29 ต.ค. 2565 | 21:41 น.
ไม่นานมานี้ ยืนยง โอภากุล ในวัย 67 ปี อธิบายความคิดความอ่านทางการเมือง ผ่านทีมงาน Optimise Magazine ว่า
“..ผมรักความยุติธรรม อาจจะเป็นวิธีคิดของนักเลงโบราณ แต่ผมเป็นอย่างนั้น ชีวิตผมวุ่นอยู่แต่กับเรื่องแบบนี้ ไม่งั้นก็ไม่ได้มีอะไร ตั้งแต่มนูญ รูปขจร จำลอง ศรีเมือง ฉลาด วรฉัตร ไปยุ่ง ไปช่วยเขา
เมื่อก่อนเป็นเรื่องของผู้คน ประชาชน แต่วันนี้ผมพอแล้ว เพราะคนที่จะลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนประชาชนจุดติดแล้ว ก็ให้เขาทำกันไป..”
ช่วงวัยหนุ่ม ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวของประเทศนี้ที่กระโจนเข้าสู่เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
หลังจบเรียนสถาปัตย์จากฟิลิปปินส์ ยืนยงได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง ควบคู่กับการเล่นดนตรีในห้องอาหารที่โรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20
นอกเหนือจากอาชีพสถาปนิกและนักดนตรี บรรยากาศบ้านเมืองยุคเผด็จการขวาจัด หลัง 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ยืนยง ไปมาหาสู่กลุ่มเพื่อนศิลปินชาวโคราช อย่าง สีเผือก ด่านเกวียน, ต๋อง ด่านเกวียน และอีกหลายคน
เวลานั้น กลุ่มศิลปินด่านเกวียน เป็นผู้ปฏิบัติงานในเขตเมือง ของศูนย์การนำอีสานใต้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยืนยงจึงซับซับรับเอาแนวคิดอุดมการณ์การปฏิวัติจากคนเหล่านี้
ศิลปินชาวโคราชแนะนำให้ยืนยง ได้รู้จักกับครอบครัวนักปฏิวัติที่ทำงานในเขตขาว (เขตงานในเมือง) และเป็นจุดเริ่มต้นของหนุ่มสุพรรณ ผู้มีใจรักดนตรีและเสียงเพลง ได้เข้าไปอยู่ใน ‘จัดตั้ง’ (หน่วยงานปิดลับของ พคท.) สายงานแหลม-เยี่ยม อีสานใต้
สหายเชี่ยว-อีสานใต้
“ระหว่างปี 2521 ถึงปี 2524 ผมเป็นพลเดินเมล์ให้กับ พคท. เอาข่าวสาร เวชภัณฑ์ อาหารแห้ง ไปส่งให้ แล้วแต่แนวหน้าจะสั่งมาตามสายงาน เขาต้องการอะไร ผมก็มีหน้าที่ไปจัดหาโดยไม่อิดออด..”
ยืนยง เปิดเผยเรื่องราวที่เข้าไปร่วมขบวนการปฏิวัติ เป็นครั้งแรกในหนังสือ ‘ก้าวแรกของชีวิต ก้าวที่สองคนดนตรี’ ซึ่งในเวลานั้น เขาใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายเชี่ยว
ภารกิจเดินเมล์ในสังกัด พคท.อีสานใต้ คือการส่งข่าว ส่งคน ส่งของ จากเขตเมืองสู่เขตป่าเขา ตามเส้นทางในจังหวัดเหล่านี้ นครราชสีมา, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี
การทำงานลับในเขตขาว เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่ต่างจากในเขตป่าเขา จัดตั้งสายแหลม-เยี่ยม เห็นความเอาการเอางานของยืนยงหรือ ส.เชี่ยว จึงรับเขาเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.) อันเป็นองค์กรกองหน้าของ พคท.
หลังจาก พคท.มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และพรรคประชาชนปฏิวัติลาว จึงทำให้ พคท.อีสานเหนือ ส่งผู้ปฏิบัติงานจากป่าเขาเข้ามาทำงานในเมืองเป็นครั้งแรก และได้มีความสัมพันธ์กับสายงานแหลม-เยี่ยม
ปลายปี 2523 จัดตั้งแหลม-เยี่ยม จึงส่ง ส.เชี่ยว ไปเข้าโรงเรียนการเมือง-การทหาร บนเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์การนำ พคท.อีสานเหนือ
บนฐานที่มั่นภูพาน ส.เชี่ยว ได้พบกับนักศึกษาและศิลปินนักปฏิวัติหลายคน อาทิ ส.ไพรำ (วิสา คัญทัพ) ส.ร้อย (วัฒน์ วรรลยางกูร) ส.แสงธรรม (ธัญญา ชุนชฎาธาร) และ ส.ผาแดง (ล้วน เขจรศาสตร์)
ระหว่างเข้าร่วมวงสัมมนาศึกษาทฤษฎีบนภูพาน ส.เชี่ยว ได้เปิดการถกเถียงกับ ส.เข้ม (เหวง โตจิราการ)
“..แกบอกว่า พคท.ไม่เคยผิดพลาด ผมลุกขึ้นโต้กลางวง ผมเชื่อว่า พคท.ก็มีส่วนผิดพลาดบกพร่อง ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ที่สุดหรอก”
ความประทับใจอย่างหนึ่งของ ส.เชี่ยว ช่วงที่อยู่บนภูพานคือ การดูแลเอาใจใส่ของ ส.ฟ้าใหม่ (นิสิตหญิง ม.เกษตรฯ) พยาบาลประจำหน่วยรับรองผู้มาทัศนศึกษาภูพาน ซึ่งตอนนั้น จัดตั้งมอบให้สหายนักศึกษามาคอยต้อนรับสหายจากในเมือง
หลัง ส.เชี่ยว กลับลงมาจากภูพาน ก็ได้ข่าว ส.ฟ้าใหม่ ถูก อส.ยิงเสียชีวิตในระหว่างเข้าไปรักษาชาวบ้าน ที่บ้านขัวสูง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร หลายปีต่อมา เขาได้นำเรื่องราวของ ส.ฟ้าใหม่ มาเขียนเป็นเพลงชื่อ ‘แสงดาว’ ในอัลบั้มชุดโฟล์คเซ็น
ต้นปี 2526 วิกฤตศรัทธาป่าแตก ส่งผลให้สหายจากเขตป่าเขา ทยอยออกมามอบตัวต่อทางการ โดยอาศัยช่องทางคำสั่ง 66/2523 เป็นจำนวนมาก จัดตั้งสายแหลม-เยี่ยม จึงเรียกประชุมหน่วยงานเดินเมล์ทั้งหมดที่ระยอง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สงครามยุติแล้ว ขอให้ทุกคนเดินไปตามของตัวเอง
“กับสงครามประชาชนหนนี้ สหายเชี่ยว(แหลม-เยี่ยม) ซึ่งก็คือตัวผม ไม่เคยคิดที่จะลาออกจากการต่อสู้เพื่อนำสิ่งที่ดีกว่ามาสู่สังคมไทย ไม่เคยคิดว่า พวกเราเป็นผู้พ่ายแพ้แต่อย่างใด”
ปีถัดมา ยืนยง ในนามวงคาราบาว ออกอัลบั้มเพลงชุดแรก ‘ลุงขี้เมา’ และเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง ‘วณิพก’ ด้วยความผูกพันกับมิตรสหายในภูพาน แอ๊ด จึงพา ส.เทิด (อดีตศิลปินภูพาน) มาร้องเพลง ‘ศิลปินมาแล้ว’ ในอัลบั้มข้าวสีทอง(รำลึก 20 ปี 6 ตุลา)
ชาตินิยมม้าเหล็ก
จากความคิดปฏิวัติประเทศไทย ตามอุดมการณ์และแนวทางของ พคท. ยืนยง หรือแอ๊ด คาราบาว ได้พลิกผันมาสู่การปฏิวัติแบบอุดมการณ์ชาตินิยมแบบไม่น่าเชื่อ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ‘ถึกควายทุย’ ผลงานเพลงของคาราบาว มีทั้งหมด 10 ภาค ไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องเล่าชีวิตของชนชั้นล่างที่ชื่อ ‘มะโหนก’ มีภรรยาชื่อ บัวผัน และมีเพื่อนชื่อ บัวลอย
หลายคนบอกว่า ‘มะโหนก’ น่าจะหมายถึง พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในอดีต) หรือ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ผู้นำทหารยังเติร์ก จปร.7 ที่ก่อการรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏยังเติร์ก
บุคคลที่นำพา แอ๊ด คาราบาว ไปรู้จักกับ มนูญ รูปขจร คือ ‘อาจารย์โป๊ป’ พนัสชัย ศุภมิตร ผู้ปฏิวัติการดนตรีในนามวงม้าเหล็ก และอัลบั้มเพลงชุดนักรบ เนื่องจากช่วงปี 2527-2528 สมาชิกวงคาราบาว ไปเรียนทฤษฎีดนตรีกับอาจารย์โป๊ป
อาจารย์โป๊ป เคยเดินทางไปศึกษาวิชาการดนตรีที่สหรัฐอเมริกา เป็นยุคตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาอเมริกัน ซึ่งมีการเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามแทบทุกวัน เขาได้อ่านหนังสือแนวปรัชญาการเมือง การทหาร และประทับใจในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ The Manifesto Of The Communist Party
เมื่อกลับเมืองไทยในยุควิกฤตศรัทธาป่าแตก และ พคท.ล่มสลาย อาจารย์โป๊ป กลับพบว่า ‘อุดมการณ์ชาตินิยม’ คือทางออก จึงทำอัลบั้มเพลงชุดนักรบ โดยหวังผลทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อการค้า
นอกจากการสอนวิชาการดนตรี อาจารย์โป๊ปยังเป็น ‘ครูการเมือง’ ให้นายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอุดมการณ์ชาตินิยม และหนึ่งในนั้นคือ มนูญ รูปขจร (หลังกบฏเมษาฮาวาย ปี 2524 มนูญถูกถอดยศ)
อาจารย์โป๊ปจึงนำเรื่องราวของมนูญ มาเล่าให้ลูกศิษย์ชื่อแอ๊ด คาราบาว ฟังอยู่เสมอว่า ผู้การมนูญ อดีต ผบ.ม.พัน 4 ทหารม้ายานเกราะ เป็นชายชาติทหารผู้เสียสละและไม่เคยทิ้งลูกน้อง
ปลายปี 2528 คาราบาวยกวงเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตหาเงินสมทบโครงการตู้หนังสือเยาวชนที่สหรัฐฯ ช่วงมาพักผ่อนที่ลอสแองเจลิส มีรุ่นพี่คนหนึ่งได้นัดหมายให้ไปพูดคุยเรื่องสำคัญ แอ๊ด ก็ไปตามนัด
รุ่นพี่คนนั้นเล่าแผนการยึดอำนาจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยอดีตผู้การทหารม้า มนูญ รูปขจร จะเป็นผู้นำกองกำลังทหารเข้าปฏิบัติ และขอให้วงคาราบาว ไปเปิดการแสดงที่สวนอัมพร เพื่อดึงมวลชนเข้ามาสนับสนุนการยึดอำนาจ
แอ๊ดได้ฟังแผนการดังกล่าวแล้ว ก็ตอบตกลงเข้าร่วมด้วยทันที เพราะเขามีความศรัทธา มนูญ รูปขจร อยู่แล้ว บวกกับความคิดที่ว่า สังคมไทยต้องมีผู้นำที่เด็ดขาด และทำการปฏิวัติประเทศไทย
เมื่อวงคาราบาวกลับถึงเมืองไทย แอ๊ด ชักชวนเพื่อน ๆ ให้เข้าร่วมปฏิบัติการยึดอำนาจล้มรัฐบาลเปรม โดยการนำของ มนูญ รูปขจร
เช้าวันที่ 9 กันยายน 2528 วงคาราบาว เปิดการแสดงดนตรีที่เวทีสวนอัมพร เวลานั้น ทหารม้า ม.พัน.4 และทหารอากาศโยธินจำนวนหนึ่งได้เข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญไว้หมดแล้ว แต่ปรากฏว่า ‘ไอ้โม่ง’ ไม่มาตามนัด ฝ่ายก่อการรัฐประหารจึงถูกปราบจนแตกพ่ายไปในที่สุด
หลังจากปีนั้น แอ๊ดยังให้ความช่วยเหลือมนูญ ระหว่างลี้ภัยในต่างแดน ผ่านทางอาจารย์โป๊ป และเริ่มห่างหายกันไปในช่วงที่อาจารย์โป๊ปไปช่วยงานไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ยุครัฐบาลชาติชาย
จากนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายในวัยหนุ่ม ผ่านมาถึงหลักไมล์ 60 ปลาย ๆ แอ๊ด คาราบาว กับวิธีคิดแบบ ‘นักเลงโบราณ’ เจ้าตัวเคยพูดผ่านสื่อว่า วันนี้ในฐานะนักเพลงนักดนตรี ไม่ได้ทำงานเพื่อค่ายอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง มากเท่ากับการหาอยู่หากิน
เรื่อง: ชน บทจร
อ้างอิง:
ยืนยง โอภากุล. ก้าวแรกของชีวิต ก้าวที่สองคนดนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2542.
ยืนยง โอภากุล. หลังไมค์สไตล์แอ๊ด. สำนักพิมพ์มิ่งมิตร.
https://optimise.kkpfg.com/cover_story_29.php
https://www.komchadluek.net/scoop/122999