28 ธ.ค. 2565 | 18:09 น.
- พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี เจ้าของลีลาเล่าข่าวที่น่าสนใจ โด่งดังจากการนำเสนอในรายการทุบโต๊ะข่าว มีผู้ทำวิจัยศึกษาลีลาการนำเสนอผ่านหน้าจอของเขาโดยเฉพาะ
- ความโด่งดังของพุทธอภิวรรณ นำมาสู่ข่าวลือเรื่องลาออกจากช่องอมรินทร์ทีวี อยู่หลายครั้ง
- เมื่อปี 2559 มีกระแสข่าวลือว่า พุทธอภิวรรณ จะลาออก แต่สุดท้าย เขายังดำเนินรายการดังเดิมมาจนถึงปี 2565 ซึ่งช่วงปลายเดือนธันวาคม มีข่าวลือเรื่องลาออกผุดขึ้นอีกหน
ปลายเดือนธันวาคม 2565 ชื่อของ ‘พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี’ ผู้ประกาศข่าวคนดังแห่งรายการ ‘ทุบโต๊ะข่าว’ ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวการลาออกจากอมรินทร์ทีวี (กลับมาลือกันอีกครั้ง) ซึ่งที่นี่ เขาไม่เพียงรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการข่าวเท่านั้น ยังพ่วงตำแหน่งเป็นถึง ‘ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว’ ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้อีกด้วย
นั่นทำให้หลายคนสงสัยว่า ข่าวนี้จริงหรือแค่ลือ? และถ้าจริง!!! เส้นทางบนสายอาชีพสื่อของเขาวางที่ไหนเป็นเป้าหมายต่อไป
ย้อนกลับไปเดือนเมษายน 2559 เคยมีกระแสข่าวเรื่องพุทธอภิวรรณ ลาออกจากช่องอมรินทร์ทีวี ลือกันถึงขั้นมีการยืนยันถึงการลาออกแล้ว และจะไปทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้แทน ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ ที่ตอนนั้นพักทำรายการจากปัญหาคดีความ
แต่สุดท้าย พุทธอภิวรรณ ยังคงอยู่กับช่องเดิม โดยไม่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ จนล่าสุดมีข่าวการลาออกอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565
บนถนนสายสื่อ
พุทธอภิวรรณ เกิดวันที่ 1 ธันวาคม 2520 จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และได้เดินบนถนนสายอาชีพสื่อมาตลอด โดยผ่านงานกับสำนักข่าวมาหลายสำนัก อาทิ ไอเอ็นเอ็น และทีนิวส์ เป็นต้น
ในปี 2557 เขาได้เข้าร่วมงานกับทางอมรินทร์ทีวี ในฐานะผู้ดำเนินรายการข่าว ‘ทุบโต๊ะข่าว’ และ ‘ต่างคนต่างคิด’ ด้วยลีลาการอ่านข่าวแบบถึงลูกถึงคน สื่อสารผ่านทั้งภาษาพูดและภาษากาย
เคยมีงานวิจัยที่วิเคราะห์ลีลาและการใช้ภาษาของ พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ในรายการทุบโต๊ะข่าว เผยแพร่ในวารสาร มจร มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม) 2563 บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารระบุชื่อผู้เขียนคือ วษาร์ บุดดีคำ และรัตนา จันทร์เทาว์
งานวิจัยสรุปกลวิธีเด่นในการสื่อสารของ พุทธอภิวรรณ เช่น ใช้ประโยคคำถามเพื่อมาเล่าข่าวที่ให้ผู้ฟังฉุกคิด หาเหตุผลและหาคำตอบด้วยตนเอง, ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ (ระดับการสนทนาทั่วไป) มีการใช้คำอุทานอยู่บ่อยครั้ง และเน้นย้ำประเด็นสำคัญ เพื่อให้คนฟังเข้าใจง่าย
รวมถึงเป็นคนมีฝีปากกล้า โดยการเล่าข่าวของเขามักจะมีการถามแบบประชดประชันที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ พร้อมกับแสดงท่าทาง ใช้สายตาไปจนถึงน้ำเสียง เพื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกในการเล่าข่าวและดึงคนฟังให้สนใจ มีอารมณ์ร่วม
งานวิจัยดังกล่าวสรุปผลการศึกษาไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ลีลาภาษาที่มีความโดดเด่นของเขา คือ การใช้ประโยคคำถามเพื่อเป็นการเล่าข่าวที่ให้ผู้ฟังได้ฉุกคิด หาเหตุผล และหาคำตอบด้วยตนเอง หรือเป็นการถามเพื่อประชดประชัน เป็นรูปประโยคคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ คำถามเหล่านี้มักจะปรากฏอยู่ในระหว่างการนำเสนอข่าว
นอกจากนี้ยังพบลักษณะลีลาภาษาด้านการใช้คำอุทาน เพื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกในการเล่าข่าว และการประชดประชัน ส่วนการเลือกใช้คำสรรพนามผู้พูดเลือกใช้คำสรรพนามที่เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ที่กล่าวถึงอีกด้วย”
ด้วยสไตล์แบบนี้ ส่งให้พุทธอภิวรรณ กลายเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก และรายการที่เขาดูแลมีเรตติ้งสูง ติดอันดับผู้ประกาศข่าวที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการโทรทัศน์ไทย กระทั่งต่อมาเขาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าวที่อมรินทร์ทีวี
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘จิตดี ศรีดี’ จากฝันอยากเป็นดีเจ สู่ผู้ประกาศพูดน้อยที่คนรู้จักทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ความนิยมของเขายังสะท้อนได้จากรางวัลในสาขาผู้ดำเนินรายการข่าวที่ได้รับจากหลากหลายเวที เช่น สาขาผู้ดำเนินรายการข่าวดาวรุ่งดีเด่น จาก ดาวเมขลา ปี 2559, รางวัลผู้วิเคราะห์ข่าวดีเด่นแห่งปี 2559 จาก Maya Award, รางวัลผู้รายงานข่าวชายดีเด่น จากรางวัลพิฆเนศวร ปี 2560 และปี 2561, รางวัลผู้ประกาศข่าวชายฟีเวอร์ 2563 จาก Fever Awards ฯลฯ
ส่วนกระแสข่าวการลาออกจากอมรินทร์ทีวีของพุทธอภิวรรณ ครั้งล่าสุดนี้ บางกระแสมีการพูดว่า เขาลาออกจริงและเตรียมไปร่วมงานกับช่องนั้นช่องนี้ (ข้อมูล ณ 28 ธันวาคม 2565)
ทว่า ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากปากเจ้าตัวแต่อย่างใด จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า เส้นทางของผู้ดำเนินรายการข่าวฝีปากกล้าคนนี้จะไปบรรจบกับที่ใด
ภาพ: รายการทุบโต๊ะข่าว / อมรินทร์ทีวี
อ้างอิง:
วษาร์ บุดดีคำ และรัตนา จันทร์เทาว์. “ลีลาและการใช้ภาษาของ พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ในรายการทุบโต๊ะข่าว”, ใน วารสาร มจร มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม) 2563. สืบค้นออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2565.