30 ม.ค. 2563 | 18:02 น.
วันที่ 31 มกราคม เมื่อ 59 ปีที่แล้ว เป็นอีกวันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่ องค์การนาซา (NASA) สามารถส่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นไปบนอวกาศ แถมกลับลงมาแบบปลอดภัยได้สำเร็จ นับเป็นการเติมเต็มความหวังของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ที่ ณ เวลานั้นมีความเชื่อว่า สักวันมนุษย์จะสามารถเดินทางออกไปนอกโลกได้ สิ่งมีชีวิตที่เป็นฮีโร่ในภารกิจนั้น คือลิงชิมแปนซีที่มีชื่อว่า “แฮม” เรื่องราวก่อนหน้าที่มันจะกลายเป็น เจ้าแฮม นักบินอวกาศของนาซ่า มันเป็นเพียงชิมแปนซีป่าที่ถูกกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาซื้อต่อมาเพื่อทดลองในภารกิจค้นคว้าหาวิธีส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ เหตุผลที่ต้องเป็นชิมแปนซี เพราะว่าพวกมันมีสายพันธุ์และสติปัญญาใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด ตอนแรก เจ้าแฮมไม่ได้มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพราะโครงการดังกล่าวยังมีลิงอีกหลายตัวที่เข้าร่วมการฝึกฝนทดลองด้วย ชื่อเรียกของมันในตอนนั้นคือ “หมายเลข 65” แต่หลังจากผ่านด่านการทดลองและประเมินความเป็นไปได้มากมาย ในที่สุดจำนวนของสัตว์ทดลองก็ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือ 18 ตัว 6 ตัว ก่อนที่เจ้าแฮม ซึ่งดูมีแววว่าจะได้ขึ้นไปบนยานอวกาศ จะกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายของโปรเจกต์เมอคิวรี (Project Mercury) ภารกิจของเจ้าแฮม แตกต่างจากการนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ขึ้นไปบนอวกาศ เพราะพวกมันไม่ได้กำลังจะขึ้นไปบนนั้นในฐานะ “ผู้โดยสาร” (อย่างเจ้าหมาไลก้า จากสหภาพโซเวียต ที่ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1957 และตายภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปล่อยยาน เพราะความร้อน) แต่ภารกิจของมัน คือการทำหน้าที่ “นักบินอวกาศ” ที่จะต้องควบคุมคำสั่ง และนำแคปซูลยานอวกาศกลับสู่พื้นโลก แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นเพียงชุดคำสั่งง่าย ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาให้ลิงบังคับ แต่หากเจ้าจ๋อพวกนี้สามารถทำสำเร็จ นั่นหมายถึงความเป็นไปได้ในการนำมนุษย์ออกสู่นอกโลก เพื่อเผชิญกับความกดอากาศและภาวะไร้น้ำหนักที่ร่างกายไม่คุ้นชินนั้นมีโอกาสสำเร็จ เหล่าชิมแปนซีในโครงการ จึงต้องถูกฝึกฝนและประเมินโดยนักประสาทวิทยา เพี่อให้พวกมันเรียนรู้ที่จะควบคุมปุ่มและคันโยก โดยตอบสนองต่อคำสั่งแสงไฟและเสียงได้อย่างถูกต้องที่สุด ขั้นตอนการฝึกก็คือพวกมันเพียงแค่ต้องกดปุ่มบังคับให้ถูก ภายในระยะเวลา 5 วินาที หลังจากไฟสีฟ้ากะพริบขึ้น กดถูกก็จะได้รางวัลเป็นกล้วยไป กดผิดก็จะได้รับบทลงโทษเป็นกระแสไฟฟ้าที่ช็อตเข้าที่ฝ่าเท้า เมื่อผ่านการฝึกฝนมาเป็นเวลา 2 ปี ในที่สุดเจ้าแฮมในวัย 4 ขวบ ก็ถูกเลือกเป็นนักบินอวกาศที่ได้รับเกียรติให้ขึ้นไปบนยาน เมอคิวรี-เรดสโตน 2 (MR-2) เป็นตัวแรกในเช้าของวันที่ 31 มกราคม ปี 1961 หลังจากได้กินเมนูโปรดของมันอย่างซีเรียลกับนมเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ของนาซาก็จับมันสวมชุดสเปซสูทเพื่อป้องกันอันตรายจากความกดอากาศ และภาวะไร้น้ำหนักที่มันต้องพบเจอเมื่อออกนอกโลก ก่อนจะพาเจ้าแฮมเข้าไปนอนในแคปซูลโดยสาร ที่เตรียมพุ่งทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าของแหลมคานาเวอรอล รัฐฟลอริดา ด้วยจรวดนำส่งเรดสโตน ทั้งสัญญาณชีพจร และคำสั่งการบินของเจ้าแฮม จะถูกติดตามและควบคุมโดยคอมพิวเตอร์จากฐานปล่อยยานบนพื้นโลก แม้จะมีเหตุขัดข้องระหว่างพุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศนิดหน่อย (?) เพราะมีบางอย่างทำให้ยานเกิดเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็ว 9,429 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ถึง 2,345 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้เจ้าแฮมต้องพบกับภาวะไร้น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 6.6 นาที ซึ่งนานกว่าที่วางแผนไว้ถึง 1.7 นาที แถมยังออกนอกเส้นทางเดิมไปไกลถึง 196 กิโลเมตร แต่เจ้าแฮมก็ยังเก่งกาจพอจะบังคับคันโยกตามที่ถูกฝึกมา จนสามารถนำยานกลับลงสู่พื้นโลกได้ โดยเจ้าแฮมใช้เวลาบินไปกลับจากโลกถึงอวกาศทั้งหมด 16 นาที 39 วินาที แคปซูลโดยสารที่บรรจุร่างของเจ้าแฮม ได้ตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกอย่างปลอดภัย มันลอยคว้างอยู่กลางทะเลนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีเฮลิคอปเตอร์จากนาซาไปรับกลับ ช่วงเวลาที่กำลังลุ้นว่าเจ้าแฮมจะรอดชีวิตกลับมาได้หรือไม่ ทันทีที่เปิดฝาแคปซูลออกมา ทุกคนก็พบกับลิงน้อยที่ส่งสายตามองผู้คนที่กำลังมุงที่มันอย่างฉงนสนใจนอกจากแผลตรงจมูกนิดหน่อยแล้ว เจ้าแฮมก็ไม่ได้รับบาดเจ็บที่ไหนอีก มันยังแสดงท่าทางที่มีความสุขมาก ๆ ทันทีที่ได้รับแอปเปิลจากทีมนาซา และนั่นก็กลายเป็นทริปทัวร์นอกโลกสั้น ๆ ที่สร้างความหวังให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในที่สุด เจ้าแฮม กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์คล้ายคลึงกับมนุษย์ที่สุดตัวแรก ที่สามารถบังคับแคปซูลโดยสารออกสู่นอกโลก และวนกลับมาได้สำเร็จ มันเป็นฮีโร่ที่ได้สร้างความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่สหรัฐอเมริกา ก่อนหน้ามนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศอย่าง ยูริ กาการิน นักบินอวกาศจากสหภาพโซเวียต และก่อนหน้าชาวอเมริกันคนแรกอย่าง อลัน เชปพาร์ด ที่ถูกส่งขึ้นไปคล้อยหลังจากความสำเร็จของเจ้าแฮมถึง 3 เดือน (ภายหลังมันจึงได้ชื่อว่า HAM ที่ย่อมากจาก Holloman Aerospace Medical Center ซึ่งเป็นชื่อของศูนย์ฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมของมันในโครงการนี้) หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจครั้งนั้น เจ้าแฮมก็เกษียณอายุ และย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์แห่งชาติ กรุงวอชิงตัน และอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 17 ปี ก่อนจะถูกย้ายไปที่สวนสัตว์นอร์ธแคโรไลนา กระทั่งสิ้นอายุขัยในวัย 26 ปี ซึ่งภายหลัง ร่างของเจ้าแฮมได้รับเกียรติให้ฝังไว้ที่หอเกียรติยศของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ที่มา https://airandspace.si.edu/stories/editorial/mercury-primate-capsule-and-ham-astrochimp https://www.nasa.gov/image-feature/chimpanzee-ham-with-trainers https://www.savethechimps.org/the-chimps-history/ham-space-chimp/ https://www.smithsonianmag.com/videos/category/science/nasas-first-chimp-in-space/ https://www.space.com/16065-space-chimp-ham.html https://time.com/3456378/life-with-the-astrochimps-early-stars-of-the-space-race/ https://www.theguardian.com/science/animal-magic/2013/dec/16/ham-chimpanzee-hero-or-victim