‘พอล ครูกแมน’ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แฟนนิยายไซไฟ ผู้กังขาต่อกระแส ‘บล็อคเชน’

‘พอล ครูกแมน’ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แฟนนิยายไซไฟ ผู้กังขาต่อกระแส ‘บล็อคเชน’

‘พอล ครูกแมน’ (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้นำเสนอทฤษฎีทางการค้าและภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแบบใหม่ ผู้มีความกังขาต่อกระแสความนิยมของบล็อคเชนส์และคริปโตฯ เขียนบทความวิจารณ์ผ่านคอลัมน์แสดงความคิดเห็นบน New York Times ว่า ‘บล็อคเชนส์... มันดีอย่างไร?’

  • เข้าใจความกังขาของครูกแมนที่มีต่อเทคโนโลยีและความนิยมของบล็อคเชนส์ (Blockchains) ผ่านบทความ ‘Blockchains, What Are They Good For?’ ที่ถูกเผยแพร่บน The New York Times 
  • ย้อนชีวิตของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลก่อนจะก้าวเข้าสู่เส้นทางสายวิชาการ ผู้เลือกเดินทางเศรษฐศาสตร์เพราะนิยายไซไฟ
  • ผลงานรางวัลโนเบลกับทฤษฎีการค้าใหม่ (New Trade Theory) และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแบบใหม่ (New Economic Geography) อันเป็นคุณูปการที่ช่วยพลิกมุมมองการวิจัยและความเข้าใจต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ (International Trade)

 

‘ครูกแมน’ ผู้ตั้งคำถามและวิจารณ์ ‘บล็อคเชนส์’ อย่างน่าสนใจ

‘Blockchains, What Are They Good For?’ – บล็อคเชนส์, มันดีอย่างไร?’

ไม่ใช่ครั้งแรกที่บทความในคอลัมน์ความคิดเห็นที่เผยแพร่ผ่าน The New York Times ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ‘พอล ครูกแมน’ (Paul Krugman) มีเนื้อหาที่กล่าวถึงความนิยมของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ครั้งหนึ่ง ครูกแมนเองยังเคยเขียนบทความอธิบายเกี่ยวกับต้นตอสาเหตุว่าทำไมเขาจึงเป็น ‘Crypto Skeptic’ หรือผู้ที่มีความกังขาต่อคริปโตฯ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าผิดมากนักถ้าจะมีคนนิยามหรือมีภาพจำว่าเขาเป็นเช่นนั้น

รู้สึกช็อคกับคอมเมนต์–ตอนแรกผมคิดว่าจะมีดราม่าจากพี่น้องชาวคริปโตฯ สงสัยจะหมดยุค (ของคริปโตฯ) จริง ๆ แล้วล่ะ

คือทวีตของครูกแมนในขณะที่เขาแชร์บทความของเขา ‘Blockchains, What Are They Good For?’ ซึ่งภายในเนื้อหาก็เป็นการตั้งคำถามหลากประการเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและกระแสความนิยม (ที่ดูเหมือนจะร่วงโรยลงไปเรื่อย ๆ) โดยสาเหตุที่เขาทวีตข้อความทำนองนั้นก็เป็นเพราะว่าเสียงตอบรับที่มีต่อบทความกลับเป็นอะไรที่ตัวเขาเองก็ไม่คาดคิด เพราะแทนที่จะเป็นการโดนรถทัวร์จากสายคริปโตฯ มาลง กลับกลายเป็นความคิดเห็นเชิงเห็นด้วย และการที่มีใครหลายคนมาสะท้อนความคิดของตัวเองที่มีต่อเรื่องราวดังกล่าว ซึ่งเอนเอียงไปในทำนองเดียวกันเสียส่วนใหญ่ บางคนก็ถึงขั้นมาแบ่งปันประสบการณ์ความสูญเสียที่เขาต้องเผชิญเมื่อไปเกี่ยวพันกับคริปโตฯ

ในบทความนี้ ก่อนจะลงลึกไปรู้จักกับ พอล ครูกแมน ว่าเขาเป็นใคร แล้วเส้นทางชีวิตและวิชาการของเขาดำเนินมาอย่างไรจึงได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีรางวัลโนเบลตั้งไว้อยู่ในบ้าน เราจะไปสำรวจกันดูก่อนว่า ครูกแมนตั้งคำถามต่อคริปโตฯ ไว้อย่างไรบ้าง

คำถามที่ผมไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นคำตอบที่น่าพึงพอใจเลยคือ ‘เพื่ออะไร?’

หลังจากที่เกริ่นถึงสถานการณ์ช่วงก่อนหน้า (ทีมีแต่คนนิยมชมชอบ ถึงขั้นว่า แมตต์ เดมอน (Matt Damon) เคยออกมาโฆษณาและสนับสนุนให้คนลงทุนในตลาดคริปโตฯ แต่ก็มีหลายคนออกมากล่าวว่าถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวก็น่าจะพังไม่เป็นท่า) และช่วงปัจจุบันของคริปโตฯ ที่จากเดิมมีหลายคนนิยามว่ามันเป็น ‘หน้าหนาวแห่งวงการคริปโตฯ’ (Crypto Winter) ที่เป็นการสื่ออย่างเป็นนัยว่าวงการดังกล่าวกำลังประสบปัญหาและได้รับความนิยมลดน้อยลงไป (เห็นได้ชัดจากภายหลังกรณี FTX) 

แต่ครูกแมนยกระดับและนิยามว่านี่ไม่ใช่แค่หน้าหนาวธรรมดา แต่เป็น ‘Fimbulwinter’ อันเป็นหน้าหนาวนิรันดร์ที่เปรียบเสมือนจุดจบของโลก ตามตำนานความเชื่อของนอร์ส (Norse Mythology) แต่ครูกแมนก็เสริมต่อว่าเขาไม่อยากจำกัดว่าหน้าหนาวนี้จะมาถึงเพียงแค่ขอบเขตของโลกคริปโตฯ แต่หน้าหนาวนี้จะมาเยือนทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชนเลยต่างหาก!

กลับไปที่คำถามที่หย่อนมาก่อนหน้า ครูกแมนได้ยินมาหลายครั้งหลายคราว่าขั้นตอนการทำงานของมันนั้นฉลาดนักหนา ครูกแมนยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจถึงคำถามว่าบล็อกเชนจำเป็นแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนับเป็นการก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ทำให้เราสามารถพกสมุดบัญชีไปไหนมาไหนกับตัวโดยไม่ต้องนำไปฝากหรือให้ทางสถาบันการเงินรับผิดชอบ (แถมคนอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมก็ช่วยกันพกด้วยเช่นเดียวกัน) 

แม้จะเป็นระบบที่เจ๋งและใหม่ แต่แค่ครูกแมนยังไม่พบกับคำตอบว่าทำไมเราต้อง ‘อยาก’ ทำเช่นนั้น ‘ขนาดนั้น’ แต่ในการที่เราจะเข้าใจข้อสงสัยที่ครูกแมนตั้งมา เราก็ต้องสำรวจลึกไปต่อถึงรากฐานคำถามอีกหลายประการที่ควบแน่นกันจนเป็นคำถาม ๆ นี้

หลักการและเหตุผลของบิทคอยน์คือมันช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่น–คุณไม่ต้องไปกลัวว่าเหล่าธนาคารไปยุ่มย่ามกับเงินของคุณ หรือว่ารัฐบาลจะทำให้พวกมันเฟ้อจนไร้ค่า

ครูกแมนเขียนอธิบายในเชิงคอนเซ็ปต์ที่คนนิยมเทคโนโลยีดังกล่าว จากนั้นเขาก็สะท้อนกลับมาโลกแห่งความจริงแล้วอธิบายต่อว่า จริง ๆ แล้ว กรณีที่ธนาคารแอบจิ๊กเงินของผู้ใช้บริการนี่หายากเอามาก ๆ อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้น้อยกว่าสถาบันคริปโตฯ ที่มักพ่ายจำนนต่อความยั่วยวนของกองพะเนินเงินที่วางไว้ตรงหน้า (ดังที่เราเห็นได้ในกรณีของ FTX)

ในด้านของการที่รัฐบาลจะบริหารจัดการจนบ้านเมืองผันผวนและเงินตราหมดค่าจากเงินเฟ้อขั้นรุนแรงก็เกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สาหัสจริง ๆ เท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายเหมือนที่ทุกคนคิด (และครูกแมนก็กล่าวต่ออีกว่าถ้าสถานการณ์ความวุ่นวายมันยกระดับไปถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ใช่ว่ามันจะไม่กระทบกับความมั่นคงของคริปโตฯ เลย เพราะคุณอาจจะไม่สามารถถอนมันได้เสียด้วยซ้ำ)

แต่สองย่อหน้าที่กล่าวมาก็ล้วนเกี่ยวโยงกับสกุลเงินคริปโตอันเป็นซับเซ็ทของบล็อกเชนโดยรวมเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน (ที่หลายคนมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการบันทึกธุรกรรมทางการเงินเพราะปลอดภัยและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า) ไม่มีปัญหาเลยเสียทีเดียว…

ท่ามกลางฝุ่นแห่งความโกรธเคืองที่ใครหลายคนมีต่อกรณีของ FTX ยังอบอวล หลายคนน่าจะไม่ทันได้เห็นว่ามีบางสถาบันที่เคยพยายามมุ่งใช้บล็อกเชนกับการทำงานของตัวเอง ได้เริ่มชูธงขาวกันแล้ว

ครูกแมนยกกรณีของ ‘ตลาดหุ้นออสเตรเลีย’ (Australia’s Stock Exchange) มาเป็นตัวอย่าง ว่า 5 ปีก่อน พวกเขาก็ประกาศว่าจะใช้แพลตฟอร์มบล็อกเชนมาช่วยจัดการกับการซื้อ-ขาย แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อไม่นานไม่นี้ พวกเขากลับยกเลิกแผนดังกล่าวอย่าง ‘เงียบ ๆ’ ไปเสียแล้ว แถมยังขาดทุนไปกว่า 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้แต่ ‘เมอส์ก’ (Maersk) บริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่เองก็ประกาศชัดว่าพวกเขาลดความพยายามในการนำบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการซัพพลายเชนของตัวเองแล้ว

นอกจากนั้นครูกแมนยังชี้ให้เห็นอีกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองก็เกี่ยวโยงกับการที่มีใครหลายคนนิยมชมชอบที่จะลงทุนในคริปโตฯ ซึ่งในอีกบทความหนึ่งชื่อว่า ‘The Strange Alliance of Crypto and MAGA Believers’ ครูกแมนก็พาไปสำรวจเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยเป็นการตั้งคำถามหาคำตอบ ว่าเพราะเหตุใดคริปโตฯ กับ ‘MAGA’ (Make America Great Again) หรือที่กันรู้จักในนามฝ่ายขวาอเมริกันถึงเข้ากันได้ดีเสียเหลือเกิน

ครูกแมนบรรยายว่าทั้งสองมีจุดเริ่มที่สอดรับเข้ากันอย่างน่าสนใจ ในส่วนของคริปโตฯ สร้างระบบการเงินที่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีปัจจัยเรื่องความเชื่อใจ เฉกเช่นเดียวกับ MAGA ที่มักมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นกับรัฐบาล จนก่อกำเนิดไปทฤษฎีสมคบคิดนานาประการ (เช่น การแพร่โควิด-19 เป็นเรื่องหลอกลวงหรือการเลือกตั้งนั้นถูกโกง)

ประการต่อมาคือการที่ใครหลายคนเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้ถูกยกให้เป็นเรื่องยวนใจ กลายเป็นว่าความเข้าใจยากของมันกลับกลายเป็นจุดขาย ความเย้ายวนใจเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘Fear of Missing Out’ (FOMO) ว่าถ้าไม่ทำตามกระแสสังคมแล้วจะตกสมัยไม่ทันเทรนด์ปัจจุบัน ซึ่งจะยิ่งสุมคนเข้าไปในฟองสบู่นี้ให้โตไปกว่าเดิมเข้าไปอีก

มันเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์นะ แต่ในขณะเดียวกันมันก็คือโศกนาฏกรรม เพราะไม่ได้มีแค่นักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่หมดเนื้อหมดตัว (กับการลงทุนในด้านนี้)

อีกความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากคริปโตฯ คือแทนที่มันจะกลายเป็นปัจจัยที่สร้างประโยชน์หากำไรให้แก่ประเทศหรือสังคมนั้น ๆ ตรงกันข้าม มันกลับทำหน้าที่เป็น ‘ต้นทุน’ ที่กระทบสังคมอย่างมาก หากนำเอาตัวเลขทั้งหมดมาผนวกรวมกัน ครูกแมนยกตัวอย่างการที่หลายคนลงทุนซื้อการ์ดจอเพื่อลงทุนขุดเหมืองบิทคอยน์ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรไปผลิต (ตามที่ครูกแมนระบุ) ‘โทเค็นไร้ค่า’ หากจะคาดคะเน การที่หลายคนมุ่งขุดเหมืองนี่ก็ตีเป็นต้นทุนไปมากกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว (นี่ยังไม่นับรวมต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบทางธรรมชาติ)

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ว่าข้อสงสัยหลาย ๆ ประการที่ครูกแมนเผชิญทำให้เขาตั้งคำถามหลักที่เราได้กล่าวไปในตอนแรกว่า “เพื่ออะไร?” แม้ในบางกรณีเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบล็อกเชน (รวมถึงซับเซ็ทของมันอย่างคริปโตฯ) ก็อาจจะไม่ได้เป็นอะไรที่ดีเสียเท่าไหร่นัก แต่หากจะไปตราหน้าว่าทั้งหมดนั้น ‘ไม่ดี’ ก็คงไม่ยุติธรรม แต่ถึงกระนั้น ข้อสังเกตต่อมาที่เราเห็นจากสิ่งที่ครูกแมนนำเสนอก็คือว่า บางทีมันก็อาจจะไม่คุ้มขนาดนั้นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะผลลัพธ์อาจจะแย่กว่าหรือได้ประโยชน์น้อยกว่าสิ่งที่เป็นอยู่เสียด้วยซ้ำ

ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผมได้ยินใครหลายคนยังยืนกรานว่าพวกเขาไม่เก็ท (บล็อกเชน) แต่เอาจริง ๆ ผมว่ามันไม่มีอะไรให้เก็ทมากกว่า…

แต่ความน่าสนใจของ พอล ครูกแมน ก็หาได้จบอยู่แค่การที่เขาออกมาวิจารณ์กระแสความนิยมของคริปโตฯ ไม่ หากดำดิ่งลงไปดูด้านอื่นของเขา นักเศรษฐศาสตร์คนนี้ก็มีความน่าสนใจอีกไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เขาเป็นนักเขียนประจำให้ The New York Times ที่กลั่นคอนเทนต์เชิงความคิดเห็นในด้านเศรษฐศาสตร์ที่ย่อยง่ายจนใครก็อ่านได้แล้ว เขาก็ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากงานวิจัยของเขา ซึ่งมีคุณูประการและเปลี่ยนทิศทางการมองเรื่อง ‘การค้าระหว่างประเทศ’ (International Trade) ไปอย่างมหาศาล

 

เด็กชายครูกแมนผู้ชอบนิยายไซไฟและสนใจประวัติศาสตร์

เมื่อได้เห็นหัวข้อข้างต้น คำถามที่ตามมาก็คงเป็นว่าเหตุใดเขาจึงเคลื่อนหน้าไปเดินสายวิชาการเศรษฐศาสตร์จนพัฒนาสำเร็จเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2008 ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาชอบนิยายไซไฟ? แต่คำตอบกลับกลายเป็นว่านิยายประเภทดังกล่าวนี้เองที่ปูทางให้เขาเลือกศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และนี่คืออีกแง่มุมของนักวิชาการนามว่า พอล ครูกแมน ที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับกราฟหรือทฤษฎี ที่น่าไปรู้จักเพื่อให้เห็นสีสันความเป็นคนของเขาให้มากขึ้น 

ทำไมผมเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์ก็เพราะว่า… คำตอบมันก็จะเขิน ๆ หน่อยนะ คือผมชอบนิยายไซไฟช่วงสมัยผมยังไปวัยรุ่น เรื่องที่ผมรักเอามาก ๆ คือชุดนิยาย ‘สถาบันสถาปนา’ (Foundation) ที่ประพันธ์โดย ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov)

ครูกแมนบรรยายต่อในคอลัมน์หนึ่งบน The Guardian ว่าจากการที่ทำให้เขาได้อ่านนิยายเล่มดังกล่าว มันได้ทำให้เขาในตอนเด็กอยากจะเป็น ‘ฮาริ เซลดอน’ (Hari Seldon) ตัวละครเอกของสถาบันสถาปนา ผู้ที่ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์มาช่วยกอบกู้อารยธรรมของมนุษย์โลกให้พ้นจากการล่มสลาย

ภายในบทความเราจะเห็นได้อชัดเจนว่าครูกแมน ‘แฟนตัวจริง!’ เพราะเขาวิเคราะห์และบรรยายอย่างละเอียด สามารถอ่านบทความดังกล่าวต่อได้ที่: Paul Krugman: Asimov's Foundation novels grounded my economics

คือผมอยากเป็นแบบพวกนั้นบ้าง แล้วจะหาอะไรที่ใกล้เคียงที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ก็ต้อง ‘เศรษฐศาสตร์’ นี่แหละ”

 

ผลงานรางวัลโนเบล: เปิดมุมต่างเรื่อง ‘การค้าระหว่างประเทศ’

ก่อนจะลงลึกไปเข้าใจว่าทฤษฎีใหม่ของครูกแมนมีความสำคัญต่อแวดวงวิชาการและเปิดแนวคิดใหม่ ๆ เรื่องการค้าระหว่างประเทศจนได้มาเป็น ‘ทฤษฎีการค้าใหม่’ (New Trade Theory) จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 2008 เราก็ควรย้อนกลับไปดู ‘ทฤษฎีการค้าแบบดั้งเดิม’ (Traditional Trade Theory) กันเสียก่อน 

หากจะสรุปในแบบรวบรัด ทฤษฎีการค้าแบบดั้งเดิมจะมีแกนแนวคิดหลักที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ’ (Comparative Advantage) ที่คิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า ‘เดวิด ริคาร์โด’ (David Ricardo) เมื่อศตวรรษที่ 19 

โดยทฤษฑีดังกล่าวระบุว่าแต่ละประเทศจะได้ผลประโยชน์การค้าระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนกันด้วยหลักการดังกล่าว มันคือการที่แต่ละประเทศมุ่งทำสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วนำไปขายให้อีกประเทศ แล้วก็ให้ประเทศผลิตสิ่งที่เราไม่ถนัดแล้วไปซื้อเขา กล่าวคือ ถ้าประเทศหนึ่งถนัดผลิตชีสมากกว่าไวน์ อีกประเทศหนึ่งถนัดผลิตไวน์มากกว่าผลิตชีส ทั้งคู่ก็ต้องค้าขายซึ่งกันและกันในส่วนที่ตัวเองถนัดเพื่อได้รับประโยชน์ที่มากขึ้นด้วยกันทั้งคู่ 

และแม้ว่าประเทศที่ไม่ถนัดผลิตชีสจะสามารถผลิตปริมาณชีสได้มากกว่าประเทศที่ถนัดผลิตชีส (ขนาดไม่เก่งยังผลิตได้ 10 ชิ้น แต่ประเทศที่ถนัดผลิตได้แค่ 8) ประเทศที่ไม่ถนัดก็ไม่ควรตัดสินใจไปผลิตเอง แต่ให้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วซื้อชีสจากอีกประเทศที่เขาถนัดผลิตชีสต่อไป เพราะถ้าหากมองในแง่ผลิตภาพ (Productivity) แล้ว การค้าขายตามครรลองของทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจะทำให้ผลประโยชน์รวมของทั้งคู่สูงกว่าวิธีอื่น ๆ 

แต่พอเคลื่อนเวลากลับมายุคสมัยนี้ ประเด็นมันที่น่าถกต่อมันจึงเกิด เมื่อครูกแมนเห็นแนวทางการดำเนินของการขายที่ไม่ได้ทำงานตามทฤษฎีดังกล่าวเสมอไป แทนที่ต่างคนต่างผลิตสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วค้าขายกันดังที่ริคาร์โดได้นิยามเอาไว้ แต่กลับกลายเป็นว่า (ยกตัวอย่าง) สหรัฐอเมริกากับเยอรมนี ทั้งคู่ผลิตรถยนต์แถมยังขายกันไปมาอีกด้วยซ้ำ ถ้าอิงตามทฤษฎีเดิม สหรัฐอเมริกาอาจจะผลิตภาพยนตร์ส่งให้เยอรมนี เยอรมนีก็ผลิตรถยนต์ส่งให้สหรัฐอเมริกา เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากผลิตภาพให้ได้มากที่สุด

แต่ผลวิจัยของครูกแมนก็ชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเรื่องการค้าระหว่างประเทศอาจไม่ได้เป้นไปตามแนวคิดดั้งเดิมเสมอไป เพราะเราต้องนำเอาปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น ความหลากหลายทางแบรนด์  (Brand Diversity) หรือ การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ในการผลิตเข้าร่วมคิดด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ชี้ให้เราเห็นถึงแนวคิดใหม่ ๆ ของการค้าระหว่างประเทศ จนทำให้ครูกแมนได้รางวัลโนเบลไปครอง

 

ภาพ:

Getty Images

พาดหัวบทความ The New York Times