศของเธอ ถึงแม้ผลงานที่เสร็จออกมาแล้วจะมีสีสันฉูดฉาด ดูเป็นมิตร จะสวนทางกับชีวิตสีขาวดำที่ออกจะเป็นโทนมืดมนของเธอมากก็ตาม
อย่างเช่นผลงานศิลปะชิ้นแรกของเธอ “Infinity nets” ผลงานชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ เป็นการนำเอาเสี้ยวความเจ็บปวดของโรคทางจิตที่ติดตัวมาแต่เด็ก กับพลังที่เธอใช้ต่อสู้กับมันมาสร้างเป็นผลงาน
เธอมาเฉลยภายหลังในอัตชีวประวัติของเธอว่า “ตอนที่ฉันยืนอยู่หน้าแคนวาสและระบายจุดอยู่ จู่ ๆ มันก็จบลงด้วยการที่ฉันวาดจุดทั้งบนโต๊ะ บนพื้น หรือแม้กระทั้งบนร่างกายตัวเอง จุดพวกนั้นขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ จนฉันเผลอลืมตัวไปเลยค่ะ”
แต่ความโศกเศร้าเจ็บปวดไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เธออยากจะนำเสนอผ่านผลงานของเธอ ความรัก ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยาโยอิ ภูมิใจใส่ลงไปในผลงาน เธอบอกว่า “ฉันอยากทำให้เต็มที่เพื่อสร้างงานศิลปะเพื่อเป็นข้อความเกี่ยวกับ ‘รักนิรันดร์’ ถึงคนรุ่นใหม่ด้วยค่ะ”
ในปี 1960 เธอร่วมเดินขบวนและร่วมกิจกรรมหลายครั้งเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศรวมไปถึงการต่อต้านสงครามเวียดนาม เธอให้ความเห็นว่า ในฐานะศิลปินนั้น เธอควรจะแบ่งปันทั้งความรัก ความสุข และความหวัง เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ทนทุกข์และไร้ซึ่งโอกาสที่จะได้สัมผัสความสุขที่อยู่ในเหล่างานศิลปะ
สำหรับแฟนที่ติดตามผลงานของยาโยอิ ระหว่างปี 2022 ถึงกลางปี 2023 มีจัดงานนิทรรศการของยาโยอิ คุซามะ ณ พิพิธภัณฑ์ M+ ในฮ่องกง ในชื่อ ‘Yayoi Kusama: 1945 to now’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2022 จนถึง 14 มิถุนายน 2023 เป็นอีกหนึ่งงานนิทรรศการสเกลใหญ่จากทวีปเอเชียซึ่งจัดนอกประเทศญี่ปุ่น รวบรวมผลงานกว่า 200 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม งานประติมากรรม และยังมีผลงานศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย
ชมตัวอย่างงานในนิทรรศการจากคลิปนี้
นิทรรศการจะพาผู้เข้าชมไปสำรวจชีวิตของเธอในเส้นทางอาชีพนี้ ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่เธอเริ่มวาดรูปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงผลงานในยุคปัจจุบันที่แสนล้ำค่า
งานที่ถูกจัดขึ้นครั้งนี้จะพาผู้ชมไปเที่ยวชม เรื่องราวและแรงบันดาลใจในแต่ละช่วงชีวิตของคุซามะ ผ่านผลงานศิลปะที่ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นลำดับ
ตัวอย่างเช่นผลงานที่เกิดจากความคิดเกี่ยวกับความไม่มีที่สิ้นสุดที่ผุดเข้ามาในหัว เมื่อสมัยที่เธอยังเป็นเด็กสาวและเห็นทุกสิ่งรอบตัวกลายเป็นลวดลายซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ถูกสะท้อนเข้ามาในผลงานที่มีลวดลายซ้ำ ๆ ที่ต่อกันได้ไม่รู้จบ
ไอเดียที่เธอได้จากตอนยังเด็กถูกพัฒนาต่อ จนมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดลาย ‘Infinity Net’ ซึ่งเธอได้วาดเอาไว้หลังจากที่เธอได้เห็นมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก จากหน้าต่างบนเครื่องบิน เมื่อปี 1957 ตอนที่เธอย้ายจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐอเมริกา
ผลงานต่อมาที่ถูกสร้างในช่วงปี 1966-1974 คือ ‘Self Obliteration’ รูปแบบผลงานเป็นการประยุกต์รวมกันของงานประติมากรรมและจิตรกรรม ในรูปแบบของรูปปั้นแกะสลักหุ่นแสดงเพศหญิง ที่ถูกย้อมด้วยสีสันฉูดฉาด และเพิ่มลายจุดอันเป็นเอกลักษณ์ของคุซามะเข้าไป ยืนรายล้อมอยู่รอบ ๆ โต๊ะอาหารที่ถูกระบายทับในแนวเดียวกัน สะท้อนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านในอาชีพของเธอ หลังจากที่เริ่มเส้นทางอาชีพในนิวยอร์กที่สังคมศิลปะสมัยนั้นเต็มไปด้วยลักษณะชายเป็นใหญ่
ลวดลายเหล่านั้นได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในงานประติมากรรม ที่มีรูปทรงคล้ายกับตัวอะมีบา (สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว) ผลงานจากชุดผลงาน ‘My Eternal Soul’ ซึ่งเป็นชุดผลงานการใช้สีอะคริลิคที่เธอเริ่มไว้เมื่อปี 2009 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2021
ผลงานนี้เกิดจากการตีความมุมมองที่มีต่อศิลปะของตัวคุซามะ เมื่อตอนที่เธอยังเด็ก เธอในวัย 80 ย่าง 90 ปี ณ ตอนนั้น ย้อนมองตัวเองในอดีตก็เหมือนกับการมองจุด และรอยด่าง ที่มีรูปทรงเหมือนสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มีดวงตานับร้อยผ่านกล้องจุลทรรศน์ จึงเกิดเป็นผลงานชิ้นนี้
นิทรรศการในฮ่องกงครั้งนี้ ยังจัดแสดงผลงานที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในช่วงระหว่างเส้นทางอาชีพของคุซามะ หนึ่งในนั้นเป็นผลงานจากปี 1976 เป็นงานประติมากรรมที่ใช้ผืนผ้าสีดำและสีขาว ในชื่อ ‘Death of a Nerve’ เมื่อครั้งที่เธอหวนคืนสู่ประเทศบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่นด้วยความรู้สึกหดหู่และท้อแท้
คุซามะ เล่าว่า เส้นประสาททั่วร่าง/ความกล้าหาญของเธอหายไปราวกับว่ามันถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ และตายจากไป หลังจากการพยายามฆ่าตัวตายมาครั้งหนึ่ง
ผลงานชิ้นดังกล่าวยังมีอีกเวอร์ชั่น ซึ่งถูกทำขึ้นเพื่อพิพิธพัณฑ์ M+ โดยเฉพาะ และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อผลงานเล็กน้อย เป็น ‘Death of Nerves’ มีการใช้สีสันสดใสเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ผลงานในครั้งนี้สื่อถึงความอ่อนช้อย ยืดหยุ่น และพลังบวก ต่างกับต้นฉบับจากปี 1976 เพราะไม่นานหลังจากการพยายามฆ่าตัวตายครั้งนั้น เธอก็รู้สึกเหมือนได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเส้นประสาทที่ตอนนี้ได้รับการเยียวยาจนกลับคืนมา ก็ระเบิดออกมาเป็นสีสันสดใส ที่ทอดยาววนไปไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องราวของการหลบเลี่ยงจากความเจ็บปวด และการเผชิญหน้ายอมรับความเจ็บปวด เป็นส่วนผสมที่ถ่ายทอดออกมาในงานของ ยาโยอิ คุซามะ ผลงานล้ำค่าที่ไม่ได้มีแค่สีสันเป็นส่วนผสม แต่ยังมีทั้งความเจ็บปวดและโศกเศร้าแฝงอยู่ในทุกผลงานของเธอด้วยเช่นกัน
เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)
อ้างอิง: