บ่มีวันจาก (The Long Walk): ความตายไร้ทิศ ฝันร้ายไร้กาล เส้นชีวิตที่ไม่ (ควร) หวนกลับ

บ่มีวันจาก (The Long Walk): ความตายไร้ทิศ ฝันร้ายไร้กาล เส้นชีวิตที่ไม่ (ควร) หวนกลับ

บ่มีวันจาก (The Long Walk) ภาพยนตร์สยองขวัญ-ไซไฟ สัญชาติลาวที่ตั้งคำถามถึงการย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ในอดีต ว่า แท้จริง แล้วการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลดีดีงที่เราคาดหวังไว้จริงหรือไม่? หรือการปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปตามสายธารดังที่ควรจะเป็นนั้นเหมาะสมกว่า...

บ่มีวันจาก’ (The Long Walk) นับเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ-ไซไฟ ที่มีชื่อเสียงและคำวิจารณ์ที่ดีเรื่อยมานับตั้งแต่ออกฉาย ณ เทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2019 จนกระทั่งในวันนี้ แม้จะดูเหมือนหนังสยองขวัญที่เราคาดหวังจะได้รับความน่ากลัวกลับไปหลังจากที่รับชม แต่หากใครที่ได้มีโอกาสท่องไปในเส้นทางลูกรังของบ่มีวันจากแล้วก็จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้คือการ Mix&Match รสชาติที่แปลกใหม่จนกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

หากจะมีคำอธิบายสั้น ๆ สำหรับความรู้สึกจากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คำอธิบายของมันก็คงเป็น – เรื่องราวและเนื้อหาสไตล์ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร้อยเรื่องด้วยคอนเซ็ปต์เรื่องเวลาล้ำ ๆ แบบ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) และมีกลิ่นอายความรู้สึกตึงเครียดจาก เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) จนออกมาเป็น ‘บ่มีวันจาก’ โดยผู้กำกับหญิงชาวลาวนามว่า ‘แมทที โด’ (Mattie Do)

 

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ บ่มีวันจาก (The Long Walk) /

 

สายธารแห่งกาลเวลาที่ไม่ควรไหลย้อนกลับ

คอนเซ็ปต์เรื่อง ‘การย้อนเวลา’ (Time Travel) คือโครงเรื่องหลักของภาพยนตร์เรื่องบ่มีวันจาก เพราะมันถือเป็นเครื่องมือดำเนินเรื่องหลักและเป็นคอนฟลิคสำคัญของตัวละครอีกด้วย และด้วยการร้อยเรื่องราวที่มีความซับซ้อนระดับหนึ่งผ่านเครื่องมือ ‘เวลา’ ก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของเสด็จพ่อโนแลน

ภายในเรื่องเราจะเห็นได้ว่าตัวละครเอกไร้ชื่ออย่าง ‘คุณลุง’ ได้ค้นพบวิธีย้อนเวลากลับไปในอดีตจากวิญญาณหญิงสาวที่เดินกับเขาบนเส้นทางลูกรังมาเป็นเวลากว่า 50 ปี หลังจากที่เขาในวัยเด็กได้ไปเจอเธอ ณ วินาทีสุดท้ายของชีวิต และด้วยพลังนั้นเอง เขาสามารถย้อนกลับไปเห็นแม่และตัวเขาเองเมื่อ 50 ปีก่อน

ต่อมาในวันหนึ่งเมื่อเขาได้ค้นพบเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่การย้อนไปดูเท่านั้นที่เขาสามารถทำได้ แต่เขาสามารถ ‘ยุ่งเกี่ยว’ และ ‘ผันแปร’ มันได้อีกด้วย มันจึงเกิดความคิดในหัวเขาขึ้นมาว่า “แล้วถ้าฉันแก้ไขอดีตได้ล่ะ?”

การแก้ไขอดีตนับเป็นสิ่งหนึ่งที่ใครต่อใครก็ถวิลหาและอยากจะทำมันให้ได้ แต่ก็คงไม่มีใครเลยที่สามารถบรรลุความต้องการนั้นได้ เพราะเวลาที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไปเสมอดั่งสายน้ำที่ไม่เคยไหลย้อนกลับ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนการนำเสนอความคิดเห็นว่าการแก้ไขอดีตอาจไม่ได้ดีดั่งที่เราคิดเสมอไป 

 

ซ้ำร้าย มันอาจจะแย่ลงกว่าเดิมก็ได้...

หลังจากที่ได้ไปทำรูปปั้นหักขณะท่องอดีตและกลับมาพบว่ามันก็หักเช่นเดียวกันในโลกปัจจุบัน คุณลุงจึงอยากจะแก้ปมฝังใจในวัยเด็กของตัวเองกับการกลับไปช่วยแม่ที่กำลังป่วยหนัก หลากหลายวิธีที่คุณลุงได้ลอง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยถือตะกร้า ให้ดื่มชา และการบอกตัวเองในวัยเด็กว่าควรดูแลรักษาแม่อย่างไร แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร แม่ของเขาก็ยังคงพบจุดจบดังเดิมอยู่ดี

เช่นเดียวกับการที่พ่อของเขาจากครอบครัวไปเวียงจันทร์ ไม่ว่าเงินจะถูกซ่อนหรือไม่ก็ตาม พ่อเขาก็ยังคงจากไปอยู่ดี แต่จะจากไปแบบดีหรือร้ายเท่านั้นเอง...

 

ไม่เพียงแต่การเข้าไปแก้ไขอดีตจะไม่ได้มอบผลลัพธ์ที่ดีกว่าตามที่เขาคาดหวัง แต่มันกลับทำให้เกิดเหตุการณ์แย่ ๆ กว่าเดิมอีกเสียด้วย ตัวเขาเองนั้นคิดว่าการช่วยแม่จะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้นกว่าเก่า จะทำให้แม่เขารอด แต่ไม่เลย… ด้วยเหตุนี้ ต่อมาเขาจึงมีความคิดหาทางออกอื่นแทน – ช่วยแม่ให้หมดจากความทรมาน 

จุดนี้ก็ถือเป็นจุดที่น่าตั้งคำถามว่าตัวเขาเองอยากจะช่วยแม่จริง ๆ หรืออยากให้แม่จากไปและให้ตัวเขาเองในอดีตนำแม่ไปฝังเพื่อที่ตัวเขาเองจะได้พบเจอกับแม่ในอนาคต (คุณลุงมีความสามารถที่จะเห็นและติดต่อกับวิญญาณที่ยังไม่ไปผุดไปเกิดได้)

และยิ่งคุณลุงยิ่งพยายามกลับไปแก้ไขอดีตมากเพียงใด ดูเหมือนว่าปัจจุบันก็กลับเลวร้ายขึ้นเพียงนั้น หลังจากที่คุณลุงได้ตัดสินใจการุณยฆาตแม่ตนเองในอดีตโดยไม่ได้ถามความสมัครใจของใครใด ๆ เลยแม้แต่น้อย แทนที่จะทำให้สถานการณ์และชีวิตของตัวเองในวัยเด็กดีขึ้น มันกลับแปลงกายให้เด็กคนนั้นเป็นกลายเป็นอสูรกายแห่งฆาตรกรต่อเนื่องในอนาคต

 

ผีเสื้อขยับปีก

เวลามองถึงประเด็นการแก้ไขอดีต เรามักนึกเสมอว่า

ถ้าในตอนนั้นเราทำแบบนั้น ในวันนี้มันคงไม่เป็นแบบนี้

นั่นเป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ถูกเสียทีเดียว เพราะการกลับไปแก้ไขอดีตอาจไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น แต่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ 

หากเรามองสถานการณ์นี้ตามหลักของ ‘ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก’ หรือ ‘The Buttefly Effect’ ที่อธิบายไว้ว่า แม้ว่าการกระทำจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม แต่มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้มากกว่าที่เราคิด ยกตัวอย่างเช่น การที่ผีเสื้อขยับปีกอาจจะก่อให้เกิดพายุได้ ไม่ใช่ด้วยปีกผีเสื้อเอง แต่ด้วยผลกระทบที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ดั่งโดมิโนที่วางเรียงกัน

ในกรณีของบ่มีวันจากคุณลุงเองอาจไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เขาเพียงคิดแค่ว่าการที่ช่วยแม่จะเท่ากับการที่แม่มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือการที่การุณนฆาตแม่จะทำให้แม่ไม่ต้องทรมาน แต่เขากลับลืมนึกถึงผลกระทบที่ทำหน้าที่แบบโดมิโนหลายชิ้นที่เรียงต่อกัน ด้วยเหตุนี้ผลลัพธ์ของมันจึงกลายเป็นอะไรที่เขาเองก็ไม่อาจหยั่งถึงได้ 

หากจะกล่าวสรุปรวมทั้งประเด็นเรื่องกาลเวลาที่ไม่ไหลย้อนกลับและทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะบอกคือ ‘การกลับไปแก้ไขอดีตก็ไม่ได้ดีเสมอไปหรอกนะ’ มันอาจจะดีเมื่อคำนึงเพียงแค่ปัจจัยตื้น ๆ อย่าง ที่มาและผลของมัน แต่ในความเป็นจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับมีเป็นแสนเป็นล้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ได้ถ้าเราลองมองลึกเข้าไป

ดังนั้น การพอใจกับเส้นทางปัจจุบันในแบบที่มันเป็นอยู่และทำความเข้าใจอดีตเพื่อเดินหน้าต่อก็เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและเป็นจริงที่สุดแล้ว อย่างน้อยเราก็ตระหนักไว้ในใจเสมอได้ว่า

ยังดีที่มันไม่ได้แย่ไปกว่านี้

 

การบรรจบกันของความเชื่อและวิทยาศาสตร์

สิ่งหนึ่งที่นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของภาพยนตร์บ่มีวันจากคือการนำสองคอนเซ็ปตน์อย่าง ‘ความเชื่อ’ และ ‘วิทยาศาสตร์’ มากวนผสมกันจนกลายเป็นชิ้นงานที่มีรสชาติแปลกใหม่ชวนให้ลิ้มลอง

ในด้านหนึ่งแมทที โด ได้นำเนื้อหาในส่วนของความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมาตีแผ่ได้อย่างน่าสนใจ โดยแกนหลักของหนังได้นำเสนอว่า หากร่างของผู้ที่เสียชีวิตไม่ถูกนำไปประกอบพิธีทางศาสนาอย่างถูกต้อง วิญญาณของเขาเหล่านั้นจะไม่ไปผุดไปเกิดดั่งที่ควรจะเป็น ซึ่งวิญญาณในภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้มาในคราบของความเฮี้ยนพยาบาท แต่จะมาในรูปแบบของการวนเวียนอยู่ที่เดิมแบบไม่ไปไหน ซึ่งเป็นการตีความที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

อีกด้านหนึ่งแมททีก็เลือกที่จะหยิบความเป็นวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือหลักในการใช้เล่าเรื่องนั่นก็คือ ‘การย้อนเวลา’ และด้วยความที่เนื้อเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับเวลา จึงทำให้เส้นเรื่องของบ่มีวันจากมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง แต่ก็อยู่ในระดับที่กำลังดี เพราะมันทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากค้นหาต่อ เพราะไม่ได้ง่ายเกินจนเดาทางถูก และไม่ได้ยากเกินไปจนปวดหัว 

ถือเป็นการคลุกเคล้าความเชื่อเข้ากับความเป็นวิทยาศาตร์ได้อย่างลงตัว ซึ่งสองอย่างนี้มักจะเป็นภาพจำที่ใครหลายคนคิดว่าขัดกัน แต่กลายเป็นว่ามันถูกเล่าร่วมกันไปได้อย่างกลมกลืน ซ้ำยังช่วยซัพพอร์ตกันและกันอีกต่างหาก 

 

อย่ายึดติดและจงปล่อยวาง

แทบจะทุก ๆ คนที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ต้องพบกับการสูญเสีย ไม่ว่าจะเล็ก ใหญ่ หนัก หรือเบา บ้างก็เลือกที่จะปล่อยวางและเดินหน้าต่อ แต่บ้างก็เลือกที่จะยึดติดและรั้งสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปรไปไหน เช่นเดียวกัน บ่มีวันจาก ก็ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นควรมองและก้าวเดินไปข้างหน้า หาใช่ก้าวย้อนกลับหรือรั้งอดีตที่คิดถึงไม่ให้จากไปไหน

เราจะเห็นได้ว่า แม้คุณลุงตัวเอกของเรื่องจะครอบครองพลังอันยิ่งใหญ่นั่นก็คือการติดต่อกับวิญญาณและการย้อนเวลา แต่เมื่อถูกครอบด้วยทัศนคติของเขา พลังเหล่านั้นกลับถูกใช้ในทางที่ตัวเขาเอง (แต่เพียงผู้เดียว) คิดว่าถูก

คุณลุงมีความเชื่อที่ฝังลึกนับตั้งแต่เด็กว่า “คนตายแล้วทำไมต้องจากไป ในเมื่อเขาอยู่กับเราได้” จากการที่เขาพบหญิงสาวที่ประสบอุบัติเหตุและดวงวิญญาณของเธอก็ตามติดเขาตลอดมา แม้เขามีโอกาสที่จะช่วยเธอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีได้โดยการบอกแม่ของเธอถึงตำแหน่งร่างไร้วิญญาณในป่าลึก แต่เขาเลือกจะไม่ปริปากพูด เพราะเขายังคงอยากมีเพื่อนร่วมเดินทางลูกรังนี้ต่อไป

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ตัวเขามีทัศนคติที่ไม่ปล่อยวางให้ใครก็ตามไปไหน เพราะเขาคิดว่าการนำไปประกอบพิธีทางศาสนาและปลดปล่อยดวงวิญญาณให้ไปผุดไปเกิดจะทำดวงวิญญาณเหล่านั้นต้องเดินหน้าเข้าไปเผชิญกับภพภูมิใหม่ ๆ ซึ่งเป็นที่ไหนก็ไม่อาจทราบได้

แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นความเห็นแก่ตัวของเขาเองที่ไม่ยอมปล่อยมือใครให้ไปไหน เพราะยังคงอยากมีเขาเหล่าในชีวิต ไม่ใช่ด้วยความหวังดีที่อยากปกป้องดวงวิญญาณที่หลงทางจากการไปผุดไปเกิด แต่ด้วยความคำนึงถึงเพียงแต่ความรู้สึกของตัวเองที่รั้งเขาเหล่านั้นไว้ แม้ตระหนักดีว่าทางข้างหน้าเป็นอะไรที่ดีกว่า

แม้จะไม่รู้จักชื่อเลยตลอดเรื่อง แต่คุณลุงผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ถือเป็นตัวแทนของ ‘การไม่มูฟออน’ ได้อย่างชัดเจนที่สุด เขาไม่มูฟออนที่จะยอมรับอดีตและก้าวต่อไปในอนาคตและเขาไม่มูฟออนที่จะปล่อยมือใครสักคนให้เขาไปพบเจอกับอะไรที่ดีกว่า และด้วยความยึดติดขั้นสุดนี้เองก็ทำให้ชีวิตของเขาไม่มูฟออนไปไหนเช่นเดียวกัน

 

ภาพ: ภาพยนตร์ บ่มีวันจาก (The Long Walk)