ศรีสุวรรณ จรรยา: ‘พี่ศรี’ ยอดนักร้อง (เรียน) ผู้รักการตรวจสอบแวดวงการเมือง

ศรีสุวรรณ จรรยา: ‘พี่ศรี’ ยอดนักร้อง (เรียน) ผู้รักการตรวจสอบแวดวงการเมือง

ถ้ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้น ภาพของ ศรีสุวรรณ จรรยา หรือ 'พี่ศรี' ที่แขนซ้ายชู้ขึ้นพร้อมนิ้วชี้ก็ต้องปรากฎขึ้นบนเพจ Facebook ของเจ้าตัวมาติด ๆ ตามด้วยเอกสารการร้องเรียนให้ตรวจสอบที่จะทะยอยปรากฎขึ้นตาม ๆ กันมา

หลังจากที่ ‘เดี่ยวไมโครโฟน 13’ โดย อุดม แต้พานิช ได้ฉายผ่านระบบสตรีมมิงอย่าง Netflix และทำให้ผู้คนได้มีโอกาสชมกันอย่างแพร่หลาย โดยในเดี่ยวภาคนี้ก็มีเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเดี่ยวอื่น ๆ)

ในขณะที่ใครหลายคนไม่ได้ติดใจอะไร แต่ก็มีผู้คนอีกกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างออกไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมถึง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หรือ ‘พี่ศรี’ ยอดนักร้อง (เรียน) ผู้ชื่นชอบในการตรวจสอบแห่งแวดวงการเมืองไทย ได้ออกโรงยื่นเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเดี่ยวภาคดังกล่าวด้วย

โดยเจ้าตัวมองว่าถ้อยคำที่ถูกใช้ในเดี่ยวไมโครโฟนภาคนี้มีการสนับสนุนให้ประชาชนร่วมชุมนุมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงความมั่นคงและสงบเรียบร้อยของรัฐบาลและประเทศ รวมถึงมีผลต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนคนไทย 

ในขณะที่กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่ออยู่นั้นก็มีชายคนหนึ่งเดินตรงเข้าไปทำร้ายศรีสุวรรณโดยการชกหน้าจนทำให้กลายเป็นเหตุชุลมุนท่ามกลางสายตาของสื่อมวลชน ก่อนจะถูกจับแยกเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง 

สำหรับการถูกชกเข้าที่ใบหน้าท่ามกลางสื่อมวลชนอาจจะเป็นครั้งแรก แต่สำหรับการร้องเรียน แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับ ศรีสุวรรณ จรรยา เพราะไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในสังคมและการเมือง จะต้องมีนักร้อง (เรียน) ที่เสียงไม่เคยแผ่วคนนี้เข้าร่วมยื่นหนังสือร้องเรียนด้วยอย่างสม่ำเสมอ โดยกรณีที่คนน่าจะจำได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นครั้งที่ยื่นเรื่องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และกรณีป้ายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เรียกได้ว่าถ้ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้น ภาพของศรีสุวรรณที่แขนซ้ายชู้ขึ้นพร้อมนิ้วชี้ก็ต้องปรากฎขึ้นบนเพจ Facebook ของเจ้าตัวมาติด ๆ ตามด้วยเอกสารการร้องเรียนให้ตรวจสอบที่จะทะยอยปรากฎขึ้นตาม ๆ กันมา บ้างก็มองว่าเขาเป็นสีสันของบรรยากาศการเมืองไทย แต่บ้างก็มองว่าการร้องเรียนของเขานั้นเป็นเหตุเกินจำเป็น

ก่อนที่จะเดินสายชี้นิ้วร้องเรียนอันเป็นเอกลักษณ์และภาพจำที่ใครหลายคนจดจำศรีสุวรรณดังในปัจจุบัน ก่อนเขาเคยร่วมกันกับเพื่อนเพื่อก่อตั้ง ‘สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน’ เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวสนใจนับตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งเรียนจบและผันตัวเป็นเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรดังกล่าวก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่มีเชื่อเสียงหลายครั้งเช่น คดีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

การก่อตั้ง ‘สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย’ ในปี 2552 เปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญของศรีสุวรรณในการก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะนักร้อง (เรียน) โดยริเริ่มจากการยื่นเรื่องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

แต่การยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งใหญ่ที่สร้างชื่อให้ศรีสุวรรณก็คือครั้งที่เขายื่นเรื่องร้องเรียนกับกกต. ให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ จากการที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคที่ปล่อยเงินให้พรรคตนกู้เงินรวม 191.2 ล้านบาท ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินให้ ‘ยุบพรรค’

ถัดจากนั้น ศรีสุวรรณก็ดำเนินการฟ้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เรื่อยมา จนการทั้งเส้นทางของเขาดำเนินมาถึงคราวที่ยื่นฟ้อง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้นที่ได้คะแนนสูงที่สุด (ในบรรดาผู้ลงสมัครคนอื่น ๆ และประวัติศาสตร์ไทย) ในประเด็นป้ายหาเสียงไวนิล ที่เจ้าตัวมองว่ามีเจตนาแอบแฝง จากการที่ป้ายเหล่านั้นสามารถแปรรูปไปเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อนได้ ซึ่งอาจเป็นการหาเสียงแบบแฝงได้

แต่ ณ ตอนนั้น มติก็ได้มีการรับรองให้ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครอย่างทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องราวหาได้หยุดแค่นั้น หลังจากได้มีการยื่นร้องที่ใครหลายคนมองว่าไม่สมเหตุสมผล ก็ได้มีเสียงสะท้อนจากการกระทำนั้นสะท้อนกลับไปที่ตัวศรีสุวรรณผ่าน Change.org ที่มีประชาชนหลายคนร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ ศรีสุวรร จรรยา ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จากเหตุผลหลากประการ แต่ทุกอย่างล้วนมาจากการ ‘ร้องเรียน’ ของเขาเอง

จนเวลาดำเนินมาถึงปัจจุบัน เมื่อเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 13 ของ อุดม แต่พานิช มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองและการทำงานของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของศรีสุวรรณถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและอาจกระทบต่อความมั่นคงได้ เขาจึงดำเนินการยื่นเรื่องร้องเรียนและผันแปรกลายเป็นเหตุการณ์ดังที่เราได้กล่าวไปข้างต้น

แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะหยุดเป้าหมายแห่งการร้องเรียนและตรวจสอบของศรีสุวรรณ จรรยาได้หรือไม่ เพราะเมื่อวันปีใหม่ของปี 2565 เจ้าตัวได้แสดงปณิธานของตนเองอย่างชัดเจนเอาไว้ว่า 

“ปี'65 ผมจะยังคงทำหน้าที่ไล่ตรวจสอบ-จับผิด -ร้องเรียน-ฟ้องร้องข้าราชการ/นักการเมือง/พรรคการเมือง ที่ฝ่าฝืนกฎหมายไม่ว่างเว้นครับ!”

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/thailand-39626226

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1007600

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1006849

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1032907