ย้อนคู่อริสายกีฬา ไทย VS เวียดนาม ทีมดาวแดงเคยข่ม กับจุดเปลี่ยนเมื่อไทยพลิกมาเหนือกว่า

ย้อนคู่อริสายกีฬา ไทย VS เวียดนาม ทีมดาวแดงเคยข่ม กับจุดเปลี่ยนเมื่อไทยพลิกมาเหนือกว่า

ในโลกกีฬา ไทยกับเวียดนามเป็นสองชาติอาเซียนที่ขับเคี่ยวกันมายาวนาน ในอดีต เวียดนามใต้เคยมีสภาพเหนือกว่าไทย แต่หลังจากนั้น ไทยสามารถก้าวขึ้นมาทำผลงานได้เหนือกว่าในภาพรวม

  • ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย กับทีมชาติเวียดนาม กลายเป็นคู่ปรับแห่งอาเซียนที่ดวลกันดุเดือด
  • หากย้อนสถานการณ์ไปในอดีต ในยุคเวียดนามใต้ ทีมชาติมีผลงานและสถิติเป็นรองเมื่อพบกับเวียดนามใต้ในยุคเซียพเกมส์
  • ทีมชาติไทยขยับมาเหนือกว่าเวียดนามชัดเจนขึ้นในยุคที่เป็นซีเกมส์ และชิงแชมป์อาเซียนแล้ง

หากจะเอ่ยถึงทีมฟุตบอลที่เป็นคู่รักคู่แค้นของทีมชาติไทยที่ไม่ว่าจะเจอกันเมื่อไหร่หรือทีมชุดไหนพบกันก็มักจะมีเรื่องราวตามมาเสมอ เชื่อแน่ว่าท่านผู้อ่านจะต้องนึกถึงทีมชาติเวียดนาม อีกหนึ่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่มีโอกาสลงสนามพบกับทีมชาติไทยมาแล้วตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน

และล่าสุดทีมชาติเวียดนามคือคู่แข่งของทีมชาติไทยในศึกเอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริก คัพ 2022 (AFF Mitsubishi Electric Cup 2022) หรือก็คือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน เอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ (AFF Championship)

โดยคู่ชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเวียดนามถูกจัดให้เป็นคู่ชิงชนะเลิศในฝันหรือดรีม ไฟนอล (Dream Final) ของศึกชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนในครั้งนี้ด้วย เพราะทั้งสองทีมคือทีมที่ช่วงชิงความสำเร็จกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต อีกทั้งแฟนฟุตบอลของทั้งสองชาติต่างก็เป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกันบนโลกโซเชียลมีเดียมาอย่างยาวนาน

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปย้อนดูเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติในด้านกีฬาว่ามีจุดกำเนิดอย่างไร และใครฝากรอยแผลไว้ให้ใครบ้าง ติดตามกันได้เลยครับ

เวียดนามใต้โค่นไทยคาบ้านคว้าเหรียญทองเซียพเกมส์

ย้อนกลับไปในปี 1959 ประเทศในกลุ่มแหลมทองได้แก่ไทย พม่า ลาว มาลายา (มาเลเซีย) สิงคโปร์ และเวียดนามใต้ ได้ให้กำเนิดกีฬาเซียพเกมส์ (SEAP Games) ขึ้นโดยในครั้งแรกนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และฟุตบอลคือกีฬาที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก

ฟุตบอลคู่เปิดสนามก็เป็นการพบกันระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเวียดนามใต้ ซึ่งเกมในนัดนี้ถือว่าเป็นนัดแรกของทั้งสองทีมที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) ให้การรับรองเป็น FIFA International A Match

เกมนัดแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1959 ที่สนามศุภชลาศัย ทีมชาติไทยก็เป็นฝ่ายโดนทีมชาติเวียดนามใต้ถลุงไปอย่างยับเยิน 0-4 ก่อนที่ทั้งคู่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศในอีก 4 วันถัดมาและก็เป็นทีมชาติเวียดนามใต้ที่สามารถทำได้ดีกว่าอีกครั้ง สามารถเอาชนะทีมชาติไทยไปได้ 1-3 คว้าเหรียญทองกีฬาเซียพเกมส์ครั้งแรกไปครองได้บนแผ่นดินไทย ซึ่งนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่ยิงประตูทีมชาติเวียดนามใต้ได้เป็นคนแรกคือ อนุรัฐ ณ นคร

ไทยเป็นรองชัดเจนในยุคเวียดนามใต้

ในช่วงปี 1959-1975 ทีมชาติไทยยังเป็นรองเวียดนามใต้ในแทบทุกครั้งที่ลงสนาม รายการแข่งขันระดับทวีปอย่างฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย ทั้งคู่มีโอกาสพบกันหนึ่งครั้งในศึกฟีฟ่า เวิลด์ คัพ 1974 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่ประเทศเกาหลีใต้ และก็เป็นเวียดนามใต้ที่สามารถเอาชนะทีมชาติไทยไปได้ เช่นเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียหรือเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) ทั้งสองทีมมีโอกาสพบกันในรอบคัดเลือก ก็เป็นทีมชาติเวียดนามใต้ที่ทำได้ดีกว่าสามารถเอาชนะทีมชาติไทยไปได้ 2 นัดในปี 1963 และ 1967

ขณะที่ทีมชาติไทยเอาชนะได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 1975 ซึ่งครั้งนั้นทีมชาติไทยเอาชนะไปได้ 4-0 ขณะที่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ทั้งสองทีมพบกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 6 ปี 1970 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ และทีมชาติไทยยุคนั้นก็เอาชนะเวียดนามใต้ไปได้ 1-0 จากการยิงประตูของ สุทธา สุดสะอาด

ขณะที่ในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์หลังจากทีมชาติไทยชวดเหรียญทองในการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1959 เพราะน้ำมือของทีมชาติไทยนามใต้แล้ว ในครั้งถัดมาทั้งสองทีมก็ครองเหรียญทองแดงร่วมกัน หลังจากที่ในรอบแรกพบกันและเสมอกันมา 0-0 ทั้งสองทีมก็มาพบกันอีกในนัดชิงอันดับที่ 3 และเสมอกันไป 1-1 อีกครั้ง

เท่ากับว่า 4 ครั้งแรกที่พบกัน ทีมชาติไทยยังไม่สามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามใต้ได้เลยบนเวทีเซียพเกมส์

ชัยชนะครั้งแรกของทีมชาติไทยต่อทีมชาติเวียดนามใต้ในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์นั้นเกิดขึ้นในนัดถัดมาในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1965 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยนัดประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นวันที่ 15 ธันวาคม 1965

รูปเกมวันนั้นเป็นทีมชาติเวียดนามใต้ที่ได้ประตูขึ้นนำไปก่อนตั้งแต่ช่วงครึ่งเวลาแรก 0-1 แต่ในครึ่งเวลาหลัง ทีมชาติไทยแก้เกมมาใหม่และมีลูกฮึดก็มาได้ประตูตีเสมอจาก อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ที่ยิงอัดจากระยะ 20 หลา บอลพุ่งเสียบเสาไปอย่างสวยงามตีเสมอได้เป็น 1-1 ก่อนที่ประเดิม ม่วงเกษม จะยิงประตูชัยจากการโฉบไปซัดเผาขนให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเวียดนามใต้ได้เป็นครั้งแรกบนเวทีเซียพเกมส์ ด้วยสกอร์ 2-1

และทั้งสองทีมโคจรมาพบกันอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศและก็เป็นทีมชาติไทยที่ทำได้ดีกว่าเมื่อสามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามใต้ไปได้อีกครั้ง และในท้ายที่สุดทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1965 ไปครองได้สำเร็จ

แต่หลังจากนั้น ทีมชาติไทยก็ไม่สามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามใต้ได้อีกใน 2 ครั้งที่พบกันบนเวทีเซียพเกมส์ แถมโดยถล่มไปถึง 0-5 คาบ้านของตัวเองในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 4 ปี 1967 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้แล้วยังถูกแฟนฟุตบอลตั้งคำถามถึงการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับคาสนามศุภชลาศัย

ขณะที่นัดสุดท้ายที่ทีมชาติไทยพบกับทีมชาติเวียดนามใต้ในกีฬาเซียพเกมส์ก็คือในอีก 4 ปีถัดมาและเสมอกันไป 0-0 ในนัดชิงอันดับที่ 3

นอกจากนี้ในช่วงปี 1962-1974 การแข่งขันฟุตบอลรายการกระชับมิตรต่าง ๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเมอร์เดกา ทัวร์นาเมนต์ (Merdeka Tournament), ฟุตบอลรายการฉลองเอกราชเวียดนามใต้ หรือเซาท์ เวียดนาม อินดิเพนเดนท์ คัพ (South Vietnam Independence Cup) และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ (King’s Cup) ที่ทั้งสองทีมมีโอกาสลงสนามพบกันทั้งหมด 11 นัด ก็เป็นทีมชาติเวียดนามใต้ที่สามารถเอาชนะทีมชาติไทยไปได้ถึง 10 นัด เรียกได้ว่าในยุคสมัยของความเป็นเวียดนามใต้ ทีมชาติไทยไม่อาจสู้ได้

 

ไทยสอยเวียดนามเรียบในเวทีซีเกมส์ของทีมชาติชุดใหญ่

ในยุคที่ผลัดเปลี่ยนมาเป็นประเทศเวียดนามโดยไม่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อีกต่อไป ทีมชาติเวียดนามเริ่มกลับมาร่วมฟาดแข้งในกีฬาฟุตบอลระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 1991 ซึ่งการกลับมาในครั้งนั้นของทีมชาติเวียดนามเปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่ โดยทีมชาติเวียดนามมีเพียง 1 คะแนนจากการเสมอเจ้าภาพฟิลิปปินส์เท่านั้น ต้องตกรอบแรกไปตามระเบียบ

ขณะที่ทีมชาติไทยในชุดนั้นได้เหรียญเงินซึ่งแม้จะไม่ใช่ผลงานที่ดีของทีมชาติไทย เพราะขุนพลช้างศึกยุคนั้นต้องการไปให้ถึงเหรียญทอง แต่หากเปรียบกับเวียดนามที่เพิ่งกลับมาแล้วนับว่าไทยยังเป็นต่ออยู่หลายช่วงตัว

ทีมชาติไทยเริ่มสร้างปฐมบทการเป็นเจ้าอาเซียนในยุคที่วัดกันด้วยผลงานในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ซึ่งยังใช้ทีมชาติชุดใหญ่ลงสนามและถือว่าเป็น FIFA International A Match โดยทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ ประเทศสิงคโปร์ ปี 1993 มาครองได้หลังจากห่างหายจากความสำเร็จนี้ไปกว่า 8 ปี ขณะที่ทีมชาติเวียดนามยังตกรอบแรกในการแข่งขันครั้งนั้น

ทีมชาติไทยมาพบกับทีมชาติเวียดนามในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมชาติไทยมีเป้าหมายในการรักษาแชมป์ไว้ให้ได้ ทั้งสองทีมมีโอกาสลงสนามพบกันในรอบแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1995 ณ สนามสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ เกมการแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสูสีในช่วงแรก ก่อนที่ทีมชาติไทยจะขึ้นนำไปก่อน 1-0 ในช่วงครึ่งเวลาแรกจากจังหวะที่ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ขึ้นโหม่งลูกจากจังหวะเปิดบอลของ สุเมธ อัครพงศ์

จากนั้นในครึ่งเวลาหลังทีมชาติไทยก็มาได้ประตูนำห่างไปเป็น 2-0 จากการที่ตะวัน ศรีปาน หลุดแผงแนวรับทีมชาติเวียดนามเข้าไปดีดบอลข้ามตัวของผู้รักษาประตูเข้าไปอย่างสวยงาม แต่ในจังหวะต่อเนื่องของเกมดังกล่าว ผู้รักษาประตูทีมชาติเวียดนามที่ออกมาตัดบอลนั้นได้ยันไปที่บริเวณหัวเข่าของตะวัน ศรีปาน เข้าอย่างจัง จนเจ้าตัวได้รับบาดเจ็บจนต้องเปลี่ยนตัวออก

จากนั้นทีมชาติไทยก็ยังเดินเกมบุกอย่างต่อเนื่อง และก็เป็น เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ที่เข้าฮอสบวกสกอร์เพิ่มให้ทีมชาติไทยขึ้นนำไปเป็น 3-0 ก่อนที่จะมาโดนยิงประตูคืนไล่มาเป็น 3-1 และก็หมดเวลาการแข่งขันไปด้วยสกอร์นี้

ทั้งสองทีมโคจรมาพบกันอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศของซีเกมส์ครั้งดังกล่าว ท่ามกลางแฟนฟุตบอลเต็มความจุของสนามสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ และในรอบชิงชนะเลิศนี้ทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามไปได้อย่างขาดลอย 4-0 จากการทำประตูอย่างสุดสวยของ ตะวัน ศรีปาน 2 ประตู และก็ตามมาด้วยการโหม่งทำประตูและการหลุดเข้าไปยิงอย่างเหนือชั้นของ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ส่งให้ทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้อีกครั้ง

ปี 1997 ทั้งคู่มาพบกันในรอบรองชนะเลิศของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 1997 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเริ่มเกมมาได้เพียง 3 นาที ดุสิต เฉลิมแสน ได้จังหวะยิงไกลด้วยเท้าซ้ายข้างถนัด ลูกฟุตบอลกำลังจะพุ่งสู่ก้นตาข่ายอยู่แล้วแต่ผู้รักษาประตูสามารถปัดบอลออกมาได้ แต่ก็ไม่วายไปเข้าทางปืนของ ‘ซิโก้’ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง วิ่งมายิงซ้ำให้ทีมชาติไทยขึ้นนำทีมชาติเวียดนามไปก่อน 1-0

แต่จากนั้นในนาที 35 ทีมชาติเวียดนามก็มาได้ลูกโทษที่จุดโทษและก็เป็น โว ฮอง บู ที่สังหารเข้าไปแบบไม่มีพลาด หมดเวลาการแข่งขันในครึ่งเวลาแรกทีมชาติไทยและทีมชาติเวียดนามเสมอกันที่ 1-1 จากนั้นช่วงครึ่งเวลาหลังทีมชาติไทยที่ครองเกมบุกได้ดีกว่าและ ‘ซิโก้’ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็สามารถยิงประตูที่สองของตัวเองในเกมนี้และก็เป็นประตูชัยให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเวียดนามไปได้ 2-1และในท้ายที่สุดทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้

ปี 1999 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ฟุตบอลจะใช้ทีมชาติชุดใหญ่ของแต่ละชาติลงทำการแข่งขันและได้รับการรับรองโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ทีมชาติไทยและทีมชาติเวียดนามโคจรมาอยู่กลุ่มเดียวกันในรอบแรกและผลการแข่งขันก็จบลงด้วยการเสมอกันไป 0-0 ก่อนที่ในรอบชิงชนะเลิศจะเป็นทีมชาติไทยที่ทำได้ดีกว่าสามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามไปได้ 2-0 จากการยิงไกลอย่างสุดสวยของ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล และ ดุสิต เฉลิมแสน ส่งให้ทีมชาติไทยคว้าชัยชนะเหนือทีมชาติเวียดนามไปได้อีกครั้งในเวทีซีเกมส์พร้อมกับการคว้าเหรียญทอง

 

ชิงแชมป์อาเซียน ไทยคือราชา

แม้การช่วงชิงความเป็นเจ้าอาเซียนของกีฬาฟุตบอลจะย้ายจากเวทีซีเกมส์มาสู่การแข่งขันเอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ (AFF Championship) แต่ผลการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความสำเร็จระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเวียดนามก็ไม่ต่างจากเดิมนัก โดยล่าสุดทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามไปได้ 1-0 ในศึกเอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริก คัพ 2022 ที่สนามกีฬาศูนย์ธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้ทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์รายการนี้ไปครองได้เป็นสมัยที่ 7 จากการจัดการแข่งขันมาทั้งสิ้น 14 ครั้ง ขณะที่ทีมชาติเวียดนามเคยคว้าแชมป์รายการนี้ไป 2 ครั้งในปี 2008 และ 2018

ส่วนหากนับเอาเฉพาะผลการแข่งขันในรายการเอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ ก็จะพบว่าตลอดการแข่งขัน 13 แมตช์ที่พบกันทีมชาติไทยมีชัยเหนือเวียดนามไปทั้งสิ้น 7 นัด เสมอ 4 นัด และพ่ายแพ้เพียง 2 นัดเท่านั้น โดยเกิดขึ้นในการแข่งขันไทเกอร์ คัพ (Tiger Cup) 1998 รอบรองชนะเลิศที่เวียดนามสามารถเอาชนะไทยไปได้ 0-3 และนัดคือในรอบชิงชนะเลิศ เลกแรก ในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2008 (AFF Suzuki Cup 2008) ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยทีมชาติไทยพ่ายแพ้ไป 1-2

ฉะนั้น ในเรื่องของความสำเร็จในยุคปัจจุบันที่เป็นรายการเอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ ทีมชาติไทยก็ยังคงทำผลงานได้ดีกว่าทีมชาติเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ทีมชาติเวียดนามเองแม้จะพัฒนาขึ้นมากแต่เมื่อต้องเจอกับทีมชาติไทยในรายการสำคัญที่ได้รับการรับรองโดยฟีฟ่าก็มักจะทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่สื่อมวลชนหรือแฟนฟุตบอลของชาติตัวเองคาดหวัง เช่นในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามได้ทั้ง 2 นัดเหย้าและเยือน ส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ทั้งสองทีมก็เสมอกันไปด้วยสกอร์ 0-0 ทั้งสองนัด

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มักจะเกิดจากความกดดันตนเองจนเล่นไม่ออกเวลาเจอกับทีมชาติไทย อีกอย่าง นักเตะเวียดนามเองก็ยังขาดการควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์กดดัน ต่างกับทีมชาติไทยที่เวลาเจอกับทีมชาติเวียดนามนั้น นักฟุตบอลจะไม่หวั่นเกรงต่อศักดิ์ศรีใด อีกทั้งนักฟุตบอลของทีมชาติไทยมีความเป็นมืออาชีพและมีสมาธิกับการแข่งขันมากกว่านักฟุตบอลของทีมชาติเวียดนาม จึงทำให้ในท้ายที่สุดทีมชาติไทยมักได้ผลการแข่งขันตามต้องการเสมอ

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)