ทราวิส: โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ เมื่อชิมแปนซีเกิดคลุ้มคลั่งทำร้ายมนุษย์

ทราวิส: โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ เมื่อชิมแปนซีเกิดคลุ้มคลั่งทำร้ายมนุษย์

กลายเป็นโศกนาฏกรรมสลดสุดสยองเมื่อลิงชิมแปนซีใจดีที่ถูกเลี้ยงโดยคนมาตั้งแต่ยังเด็ก เกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายมนุษย์อย่างเลือดเย็นโดยการกัดกินใบหน้าของเหยื่อจนบาดเจ็บปางตาย นับเป็นเรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเตือนใจถึงการนำ 'สัตว์ป่า' มาเป็น 'สัตว์เลี้ยง'

“มันกำลังฉีกหน้าเธอออกเป็นชิ้น ๆ แล้ว!”

เสียงอันตื่นตระหนกตกใจสลับกับการหายใจอย่างรวดเร็วจากความหวาดกลัวสุดขีดของหญิงคนหนึ่งแล่นผ่านสายโทรศัพท์ 911 ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เสียงของหญิงคนหนึ่งที่กรีดร้องไม่รู้ภาษาด้วยความเสียขวัญ เสียงของลิงร้องคำรามอย่างบ้าคลั่งที่แทรกเข้ามา ความสับสนอลหม่านผสมปนเปไปกับความอกสั่นขวัญหาย ทำให้เจ้าหน้าที่รับสายยากจะจับใจความสิ่งที่เกิดขึ้นได้

“เกิดอะไรขึ้นนะครับ?”

“มัน… มันกำลัง… เพื่อนฉัน… โอ้ช่วยด้วย!”

“เพื่อนคุณมีปัญหาอะไรครับ?”

“มันกำลังจะฆ่าเพื่อนฉันแล้ว เร็ว ๆ หน่อยได้ไหม!”

“ใครกำลังฆ่าเพื่อนคุณครับ?”

“ลิงชิมแปนซีของฉัน!”

ย้อนกลับไปในปี 2009 มีเหตุสะเทือนขวัญประเทศเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อลิงชิมแปนซีที่ถูกอุปถัมภ์ด้วยครอบครัวมนุษย์ ซึ่งพวกเขาเลี้ยงดูแลลิงตัวนั้นดั่งลูกคนหนึ่ง แถมมันยังเป็นที่รักของใครหลาย ๆ คนในย่านที่อาศัยอยู่ แต่แล้ววันหนึ่ง เรื่องไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้น เมื่อลิงชิมแปนซีหนัก 200 ปอนด์ หรือราว ๆ 90 กิโลกรัม ที่มีพลกำลังมหาศาล เกิดคลุ้มคลั่งไล่ทำร้ายผู้มาเยือนคนหนึ่งที่รู้จักกับลิงตัวนั้นดีมาก่อน จนบาดเจ็บปางตายและเสียโฉมอย่างรุนแรง

ลิงชิมแปนซีตัวนี้มีความเป็นมาอย่างไร? ในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ชีวิตของเหยื่อเป็นอย่างไรจากสถานการณ์นี้? ภาพอะไรที่ฝังใจตำรวจนายหนึ่งจนต้องเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์? และกรณีตัวอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของสังคมต่อสัตว์ป่าอย่างไรบ้าง?

ชิมแปนซีนามว่า 'ทราวิส'

แม้จะไม่สามารถพูดภาษามนุษย์ได้ แต่ ทราวิส (Travis) - ลิงชิมแปนซีที่ถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์นามว่า แซนดรา เฮรอล์ด’(Sandra Herold) ตั้งแต่อายุเพียง 3 ปี - ก็ใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านไม่ได้ต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไปนัก (อาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ) 

คงมีลิงไม่กี่ตัวบนโลกที่ได้มีโอกาสดื่มด่ำกับอาหารอย่าง หางล็อบสเตอร์, ฟิเลมิยอง, ช็อกโกแลต, ไอศกรีม แถมยังได้จิบไวน์ทุกวันยามอาทิตย์อัสดงอีกต่างหาก คงมีสัตว์ป่าน้อยตัวที่ได้ชำระล้างร่างกายตัวเองโดยการแช่ในอ่างน้ำและสามารถขับรถได้โดยไม่ต้องไปสอบใบขับขี่ คุณภาพการเป็นอยู่ของทราวิสเรียกได้ว่าพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะมันถึงขั้นที่สามารถเล่นคอมพิวเตอร์และใช้รีโมตเลื่อนช่องดูทีวีและเชียร์อเมริกันฟุตบอลเองได้

แซนดราเลี้ยงทราวิสดั่งลูกชายคนหนึ่ง เพราะครอบครัวของเธอก็เหลือแค่เธอกับทราวิสเพียงเท่านั้น เพราะสามีและลูกสาวของเธอได้จากไปด้วยโรคมะเร็งและอุบัติเหตุในอดีต ดังนั้นความพิเศษทั้งหมดที่มีจึงถูกถ่ายโอนไปให้ชิมแปนซีตัวนั้นทั้งหมด

เพื่อนบ้านและใครที่ผ่านมาผ่านไปก็ให้ความเอ็นดูกับทราวิสเป็นอย่างมาก เพราะด้วยความฉลาดและความน่ารักของมัน แถมทราวิสเองยังเคยได้ออกรายการทีวีอีกด้วย จึงมีคนมาขอถ่ายรูปด้วยมากมาย และทราวิสเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ชาร์ลา แนช (Charla Nash) เพื่อนของแซนดราที่สนิทและพบเจอลิงตัวนั้นมาตั้งแต่ยังเด็ก และ ‘ผู้โชคร้าย’ ในอนาคตอันใกล้

ตลอดการเลี้ยงดู ทราวิสไม่เคยมีปัญหาความรุนแรงเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างมากที่สุดก็คือมีแค่ครั้งหนึ่งที่ทราวิสหลุดไปและทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตามจับกันอย่างวุ่นวาย ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น…

โศกนาฏกรรมลิงคลั่ง

บ่ายวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 2009 เป็นวันธรรมดาอีกวันหนึ่งที่แซนดราเตรียมฟิชแอนด์ชิพเป็นมื้ออาหารไว้ให้ลูกสุดที่รักของเธออย่างทราวิส แต่อย่างไรก็ตามก็มีความไม่ธรรมดาแทรกอยู่ในนั้น เพราะแซนดราได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในบ่ายวันนั้น ทราวิสดูค่อนข้างที่จะอาละวาดและก้าวร้าวมากกว่าปกติ เธอจึงใส่ยาซาแน็กซ์ไปในชาให้ทราวิสดื่มเพื่อที่จะบรรเทาอาการก้าวร้าวนี้ไปได้ แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่แก้ปัญหาสักเท่าใดนัก…

หลังจากนั้นไม่นาน ทราวิสก็หลุดออกไปนอกบ้าน แต่มันแรงเยอะเกินกว่าที่หญิงวัย 70 ปีอย่างแซนดราจะสามารถเอาอยู่ เธอจึงตัดสินใจที่จะโทรฯ เรียกให้ชาร์ลามาช่วยควบคุมสถานการณ์ เพราะทราวิสก็รู้จักเธอดี แต่ใครจะไปคาดคิดว่าทุกอย่างมันจะกลับตาลปัตร

เวลาบ่ายสามโมงสี่สิบนาที ชาร์ลาเดินทางมาถึง เธอก้าวขาลงจากรถและมุ่งหน้าไปที่เพื่อนรู้ใจอย่างทราวิส แต่ชิมแปนซีที่กำลังอารมณ์เสียตัวนั้นไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะในวันนั้นเองเป็นวันที่ชาร์ลาเพิ่งไปทำผมทรงใหม่และสีใหม่มา นี่จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ทราวิสมองชาร์ลาเป็นผู้บุกรุก ชิมแปนซีหนัก 90 กิโลกรัมด้วยพลกำลังมหาศาลก็พุ่งเข้าหาชาร์ลาวัย 55 ปีอย่างสุดแรง

และเหตุการณ์จึงเป็นอย่างที่เราได้กล่าวไปตอนแรกเริ่ม ด้วยความตื่นตระหนกตกใจและขวัญเสียของแซนดรา เธอพยายามช่วยดึงทราวิสออกมาจากชาร์ลา แต่ชิมแปนซีที่มีน้ำหนักกว่า 90 กิโลกรัมนั้นมีพลกำลังมากกว่าชายน้ำหนัก 90 กิโลกรัมหลายเท่าตัวมาก

แซนดราไม่รอช้ารีบวิ่งเข้าไปในบ้านและคว้ามีดเล่มใหญ่จากห้องครัวออกมา และแทงไปที่ทราวิสสองสามแผล เธอยังเคยให้สัมภาษณ์อีกว่าเธอจำจังหวะที่ทราวิสหันมาหลังจากที่ถูกเธอแทงได้ดี เธออ่านสีหน้าของชิมแปนซีที่เธอเลี้ยงดูดั่งลูกมาตั้งแต่ตัวน้อย ๆ ออกได้ว่า

“แม่แทงผมทำไมครับ?”

แต่บาดแผลจากมีดก็ไม่สามารถหยุดทราวิสได้ มันยังคงก้มหน้าก้มตาทำร้ายชาร์ลาอย่างไม่หยุดพัก แซนดราเห็นท่าไม่ดีจึงรีบวิ่งไปขังตัวเองไว้ในรถและโทรฯ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่เราได้กล่าวไปในตอนแรก ซึ่งชาร์ลาก็ถูกสัตว์ป่าที่ถูกครอบงำโดยสัญชาตญาณดิบทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม โดยหากอ้างอิงตามเวลาที่คาดคะเนโดยเจ้าหน้าที่สืบสวนแล้ว เป็นเวลายาวนานกว่า 12 นาทีที่เธอต้องโดนทราวิสทำร้ายปางตาย

ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาถึง ทราวิสจึงรุดหน้าเข้ามาในทันที แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังอยู่บนรถเพื่อความปลอดภัย ระหว่างนั้น ด้วยแขนข้างเดียว ทราวิสใช้มือทุบกระจกมองข้างจนหลุดไป แล้วชิมแปนซีคลั่งตัวนั้นก็วิ่งวนไปมาจนสามารถทะลวงเข้าไปในรถได้ และมุ่งโจมตีไปที่เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่ตำแหน่งคนขับ

เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นไร้ทางเลือก เขาถูกขังไว้ในรถกับชิมแปนซีที่พยายามจะฉีกเขาเป็นชิ้น ๆ เจ้าหน้าที่นายนั้นจึงไม่ลังเลที่จะคว้าปืนกล็อกและลั่นไกไปที่อกของทราวิสจำนวน 3 นัด และทำให้มันถอยออกจากรถไปในท่าทีที่ดูไม่สะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย

ถึงกระนั้น ทราวิสก็เสียเลือดค่อนข้างมากจากบาดแผลที่มาจากมีดและปืน มันวิ่งวนอยู่พักหนึ่งก่อนจะวิ่งหายเข้าไปในป่า จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงตามรอยเลือดไปและพบว่าทราวิสวิ่งกลับไปที่บ้าน เมื่อเดินตามเข้าไปก็พบว่าชิมแปนซีตัวนั้นวิ่งกลับไปนอนอยู่ที่เตียงประจำของมัน นอนในที่ ๆ ห้อมล้อมไปด้วยความสบาย แต่ปราศจากลมหายใจ…

 

ลืมไม่ได้จำไม่ลง

ชีวิตของชาร์ลาเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือนับตั้งแต่บ่ายวันนั้น เธอบาดเจ็บอย่างแสนสาหัส หน้าของเธอเสียหายไปเกือบทั้งหมด นิ้วของเธอขาดสะบั้น เธอพิการและเสียโฉมอย่างหนักจนต้องใส่ผ้าปกคลุมใบหน้าอยู่ตลอดเวลา เธอต้องจ้างบอดี้การ์ดคอยคุมสถานการณ์อยู่ที่บ้านของเธอตลอด เพื่อกันปาปารัสซีมาเก็บภาพของเธอ

ถึงกระนั้น เธอก็ได้มาออกรายการเผยหน้าตาของเธอในรายการโทรทัศน์หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปสักพักหนึ่ง เธอได้เผยใบหน้าให้สาธารณชนได้รับทราบกันว่าบาดแผลที่เธอได้รับในวันนั้นมันหนักหนาเพียงไหน แต่ในเวลาต่อมาเธอได้เข้าทำศัลยกรรมใบหน้าของเธอใหม่ให้สามารถรับประทานอาหารหรือยิ้มได้ จากที่เมื่อก่อนเธอแทบไม่เหลือใบหน้าเสียด้วยซ้ำ  

นอกจากนั้นตำรวจที่ลั่นไกใส่อกทราวิสจนทำให้ชิมแปนซีตัวนั้นบาดเจ็บสาหัสจนสิ้นใจไปก็ฝังใจอย่างหนักมากกับภาพติดตาที่เขาจำไม่ลืม ไม่ว่าจะเป็นความน่ากลัวของสัตว์ป่าที่พยายามจะฉีกเขาเป็นชิ้น, ร่างของคนที่บาดเจ็บสาหัสอย่างรุนแรง และการที่ต้องลั่นไกใส่สัตว์ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็เป็นคนรักสัตว์ เขาเคยให้สัมภาษณ์บรรยายความรู้สึกที่ภาพในวันนั้นติดตาและฝังใจเอาไว้ว่า

“เวลาผมไปเดินที่ห้างสรรพสินค้าแล้วเห็นผู้หญิงเดินผ่านไปมา ภาพในวันนั้นกับผู้หญิงไร้หน้ามันก็ผุดขึ้นมา”

หลังจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ตำรวจนายนั้นก็ได้พักงานไประยะหนึ่งเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของตัวเอง เขาต้องเข้ารักษากับจิตแพทย์เนื่องจากประสบการณ์ฝังใจที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจเขาเป็นอย่างมาก

เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มือของทราวิสที่ทุบกระจกยังคงตามหลอกหลอนเขา ถึงขั้นว่าแค่เห็นไส้กรอกก็ทำให้นึกถึงนิ้วมือของชิมแปนซี เขาต้องใช้เวลานานมากกว่าที่อาการของเขาจะดีขึ้น

หลังจากโศกนาฏกรรมนี้ก็มีหลายคนเริ่มตระหนักถึงการนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงว่ามันอาจจะเป็นการฝืนธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตมากเกินไป และอาจจะนำภัยร้ายมาสู่ตนเองหรือคนรอบข้างได้ แถมในหลาย ๆ รัฐเริ่มมีกฎหมายที่ออกมาควบคุมการครอบครองสัตว์ป่ามากขึ้น นับว่าเรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์กับเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าเราเลี้ยงดูและผูกพันกับมันมามากกว่าสิบปีก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การจะไปบอกว่านี่เป็นความผิดของทราวิสก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทราวิสก็คือสัตว์ป่าที่สมควรใช้ชีวิตอยู่แบบสัตว์ป่า แม้ทราวิสอาจจะเป็นชิมแปนซีที่มีความพิเศษ สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์ทำได้ แต่บางทีเราก็หลงลืมไปว่า ทราวิสยังคงเป็นชิมแปนซีที่สมควรอยู่ในแบบที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่ใช่ธรรมชาติที่มนุษย์สร้างสรรค์มาสวมไว้…