01 ก.พ. 2566 | 12:00 น.
ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมสื่อมวลชนเดินเท้าจากหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เคลื่อนที่ผ่านสนามหลวงไปสู่ศาลฎีกาที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อยื่นรายชื่อที่ได้รวบรวมมาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ในหัวข้อ “สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม”
เมื่อเดินทางไปถึงที่หน้าศาลฎีกา ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องและยื่นรายชื่อดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมอีกส่วนก็ถือกระดาษ คล้องป้าย แผ่นไวนิลที่สลักข้อความที่แต่ละคนอยากสื่อสารอยู่ในบริเวณเดียวกัน
The People มีโอกาสได้คุยกับผู้ร่วมชุมนุมรายหนึ่ง เธอเป็นผู้หญิงอายุราว 60 ปี คล้องป้ายที่ทำขึ้นมาเองขนาดใหญ่ไว้ที่คอ บนป้ายกระดาษนั้นเป็นรูปของเยาวชนทั้งสี่คนที่ยังถูกคุมขัง ด้านบนและล่างของภาพมีตัวอักษรเขียนเอาไว้ว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ และ ‘Free Our Friends.’ ตามลำดับ มือขวาของเธอถือดอกทานตะวันเทียมพร้อมกระดาษที่แปะติดเขียนเอาไว้ว่า ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’
เธอชื่อ ‘ป้านก’ ป้านก เล่าให้เราฟังต่อว่าเธอเดินทางมารอที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่เวลา 10 โมงแล้ว มาพร้อมกับเพื่อนอีกคนที่มีอายุมากกว่าชื่อว่า ‘ป้าเม้า’ หลังจากที่กินข้าวและเตรียมตัวที่นั่นเสร็จก็ได้นั่งรอจนกว่าจะถึงเวลา
ป้านกเล่าย้อนให้เราฟังว่าเดิมทีเธอเป็นนักกิจกรรมที่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมาอยู่แล้ว กลับบ้านตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืนทุกวัน โดยปกติเธอจะสแตนด์บายรอที่ศาลฎีกาอยู่ทุกวัน หากมีการชุมนุมที่ไหนก็จะเคลื่อนตามไปที่กิจกรรมนั้นทันที ส่วนสาเหตุที่มาเข้าร่วมในวันนี้ ป้านกได้อธิบายว่าอยากมายื่นหนังสือและรายชื่อให้ศาลได้ลองพิจาณาข้อเรียกร้องจากเด็ก ๆ รวมถึงพิจารณาเรื่องความรุนแรงของบทลงโทษ
“ศาลต้องผดุงความยุติธรรมของประชาชน ไม่ใช่ยุติความเป็นธรรม”
จากนั้นเราจึงถามต่อว่าคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่มีเยาวชนอดอาหารประท้วงจากเรือนจำส่วนหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง
“มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากนะ ป้ายังไม่ได้ครึ่งขี้เล็บของเด็ก ๆ เลย”
เธอเล่าต่อว่าเธอก็อายุมากแล้ว หากจะให้มาติดคุกก็คงไม่ไหว แต่ถึงกระนั้นเธอก็พยายามช่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีกิจกรรมไหนที่เธอเห็นด้วย มีกิจกรรมไหนที่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ป้านกก็ไม่รีรอที่จะลุกขึ้นแล้วไปร่วมชุมนุม เธออธิบายเหตุผลต่อว่าสาเหตุที่ทำเช่นนี้เพราะเธออยากเห็นบ้านเมืองดีกว่าเดิม ลูกหลานของเธอก็กำลังเติบโตขึ้นมา เธอก็อยากให้คนที่เธอรักได้อยู่ในสังคมที่ดี
“ป้าก็อายุ 60 กว่าแล้ว ไม่เท่าไหร่ก็ตาย… ไม่รู้ว่าจะได้เห็นบ้านเมืองของเราเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า แต่ว่าคนรุ่นหนูที่อนาคตจะต้องเติบโตขึ้นมา การต่อสู้ก็ต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ แต่มันคงยังไม่จบที่รุ่นป้าหรอก”
พอพูดจบประโยค เธอก็หัวเราะแล้วเดินจากไป