ตำนานของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดาวสภา ปชป. ผู้เป็นที่ปรึกษานายกฯ ยุคป๋าเปรม และยุคประยุทธ์

ตำนานของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดาวสภา ปชป. ผู้เป็นที่ปรึกษานายกฯ ยุคป๋าเปรม และยุคประยุทธ์

สำรวจประวัติ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดาวสภา ผู้รับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 2523 กับยุคเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างกันอย่างไร

การเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างจากสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ เมื่อปี 2523

พ.ศ.โน้น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

พ.ศ.นี้ ไตรรงค์ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ โดยแสดงเจตนารมณ์ที่จะไม่รับเงินเดือน

จะว่าไปแล้ว คนในพรรค ปชป.ก็พอจะคาดเดาได้ว่า นักการเมืองอาวุโสจากสงขลา จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร เพราะถ้อยแถลงในวันยื่นใบลาออกจาก ปชป.ก็บอกชัดเจน

“ผมจึงอยากขอโอกาสมีลมหายใจเป็นของตนเองสักครั้งหนึ่งในบั้นปลายชีวิตทางการเมืองของผม เพื่อจะได้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ ๆ (ที่ใหม่กว่าพรรคประชาธิปัตย์)...”

ในวัย 78 ปี ของไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรือ โฆษกสามสี ฉายาที่สื่อมวลชนรู้จักกันดี ก็คงมีปลายทางอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยระหว่างนี้ ก็แวะพักที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วเวลาสั้น ๆ จนกว่าจะมีการยุบสภาฯ ช่วงต้นปี 2566

ลูกกำนันสทิงพระ

ไตรรงค์ ลูกชายกำนันช้อน สุวรรณคีรี แห่ง อ.สทิงพระ เป็นลูกหลานของพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาคนแรก ซึ่งกำนันช้อน พาครอบครัวมาปักหลักที่สทิงพระ

“..พ่อผมเป็นกำนัน แต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้แตกต่างจากลูกบ้านเท่าไหร่ อย่างมากก็มีที่ดินมากกว่า เป็นที่นับหน้าถือตามากกว่า” (หนังสือ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ทองแดงของจริง”)

กำนันช้อน มีลูกชาย 4 คน และได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง 2 คนคือ อำนวย สุวรรณคีรี อดีต ส.ส.สงขลา และไตรรงค์ สุวรรณคีรี

หลังเรียนจบมัธยมต้นที่โรงเรียนสมพงษ์วิทยา อ.สทิงพระ ไตรรงค์ เข้ามาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ และปี 2507 ไตรรงค์เลือกเรียนธรรมศาสตร์

“ผมสอบเข้าไปเรียนธรรมศาสตร์ รุ่นผมเขาเรียกว่า รุ่นหนูตะเภา..” หมายถึงนักศึกษาต้องเรียนรวมกันในหอประชุมใหญ่ เป็นเวลาปีครึ่ง ก่อนจะให้นักศึกษาตัดสินใจเลือกคณะเรียน

ไตรรงค์ เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพราะทราบข่าว ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะมาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จึงคิดว่าคณะนี้ต้องเจริญก้าวหน้าแน่นอน ซึ่งตอนนั้น อาจารย์ป๋วยก็ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หลังจบปริญญาตรี อาจารย์ป๋วยได้แนะนำไตรรงค์ ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ฟิลิปปินส์ กลับมาสอนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ไปเรียนปริญญาโท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อจบปริญญาเอกกลับมาจากสหรัฐฯ ไตรรงค์ก็ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กระทั่ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ารับตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อต้นปี 2518 ไตรรงค์ จึงถูกเรียกไปทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของอาจารย์ป๋วย

ครั้งหนึ่งไตรรงค์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ว่า เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร บวชสามเณรกลับเข้าเมืองไทย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(ศนท.) จึงมีมติชุมนุมขับไล่สามเณรถนอม โดยใช้สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นสถานที่ชุมนุม

ดร.ป๋วย ในฐานะอธิการบดี จึงเรียกไตรรงค์ เข้าไปพบ และขอให้ไปแจ้งกับ สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท.เวลานั้น ว่า อาจารย์ป๋วย ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการชุมนุม เพราะเกรงจะเกิดอันตรายแก่นิสิตนักศึกษา

หลังเหตุการณ์นองเลือด อาจารย์ป๋วยออกแถลงการณ์ลาออกในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสภามหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ป๋วยเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อความปลอดภัย

ระหว่างอาจารย์ป๋วยอยู่ในอังกฤษ ได้ประสานให้ไตรรงค์ เดินทางไปสอนหนังสือที่ญี่ปุ่น เพื่อหลบสถานการณ์ร้อนแรงในประเทศไทย

โฆษกคู่ใจป๋าเปรม

สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ไตรรงค์ กลับมาสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2522 ดำรง ลัทธพิพัฒน์ เลขาธิการพรรค ปชป.สมัยนั้น ได้มาชักชวนไตรรงค์ ให้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเวลานั้น พรรคปชป. ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลา กระแสพรรคตกต่ำ

ไตรรงค์ ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตพญาไท แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะเจอปรากฏการณ์สมัครฟีเวอร์ คนกรุงเทพฯ เลือกพรรคประชากรไทย ทำให้พรรค ปชป.ได้ ส.ส.กทม.คนเดียวคือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์

หลังพ่ายเลือกตั้ง ไตรรงค์ก็กลับไปสอนหนังสืออีกครั้ง เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2523 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้พาไตรรงค์ ไปพบ พล.อ.เปรม เพื่ออธิบายเรื่องการจัดทำงบประมาณ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์

พล.อ.เปรม ชื่นชมในความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของไตรรงค์ จึงแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และตามมาด้วยตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ช่วงเวลาการเป็นโฆษกรัฐบาลเปรม ถือว่าเป็นการแจ้งเกิดทางการเมืองอย่างเต็มตัวของไตรรงค์ ด้วยลีลาการพูดจาภาษากลางสำเนียงคนใต้ที่เรียกว่า ‘ทองแดง’ กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว พร้อมกับฉายา ‘โฆษกสามสี’ ที่มาจากชื่อไตรรงค์ สื่อบางสำนักให้ฉายาว่า ‘สามสี ภูเขาทอง’ เพราะความร้อนแรงในการตอบโต้ทางการเมือง

“ผมได้รับใช้ป๋าเปรมในฐานะที่ปรึกษาฯ และโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลที่ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมานานถึง 8 ปี ท่านได้กรุณาแนะนำสั่งสอน เหมือนผมเป็นลูกเป็นหลานมาโดยตลอด”

ช่วงชีวิตของไตรรงค์ มีความน่าสนใจยิ่ง จากการรับใช้ใกล้ชิด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จนมาถึงการเป็นโฆษกคู่ใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นกองหนุนคนสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ดาวสภา ปชป.

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ไตรรงค์ ได้รับการแต่งเป็นวุฒิสมาชิก ในปี 2524 สมัยโน้น ก็มีเสียงนินทาว่า เขาปากพร่ำสอนประชาธิปไตยให้ลูกศิษย์ แต่ตัวเองเป็น ‘นักลากตั้ง’ ด้วยเหตุนี้ หลังการยุบสภาปี 2529 ไตรรงค์ จึงเข้าไปลาป๋าเปรม ขอไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่บ้านเกิด จ.สงขลา

อำนวย สุวรรณคีรี พี่ชายไตรรงค์ เป็น ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2518 และเมื่อน้องชายจะสมัครผู้แทนฯ จึงแนะนำให้ไปลงสมัครที่เขต 3 อ.เทพา, อ.จะนะ ,อ.สะเดา, อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย

การก้าวสู่สนามเลือกตั้งสมัยแรก ไตรรงค์ หาเสียงไม่ยาก คนสงขลารักป๋าเปรม เลือกพรรค ปชป. มาแต่ปี 2526 แถมตัวเขาเองก็ได้เปรียบคู่แข่ง เพราะเป็นโฆษกรัฐบาลมาก่อน ชาวบ้านได้ยินข่าวก็อยากเห็นตัวจริง

“ไปลงสมัครรรับเลือกตั้ง คนจะมาดูเหมือนดูดารา มาทั้งหมู่บ้าน อยากเห็นไตรรงค์ตัวจริง เสียงจริง” 

ไตรรงค์ ในฐานะ ส.ส.สงขลา มีบทบาทโดดเด่นระดับ ‘ดาวสภา’ ด้วยลีลา ท่าทางและสำเนียงการพูดที่บ่งชัดในความเป็นคนใต้ อย่างเช่นการอภิปรายเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของไตรรงค์ พรรคได้จัดทำบันทึกเทปนำมาจำหน่ายหารายได้เข้าพรรค

ตลอดระยะเวลา 38 ปี ที่เป็นสมาชิกพรรค ปชป. ไตรรงค์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สงขลา 6 สมัย, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 สมัย, รัฐมนตรี 4 กระทรวง (มหาดไทย, คลัง, อุตสาหกรรม และแรงงาน) และรองนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ไตรรงค์ ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ผมลาออก ทั้งๆที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ผมไม่ได้รักที่ตัวตึก หรือตัวบุคคล ผมไม่เคยยึดมั่นในสิ่งลวงตาเหล่านั้น ที่ผมรักก็คือ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์..”

อย่างไรก็ตาม ไตรรงค์ บอกใบ้ถึงเป้าหมายทางการเมืองนับจากวันนี้ไปคือ “..การเคลื่อนไหวแบบเงียบ ๆ เพื่อจะได้ตะล่อมให้บ้านเมืองเดินหน้าไปในทิศทางที่ผมเห็นว่าน่าจะปลอดภัยที่สุด”

ถอดความได้ว่า ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะไปร่วมงานกับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อขับเคลื่อนพรรคการเมืองใหม่ ตามอุดมการณ์ปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เรื่อง: ชน บทจร

อ้างอิง:

หนังสือ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ทองแดง ของจริง” เรียบเรียงโดย ชรินทร์ แช่มสาคร

หนังสือ “360 เจ้ายุทธจักร สภาหินอ่อน” โดยกองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ปี 2535