ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์นานสุดในอังกฤษ ชีวิตเพื่อราชบัลลังก์-ประชาชน

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์นานสุดในอังกฤษ ชีวิตเพื่อราชบัลลังก์-ประชาชน

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ยาวนาน 70 ปี นับเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และเป็นประมุของค์แรกของอังกฤษที่ครองบัลลังก์จนกระทั่งพระชนมายุเกิน 90 พรรษา

  • ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตขณะพระชนมายุ 96 พรรษา ช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน 2022 (ตามเวลาในไทย)
  • ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ยาวนาน 70 ปี นับเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
  • อีกทั้งยังเป็นประมุของค์แรกของอังกฤษที่ครองบัลลังก์จนกระทั่งพระชนมายุเกิน 90 พรรษา 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตขณะพระชนมายุ 96 พรรษา สิ้นสุดตำนานประมุขผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ และสตรีผู้อุทิศชีวิตเพื่อราชบัลลังก์และประชาชน

สำนักพระราชวังบัคกิงแฮม ของอังกฤษ ออกแถลงการณ์ยืนยันข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ควีนเอลิซาเบธ) ประมุขของอังกฤษอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงจากไปอย่างสงบระหว่างพักรักษาพระวรกายอยู่ที่พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะมีพระชนมายุ 96 พรรษา

ก่อนเสด็จสวรรคตไม่กี่ชั่วโมง แพทย์ผู้ให้การรักษาได้แจ้งให้บรรดาสมาชิกราชวงศ์ทรงเดินทางเข้าเยี่ยมเพื่อบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย แต่สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ยังมาไม่ถึง ทางสำนักราชวังอังกฤษก็ได้ประกาศข่าวเศร้านี้ให้ทั่วโลกรับทราบ

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ยาวนาน 70 ปี นับเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และเป็นประมุของค์แรกของอังกฤษที่ครองบัลลังก์จนกระทั่งพระชนมายุเกิน 90 พรรษา

จากเจ้าหญิงหนีภัยสงครามสู่บัลลังก์ประมุข

เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินเซอร์ (Elizabeth Alexandra Mary Windsor) คือพระนามเดิมของควีนเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1926 เป็นพระธิดาองค์โตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และควีนเอลิซาเบธ พระราชชนนี

แม้ในวัยเด็ก ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และมาร์กาเรธ โรส พระขนิษฐา (น้องสาว) จะไม่ได้รับการศึกษาที่โรงเรียน แต่ทั้งคู่ได้รับวิชาความรู้ผ่านการเรียนการสอนที่บ้าน และได้รับความรักความอบอุ่นจากพระบิดาและพระมารดาอย่างเต็มที่

ในปี ค.ศ.1936 ขณะมีพระชนมายุเพียง 10 ขวบ พระองค์ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งองค์รัชทายาทของราชวงศ์อังกฤษ หลังจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (ลุง) ทรงสละราชสมบัติ และพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบิดาทรงขึ้นครองราชย์

จากนั้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุ ควีนเอลิซาเบธทรงมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา พระองค์ไม่ต่างจากเด็กอังกฤษทั่วไปในเวลานั้นที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ และต้องเดินทางไปใช้ชีวิตในชนบท เพื่อป้องกันอันตรายจากการทิ้งระเบิดโจมตีของกองทัพนาซี 

ทว่าเวลาต่อมาเมื่อเติบโตพอที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ พระองค์ทรงสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพหญิง รับหน้าที่เป็นพนักงานขับรถและช่างเครื่องในกองทัพ ก่อนพบรักกับร้อยโทฟิลิป เมาต์แบตเทน เจ้าชายชาวกรีก ที่มาเป็นทหารในกองทัพเรืออังกฤษ

ทั้งคู่เข้าพิธีอภิเษกสมรสกันที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1947 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีพระชนมายุ 21 พรรษา

ถัดมาอีกไม่ถึง 5 ปี ระหว่างที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป ทรงเป็นตัวแทนพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จเยือนทวีปแอฟริกา ระหว่างที่ทั้งคู่พำนักอยู่ที่ประเทศเคนยา สำนักพระราชวังอังกฤษได้ประกาศข่าวร้าย พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตกะทันหัน ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในวัย 25 พรรษา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเป็นประมุขอังกฤษพระองค์แรกในรอบกว่า 200 ปี ที่ขึ้นครองราชย์ขณะประทับอยู่ต่างประเทศ

วิกฤตศรัทธากรณีเจ้าหญิงไดอาน่า

ควีนเอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป ทรงมีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอดเวิร์ด

ระหว่างที่พระองค์ครองราชย์ นอกจากราชวงศ์อังกฤษจะเผชิญกับมรสุมความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดยุคจักรวรรดินิยม เข้าสู่ยุคสงครามเย็น จนมาสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังเจอข่าวฉาวมากมาย โดยข่าวที่กระทบภาพลักษณ์ จนนำไปสู่วิกฤตศรัทธารุนแรงที่สุดข่าวหนึ่ง คือ ปัญหาครอบครัวระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับเจ้าหญิงไดอาน่า

ก่อนหน้าเจ้าหญิงไดอาน่า และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ จะหย่าร้างกันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1996 สำนักพระราชวังบัคกิงแฮม ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ควีนเอลิซาเบธ ทรงเขียนจดหมายถึงทั้งคู่ขอร้องให้ทั้งสองหย่าขาดกัน เพื่อสยบข่าวซุบซิบนินทาของสมาชิกราชวงศ์ ที่ถูกเผยแพร่แทบจะรายวัน

หลังจากนั้น 1 ปี เมื่อเจ้าหญิงไดอาน่าประสบอุบัติเหตุบนถนนจนเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ในวันที่ 31 สิงหาคมปี 1997 ควีนเอลิซาเบธ และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ก็ถูกโจมตีอีกครั้ง จากปฏิกิริยาของวังที่มีต่อโศกนาฏกรรมของเจ้าหญิงไดอาน่า

ร่วมแสดงพิธีเปิดโอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม แม้การพยายามเข้าไปช่วยยุติปัญหาครอบครัวระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับเจ้าหญิงไดอาน่า จะทำให้ควีนเอลิซาเบธ ถูกหลายคนมองแง่ร้าย ทว่าพระองค์ยังคงไม่ละความพยายามในการกอบกู้ภาพลักษณ์ราชวงศ์ และเรียกคืนศรัทธาจากประชาชน

หนึ่งในความพยายามของพระองค์ที่ได้รับคำชื่นชมมากที่สุด คือ การทรงเข้าร่วมแสดงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ลอนดอน 2012 ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ อย่างไม่ถือพระองค์

พิธีเปิดโอลิมปิกดังกล่าวสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อควีนเอลิซาเบธ เข้าร่วมฉากกับพระเอก ‘เจมส์ บอนด์’ ที่รับบทโดย แดเนียล เครก โดยทรงอนุญาตให้ทีมถ่ายทำ เดินทางมาใช้พื้นที่พระราชวัง และทรงร่วมแสดงด้วย พร้อมปิดเรื่องนี้เป็นความลับ จนกระทั่งพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกมาถึง

การเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ควีนเอลิซาเบธ ทรงกลายเป็นที่กล่าวขวัญในทางที่ดีไปทั่วโลก ยังทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ ค่อย ๆ กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

เคยเยือนไทยและชื่นชมประชาธิปไตย

ตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ ควีนเอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป พระสวามี เคยเสด็จเยือนประเทศไทยทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2515 และ 2539 โดยการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรก พระองค์ทรงเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเสด็จเยี่ยมเยือนชาวเขาที่ จ.เชียงราย

ส่วนการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งที่ 2 พระองค์ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539

“ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศของท่าน (ประเทศไทย) ได้เปลี่ยนแปลงสู่รัฐที่ก้าวหน้า ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยด้วยความมั่นใจเพิ่มขึ้น กระนั้น มรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของท่านก็ยังคงรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เช่นเดียวกับศักยภาพของประชาชนในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยมิตรภาพอันเปี่ยมล้นที่ไม่เคยลดน้อยถอยลง”

ควีนเอลิซาเบธตรัสชื่นชมประเทศไทย ระหว่างเข้าร่วมพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พร้อมบรรยายถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์ไทยและอังกฤษ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยพระราชินีวิกตอเรีย และรัชกาลที่ 4 ของไทย

ความอบอุ่นแนบแน่นดังกล่าว ควีนเอลิซาเบธทรงระบุว่า “ได้สืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นของพวกเรา”

ก่อนการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธ ประมาณ 1 ปี เจ้าชายฟิลิป พระสวามีของพระองค์ซึ่งครองรักกันมายาวนาน 73 ปี ก็เพิ่งสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนเมษายน 2021 ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา

ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ควีนเอลิซาเบธ ทรงประชวรด้วยโรคโควิด - 19 และเคยตรัสหลังหายจากอาการประชวรว่า พระองค์ทรงรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าแต่ก่อน ด้านแพทย์ผู้ถวายการรักษาระบุว่า พระองค์ทรงมีพระอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว หลังเพิ่งเปิดโอกาสให้ ‘ลิซ ทรัสส์’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่เข้าเฝ้าเพียง 2 วัน

การสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้ตำแหน่งประมุของค์ใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ ตกเป็นของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ วัย 73 พรรษา ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์ต่อภายใต้พระนามว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2022/9/8/timeline-queen-elizabeth-iis-70-years-on-the-britains-throne?

https://apnews.com/article/d83c30a0e0274e912eed03d833205dd4

https://www.bbc.com/news/uk-52173825

https://time.com/5823650/queen-elizabeth-broadcast/

https://www.newsweek.com/how-queen-elizabeth-enured-famous-james-bond-daniel-craig-scene-was-authentic-1685801

https://www.bbc.com/news/uk-61605149