จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก

จูดิธ ฮิวแมนน์ (Judith Heumann) นักเคลื่อนไหวผู้บุกเบิกประวัติศาสตร์เรียกร้องสิทธิอันพึงมีให้แก่ผู้ทุพพลภาพ การต่อสู้ของเธอเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ (และหลายประเทศ) มี พ.ร.บ. ผู้ทุพพลภาพ ไม่ให้เลือกปฏิบัติ

“ความทุพพลภาพจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับฉันก็ต่อเมื่อการจัดการของรัฐล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาบางอย่างที่เอื้อให้ชีวิตผู้พิการดีขึ้น เช่น โอกาสในการทำงาน ทางเท้า และอาคารสถานที่ที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง

“หากรัฐไม่สามารถจัดหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ผู้พิการได้ ฉันถึงจะเรียกมันว่าโศกนาฏกรรม... เพราะการที่ต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิตนั้น ไม่ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับฉัน”

‘จูดิธ ฮิวแมนน์’ (Judith Heumann) นักเคลื่อนไหวผู้บุกเบิกประวัติศาสตร์การนั่งวีลแชร์ประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีให้แก่ผู้ทุพพลภาพ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตได้อิสระไม่ต่างจากพลเมือง 56 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เฉพาะแค่ในดินแดนแห่งเสรีภาพเท่านั้นที่ผู้พิการได้รู้จักกับ ‘ความเท่าเทียม’ แต่การออกมาเคลื่อนไหวของเธอได้ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการอีกกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก

เพราะการต่อสู้ของเธอ เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ (และอีกหลายประเทศ) มีพระราชบัญญัติผู้ทุพพลภาพ (Americans with Disabilities Act : ADA) ที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติรวมถึงการจ้างงาน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากมาตรา 504 ของพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพปี 1973 ที่เธอและผู้พิการอีกหลายร้อยชีวิต ทุ่มเวลานานนับเดือนเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามแก้ไขมาตราดังกล่าวให้มีความชอบธรรม

และนี่คือเรื่องราวของ ‘จูดิธ ฮิวแมนน์’ สตรีผู้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเกิดมามีร่างกายแบบใด

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก

นักเคลื่อนไหวผู้ไม่ยอมแพ้

“ไม่ว่าเราจะมีความทุพพลภาพประเภทใด และไม่ว่าเราจะประสบกับการเลือกปฏิบัติในรูปแบบไหน เราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิอันพึงมีของเรา เราจะไม่ยอมให้ใครพรากสิทธิเสรีภาพนี้ไม่จากมือของเรา”

จูดิธ ฮิวแมนน์ เกิดในปี 1947 บรู๊คลิน นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อแม่ของเธอเป็นผู้อพยพชาวยิว-เยอรมัน ที่โยกย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตที่อเมริกาช่วงกลางทศวรรษ 1930 จูดิธเป็นลูกสาวคนโตจากพี่น้อง 3 คน ถึงจะเกิดมาในครอบครัวที่ไม่เพรียบพร้อม พ่อเป็นเพียงคนขายเนื้อธรรมดา ๆ ส่วนแม่ก็ทำงานสารพัดอย่างเพื่อหาเงินมาดูแลลูก ๆ แต่ไม่ว่าลูกสาวคนโตอย่างจูดิธจะทำอะไร ทั้งคู่ก็มักสนับสนุนเธออยู่เสมอ

ขณะที่จูดิธอายุ 2 ขวบ สหรัฐฯ เกิดโรคโปลิโอระบาด ทำให้เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน (วัคซีนถูกพัฒนาขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 1954 โดยโจนัส ชอล์ก) ต้องเผชิญกับความพิการ และเสียชีวิตอีกหลายพันคน ซึ่งจูดิธก็คือหนึ่งในเด็กที่โชคร้ายคนนั้น เธอสูญเสียความสามารถในการเดินไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

เมื่อลูกสาวไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป พ่อแม่จึงต้องทำหน้าที่แสวงหาข้อมูลทุกอย่าง ทั้งเรื่องสิทธิ วิธีการดูแลเด็กพิการ ไปจนถึงการหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของลูกสาว

แต่โลกความจริงไม่สวยงามอย่างที่คิด ไม่มีโรงเรียนไหนอยากรับเด็กพิการ จูดิธถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยให้เหตุผลว่า เธอมีบาดแผลฉกรรจ์ ไม่สามารถเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนคนอื่นในห้องเรียนได้

จากความดื้อรั้นของผู้เป็นแม่ที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหว นับตั้งแต่วันแรกที่ลูกสาวต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ทุพพลภาพ ทำให้จูดิธสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กพิการได้สำเร็จ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยลองไอส์แลนด์ในปี 1969 และได้รับปริญญาโท สาขาสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ในปี 1975

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย จูดิธได้ทำกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนพิการหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือ การเข้าร่วม ‘ค่ายเจเนด’ (Camp Jened) ค่ายฤดูร้อนสำหรับผู้พิการในเมืองฮันเตอร์ นิวยอร์ก ที่จะเปิดให้เด็กพิการอายุระหว่าง 9 – 18 ปี มาทำกิจกรรมร่วมกัน ที่นั่นทำให้เธอมองเห็นความอิสระ โลกที่ไม่ต้องคอยถูกจับต้องจากคนรอบข้างว่าพวกเธอคือ ‘ตัวประหลาด’

“เราเหมือนกำลังออกเดทกันอยู่ยังไงอย่างนั้น ไม่มีใครมองว่าเราพิการ เราว่ายน้ำ เล่นเบสบอล วาดรูป ทำงานฝีมือ ซึ่งการมีอะไรหลายอย่างให้ทำ มันเหมือนเป็นการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มของเราเอง กลุ่มคนที่เราสามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

“มันเป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยสำหรับพวกเราทุกคน”

504 sit-in

จุดเริ่มต้นของการประท้วงเริ่มขึ้นจากการที่เธอได้สมัครไปเป็นคุณครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่กลับต้องเผชิญกับทัศนคติเชิงลบที่หลายคนมักมองผู้พิการว่ามีลักษณะความเป็นมนุษย์ที่ ‘ด้อยกว่า’ คนส่วนใหญ่ของประเทศ เธอโดนปฏิเสธมาด้วยเหตุผลว่า ขาดคุณสมบัติในการเป็นครู เนื่องจากหากเกิดเหตุไฟไหม้หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ครูอย่างจูดิธอาจไม่สามารถพาตัวเองหรือนักเรียนหนีจากสถานการณ์ดังกล่าวไปได้

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก

“การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว... ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการกระทำดังกล่าว คือพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง พวกเขาไม่บิขนมปังแบ่งให้แก่กันและกัน (แชร์ข้อมูล) สุดท้ายแล้ว หากผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันและทำงานร่วมกัน เราควรจะต้องมีจุดยืนและความรับผิดชอบอะไรบางอย่างร่วมกันให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

“การที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวของแต่ละคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางด้านร่างกาย”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้จูดิธตระหนักถึงความอิหลักอิเหลื่อของกฎหมายเป็นครั้งแรก...

กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อ ‘เอื้อ’ ให้กับกลุ่มคนส่วนใหญ่ แต่กลับไม่คำนึงถึงพลเมืองอีกกลุ่มของประเทศ และเพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนพิการทั่วโลกได้รู้จักกับความเสมอภาค เพราะการเกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง รัฐจะต้องมีหน้าที่จัดการดูแลความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมความสุขของประชาชน

จูดิธจึงหมุนวีลแชร์คู่ใจ หันไปที่สำนักงานภูมิภาคหลายแห่งของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงฯ หันมาพิจารณากฎระเบียบที่ไม่มีความชอบธรรม เพราะการเกิดมาเป็นคนพิการ ก็มีสิทธิมีเสียงไม่ต่างจากคนทั่วไป

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะวางรากฐานอันมั่นคงสิทธิให้ผู้พิการชาวอเมริกันอย่างสมเกียรติ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราจะทำให้ผู้พิการทุกคนภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ได้เกิดมาเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ เพื่อยุติการแยกตัวออกจากสังคมของเด็กและผู้ใหญ่อีกกว่าหลายล้านคน”

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก ท่ามกลางแสงแดดอันร้อนระอุของเดือนเมษายน ปี 1977 ผู้พิการนับร้อยชีวิตรวมตัวประท้วงที่สำนักงานภูมิภาคหลายแห่งของหน่วยงายในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (the New York Board of Education : NYBOE) ซานฟรานซิสโก เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจอนุมัติกฎระเบียบของมาตรา 504 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้พิการอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นมาตราที่ถูกรัฐบาลเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน และไม่มีทีท่าว่าเบื้องบนจะยินยอมให้มาตรา 504 ผ่านไปอย่างง่ายดาย

เธอปิดถนนในแมนฮัตตัน ประท้วงและเรียกร้องอย่างจริงจังนานนับเดือน จนสุดท้ายเลขาธิการก็ยอมใจอ่อน ยินยอมลงนามในข้อบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 28 เมษายน 1977 ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมของปีเดียวกัน

จูดิธจึงกลายเป็นครูอัตราจ้างคนแรกของโรงเรียนในนิวยอร์กซิตี้ที่เป็นผู้พิการ แต่เธอยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เธอยังคงออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้พิการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับตำแหน่งในรัฐสภา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ พร้อมทั้งคอยอยู่เคียงข้างประธานาธิบดีบิล คลินตัน และบารัค โอบามา

จากนั้นเธอจึงก่อตั้ง World Institute on Disability (WID) องค์กรด้านสิทธิผู้ทุพพลภาพระดับโลกแห่งแรก ๆ ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นคนพิการ นับเป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ เพราะทุกการกระทำของเธอ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้คนในสังคมมองเห็นคนพิการเป็นคนคนหนึ่งไม่ต่างกัน

ชัยชนะของเหล่าผู้พิการทั่วโลก

วันที่ 26 กรกฎาคม 1990 ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ลงนามรับรองกฎหมายคนพิการอเมริกัน ปี ค.ศ. 1990 (The Americans with disability Act 1990: ADA) กำแพงที่คอยขวางกั้นระหว่างโลกคนปกติกับคนพิการถูกทลายลงอย่างราบคาบ

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มีกฎหมายคนพิการที่ห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ และกำหนดให้เขตการศึกษาต้องจัดหาโรงเรียนสาธารณะที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมให้แก่เด็กพิการในแต่ละเขตโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้สำเร็จ จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก

จูดิธ ฮิวแมนน์: ผู้บุกเบิกการนั่งวีลแชร์ประท้วง จนเป็นต้นกำเนิดกฎหมายคนพิการทั่วโลก กฎหมายคนพิการอเมริกัน ถือเป็นกฎหมายสิทธิพลเมืองที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่อเมริกาเคยมีมา ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เป็นการขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตคนปกติทั่วไป

ADA จึงเป็นกฎหมายที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกัน 2 ฉบับ คือ กฎหมายสิทธิพลเมือง 1964 (Civil Right Law) และกฎหมายการฟื้นฟูสมรรถภาพ 1973 (The Rehabilitation Act 1973) อ้างอิงจาก ทวี เชื้อสุวรรณทวี, สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์, พันธยศ จันทร์ผง, รุ่งรพีพรรณ อุจวาทีและชัชวรรณ ธิติทรัพย์เลิศ, โอกาสในการทำงานที่เหมาะสมกับความพิการ, (รายงานการวิจัย), นครปฐม: วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป, 2558, 67.

หากจะขยายความให้กว้างขึ้นอีกนิดกฎหมาย ADA จะเป็นโลกอีกใบที่ทำให้คนพิการสัมผัสถึงความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น 4 ด้านด้วยกัน ตั้งแต่สิทธิการถูกจ้างงาน, สิทธิในการเดินทางและใช้บริการระบบคมนาคม รวมถึงบริการสาธารณะ, สิทธิในการเข้าถึงที่พักอาศัยและสินค้าอุปโภคบริโภคได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป และสุดท้ายคือสิทธิในการติดต่อสื่อสารและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ADA ได้กลายเป็นต้นแบบของกฎหมายสิทธิพลเมืองด้านคนพิการในอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร และเครือรัฐออสเตรเลีย

ปัจจุบันจูดิธอายุ 74 ปี เธอยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิคนพิการต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะทุกหยาดเหงื่อ ทุกการเคลื่อนไหว ล้วนนำมาซึ่งอิสรภาพให้แก่คนพิการ ‘เพื่อน’ ผู้ร่วมชะตากรรมหลายล้านคนทั่วโลก

ซึ่งการต่อสู้ของเธอในอดีตเป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่า หากผู้พิการทุกคนร่วมมือกันต่อสู้กับรัฐ สุดท้ายแล้วเสียงของประชาชนย่อมทำให้รัฐยอมศิโรราบได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

“เราเชื่อว่าเราเอาชนะรัฐบาลได้ แล้วเราก็ชนะจริง ๆ ด้วย!”

 

ภาพ: Judith Heumann / Instagram

 

อ้างอิง:

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี เชื้อสุวรรณทวี. การเปรียบเทียบกฎหมายด้านคนพิการของประเทศไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา (Comparative study in disability law of Thailand, United Kingdom and United States of America). มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.washingtonpost.com/lifestyle/magazine/judy-heuman-crip-camp-film-rights-pioneer/2021/05/21/d3ab3fa6-b278-11eb-a980-a60af976ed44_story.html

https://www.theguardian.com/society/2020/dec/15/judith-heumann-biden-is-committed-to-involving-disabled-people-covid-crip-camp

https://idrpp.usu.edu/blog/2020/womens-history-month-an-interview-with-judith-jeumann

https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/judith-heumann

https://judithheumann.com/project/about/

https://www.goodmorningamerica.com/culture/story/herstory-lessons-woman-fights-improve-lives-disabilities-69129768

https://dredf.org/504-sit-in-20th-anniversary/short-history-of-the-504-sit-in/

https://www.eef.or.th/news-us-department-education-announces-intent-strengthen/