05 ก.ย. 2565 | 14:00 น.
การรักษาคนป่วยนอกจากสุขภาพร่างกายที่ต้องดูแลแล้ว สภาพจิตใจของผู้ป่วยยังเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการดูแลความรู้สึกของคนนั้นต้องอาศัยการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด แล้วพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเสียงความช่วยเหลือของผู้คนอยู่ตลอดเวลา
แพทย์ประจำตำบล เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่สามารถเข้าถึงความต้องการของคนในพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านได้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นตำแหน่งที่มาจากการคัดเลือกคนในพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมออกไปเยี่ยมเยียนประชาชนถึงหน้าบ้าน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่
อย่างเช่นภารกิจสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาของ เมย์-กัญญณัช แสงคำ แพทย์ประจำตำบล ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้ใช้ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยประกอบกับความใส่ใจเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในตำบลของเธอ เพราะเธอมีความเชื่อว่าความใกล้ชิดและกำลังใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ต่างจากหยูกยาที่ใช้รักษาโรคภัย
แพทย์ประจำตำบลมีไว้ทำไม
“มีคนเคยถามว่าแพทย์ประจำตำบลทำหน้าที่อะไรบ้าง สิ่งที่เราทำส่วนหนึ่งคือช่วยหมอเรื่องการฉีดวัคซีน หรือการประสานกับ อสม. เพื่อลงพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนคนแก่ที่อยู่ติดบ้าน หรือคนป่วยติดเตียง เพราะเราเชื่อว่ากำลังใจก็สำคัญไม่ต่างจากยารักษาโรค”
บทบาทการทำงานของแพทย์ประจำตำบล จะเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข กับนักปกครองส่วนท้องที่ระดับตำบลซึ่งประกอบไปด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อจะทำการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดูแลเรื่องสุขภาวะ อาหาร และยารักษาโรคทั่วไปให้ประชาชนในตำบลในยามที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
นอกจากหน้าที่ส่งเสริมทางด้านสาธารณสุขแล้ว อีกหนึ่งบทบาทของแพทย์ประจำตำบลคือการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในด้านความมั่นคง ด้วยการลงพื้นที่ตรวจตราความเรียบร้อย และรักษาความสงบภายในตำบลอีกด้วย
“เมย์เข้ามารับตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พอดี โชคดีที่ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสช่วยงานกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แล้วได้ไปคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่ อสม. ทำได้สามารถทำงานได้ทันทีในตอนที่เกิดวิกฤต”
ช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ แม้จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่ด้วยความคุ้นเคยงานในส่วนนี้ทำให้เธอสามารถปฏิบัติงานได้ในทันที ซึ่งเธอมีความเข้าใจในพื้นที่ดีเลยได้ให้ความสำคัญกับกลุ่ม 608 เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และ โรคเบาหวาน
เนื่องจากเมย์เรียนมาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับทางด้านไอที พอเข้ามาทำงานในตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล เลยนำความรู้ที่มีมาใช้ร่วมกับงานในหน้าที่ด้วยการเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ให้กับคนในตำบลบ้านสร้างกว่า 7,000 กว่าหลังคาเรือน ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อให้รับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วฉับไวและทั่วถึงทุกพื้นที่ในตำบลบ้านสร้าง ไม่ว่าจะเป็นตารางการลงพื้นที่ของทีมแพทย์ การลงทะเบียนฉีดวัคซีน ไปจนถึงวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อให้ห่างไกลความเสี่ยงของเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้เธอยังได้ไปอบรมตามโครงการเพิ่มพัฒนาศักยภาพแพทย์ประจำตำบลเพื่อแผ่นดิน ในรุ่นที่ 2 ของภาคกลางมีทั้งหมด 25 จังหวัด 209 อำเภอ เพื่อเพิ่มทักษะทางด้านการแพทย์ให้มากขึ้น ซึ่งในการอบรมนี้เธอได้นำความรู้ในการทำน้ำกระสายยามหาพิกัดตรีผลามาลองใช้ในพื้นที่ตำบลบ้านสร้าง
“เขาเห็นความสามารถของเราเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาโรค เพราะเราก็เคยได้รับการเรียนแพทย์แผนไทยมาบ้าง เกี่ยวกับการนวด แล้วก็สมุนไพรต่างๆ พอไปอบรมก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการสุมยา แล้วก็มีสมุนไพรตรีผลา ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน สำหรับคนที่ยังไม่ได้ติดเชื้อโควิด”
สมุนไพรตรีผลา เป็นยาสมุนไพรที่ประกอบด้วย สมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม นำมาผสมรวมกันซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยควบคุมและกำจัดสารพิษในร่างกายเน้นแก้โรคทางเสมหะ เช่น แก้โรคหวัด บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ที่ใช้ได้กับคนทุกธาตุ ทุกเพศทุกวัย โดยมีการศึกษาว่าสูตรสมุนไพรนี้ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในแง่ของการป้องกันโรคหวัด ลดเสมหะ ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้อีกทางหนึ่ง
แม้ยังไม่มีข้อมูลว่าสูตรสมุนไพรนี้ช่วยรักษาโควิด-19 ได้โดยตรง แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างร่างกาย ควบคู่ไปกับการดูแลป้องกันตัวเองสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งและควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโควิด-19
“เราได้ความรู้เพิ่มเติมมาเผยแพร่ให้ประชาชนในตำบลทั้งในเรื่องน้ำกระสายยามหาพิกัดตรีผลา รวมถึงการใช้เหง้าที่มีน้ำมันหอมระเหยช่วยเป็นตัวยาอย่างดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสุมยาสร้างภูมิคุ้มกันโรค”
ไม่เพียงแค่วิธีการทำยาสมุนไพรที่เธอนำมาเผยแพร่ให้กับประชาชนในตำบลบ้านสร้างเท่านั้น แต่เธอยังได้สนับสนุนให้ทุกคนได้หันมาปลูกสมุนไพรเหล่านี้กันด้วย เพราะเป็นวิธีที่ช่วยให้สามารถพึ่งพาตัวเองจากการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยารักษาโรคเบื้องต้นได้อย่างยั่งยืน
ความใกล้ชิดและกำลังใจสำคัญไม่ต่างจากวัคซีน
สิ่งหนึ่งที่เธอสัมผัสได้จากการออกเยี่ยมเยียนประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือทุกคนไม่ได้แค่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องวัคซีนและยารักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเตียง หรืออยู่ติดบ้าน และกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงพิเศษ
“ผู้สูงอายุก็ต้องการกำลังใจการเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเขาอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลาเลยรู้สึกเหงา เขาจะรู้สึกดีใจทุกครั้งที่มีคนมาเยี่ยมมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การออกเยี่ยมเยียนประชาชนส่วนหนึ่งช่วยให้เราได้ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น ถ้าใครที่ประสบปัญหาเดือดร้อนเขาก็สามารถแจ้งได้ทันที ว่ามีเรื่องอะไรที่อยากให้เราแก้ไขปัญหา”
กลไกการทำงานของแพทย์ประจำตำบลที่มีความใกล้ชิดสามารถเข้าถึงทุกคนในตำบลได้อย่างรวดเร็วและเป็นกันเองนี้เอง เลยเป็นเครื่องมือประจำตัวที่สำคัญของแพทย์ประจำตำบล ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนในตำบล ไม่น้อยไปกว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 เลยทีเดียว
“เราเป็นแพทย์ประจำตำบลที่ได้ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เลยได้ได้ยินเสียงจากประชาชนก่อนใคร แล้วช่วยพวกเขาได้เร็วที่สุด เราอยากบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนในพื้นที่ของเราได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีทุกข์น้อยลง มีสุขมากขึ้น และยิ้มได้ทุกคน”